--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ทักษิณ. รอมชอม ชนชั้นสูง แก้ รธน. เร่งกลับไทย บนสัญญาณ พล.อ.เปรม. ปรองดอง !!?

“ชนชั้นสูง” เป็นกลุ่ม คนมีอำนาจแวดล้อมสถาบันสูงสุดของสังคม โดยทั่วไปมักเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า “อำมาตย์” ซึ่งมีแนวคิด พื้นฐานเป็นพวกอนุรักษนิยม แต่มักแสดงออกในรูปแบบ “เสรีนิยม”

ในทางการเมืองนับตั้งแต่ช่วงปี 2544 ถึงปัจจุบัน หากใช้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเส้นแบ่ง อำนาจแล้ว ชนชั้นสูงจำแนกได้ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ให้กลับมามีอำนาจทางการเมืองอีก ศูนย์กลางอำนาจคนกลุ่มนี้มีกองทัพคอยหนุนหลัง และฝ่ายนี้เกี่ยวพันกับการ แทรกแซงการเมืองอย่างเด่นชัดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

สำหรับฝ่ายที่สอง เป็นพวก “ยืดหยุ่น” แต่ค่อนข้างเอนเอียงมาทาง พ.ต.ท.ทักษิณ คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ทำงาน ด้านเศรษฐกิจให้กับสถาบัน แต่ไร้อำนาจกองทัพสนับสนุนด้วยลักษณะทางอำนาจ กลุ่มชนชั้นสูงทั้งสองฝ่ายจึงไม่อาจผสมส่วน เป็นเนื้อเดียวกันได้ แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ เริ่มขยับบทบาท มากขึ้น ใช้อำนาจรัฐบาลและมวลชนเสื้อแดงเป็นช่องทางเจรจาต่อรองเป็นระยะๆ กับกลุ่มชนชั้นสูงฝ่ายยืดหยุ่น เพื่อปูลู่ทางไปสู่การรอมชอมกับสถาบัน ในอนาคต แต่ถึงที่สุด กลุ่มชนชั้นสูงฝ่ายนี้ยังไร้พลังอำนาจชี้ขาดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ หลุดพ้นจากข้อหาการเมือง แม้เขายืนยันเทิดทูนสถาบันและยื่นข้อเสนอขอ “เป็นพวก” แล้วก็ตาม

>> ลู่ทางเจรจาของ “ทักษิณ”

เมื่อดุลอำนาจประเทศแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มมากฝ่าย ชนชั้นสูงฝ่ายยืดหยุ่น ทำได้แค่เริ่มคิดด้านบวกกับ พ.ต.ท.ทักษิณและกลุ่มเสื้อแดงมากขึ้น พวกเขาแยกแยะมวลชนที่รักพ.ต.ท. ทักษิณ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม นปช.แดง ทั้งแผ่นดิน ภายใต้การนำของนายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ออกจากกลุ่มคนเสื้อแดงสุดขั้วที่เรียก “แดงสยาม” ซึ่งมีแนวคิด “ปฏิรูปสถาบัน”

กลุ่มคนชนชั้นสูงฝ่ายยืดหยุ่น ประเมินคนเสื้อแดงกลุ่มปฏิรูปว่า คือพวกสนับสนุน (เชียร์) พ.ต.ท.ทักษิณ (แต่ไม่เอาสถาบัน) เป็นขบวนการจัดตั้ง ของฝ่ายที่กีดกัน พ.ต.ท.ทักษิณกับสถาบันไม่ให้จูนความคิดเข้าหากันได้ การแยกแยะคนเสื้อแดงกลุ่มปฏิรูปเช่นนี้ พุ่งตรงไปที่ “เนวิน ชิดชอบ” ว่า เป็นหัวหน้าใหญ่ และเป็นผู้อยู่ เบื้องหลังสร้างกลุ่มเสื้อแดงกลุ่มปฏิรูป ขึ้นมา เพื่อมุ่งหวังให้สถาบันเข้าใจ พ.ต.ท. ทักษิณ และนปช.แดงทั้งแผ่นดินไปในทำนองว่า นิยมความรุนแรง มุ่งหวังล้มสถาบัน และต้องการเปลี่ยนระบอบปกครองประเทศ

แน่ล่ะ การสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้น เท่ากับเปิดโอกาสให้ “กลุ่มเนวิน” ได้ประโยชน์กับการโหนอำนาจสถาบันมาเกื้อหนุนอำนาจการเมืองได้แบบไร้กังวลด้วยท่าทีใหม่ของกลุ่มคนชนชั้นสูง ฝ่ายยืดหยุ่นนั้น นับเป็นสัญญาณใหม่ที่เกิดขึ้นและเริ่มเป็นลู่ทางช่วย พ.ต.ท. ทักษิณ อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู หลังจากที่ ถูกกลุ่มชนชั้นสูงฝ่ายเกลียด พ.ต.ท. ทักษิณ รุมกระหน่ำทำลายให้ย่อยยับมา นานกว่า 5 ปี แต่ไม่สำเร็จ
สาเหตุที่ช่วย เพราะส่วนหนึ่งเชื่อ ว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้เป็นคนสุดขั้ว สุดโต่ง ไม่ใช่พวกมีแนวคิดจ้องล้มสถาบัน รวมทั้งเล็งเห็นความสำคัญว่า อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ต้องคดีคอร์รัปชั่น หลบลี้ภัยการเมืองยังมีประโยชน์กับประเทศชาติ และมากความสามารถนำประเทศไทย ไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ แต่เหตุผลส่วนสำคัญแล้ว กลับเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ แสดงท่าที “ขอเป็นพวก” มากขึ้น

ฝ่ายชนชั้นสูงกลุ่มนี้ มีความเห็นกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า เป็นเพียงกลุ่มทุนใหม่ซึ่งมีแนวคิดอนุรักษนิยมก้าวหน้า โดยสะท้อนความ “ก้าวหน้า” ตามแนว ทางระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนเชื่อ ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนักประสานประโยชน์ให้ทุกฝ่ายได้รับแบบ “Win-Win” คือ สถาบันก็ชนะ และประชาชนก็ได้ประโยชน์ควบคู่กันไปด้วยการประเมินเช่นนี้ ย่อมเกิดประโยชน์กับ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างยิ่ง ราวกับเป็นการหาเหตุผลมาสร้างความ รอมชอมเพื่อหวังได้ชุบชีวิตขึ้นใหม่อีกครั้งบนผืนดินไทย

>> แก้ รธน.เพื่อรอมชอม

ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายชนชั้นสูงที่เกลียด พ.ต.ท.ทักษิณ เริ่มค่อยๆขาดความน่าเชื่อถือลงไปเรื่อยๆ สาเหตุ ส่วนหนึ่งมาจากการจูงใจให้สถาบันเล่นงานพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้เป็นไปตาม ที่กล่าวหาไว้ คือ ไม่สามารถทำลายได้ ซ้ำร้ายประชาชนกลับกลายเป็นพลังเสื้อแดงคอยสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ เพิ่มมากขึ้น และขยายไปทั่วประเทศ เมื่อโหมแรงต่อสู้แล้วยังไม่ชนะ กลุ่มชนชั้นสูงฝ่ายยืดหยุ่นจึงแทรกตัวมาสร้างแนวทางใหม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณเจรจา โดยหวังดึงมาเป็นพวก เพราะมองว่า พลังของพ.ต.ท.ทักษิณเป็นพวก เทิดทูนสถาบันกษัตริย์ มีรูปแบบประชาธิปไตย ไม่ใช่พลังปฏิวัติ หรือพวกที่จ้อง โค่นล้มระบอบปกครองสังคม ดังนั้น การต่อรองจึงเริ่มด้วยช่องทางใช้การแก้รัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อแยกสลายพลังมวลชนเสื้อแดงกลุ่ม ปฏิรูปออกจาก พ.ต.ท.ทักษิณ และออก จากกลุ่ม นปช.แดงทั้งแผ่นดิน เป้าหมาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ส่วนหนึ่งฝ่ายชนชั้นสูงบางกลุ่มพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อลดความ ขัดแย้งกับ พ.ต.ท.ทักษิณ

และที่สำคัญเพื่อต้องการลดการต่อต้านสถาบันที่ถูกจุดพลุด้วยการแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่ง กำลังลุกลามไปทั่วประเทศในบรรดาปัญญาชนและนักวิชาการให้อ่อนแรงลง
แปลความได้ว่า การชูประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อมุ่งหวังไม่ให้มวลชน เสื้อแดงฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณไปร่วมมือกับ มวลชนแดงสยามกลุ่มเร่งให้เกิดการปฏิรูปสถาบันหลักของสังคมด้วยการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั่นเอง

แต่การชูแนวคิดปรองดอง ซึ่งมีแก่นพื้นฐานอยู่ที่ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550” นั้น กลับทำให้พลังฝ่ายชนชั้นสูงที่เกลียด พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีกองทัพและกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตยคอยหนุนหลังอยู่เริ่มตื่นตัวคึกคัก และนัดรวมพลต่อต้านอย่างเข้มข้น

>> พิสูจน์อนาคต

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ เกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองดีๆ ที่พรรคเพื่อไทย และฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ แอบเป็นปลื้มและวาดหวังอนาคต “ปรองดอง” อย่างเป็นสุขใจแกนนำพรรคเพื่อไทยยิ้มด้วยแววตาผ่อนคลายทุกข์เมื่อเห็น พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ออกงานวันกองทัพไทยร่วมกับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้วทักทายด้วยอาการมิตรภาพทางอำนาจไม่เพียงเท่านั้น ในงานปรองดองซึ่งรัฐบาลจัดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ พล.อ.เปรม ได้มาร่วมงานอย่างชื่นมื่นจนสร้างความตกตะลึงให้กับกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองและฝ่ายตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ

พล.อ.เปรม ทักทาย พูดคุยกับยิ่งลักษณ์อย่างกันเองและเต็มไปด้วยอาการ “เอ็นดู” หนำซ้ำ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยผ่าน พ.ร.ก. 2 ฉบับที่เป็นเครื่องมือสำคัญ ในการแก้ไขเศรษฐกิจของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ด้วยแล้ว
แน่ล่ะ...กลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลือง และพรรคประชาธิปัตย์เมื่อเห็นภาพเยี่ยงนี้ ย่อมเกิดอาการใจหายทางดุลอำนาจยิ่งนัก ใจหายเพราะเกรงว่า พล.อ.เปรม จะหันไปจับมือสร้างสังคมปรองดองกับยิ่งลักษณ์ จนทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทยได้เปรียบในดุลอำนาจ การเมืองใจหายเพราะประเมินกันว่า พล.อ. เปรม ส่งสัญญาณลดการสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองและพรรคประชาธิปัตย์ลงแต่การใจหายกับปรากฏการณ์ พล.อ.เปรม นั้น กลับสร้างแรงฮึดเข้มข้น ให้กลุ่มอำนาจ 2 ฝ่ายอย่างน่าสนใจยิ่ง

กลุ่มแรกคือ กลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองภายใต้การนำของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งพลังเกิดอ่อนล้าและเก็บตัวค่อนข้างเงียบมานาน เริ่มก่อหวอดนัดรวมกลุ่มสร้างพลังต่อต้านการแก้ไข รธน. โดยเริ่มนัดประกาศแนวทางในวันที่ 10 มีนาคมนี้

กลุ่มสอง เป็นกลุ่มเสื้อแดงที่ไม่พอใจ “ระบบอำมาตย์” เมื่อเห็นพรรคเพื่อไทยเริ่มแนบสนิทกับพล.อ.เปรม พลังคนกลุ่มนี้ย่อมเกิดอาการบาดหมาง กับพรรคเพื่อไทยได้

รวมความแล้ว ในสถานการณ์แก้ไข รธน. พรรคเพื่อไทยกำลังผจญอุปสรรคอำนาจทั้งกลุ่มเสื้อแดงที่สนับสนุนให้เป็นรัฐบาลและกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองที่จ้องหาโอกาสขับไล่ งานนี้ พรรคเพื่อไทย ยิ่งลักษณ์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ คงออกอาการเหนื่อย เป็นแน่...ที่แน่ๆ อาการเหนื่อยนั้น ย่อมมา จากปรากฏการณ์ของพล.อ.เปรม ซึ่งมี ทั้งภาพ “ด้านปรองดองและปลุกพลังต่อต้านรัฐบาล” ไปพร้อมๆ กัน สัญญาณภาพเช่นนี้ หมายถึงสถานการณ์มะรุมมะตุ้ม ปั่นป่วนบนการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วสร้างความยัดเยียด ข้อหาหมิ่นเหม่ให้สังคมหวาดเสียวระทึก ไปกับการผสมโรงของพลัง “ฉีกรัฐธรรมนูญ” อีกครั้งหนึ่ง บทสรุป แนวโน้มสังคมไทยยังวนเวียนไปกับความขัดแย้งของกลุ่มอำนาจ เดิมอีก วนเวียนจนกว่าจะเกิดฝ่ายชนะ เบ็ดเสร็จ เด็ดขาด แล้วโอกาสปรองดองคงมีลู่ทางเกิดขึ้นได้ลางๆ

ที่มา:สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น