วรเจตน์"แจงข้อเสนอนิติราษฎร์แก้ม.112ยังมีก.ม.ปกป้องสถาบันแต่ต้องปรับปรุง ด้าน"นิธิ"แนะแยกก.ม.หมิ่นฯออกจากหมวดความมั่นคงคนเดือดร้อน478คดี
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดตัว คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา112 "นักวิชาการ - นัดคิด - นักเขียน"เพียบ เตรียมใช้เวลา 112 วัน ล่ารายชื่อก่อนเสนอสภา "นิธิ" แนะแยกกฎหมายหมิ่นสถาบันออกจากหมวดความมั่นคง "วรเจตน์"แจงข้อเสนอนิติราษฎร์ยังมีกฎหมายปกป้องสถาบัน แต่ต้องปรับปรุง
มธ.คึกคนเสื้อแดงร่วมรณรงค์ยกเลิกม.112
ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา112 (ครก.112) ซึ่งนำโดยนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์และเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคม อาทิ กลุ่มสันติประชาธรรม กลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กลุ่มนักคิดนักเขียน ได้จัดเวทีวิชาการ-ศิลปวัฒนธรรม “แก้ไขมาตรา112” โดยมีการเปิดโต๊ะลงชื่อประชาชนที่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 ให้ครบ10,000รายชื่อเพื่อเสนอรัฐสภาพิจารณา พร้อมมีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) ซึ่งระบุให้ยกเลิกมาตรา112 และให้บัญญัติโทษเกี่ยวกับการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ตลอดจนองค์รัชทายาท ขึ้นมาใหม่
โดยมีท่ามกลางความสนใจของประชาชนที่เข้ามาร่วมงานกันอย่างคึกคัก รวมถึงมีนักวิชาการมาร่วม อาทิ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายเบนเนดิก แอนเดอร์สัน นักวิชาการชื่อดัง เข้าร่วมงานด้วย ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่มาร่วมรับฟังสวมเสื้อสีแดง ขณะที่บรรยากาศโดยรอบนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังเป็นปกติ ไม่มีมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมใดๆ
ระบุเสรีภาพไทยล้าหลังเทียบเกาหลีเหนือ
นางกฤตยา อาชวนิจกุล นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะตัวแทนครก.112 อ่านคำแถลงการณ์ระบุตอนหนึ่งว่า ตั้งแต่มีการรัฐประหาร พ.ศ.2549 มีสถิติผู้ต้องโทษตามมาตรา112 หรือที่รู้จักกันดีในนามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภพเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในปี พ.ศ.2553ซึ่งทีการฟ้องร้องถึง 478ข้อหา ซึ่งเปรียบเสมือนว่าความจงรักภักดีนี้ได้เป็นอาวุธสำหรับการข่มขู่ คุกคาม และในความอ่อนไหวของข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ มักทำให้ผู้ถูกกล่าวหาประสบกับการบังคับใช้กฎหมายไม่คำนึงถึงสิทธิพลเมือง เช่น ไม่ให้มีการประกันตน มีการไต่สวนด้วยวิธีปิดลับ อีกทั้งยังมีการกดดันจากสังคม อย่างเช่นกรณีการล่าแม่มด ทั้งนี้รายงานปี2554ขององค์กรฟรีดอมเฮาส์ได้เปลี่ยนสถานะเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยจากกึ่งเสรีเป็นไม่เสรี ส่งผลให้ไทยถูกจัดอับอยู่ในกลุ่มเดียวกับเกาหลีเหนือ พม่า จีน คิวบา อัฟกานิสถาน อิหร่าน นอกจากนี้ยังมีกรณีที่มีผู้ถูกดำเนินคดี เช่น กรณีอากง กรณีนายโจ กอร์ดอน ทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยดังกระหึ่มทั่วโลก ซึ่งทำให้องค์กรระหว่างประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรา112 ทั้งนี้จะใช้เวลารวบรวมรายชื่อ 112วัน และจะนำเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้ลุล่วง
"นิธิ" แนะปรับออกจากหมวดความมั่นคง
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ปาฐกถาผ่านวีดีโอตอนหนึ่งว่า กฎหมายดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนถึง 478 คดี แต่เชื่อว่าถ้านับรวมความเดือนร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าวนี้เป็นจำนวนมากกว่านั้น มีคนบอกว่าหากเราไม่ทำผิดก็จะไม่มีปัญหา แต่ถ้าวิเคราะห์ในรายละเอียดจะพบว่ากฎหมายนี้ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนในการวินิจฉัยผู้กระทำความผิด ทั้งที่ผู้ที่ไม่มีเจตนาแต่อาจพลั้งเผลอไปก็อาจถูกเหมารวมดำเนินความผิดเช่นเดียวกับผู้ที่เจตนาและทำขบวนการเช่นกัน ทั้งนี้ตนเห็นว่าควรจะมีการยกเลิกและปรับปรุงสาระในกฎหมาย อาทิ การเอาความผิดกับกรณีดังกล่าวที่ๆไม่ควรเอาไปไว้ในหมวดความผิดต่อความมั่นคง การระบุอำนาจการฟ้องร้องที่ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้ใครก็ได้สามารถฟ้องร้อง ซึ่งสุ่มเสียงต่อการใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แทนที่ควรจะมีบุคคลที่มีวิจารณญาณ มาร้องทุกข์กล่าวโทษ ทั้งนี้หากไม่มีการแก้ไขก็จะไม่มีการรับประกันได้เลยว่ากฎหมายดังกล่าวจะไม่ถูกใช้อย่างฉ้อฉลหรือมีการเข้าใจผิดอีก
ดักทางใครขวางเข้าข่ายขัดพ.ร.บ.เสนอกฎหมาย
นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ กล่าวว่า เป้าหมายของครก.112 คือการรวบรวมรายชื่อให้ได้10,000รายชื่อ ภายใน112วัน เพื่อเสนอต่อประธานสภาให้กฎหมายที่ร่างใหม่นี้ เข้าสู่การพิจารณา และแม้วันนี้พรรคการเมืองต่างๆจะไม่เห็นด้วย แต่เชื่อว่าหากมีประชาชนจำนวนมากสนับสนุนพรรคการเมืองเหล่านั้นอาจจะเปลี่ยนใจ เพื่อมาสนับสนุนแนวทางของครก.112 แต่หากไม่มีใครเห็นด้วยเราก็ต้องทำใจ เพราะไม่มีอำนาจไปบังคับสมาชิกรัฐสภาให้พิจารณากฎหมายได้ และตนอยากฝากบอกบุคคลที่ขัดขวาง อาทิ การข่มขู่ประชาชนที่เข้าชื่อเสนอรายชื่อแก้ไขกฎหมายนั้น เข้าข่ายผิดกฎหมาย พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมายปี42 โดยมีโทษจำคุก1-5ปี หรือปรับ 20,000-100,000บาท หรือทั้งจำและปรับ แต่หากมีการรวบรวมรายชื่อไม่เห็นด้วยโดยการล่ารายชื่อก็ถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพ และเป็นความต่างทางความเห็นตามระบอบประชาธิปไตย
ปัดจุดชนวนความขัดแย้ง
"มีคนบอกว่า จะเป็นการจุดชนวนความขัดแย้ง ประเทศเราอ่อนไหวเรื่องความขัดแย้งเหลือเกิน ผมอยากบอกว่าคนเหล่านี้เสแสร้งเหลือเกิน เพราะความขัดแย้งทางความคิดเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย แต่ขอโอกาสให้คนเห็นต่างได้มีพื้นที่แสดงความคิดเห็นบ้าง ไม่ใช่ไล่ไปอยู่ที่อื่นหรือไปถือสัญชาติอื่น เพราะทุกคนในที่นี้ดำเนินตามขั้นตอนตามกฎหมาย โดยมีพวกท่านเป็นผู้บังคับใช้อยู่"นายวรเจตน์ กล่าว
แนะบัญญัติ 7 ประการก่อนเขียน กฎหมายหมิ่นฯ
นายวรเจตน์ กล่าวว่า จากการหารือกับกลุ่มนักวิชาการ พบว่ายังมีข้อสรุปที่ต้องปรับปรุงในสาระของกฎหมาย ม.112 คือ การยกเลิก ม.112ไปก่อน และมีการเขียนบทบัญญัติเพิ่มเติม โดยมีประเด็นสำคัญประกอบไปด้วย 1.ให้ยกเลิกมาตรา112ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร เพราะจะทำให้มีความผิดรุนแรง และศาลจะไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยอ้างว่ากระทบกับจิตใจกับประชาชน 2.เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 3.แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะแบ่งแยกลักษณะความผิดในการลงโทษ ไม่เหมารวมเช่นที่ผ่านมา
เสนอเลิกโทษขั้นต่ำ ให้สำนักราชเลขาฯกล่าวโทษแทน
นายวรเจตน์ กล่าวว่า 4.เปลี่ยนบทกำหนดโทษ โดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ แต่กำหนดเพดานโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินสามปี สำหรับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่เกินสองปีสำหรับ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 5.เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด กรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต 6.เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ กรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง และการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 7.ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษผู้ที่ทำความผิด ให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้นแทนพระองค์ เนื่องจากสุ่มเสี่ยงต่อการกลั่นแกล้งทางการเมือง ที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้สามารถกล่าวโทษกับผู้อื่นได้ และเชื่อว่าจะไม่เป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นคู่ความกับประชาชน เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดให้พระมหากษัตริย์ลงมาฟ้องร้องเอง แต่ในสำนักราชเลขาธิการซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฟ้องร้องแทนได้อยู่แล้ว
แจงข้อเสนอนิติราษฎร์ยังมีบทบัญญัติคุ้มครองสถาบัน
นายวรเจตน์ กล่าวว่า ส่วนที่มีผู้มองว่าอาจขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา8 ที่สถาบันฯ จะต้องเป็นที่เคารพสักการะนั้น ตนยืนยันว่าข้อเสนอของคณะ มีการบัญญัติบทคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ ส่วนประเด็นการเข้าชื่อเพียง10,000 ชื่อ แทน50,000ชื่อ เป็นเพราะตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา163ระบุชัดว่า ให้ประชาชนเพียง10,000ชื่อ สามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้เลย และประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพโดยตรง เพราะกฎหมายดังกล่าวเชื่อมโยงกับการแสดงความคิดเห็น มีบทลงโทษที่กระทบกับเสรีภาพประชาชน ดังนั้นการเคลื่อนไหวของครก.112 จึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ส่วนที่มีการมองกันว่าหากมีการแก้ไขเกี่ยวกับกับกฎหมายม.112 จะส่งผลให้กฎหมายคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ของไทย มีความเข้มข้นน้อยกว่าประมุขของประเทศอื่นๆนั้น นายวรเจตน์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่รัฐสภาต้องทราบอยู่แล้ว พร้อมกับให้มีการดำเนินการแก้ไขในคราวเดียวกัน แต่หากไม่มีใครทำ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์จะดำเนินการเอง
เปิดชื่อครก.112 นักคิด-นักเขียนดังแห่ร่วมเพียบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อคณะ ครก.11 ที่เสนอให้ยกเลิกกฎหมายม.112นั้น มีทั้งสิ้น 120 คน ประกอบไปด้วยนักวิชาการ สื่อมวลชน นักเขียน ศิลปิน ที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมากอาทิ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสุจิตต์ วงศ์เทศ นักเขียนอาวุโส นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ นางอุบลรัตน์ ศิริยุวศักด์ นักวิชาการ นายปราบดา หยุ่น นักเขียนรางวัลซีไรทต์ นายเสกสรร ประเสริฐกุล นายธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียน วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนซีไรท์ นายซะการีย์ยา อมตยา นักเขียนซีไรท์ นายคำสิงห์ ศรีนอก นักเขียน ศิลปินแห่งชาติ นายอภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล หรือ เจ้ย ผู้กำกับชื่อดัง นายวิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับชื่อดัง นอกจากนี้ยังมีคณาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมเป็นกรรมการด้วย
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น