เป็นเวลากว่า 3 ปี ที่นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เงียบหายหน้าหายตาไปจากแวดวงการเมืองไทย สืบเนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ จนต้องหยุดการให้คำจำกัดความรัฐบาล และตัวนายกรัฐมนตรีที่สะท้อนการบริหารงานของรัฐบาลในช่วงเวลานั้น ได้อย่างดุเด็ด เผ็ด มัน ของบรรดาคอการเมือง จนถือเป็นเครื่องหมายทางการค้าของชายผู้นี้ไปแล้ว ขณะการกลับเข้ามาสู่แวดวงทางการเมืองอีกครั้งในการกล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมใหญ่เครือข่ายธุรกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา
ถือได้ว่าเป็นการเรียกน้ำย่อยและสร้างสีสันให้กับการเมืองไทยในระดับหนึ่ง ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ กรณีกลุ่มนิติราษฎร์ เรียกร้องให้แก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดย นายธีรยุทธ มองว่าเป็นความขัดแย้งของรากหญ้ากับรากความคิดของสังคมไทย รากหญ้าคือคนเสื้อแดง ชื่นชมความคิดประชานิยม อยากเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อีกฝ่ายชื่นชมสถาบัน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และไม่ใช่เรื่องมาพูดว่าอีกฝ่ายจงรักภักดี อีกฝ่ายไม่จงรักภักดี ตนมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่อยากให้แง่คิดว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนความคิดที่ขัดแย้ง และความเชื่อดั้งเดิมของสังคมไทย เพราะฉะนั้นมันสามารถเคลื่อนตัวไปสู่ปัญหาที่มากกว่าความรุนแรง มันใหญ่มาก มหาศาลมาก ทั้งยังเสนอแนวทางลดสองมาตรฐาน ต้องดำเนินคดีพวกเผาราชประสงค์-ปิดสนามบิน
ธีรยุทธ บุญมี
“ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้กว้างมาก ลึกมาก ซึ่งทางออกผมจะไม่เสนอประนีประนอม สมานฉันท์ แต่ต้องอาศัยกระบวนการคลี่คลายเป็นช่วงๆ จุดเริ่มต้นที่ดีที่น่าจะเกิด คือต้องมองปัญหาแบบที่เป็นจริงและตัดอคติของตัวเองทั้งหมด เคยเกลียดชัง ไม่เห็นด้วย หรือชื่นชมศรัทธาเชื่อถือมากก็ต้องลด ถ้าศึกษาเข้าใจปัญหาจริงๆ อาจจะช่วยเปิดทางให้มองเห็นว่าควรจะทำอะไร” นายธีรยุทธ กล่าว
นายธีรยุทธ ยังกล่าวต่ออีกว่า ส่วนเรื่องการแก้ปัญหาอุทกภัยใหญ่ของรัฐบาลที่ผ่านมา ส่วนตัวสุดอับอายแก้ปัญหาน้ำท่วมเหลว ส่อถึงระบบความขัดแย้งในสังคมไทย
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นี่ยังเป็นแค่ออเดิร์ฟของนายธีรยุทธเท่านั้น ของจริง รัฐบาลปู น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย จะต้องเจอแน่ ตามที่นายธีรยุทธทิ้งท้าย ประมาณปลายเดือน ก.พ.ที่จะถึงนี้ จะออกมาออกมาวิพากษ์การเมืองอีกครั้ง ส่วนจะทำให้สังคมไทยที่ติดตามการเมืองถึงกับได้ซู๊ดปากหรือไม่ หรือกลายเป็นไม่มีอะไรในก่อไผ่ เดี๋ยวคงได้ทราบ นายธีรยุทธจะเป็นผู้ให้คำตอบ
โภคิน พลกุล
ขณะที่ นายโภคิน พลกุล อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และ อดีต 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย กล่าวเช่นกัน ส่วนตัวคงไม่อยากกล่าวให้ความเห็นข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์โดยเฉพาะกรณีเสนอให้แก้มาตรา 112 แต่ส่วนตัวยังสนับสนุนแนวทางการสร้างความสมานฉันท์ ปรองดอง ไม่ใช่มุ่งแต่เอาชนะคะคานไม่ยอมแพ้กัน ต้องมาพิจารณาว่าสิ่งนั้นที่ทำเหมาะสมหรือไม่ ถ้าไม่ก็ถอยออกจากสิ่งนั้น ที่ผ่านมาแล้วก็ให้มันผ่านไป ควรต้องกลับมาร่วมกันคิดว่าต้องร่วมกันนับ 1 หรือไม่ ถ้ายังไม่ยอมจะจองเวรกันท่าเดียว มันก็ไม่มีทางยุติได้ ดังนั้นควรหันหน้าเข้าหากัน แล้วระบบกฎหมายก็มีระบบปกติของมัน ก็ควรนำไปใช้เป็นไปตามครรลอง แทนที่จะมาใช้ระบบพิเศษ อย่างที่ผ่านมา เพื่อมาจัดการกับตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ซึ่งความจริงมันไม่ถูกหลักนิติรัฐ นิติธรรมด้วยซ้ำ ทำไมต้องนำระบบที่คิดขึ้นมาเป็นพิเศษใช้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ คนเดียว หากใช้ระบบปกติดำเนินการ เรื่องมันก็จบ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำผิดตรงไหนก็ว่ากันไปเป็นเรื่องๆ ผมเห็นว่าต้องเดินมาแนวทางนี้เท่านั้น คือต้องยอมถอยและให้อภัยซึ่งกันและกัน เรื่องมันถึงจะจบ ใช่ ถึงแม้จะมีบางเรื่องที่ยังเป็นอารมณ์ค้างกันอยู่บ้าง แต่ก็ควรหันหน้าเข้าหา พูดคุยปรับความเข้าใจกัน
ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ส่วนที่มีนักวิชาการบางกลุ่มอย่างกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ออกมาเสนอความเห็นทางการเมืองชี้ว่า ปัจจุบันเผด็จการทหารมันล้าสมัย ใช้ไม่ได้ในโลกปัจจุบันแล้ว ประชาชนคนไทยไม่ต้องกลัว แต่ที่น่ากลัวกว่า คือระบบเผด็จการนายทุนนั้น นายโภคิน กล่าวว่า ต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ก่อน ว่าระบบประชาธิปไตยที่ใช้กันอยู่ในโลกนี้มันเป็นแนวทางของทุนนิยมหรือไม่ แม้ปัจจุบัน จีนยังเป็นทุนนิยมเลย ถ้าต้องการให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย มันหนีออกจากระบบทุนนิยมไม่ได้หรอก หรือจะเอาแบบประเทศเกาหลีเหนือ ซึ่งคนในประเทศก็ไม่เอาด้วยแน่ แล้วต้องสังเกตว่าหากระบบนี้ไม่ดี แล้วประเทศที่เจริญแล้ว อย่าง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ก็เดินในแนวทางนี้ทั้งสิ้น ต้องถามกลุ่มนักวิชาการที่เสนอเช่นนี้ว่า ถ้าไม่เอาระบบนี้แล้วจะให้เดินไปในแนวทางไหน ดังนั้นเราต้องรับกับมันให้ได้ ยอมรับว่าระบบมันก็มีจุดดี-จุดด้อย เป็นธรรมดา มันไม่ดีตรงไหนก็ต้องปรับปรุง แต่จะหนีจากระบบทุนนิยมไม่ได้ ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่พูดให้นายทุน เพราะไม่ใช่กลุ่มทุนหรือนายทุนนั้นดีทุกคน ถ้าส่วนไหนเราก็มาช่วยกันบอกให้ปรับปรุงและแก้ไขอย่างนี้ไม่ได้กว่าหรือ ทำอย่างไรให้นายทุนไม่เอาเปรียบพี่น้องประชาชน หรือไม่ให้เจ้าหนี้ขูดรีดหรือเอาเปรียบลูกหนี้ และทำให้ประชาชนทุกคนมีงานทำ มีรายได้ ร่วมกันพัฒนาประเทศ
นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เกี่ยวกับมุมมองความขัดแย้งของกลุ่มนักวิชาการ ทั้ง 2 ฝ่าย ที่มีต่อกรณีการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่อยู่ในสังคมขณะนี้ว่า การโต้เถียงกันแบบนี้ฝ่ายที่เสนอก็มีเหตุผลของเค้า ส่วนสุดท้าย ถูกหรือผิด จะเป็นอย่างไร สังคมก็จะเป็นผู้ตัดสินเอง ฝ่ายเสนอข้อมูลสามารถนำเสนอได้ไม่แปลกอะไร
ส่วนตัวมีมุมมอง เห็นว่าที่เกิดการโต้เถียงขึ้นในสังคม ประชาชนและสังคมไทยได้มากกว่าการที่มาบอกว่าอย่ามาโต้เถียงกัน เพราะจะได้ทราบถึงข้อมูล ข้อเท็จจริงทั้งหมด เพราะถ้าสังเกตดีๆที่ผ่านมามีโฆษกสถานีโทรทัศน์บางช่องยังไม่เข้าใจความหมายของกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีการไประบุว่า เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป ซึ่งเห็นชัดว่ายังมีความเข้าใจผิด แต่ในความคิดของผม สังคมไทยควรต้องลองมาหัดเถียงกันดูบ้าง เพราะมวลชนจะได้เกิดการเรียนรู้ ไม่ใช่คิดเพียงแต่ว่า เถียงกันได้เฉพาะผู้รู้ หรือกลุ่มนักวิชาการ แล้วประชาชนอีกกว่า 60 ล้านคนล่ะ ไม่สามารถเรียนรู้ หรือเถียงกัน หรือมีความคิดได้หรือ เพราะจะอย่างไรสุดท้ายสังคมไทยและประชาชนทุกคนก็จะต้องเป็นผู้ตัดสินใจอยู่แล้ว ส่วนการเห็นขัดแย้งกัน อาจเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรงในประเทศขึ้นมาอีกหรือไม่ อันนี้คงไม่มีใครระบุได้
นายคมสัน โพธิ์คง กล่าว กรณีเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า การที่มีกลุ่มนักวิชาการออกมาปะทะกันทางแนวความคิดเห็นการแก้กฎหมายอาญา ม.112 ให้สังคมได้รับรู้ เป็นการถูกต้องแล้ว เพราะที่ผ่านมา นิติราษฎร์เสนออยู่ในมุมมองเดียว การที่ประชาชนในสังคม ได้ฟังจากทั้ง 2 ฝ่าย จะได้ตัดสินใจได้ถูก ไม่น่าเป็นปัญหา ส่วนที่เกรงกันว่า หากปล่อยให้ทั้ง 2 ฝ่าย เสนอแนวคิดตัวเอง ทั้งที่สนับสนุนและคัดค้านกันต่อไป อาจทำให้เกิดความรุนแรงจากการปะทะกันได้นั้น คงต้องขึ้นอยู่ที่สติของมวลชน
เฉลิม อยู่บำรุง
ส่วนกรณีที่เหมือนว่าตอนแรก รัฐบาลชุดดังกล่าวออกแนวสนับสนุนกลุ่มนิติราษฎร์ให้ออกมาเสนอความเห็น แล้วมาช่วงหลัง ผู้นำรัฐบาลอย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี รวมไปถึง ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง และนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ถึงค่อยออกมาชี้แจงว่า รัฐบาลไม่มีแนวความคิดแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น ส่วนตัวก็เห็นว่าไม่มีอะไร เพียงแต่ว่าสิ่งที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอ มันกลายเป็นเผือกร้อนของรัฐบาล เพราะกระแสการคัดค้านรุนแรง แล้วธรรมชาตินักการเมืองห่วงฐานเสียง กลัวเสียคะแนนเสียง สุดท้ายก็เลยต้องมารีบกลับลำก็เท่านั้น
ที่มา: ไทยรัฐ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น