--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

คอป.ชี้ทิศ เยียวยา ม.112 ขยับอย่างไรไม่ให้แตกแยก !!?


โดย:ปกรณ์ พึ่งเนตร

"กิตติพงษ์ กิตยารักษ์" ห่วงปมแก้มาตรา 112 และการเยียวยาแบบ "ความยุติธรรมของผู้ชนะ" ทำลายบรรยากาศปรองดอง เสนอสูตรเดินหน้าแบบไม่แตกแยก

นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมจากประเด็นการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง และการรณรงค์ให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า การเยียวยาผู้สูญเสียหรือผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง จริงๆ แล้วไม่ได้แก้ปัญหาโดยตัวของมันเอง แต่เป็นบริบทหนึ่งของกระบวนการสร้างความปรองดอง ทั้งนี้ หากพิจารณาในภาพใหญ่ของการสร้างความปรองดองหลังความขัดแย้ง จะพบว่ามี 4 เรื่องสำคัญที่ต้องเร่งทำ คือ

1.ทุกฝ่ายต้องมีความต้องการที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งไปสู่การปรองดอง ซึ่งจุดนี้ประเทศไทยแตกต่างจากประเทศอื่นทั่วโลก เนื่องจากสังคมไทยยังอยู่ในความขัดแย้ง จึงต้องสร้างบรรยากาศให้ทุกฝ่ายต้องการก้าวข้ามความขัดแย้งให้ได้ก่อน

2.ต้องทำความเข้าใจรากเหง้าของปัญหาและข้อเท็จจริง ซึ่งก็คือกระบวนการตรวจสอบและค้นหาความจริง

3.การเยียวยา เพราะแม้จะพยายามก้าวข้ามความขัดแย้ง แต่ก็ยังมีผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งจำนวนมาก การเยียวยาจะช่วยในแง่ของการบรรเทาความคับแค้นใจของผู้สูญเสียและลดการตอบโต้ด้วยความรุนแรง

4.ใช้มาตรการที่เหมาะสมและมีความยืดหยุ่นเพียงพอในการจัดการความขัดแย้ง เช่น กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เป็นต้น

"ฉะนั้นหากข้อ 1 ไม่เกิดก็ต้องระวัง เพราะอาจทำให้เกิดบรรยากาศของการไม่ปรองดอง โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายผู้ชนะใช้โอกาสของการชนะทำให้อีกฝ่ายได้รับผลกระทบ หรือที่เรียกว่า victor justice หรือความยุติธรรมของผู้ชนะ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ทำเรื่องเยียวยาต้องเข้าใจความรู้สึกในเรื่องแบบนี้ด้วย คือระมัดระวังที่จะไปกระทบอีกฝ่ายหนึ่งจนเสียบรรยากาศการปรองดองไป"

อย่าทำให้รู้สึกฝ่ายเดียวได้ประโยชน์

นายกิตติพงษ์ กล่าวต่อว่า จริงๆ แล้ว คอป.ไม่ได้เสนอตัวเลขเงินเยียวยาและวิธีการจ่ายเงิน แต่ได้เสนอแนวคิดและหลักการในทางทฤษฎีเท่านั้น ซึ่งประเด็นที่ผู้กำหนดนโยบายต้องทำก็คือ

1.อธิบายให้ได้ว่าที่มาของตัวเลขเงินเยียวยาที่ประกาศออกมาคิดจากฐานอะไร

2.จำแนกประเภทผู้ที่ได้รับประโยชน์ เพื่อให้การเยียวยาเป็นไปอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และไม่นำกรณีที่ยังไม่มีความชัดเจนมารับประโยชน์ด้วย เช่น คนที่ถูกกล่าวหาว่าวางระเบิดและมีหลักฐานชัดเจนพอสมควร เพราะจะทำให้ถูกต่อต้านจากอีกฝ่าย

3.การเยียวยาต้องทั่วถึง ครอบคลุมทุกฝ่ายอย่างแท้จริง เช่น พิจารณาไปถึงร้านค้าที่ต้องขาดรายได้จากการชุมนุมด้วย เป็นต้น

"นี่คือแนวคิดทฤษฎีที่เราเสนอไป แต่ คอป.ไม่ได้ลงรายละเอียดไปที่จำนวนตัวเลข หรือจำแนกว่าต้องเยียวยาใครบ้าง ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ ปคอป. (คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของ คอป.) ที่ต้องอธิบายที่มาของตัวเลข และยึดหลักการทั่วถึง เป็นธรรม ชัดเจน มิฉะนั้นจะทำลายบรรยากาศการปรองดอง โดยเฉพาะการทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีผู้ได้รับประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว" กรรมการ คอป. กล่าว

นายกิตติพงษ์ กล่าวต่อว่า ช่วงที่ผ่านมา คอป.ได้เดินสายพบปะบุคคลสำคัญฝ่ายต่างๆ ทั้งผู้นำฝ่ายค้าน ผู้นำทางทหาร และอื่นๆ เพื่อจัดลำดับความคิดในการก้าวเดินต่อไปว่า คอป.ควรทำอะไรบ้าง แต่สิ่งที่ให้ความสำคัญมากที่สุดคือบรรยากาศการปรองดอง เพราะหากไม่เกิดขึ้นหรือประชาชนไม่รู้สึกถึงบรรยากาศปรองดอง ความหวาดระแวงก็จะเกิดขึ้นแทน และไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งตามทฤษฎี แต่จะนำไปสู่ความแตกแยกมากกว่าเดิม

แก้ ม. 112 ทำแตกแยกมากกว่าปรองดอง

ส่วนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น นายกิตติพงษ์ กล่าวในฐานะปลัดกระทรวงยุติธรรมว่า แม้จะมีเหตุผลทางวิชาการหลายประเด็น เช่น โทษขั้นต่ำสูงเกินไป ไม่ควรมีอัตราโทษขั้นต่ำ หรือปรับปรุงกระบวนการดำเนินคดีให้ชัดเจน แต่การหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดในช่วงที่ความขัดแย้งยังมีสูง ไม่มีใครฟังใคร ย่อมก่อให้เกิดความแตกแยกมากกว่าปรองดอง

"สิ่งที่ควรทำมากที่สุดคือปรับกระบวนการบังคับใช้ให้เหมาะสม ทำให้กระบวนการดำเนินคดีของตำรวจและอัยการมีเอกภาพ ลดผลกระทบที่จะเกิดกับผู้เกี่ยวข้องให้มากที่สุด เพราะที่ผ่านมามีปัญหาคือผู้เสียหายหรืออ้างว่าตัวเองเสียหายสามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ทุกโรงพักทั่วประเทศ เมื่อรับคดีมาแล้วทั้งตำรวจและอัยการก็มักไม่ค่อยกล้าใช้ดุลพินิจ เนื่องจากเกรงจะถูกมองว่าไม่จงรักภักดี"

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น นายกิตติพงษ์ เสนอว่า 1.ต้องพยายามปรับระบบการดำเนินคดี ให้ตำรวจและอัยการในส่วนกลางร่วมกลั่นกรอง

2.กำหนดประเภทคดีจากเบาไปหาหนัก เช่น ถ้าเป็นการกระทำลักษณะเครือข่าย เป็นขบวนการล้มล้างสถาบัน อย่างนี้ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด เด็ดขาด แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือได้ข้อมูลไม่ถูกต้องจากความขัดแย้งทางการเมือง หรือเป็นนักวิชาการต่างชาติ เป็นสื่อมวลชนต่างประเทศ กลุ่มนี้ควรใช้วิธีการอื่นตามความเหมาะสม

3.ให้ทุกกลุ่มการเมืองเทิดทูนสถาบันให้อยู่เหนือความขัดแย้ง งดเว้นการพูดพาดพิงถึง ก็จะสามารถลดปัญหาลงไปได้ระดับหนึ่ง

"หน่วยงานสำคัญในการแก้ปัญหานี้คืออัยการ เพราะมีดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องคดีได้ โดยใช้ช่องทางคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ฉะนั้นถ้ามีกรอบที่เหมาะสม เช่น สำหรับกลุ่มที่เข้าใจผิด ได้ข้อมูลผิด หรือเป็นสื่อมวลชนต่างประเทศ ก็อาจมีกระบวนการทำความเข้าใจ ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ก่อนจะสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด"

แนะตั้ง กก.กลางกรองดำเนินคดีหมิ่นฯ

ส่วนบทบาทของคณะกรรมการที่ปรึกษาการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า ตั้งขึ้นในรัฐบาลชุดที่แล้ว แม้ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนหรือสั่งคดี แต่เนื่องจากองค์ประกอบของคณะกรรมการเป็นข้าราชการระดับสูง มีที่มาจากทุกมิติ ทั้งฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายต่างประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิที่จะชั่งน้ำหนักผลกระทบระหว่างการฟ้องกับไม่ฟ้องคดี อย่างไหนจะเป็นประโยชน์ต่อสถาบันและสาธารณชนมากกว่ากัน จึงถือว่าเป็นหลังพิงให้อัยการในการใช้ดุลพินิจได้มากทีเดียว

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่สังคมมีความขัดแย้งมากขึ้น และปัญหาซับซ้อนขึ้น คณะกรรมการจึงลดบทบาทลงไป ฉะนั้นหากรัฐบาลจะมีการปรับปรุงกลไกให้เหมาะสมเพื่อให้ตำรวจ อัยการ ทำงานได้ง่ายขึ้น กล้าใช้ดุลพินิจมากขึ้น ก็อาจตั้งคณะกรรมการลักษณะคล้ายคลึงกันขึ้นมาก็ได้ ส่วนเรื่องในระยะยาว เช่น วิธีการริเริ่มคดี บทกำหนดโทษ หรือการวางหลักประกันไม่ให้กฎหมายถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ก็ต้องทำการศึกษาวิจัยอย่างรอบคอบต่อไป

"การแก้มาตรา 112 ต้องศึกษาอย่างรอบคอบรอบด้าน มิฉะนั้นจะกลายเป็นความเห็นที่ไม่ลงรอยกันของคนในสังคม และนำไปสู่การทะเลาะกันมากกว่าปรองดอง" นายกิตติพงษ์ กล่าว

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น