--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

12 ม.ค.เปิดใช้ ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง เสริมโลจิสติกส์ รถไฟทางคู่ ทะเลตะวันออก !!?

หลังรถไฟทางคู่สายแรก "กรุงเทพฯ-ชุมทางบ้านภาชี" เปิดใช้บริการไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน ด้วยระยะทาง 90 กิโลเมตร ในที่สุด การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ฤกษ์วันที่ 12 มกราคม 2555 เปิดบริการอย่างเป็นทางการรถไฟทางคู่สายที่ 2 เส้นทาง "ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง" ระยะทาง 78 กิโลเมตร วิ่งเลียบชายฝั่งทะเลตะวันออกในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ผ่านสถานีฉะเชิงเทรา ดอนสีนนท์ พานทอง ชลบุรี บางพระ ศรีราชา และปลายทางที่สถานีแหลมฉบัง

โครงการนี้ "ร.ฟ.ท." ใช้ความพยายามก่อสร้างโปรเจ็กต์นี้มาร่วม 4 ปี นับจากวันตอกเข็มในเดือนพฤษภาคม 2551 จนมาแล้วเสร็จเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา

มีรับเหมาเก่าแก่กรมทางหลวง (ทล.) ที่จับมือกันเสนอตัวเป็นผู้ก่อสร้าง ภายใต้ชื่อ "กลุ่มกิจการร่วมค้า ที.เอส.ซี." ประกอบด้วย "บริษัท ไทยพีค่อน และอุตสาหกรรม จำกัด-บริษัท เสริมสงวนก่อสร้าง จำกัด-บริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด" ค่าก่อสร้าง 3,936 ล้านบาท ซึ่งดัมพ์ราคาก่อสร้างจากกรอบวงเงิน 5,850 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้เมื่อ 22 พฤษภาคม 2550

สาเหตุที่โครงการนี้ใช้ เวลาก่อสร้างนาน เนื่องจากผู้รับเหมาขอขยายเวลาก่อสร้างถึง 4 ครั้ง ทำให้ "ร.ฟ.ท." ต้องเลื่อนกำหนดเสร็จไปหลายรอบ จากสัญญาเดิมสิ้นสุด 7 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา ทั้งมาจากปัญหาของผู้รับเหมาก่อสร้างเอง และไซต์ก่อสร้างที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้โครงการล่าช้ามาถึง 1 ปี

"ยุทธนา ทัพเจริญ" ผู้ว่าการการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ในวันที่ 12 มกราคมเป็นต้นไป จะเปิดใช้บริการรถไฟทางคู่สายนี้อย่างเป็นทางการ หลังจากเริ่มทดลองเปิดใช้ไปบ้างแล้ว เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา โดยได้เชิญ "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิด

สำหรับ ประโยชน์ของรถไฟทางคู่สายใหม่นี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพด้านระบบโลจิสติกส์ของการขนส่งทางรถไฟ ในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ ที่ขนส่งผ่านท่าเรือแหลมฉบังและสถานี ICD ที่ลาดกระบัง จะเพิ่มความจุได้มากขึ้น เท่าตัว

"ตอนนี้เรามีปริมาณขนส่งตู้ คอนเทนเนอร์ตกปีละ 4 แสนทีอียู หรือตู้ 20 ฟุต นับจากนี้ไปจะเพิ่มศักยภาพการขนส่งเป็นปีละ 8 แสนทีอียู แน่นอนว่ารายได้จะเพิ่มเท่าตัวเช่นกัน จากปีละ 400 ล้านบาท จะเพิ่มเป็น 800 ล้านบาท"

ในเชิงกลยุทธ์ โครงการลงทุนรถไฟทางคู่สายที่ 2 นี้ยังรองรับการขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดกระจายไปยัง ภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศได้ รวมถึงการขนส่งสินค้าจากภาคเหนือ อีสาน และ สปป.ลาว ผ่านทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่ จ.หนองคาย มายังแหลมฉบังได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น เนื่องจากจะช่วยลดระยะเวลาการรอหลีก ทำให้สามารถทำขบวนวิ่งได้เร็วขึ้น

ถามถึงโครงการรถไฟทางคู่สายที่ 3-4-5 คำตอบจาก "ผู้ว่าการยุทธนา" คือ ร.ฟ.ท.มีแผนจะก่อสร้างรถไฟทางคู่สายอื่น ๆ อีกแน่นอน คาดว่าจะนำร่องก่อนสายแรก คือ "ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย" เพื่อจะได้เป็นโครงข่ายเชื่อมต่อกับสายฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง

แนว โน้มความเป็นไปได้สูงสุดของโครงการนี้ ยังรวมถึงได้ออกแบบรายละเอียดไว้หมดแล้ว พร้อมเปิดประมูลก่อสร้าง โดยมีค่าก่อสร้างอยู่ที่ 11,348 ล้านบาท

ล่าสุด รอเพียงนโยบายจากรัฐบาลไฟเขียวเรื่องการก่อสร้างแค่นั้นเอง หากไม่มีปัญหาอุปสรรคใด ๆ คาดว่าในปี 2555 นี้จะเห็นเป็นรูปธรรม ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน หรือประมาณ 3 ปี

ที่มา นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น