แบกภาระหลังน้ำท่วมไว้เต็มบ่า!!!
สำหรับปฏิบัติการที่หลายฝ่ายมอง ว่า ไม่ต่างจาก “MISSION IMPOSSI-BLE” ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการปัญหาน้ำในกรณีแผนเยียวยาเร่งด่วน และพันธกิจเชิงโครงสร้างระยะยาวในการตั้งรับคลื่น “น้องน้ำ” ที่มีทีท่าจะไหลวนกลับมาเยี่ยมเยียนสยามประเทศ อีกครั้ง กอปรและล้อไปกับแผนฟื้นฟูความเชื่อมั่น ที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้อง พึ่งเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเงินการคลังในประเทศที่พอไปได้ แต่ปัจจัยภายนอกของพิษเศรษฐกิจโลกในอียูและสหรัฐ อเมริกาไม่เอื้ออำนวยสักเท่าไรนัก???
แต่เมื่อเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในที่สุด คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อ การฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ หรือ กยอ. ที่มี “ดร.โกร่ง-วีรพงษ์ รามางกูร” เป็นประธาน ก็จัดการชงแผนยุทธศาสตร์ เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ 5 ด้าน ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา อันประกอบไปด้วย 1.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 2.การปรับ โครงสร้างภาคการผลิตและบริการ 3.การพัฒนาเชิงพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ 4.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ 5.การพัฒนาระบบการประกันภัยว่ากันว่า ในเบื้องต้นรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินมาโปะอภิมหาโปรเจกต์ดังกล่าว ตัวเลขกลมๆ ประมาณ 3 แสนกว่าล้านบาท
นั่นก็เชื่อมจิ๊กซอว์ไปถึงมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2555 ที่รัฐบาลมีแนวทางที่จะออก พ.ร.ก. 4 ฉบับ เพื่อโอนหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาท กลับไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อดำเนินการ กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท มาบริหารจัดการ ระบบน้ำและวางโครงสร้างประเทศไทย ใหม่ รวมไปถึงการจัดตั้งกองทุนประกัน ภัยอีก 5 หมื่นล้านบาท และกรอบการ แก้ไขเพิ่มเติมที่ ธปท.สามารถออกเงินกู้ หรือซอฟต์โลนอีก 3 แสนล้านบาท รวมทั้งหมด 7 แสนล้านบาท ซึ่งหลาย ฝ่ายห่วงว่า จะทำให้เป็นภาระหนี้นอกงบประมาณ นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 อีก 4 แสนล้านบาท
หรือแม้กระทั่งในแง่ของเทคนิคและทิศทางการเงินการคลังในอนาคต แบงก์ชาติก็ได้แสดงความห่วงใย ประหนึ่งว่า เกรงจะมีการล้วงลูกเงินสำรองระหว่างประเทศโฟกัสตรงไปที่ มาตรา 7 (3) ที่กำหนดให้ ครม. สามารถกำหนดให้โอน เงินหรือทรัพย์สินของแบงก์ชาติไป ตาม จำนวนที่ ครม. กำหนด ซึ่งแม้แต่ “หม่อม อุ๋ย-ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล” อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ยังออกมาแสดงความ เป็นห่วงว่า..จะเป็นการเปิดทางให้รัฐบาล “ตีเช็คเปล่า” ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายสำหรับการบริหารการเงินของ บ้านเมืองอย่างยิ่ง สึนามิซัดเข้าหารัฐนาวา “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ลูกแล้วลูกเล่า ก่อนจะมีการตอกลิ่มซ้ำลงไปอีกแผลจากซีก ส.ว.สายสรรหา อย่าง “คำนูณ สิทธิสมาน”
“พ.ร.ก.จำนวน 4 ฉบับ ตนมองว่า รัฐบาลได้นำ 3 เรื่องมาผูกรวมกัน กล่าว คือ เรื่องปัจจุบันการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เรื่องอนาคต คือ การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และเรื่องอดีต คือ หนี้กองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาท เข้ามาผนวกรวมกัน ซึ่งผมไม่เห็นด้วย เนื่องจากเนื้อหาใน พ.ร.ก.โอนหนี้ 1.14 ล้านล้าน บาท ในมาตรา 7 มีลักษณะที่เรียกว่า 3 ปล้น 1 ทำลาย กล่าวคือ 1.ปล้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในมาตรา 7(1) และ (3) 2.ปล้นสถาบันการเงิน ที่ มีความเป็นไปได้ว่าจะผลักภาระมายังประชาชน โดยมีรายละเอียดที่ระบุไว้ใน มาตรา 8, 9 และ 10 และ 3.ปล้นทางอ้อม ไปยังคลังหลวง คือ ทุนสำรองพิเศษ ใน ฝ่ายออกธนบัตร ธปท. ในมาตรา 7 (2)”
“ผมขอฝากไปยังรัฐบาลว่า เพื่อให้เกิดความรอบคอบควรแยกเรื่องโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูจำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ออกมาเป็นเรื่องโดยเฉพาะ และทำเป็นร่าง พ.ร.บ.ผ่านกระบวนการ ทางรัฐสภา เนื่องจากมีประเด็นที่ต้องพิจารณาที่สำคัญ คือ การทำลายระบบ ธนาคารกลาง การให้ ธปท. เข้ามารับผิดชอบหนี้สินมีความเสี่ยง เพราะ ธปท. มีหน้าที่พิมพ์ธนบัตร ดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และแทรกแซงค่าเงินบาท หาก ธปท. ถูกใช้ผิดหน้าที่ ผมเกรงว่าความเสียหายจะมีมากเกินเยียวยา”
จัดหนักยิ่งกว่ายาชุดสีดำ พ่วงท้าย มาด้วยเสียงขู่ดังๆ จากวุฒิซีกสรรหา.. หากรัฐบาลไม่ฟังเสียงทัดทาน เตรียมเจอกันที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เลย!!!
ศึกอีกด้านก็สุดจะอ่อนไหว เมื่อกลุ่มผู้แทนคณะศิษยานุศิษย์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ยกพลบุกสภาเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการ การ เงิน การคลัง การธนาคารและสถาบัน การเงิน วุฒิสภา ให้แตะเบรก พ.ร.ก.4 ฉบับร้อนในครั้งนี้ นั่นก็เป็นสาเหตุให้ “เสี่ยโต้ง-กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ต้องเข้ามาชี้แจงเงื่อนไขในการเข็นกฎหมายให้ กมธ.รุมกินโต๊ะไม่ต้องรอจนถึงวันนั้น ก็น่าเชื่อได้ ว่า “เสี่ยโต้ง” จะยืนยันในสิ่งที่เคยระบุมาก่อนหน้านี้คือ..ไม่แตะเงินกองทุนสำรอง..ยึดหลัก วินัยทางการเงิน..ไม่มีการพิมพ์แบงก์เพิ่ม..ไม่โยนภาระต้นทุนให้ประชาชน!!!
นี่คือข้อถกเถียงที่ยังไม่ได้ข้อยุติ และน่าจะมีการตีความกันในแง่มุมของ กฎหมายอย่างกว้างขวาง..ซีกรัฐบาลหวังดีที่จะสะสางหนี้ในส่วนกองทุนฟื้นฟู เพื่อแปรเปลี่ยนมาเป็นเม็ดเงินในการฟื้นฟูประเทศ..ฝั่งไม่เห็นด้วยนั้นก็ห่วงใยในมิติแห่งวินัยการเงินการคลังและในแง่เทคนิคของตัวบทกฎหมาย..จบตรงไหนไม่รู้ แต่แค่เริ่มก็ดูเหมือน ว่าจะยุ่งอีนุงตุงนัง ซึ่งก็ค่อนข้างน่าเห็น ใจรัฐบาล เพราะยังมีอีกหลายๆ ประเด็น ที่กำลังรุกคืบเข้ามาหายใจรดต้นคอ “รัฐนาวายิ่งลักษณ์”
อีกเรื่องร้อนๆ ที่อยู่ในมือ “เสี่ยโต้ง” นั่นคือข้อพิพาทในการลอยตัวก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจี ที่แม้แต่ “แท็กซี่” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพาร์ตของคนเสื้อแดงที่สนับสนุนรัฐบาลนี้ขึ้นมา ยังอดรนทน ไม่ไหวจนต้องลุกขึ้นมาประท้วงหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ ปตท. และกระทรวง พลังงาน ปิดถนนวิภาวดีขาออก..นี่ก็เป็นอีกหนึ่งวาระร้อนที่รัฐบาล แค่เริ่มต้นก็จุกและเจ็บ และหากลองนับ นิ้วไล่เรียงในอีกหลายโครงการร้อนไม่ว่าจะเป็นคูปอง 2,000 บาท กระทรวงพลังงาน บัตรเครดิตพลังงาน รวมไปถึง เงินช่วยน้ำท่วม รวบยอดไปถึงพันธสัญญา ประชานิยมที่ยังไม่เริ่มต้นคิกออฟ
ที่น่าจะสอดประสานคู่ขนานไปกับผลงานเสนาบดีก่อนวาระจับปูใส่กระด้งแห่งการเขย่าโผ ครม. ที่ว่ากันว่า อาจมีการยกเครื่องกระทรวงสำคัญ อย่าง “พลังงาน” และ “คลัง” ที่ล้วนเป็น “เด็กเจ๊-เด็กนาย” จนอาจกลายเป็นเรื่องน่าปวดหัวตามมาภายหลัง และหากยึดโยงทอดยอดไปรวมกับของเก่าในโรดแมปแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีเรื่องร้อนเคลือบฉาบอยู่
เรียนตามตรง..มองตามสถานการณ์..รัฐบาลแค่คิกออฟปีมังกรก็หนักและเหนื่อยแล้ว อนาคตจะสางปัญหาไปได้หรือไม่..ยังไม่อาจทราบได้ รู้เพียงแค่ว่า..ภารกิจที่รออยู่เบื้องหน้า..แค่เปิดปุ๊บก็ติดไฟปั๊บ!!!
ที่มา:สยามธุรกิจ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น