จะกลายเป็นเรื่องโอละพ่อหรือไม่ เมื่อน้ำผึ้งหยดเดียวแต่หยดใหญ่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากกลุ่มนิติราษฎร์ได้ทำการใช้พื้นที่เพื่อถกประเด็นเสวนาเรื่องวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง แม้ในตอนแรกดูว่าไม่น่าจะมีอะไร แต่กลับกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที หลังจากไปแตะโดนมาตรา 112 ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย ถึงเรื่องเรื่องดังกล่าวจะเป็นการพูดคุยในเชิงวิชาการก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างมากในสังคมไทย ที่มีขนบธรรมเนียมและประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน
อย่างไรก็ตาม กลุ่มนิติราษฎร์ได้ออกมาระบุว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการเสนอเพื่อต่อยอดทางความคิด และควรตกผลึกให้สังคมได้คิดต่อออกแขนงไปสู่มวลชน แต่สำหรับคนในสังคมบางกลุ่มนั้น เขาอาจจะมองไม่เห็นว่า เรื่องที่ทำการเสนอของนิติราษฎร์ ไม่ใช่วิชาการและมีแนวโน้มว่าเป็นการอิงการเมืองมากกว่า ทำให้ตกผลึกทางความคิด และที่รับไม่ได้คือความเห็นที่หมิ่นเหม่ว่าสุ่มเสี่ยง จึงยอมไม่ได้ที่จะให้นิติราษฎร์ได้เคลื่อนไหวในการใช้พื้นที่กระจายความคิดอันแยบยล และมีความเคลือบแคลงสงสัยในเป้าหมายที่แท้จริงตามที่คนกลุ่มหนึ่งคิด
แม้ก่อนหน้านี้ กลุ่มนิติราษฎร์จะออกมาเคลื่อนไหวได้อย่างสะดวกโยธิน โดยใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นโต๊ะแถลง เหตุหนึ่งก็เพราะว่าอาจารย์และผู้ที่เสนอแนวทางต่างๆ นั้น มาจากคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเป็นการสะดวกที่จะใช้พื้นที่ของตนเอง ในการแสดงความคิดเห็น เมื่อมีการแถลงการณ์ออกมาหลายครั้ง ในการเคลื่อนไหวทุกครั้ง จึงทำให้บุคคลภายนอกนั้นไม่เข้าใจ จะคิดว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดจากธรรมศาสตร์ทั้งหมด ที่สุดแล้วกลุ่มที่ไม่สามารถทนได้ในพวกเดียวกันเอง จึงต้องลุกขึ้นมาเพื่อประกาศเจตนารมณ์ในการที่มีความคิดเห็นสวนทาง และบอกผ่านการตรงๆ ว่าไม่เห็นด้วยในครั้งนี้ เช่นการเคลื่อนไหวของกลุ่ม ‘วารสารฯ ต้านนิติราษฎร์’ หรือขยายความว่าเป็นกลุ่มของศิษย์เก่าคณะวารสารศาสตร์และการสื่อสารสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นเอง
หลังจากเกิดกระแสก่อนการรับลูกของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะออกมามาเบรกเกม เพื่อไม่ให้มีการใช้มหาวิทยาลัยเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มบางกลุ่ม ที่ต้องการความมุ่งหวังทางการเมือง เพราะเชื่อว่าเป็นการตัดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ที่อาจจะมีความหวั่นเกรงว่าจะลุกลาม และเกิดการควบคุมไม่ได้ก็ตาม ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ว่านี่จะถือว่าเป็นการปิดกั้นทางความคิดหรือไม่อย่างไร เพราะธรรมศาสตร์นั้น ได้ชื่อว่ามีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว แต่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลับออกกฎที่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของบุคลากรตนเองเสียนี่
เชื่ออย่างสุจริตใจว่า กลุ่มนิติราษฎร์เองนั้น มีการเสนออะไรก็แล้วแต่ หลายอย่างเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่หนทางที่ดีขึ้นในสังคม แต่ก็ต้องยอมรับว่าบาง ‘ข้อเสนอ’ ก็สุดแสนจะเกินทำใจรับได้ของคนในสังคม และเมื่อถึงจุดหนึ่งที่เกิดทนไม่ไหว ทำให้เหตุการณ์รุนแรงเพราะทั้งสองฝ่าย ต่างมีความสุดโต่งกันทั้งคู่ อยากถามว่าจะรับผิดชอบไหวหรือไม่? กับการกระทำที่ได้ทำลงไป จะเอาอยู่หรือไม่ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
ในฐานะคนกลางอย่างอธิการบดี ย่อมเล็งเห็นว่ากรณีดังกล่าว ควรจะตัดไฟเสียแต่ต้นลม แต่กระนั้นก็ทำให้โดนมองว่า เป็นเกมการเมืองที่ถูกสั่งมาให้หยุดพวกนิติราษฎร์เช่นกัน เมื่อมองได้สองมุม แต่ละกลุ่มก็มีมุมในการเลือกมองของตน ย่อมทำให้ความเห็นไม่ตรงกันบังเกิดขึ้น ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือไม่ แต่มันกลายเป็นประเด็นทางการเมืองไปแล้วอย่างปฏิเสธไม่ได้ จึงทำให้ธรรมศาสตร์ในวันนี้เกิดเสน่ห์ขึ้นอีกครั้ง ของความประชาธิปไตยที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ ในการนำเสนอของแต่ละคนที่เป็นศิษย์ก้นกฏิของลูกหลาน นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อตั้งธรรมศาสตร์และการเมืองเอง
ณ ขณะนี้ ธรรมศาสตร์กำลังต้องพิสูจน์ตัวเอง ในการสนับสนุนแนวทางตามประชาธิปไตย ว่าจะสามารถจัดการระบบภายในตัวเองได้หรือไม่ กับการแสดงความคิดเห็นที่ขัดกันเอง แต่อย่างหนึ่งที่น่ายอมรับ คือ การกล้าลุกขึ้นมาสู้กันแบบปัญญาชนของแต่ละกลุ่มในสถาบันเดียวกัน โดยไม่คิดจะใช้ความรุนแรงนำมวลชนกดดัน และสามารถจัดการให้ความจำกัดความอย่างไร กับการเดินตามเจตจำนงคำว่า ‘วิชาการต่อยอดความคิด’ หรือเป็น ‘เกมการเมืองแอบแฝง’.
ที่มา: ไทยรัฐ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น