เมื่อต้นเดือนมกราคมนี้ พม่าได้ประกาศนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองระดับนำอีก 651 คน
โดยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปประชาธิปไตยของประเทศนั้น...ภายหลังจากทหารยึดอำนาจและปกครองแบบเผด็จการมานานกว่าครึ่งศตวรรษ
กระบวนปฏิรูประบอบการปกครองของพม่า เริ่มต้นด้วยการเจรจาและปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี ตามด้วยการยอมให้สหภาพแรงงานเป็นองค์กรถูกกฎหมาย กับการลงนามหยุดยิงกับกะเหรี่ยงกลุ่มต่างๆ
ผู้ที่ถูกปล่อยตัวครั้งนี้มี “เจ้าทุนโอ” ประธานพรรคสันนิบาติแห่งชาติรัฐฉานเพื่อประชาธิปไตยที่ถูกจับพร้อมกับราชวงศ์ไทยใหญ่ทั้งหมดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 เพราะไม่ยอมเข้าร่วมขบวนการร่างรัฐธรรมนนูญที่มีทหารคอยบงการ
เฉพาะ “เจ้าทุนโอ” ถูกตัดสินจำคุก 93 ปี
อีกคนคืออดีตนายกรัฐมนตรี “ขิ่นยุ่น” ที่ถูกปลดเมื่อปี 2547 และถูกจับข้อหาคอรัปชั่น...ขิ่นยุ่นถูกตัดสินจองจำอยู่ในบ้าน 44 ปี
ความผิดจริงๆ ของเขาคือชักจะมีบารมีแก่กล้ามากเกินไปจนจะเป็นภัยต่อท่านผู้นำในขณะนั้น
การปล่อยตัวนักโทษการเมืองและการปฏิรูปประชาธิปไตยของพม่า ทำให้สหภาพยุโรปพิจารณายกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเมือง
สหรัฐประกาศจะยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูต
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการลงนามในความตกลงหยุดยิงระหว่างพม่ากับกะเหรี่ยง ซึ่ง “ขิ่นยี” รัฐมนตรีตรวจคนเข้าเมือง ตัวแทนของฝ่ายพม่า บอกว่า...
ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้กล่าวว่า เราเป็นพี่น้อง โกรธกันมา 63 ปีแล้ว ขอให้รัฐบาลพม่าให้ทุกอย่างที่ฝ่ายกะเหรี่ยงต้องการ
คำพูดของเต็งเส่ง ทำให้มีคนนึกถึง เนลสัน แมนเดล่า วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอัฟริกาใต้ ที่เคยกล่าวไว้ว่า...
การประนีประนอมเป็นศิลปะแห่งความเป็นผู้นำ และคุณต้องประนีประนอมกับคู่ต่อสู้ ไม่ใช่กับเพื่อน และในการโต้เถียงทุกครั้ง เมื่อถึงที่สุดแล้ว คุณจะไปถึงจุดที่ไม่มีฝ่ายใดผิดหรือถูก
โดยการประนีประนอม จะเป็นทางเลือกเดียว สำหรับผู้ที่ต้องการสันติภาพและเสถียรภาพอย่างจริงจัง
จริงอยู่ไทยกับพม่า มีสิ่งที่เหมือนกันและต่างกัน สิ่งที่เหมือนกันคือมีความขัดแย้งแตกแยกและเข่นฆ่ากัน
แต่ของพม่าเป็นสงครามระหว่างชนเผ่าที่แย่งยึดอำนาจการปกครองประเทศ...โดยพม่าต้องการมีอำนาจปกครองฝ่ายเดียว ชนเผ่าอื่นจึงตั้งกองทัพขึ้นมาสู้
ของเราเป็นความขัดแย้งแตกแยกทางความคิดระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ โดยฝ่ายหนึ่งอยากจะปกครองโดยไม่มีคนอื่นมายุ่งเกี่ยวสอดแทรก อีกฝ่ายต้องการมีสิทธิ์มีเสียงตามสภาพความเป็นจริงของความเป็นมนุษย์
ภายหลังจากที่มีการเข่นฆ่าปราบปรามจับกุม แต่พลังของฝ่ายประชาธิปไตยกลับเติบใหญ่อย่างหยุดยั้งไม่อยู่ จึงมีการพูดถึงการประนีประนอมปรองดอง และมีการหยิบยกเอากรณีของพม่ามาเป็นกรณีศึกษา
การศึกษาบทเรียนจากพม่าย่อมเป็นสิ่งที่ถูกต้อง โดยเฉพาะประเด็นการประนีประนอม แต่นั่นแหละ มันจะต้องตั้งคำถามและถกเถียงกันอย่างจริงจังว่า...
ฝ่ายใดควรจะศึกษาและจะประนีประนอมกันอย่างไร ไม่ใช่ลืมๆ กันเสีย อภัยกันเสีย
มิฉะนั้นมันจะเป็นเรื่องพิลึกพิลั่นในประวัติการเมืองโลก
โดย: ศรี อินทปันตี,บางกอกทูเดย์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น