ธง และทางในการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญของรัฐบาลเพื่อไทย ยังอยู่ในภาวะอันตราย
แม้มีทั้งมือ ทั้งไม้ ในการขับเคลื่อน
ทั้งเสียงในพรรคร่วมรัฐบาล รวมพรรคแนวร่วมฝ่ายค้านที่พร้อมแปรพักตร์มาร่วมวง แต่ท่าทีของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังแบ่งรับแบ่งสู้
สัญญาณชัดเจนที่ถูกส่งจากปากนายกรัฐมนตรีคือ การแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ภารกิจเร่งด่วน เท่ากับวาระฟื้นฟูแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ต่างไปจากถ้อยแถลงที่นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อประธานรัฐสภา ในวันแถลงนโยบายเร่งด่วนที่จะต้องเริ่มดำเนินการในปีแรก เป็น 1 ใน 16 วาระ
คราวนั้นอังคารที่ 23 สิงหาคม 2554 นายกรัฐมนตรีแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ว่า "เร่งรัดและผลักดันการปฏิรูปการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นอิสระยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อวางกลไกการใช้อำนาจอธิปไตยที่ยึดหลักนิติธรรม และองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนและพร้อมรับการ ตรวจสอบ ทั้งนี้ ให้ประชาชนเห็นชอบผ่านการออกเสียงประชามติ"
แต่เมื่อสิ่งแวดล้อมทางการเมืองเปลี่ยนแปลง เวลาผ่านไป 4 เดือน 30 ธันวาคม 2554 นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงจุดยืนการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ว่า "รัฐบาลคงจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอให้เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ แม้ว่ารัฐบาลได้เขียนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในนโยบายก็จริง แต่ถ้าแยกสายการบริหาร ต้องถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ"
เมื่อเจ้าภาพเปลี่ยนใจ ความเคลื่อน ไหวจึงเกิดขึ้นทั้งใน-นอกสภาผู้แทนราษฎร
เสียงสัญญาณการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงดังก้องรอบทิศทางจากกลุ่มคนเสื้อแดง ในนามกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. ประกาศกิจกรรมการเมืองของคนเสื้อแดง 5 ข้อ และ 1 ใน 5 ข้อคือ ให้มี การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าชื่อ 200,000 คน ให้ได้ภายในวันที่ 15 มกราคม ก่อนจะนำเสนอต่อรัฐสภาในสิ้นเดือนมกราคม โดยมั่นใจว่าประชาชนไทยคงได้ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายในปี 2556 อย่างแน่นอน
ขณะที่ "มติพรรคเพื่อไทย" ใช้แนวทาง "มติเฉลิม" เป็นแนวทางหลัก
วัน ว. เวลา น. เส้นทางของเพื่อไทย ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นไปตามถ้อยแถลงของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ประกาศหลังประชุมพรรค วันที่ 3 มกราคม 2555 ว่า "ควรรอไปก่อนอีก 8 เดือน เพื่อให้รัฐบาลมีผลงานทั้งเรื่องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ยาเสพติด และเรื่องอื่น ๆ ก่อน"
ตอกย้ำด้วยว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าภาพเสมอไป เพราะเมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาชนก็เข้าใจได้ว่ารัฐบาลทำ
แนวร่วมของ "ร.ต.อ.เฉลิม" ประกอบด้วยกลุ่ม ส.ส.สายอีสาน ที่อยู่ในกลุ่มเครือข่าย 40 คน รวมกับกลุ่มของ นายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้การสนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ
ส.ส.กลุ่มนี้มีความเชื่อว่า วาระแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นการกวนน้ำให้ขุ่น เติมไฟให้กับการเมือง และทุกคนตกอยู่ในภาวะความกลัว ว่าจะทำให้รัฐบาลพ้นวาระก่อนเวลาอันควร
ซึ่งมีหลักการขัดแย้งกับกลุ่ม ส.ส. สายแกนนำเสื้อแดง สาย นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ น.พ.เหวง โตจิราการ ที่เห็นว่าต้องชิงลงมือแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากไม่รีบเปิดเกม อาจมีเหตุซ้ำรอยรัฐบาล "สมัคร สุนทรเวช" และ "สมชาย วงศ์สวัสดิ์"
สอดคล้องกับความเห็นของอดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย จาตุรนต์ ฉายแสง ที่เห็นว่า หาก ส.ส.เพื่อไทยไม่ลงมือ อาจถูกคนเสื้อแดงและฐานเสียงทวงสัญญา
จังหวะก้าว จังหวะคิดของเพื่อไทย จึงต้องรอคอยสัญญาณสำคัญ ที่ส่งตรงมาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำ ตัวจริงของพรรค เพื่อตอบโจทย์เกมเสี่ยงอันตราย
เพราะแกนนำพรรคเพื่อไทยที่บินไปพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ต่างนำความกลับมาสื่อสารคนละทิศคนละทาง
บางคนบอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณให้ชะลอแผนแก้รัฐธรรมนูญออกไปก่อน เพราะเกรงสัญญาณอันตราย และกลัวจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง
แหล่งข่าวบางรายบอกว่า พ.ต.ท. ทักษิณให้เร่งนำแผนแก้รัฐธรรมนูญ ส่งให้ถึงสภาผู้แทนฯตามกำหนดที่แถลงไว้ แต่แทรกวาระ ซ้อนแผนเรื่อง ส.ส.ร. และเรื่องการลงประชามติไว้ พร้อม ๆ กับต้องขับเคลื่อนเรื่องนิรโทษ และวาระปรองดองไว้ในแผนแก้รัฐธรรมนูญด้วย
วาระรัฐธรรมนูญที่ถูกตั้งธงไว้ว่า จะเป็นวาระทางการเมืองแห่งปี 2555 และเป็นกุญแจที่จะไขไปสู่ประตูประชาธิปไตยแบบเพื่อไทย ด้วยการ ปลดล็อกมาตรา 291 และแก้มาตรา อื่น ๆ ที่ขัดหลักนิติรัฐ
กลายเป็นวาระแห่งความกลัว
กลายเป็นวาระอันตรายทางการเมือง
เพราะ "ธง" ของนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป้าหมายจริง-เป้าลวง ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังสวนทางกันไปมา กับทางของ ส.ส.เสื้อแดงของเพื่อไทย
การเร่งรัดของฝ่ายประชาธิปไตยในพรรค จากบ้านเลขที่ 111 ที่จี้ให้คณะรัฐมนตรีมีคำตอบในเร็ววัน
การรุกฆาตของกลุ่มเสื้อแดง และเสียงก้องจากฐานคะแนน 15 ล้านเสียง
อาจทำให้ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพลพรรคเพื่อไทย ต้องเร่งตัดสินใจผ่าตัดรัฐธรรมนูญผ่าทางตันการเมืองนองเลือด
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น