“คิดถึงทุกคน ที่หายหน้าไปนั้นเพราะอยากให้นายกฯและรัฐมนตรีได้ทำงานอย่างเต็มที่ ส.ส. ที่โทร.มาแล้วไม่ได้รับสายก็ไม่ต้องน้อยใจ เพราะในช่วงนี้ข่าว ปรับ ครม. เยอะจึงไม่อยากรับสายใคร แต่ยืนยันว่ารักทุกคน จะขยันดูให้บ่อยขึ้นหน่อย รอบนี้ไม่ได้ก็รอรอบหน้า ขอให้รัฐมนตรีและ ส.ส. ทุกคนทำงานให้หนักเพื่อประชาชนจะได้มีความสุข เมื่อประชาชนสุขเราก็สุขด้วย และขอให้ทุกคนร่วมใจกันทำให้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ประชาชนไว้ใจ” พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โฟนอินกล่าวทักทายสวัสดีปีใหม่กับรัฐมนตรีและ ส.ส. เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 ระหว่างการประชุม ส.ส. พรรคเพื่อไทย ซึ่งสะท้อนคำว่า “นายใหญ่” ที่ยังมีอำนาจและมีบารมีในพรรคเพื่อไทยที่บรรดา ส.ส. และสมาชิกพรรคยังวิ่งเข้าหาเพื่อขอตำแหน่งทางการเมือง แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 5 ปีแล้ว แต่อำนาจและบารมีของ พ.ต.ท.ทักษิณยังปรากฏให้เห็นเด่นชัดไม่เสื่อมคลาย ทำให้ฝ่ายตรงข้ามไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มสลิ่มขาประจำ กลุ่มคนมีสี และกลุ่มอำมาตย์ ต้องเร่งมือล้มล้างอำนาจของพรรคเพื่อไทย และพยายามทำลายเครือข่ายที่ให้การสนับสนุนทั้งหมดให้ได้ โดยเฉพาะกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่แม้ขณะนี้จะเกิดความขัดแย้งภายในแต่ก็เติบโตและแข็งแกร่งมากขึ้นทุกวัน ตอกย้ำภาพ “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะประกาศในวันรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2554 ว่า “จะมุ่งมั่นสร้างสุข สลายทุกข์ ให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างสุดกำลังความสามารถ ดิฉันจะไม่ทำเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่จะทำเพื่อประเทศชาติและคนไทยทุกคน” แต่ไม่สามารถลบภาพ “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ออกไปได้ อีกทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณยังประกาศอย่างชัดเจน โดยให้สัมภาษณ์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็น “โคลนนิ่งของตนเอง” จึงยากจะปฏิเสธว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ ได้มีบารมีเหนือรัฐบาลและน.ส.ยิ่งลักษณ์ แม้ต่อมาทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะออกมาปฏิเสธ (เพื่อไม่ให้เข้าข่ายเป็นความผิดทางกฎหมายพรรคการเมือง) แต่กลุ่มแพ้เลือกตั้งที่จ้องล้มรัฐบาลยังนำมาใช้โจมตีจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้น การเคลื่อนไหวใดๆของ พ.ต.ท.ทักษิณจะถูกโยงให้เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยหรือรัฐบาลทันที เงา “ทักษิณ” บดบัง “ปู” ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณถูกมองว่าชอบอวด ชอบโชว์ (ทั้งๆที่ไม่จำเป็นต้องโชว์) อย่างกรณีให้สัมภาษณ์ว่าเป็นผู้ประสานงานให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์พบผู้นำพม่าและนางออง ซาน ซู จี จน น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง แต่มีน้อยคนที่จะเชื่อ เพราะออกมาจากปาก พ.ต.ท.ทักษิณเอง ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นขนมหวานให้ฝ่ายตรงข้ามนำ พ.ต.ท.ทักษิณไปผูกโยงว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะหลังการเยือนพม่าของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็มีข่าวดีว่าบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลพม่าให้สำรวจแหล่งปิโตรเลียมใหม่ 2 แปลง ซึ่งเป็นแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมบนบกที่รัฐบาลพม่าเปิดสัมปทานให้ภาคเอกชนจากต่างประเทศเข้าไปสำรวจเป็นครั้งแรก ทั้งที่ข่าวอย่างนี้น่าจะเป็นผลดีต่อประเทศ แต่กลับเป็นประเด็นให้ถูกโจมตีอีกจนได้ สำนักข่าวรอยเตอร์วิเคราะห์ว่า แม้การเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นการเยือนกัมพูชา เนปาล หรือพม่า แสดงให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีอำนาจมากขึ้น แต่กลับทำให้บารมีความเป็นผู้นำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยิ่งถดถอย จึงเป็นเรื่องยากของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่พยายามสลัดเงาของพี่ชายเพื่อยืนยันความเป็นผู้นำที่แท้จริง เงาทะมึนของ พ.ต.ท.ทักษิณที่อยู่เบื้องหลังของ น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงถูกนำไปเป็นเงื่อนไขให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตีว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลทักษิณ ไม่ใช่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะแค่มีข่าวว่าจะปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) บรรดา ส.ส. และแกนนำก็แห่วิ่งเข้าหา พ.ต.ท.ทักษิณ รัฐบาลเพื่อใคร? ตลอด 4 เดือนของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงเป็นเหยื่ออันโอชะไม่ต่างจากรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ (รวมถึงทุกรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้ง) ที่ต้องถูกจับตามองว่าพยายามช่วยให้ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นผิดและกลับประเทศ รวมถึงเอื้อผลประโยชน์ให้กับตระกูลชินวัตรและเครือญาติ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มขาประจำที่หยิบทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนในตระกูลชินวัตรมาโจมตี ไม่ว่าจะเป็นกรณีกรมสรรพากรไม่ยื่นเรื่องอุทธรณ์ศาลภาษีฯกรณีเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ป 12,000 ล้านบาท ของนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร กรณีศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร และรอลงอาญานายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ หลังจากอัยการสูงสุดมีความเห็นไม่ยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้พิจารณาคดีการเลี่ยงภาษีหุ้นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) การแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และการคืนหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ แม้นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะอ้างระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สามารถยกเลิกหรือเรียกคืนบุคคลใดที่เห็นว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศไทยและต่างประเทศได้ ซึ่ง พ.ต.ท. ทักษิณไม่ได้ทำความเสียหายทั้งในและต่างประเทศ ล่าสุดกรณีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ขอพระราชทานอภัยโทษ ที่มีกระแสข่าวว่ามีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ด้วย แม้รัฐบาลจะปฏิเสธ แต่ฝ่ายตรงข้ามยังออกมาปลุกกระแสต่อต้านจน พ.ต.ท.ทักษิณต้องออกแถลงการณ์ไม่ขอรับการอภัยโทษ เพื่อยุติปัญหาและช่วยรัฐบาลไม่ให้เป็นเป้านิ่ง ทั้งที่เป็นเรื่องของพระราชอำนาจ แม้แต่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคภูมิใจไทย (ที่พยายามออกห่างจากกลุ่มเนวินและวางตัวเองเป็นกลุ่มการเมืองอะไหล่พร้อมร่วมรัฐบาล) ยังระบุว่าการเมืองไทยปี 2555 จะยุ่งยาก เพราะมีการสร้างเงื่อนไขจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน สู้กันด้วยอารมณ์และความแค้น ไม่ว่าจะเป็นการแก้ พ.ร.บ.กระทรวงกลาโหม และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อีกทั้งการคืนพาสปอร์ตให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยมองว่าหากรัฐบาลเดินหน้าเรื่องเหล่านี้จะนำไปสู่ความรุนแรงได้ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.กระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นตัวจุดกระแสให้อุณหภูมิการเมืองร้อนแรง ส่วนคดี 91 ศพ ไม่น่าจะใช่เงื่อนไข เพราะไม่ใช่การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาธิปัตย์กัดไม่ปล่อย เห็นได้จากพรรคประชาธิปัตย์กัดไม่ปล่อยกรณีคืนหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ล่าสุดก่อนสิ้นปี 2554 นายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นหนังสือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อให้สั่งเพิกถอนหรือแก้ไขการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายสุรพงษ์และข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศภายในวันที่ 9 มกราคม 2555 เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนักโทษเด็ดขาดและเป็นผู้ต้องหาหลบหนีคดีตามหมายจับของทางราชการถึง 5 หมายจับ ทั้งมีความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับความมั่นคง ฐานก่อการร้ายและการทุจริต คือคดีที่ดินรัชดาฯ คดีหวยบนดิน คดีเอ็กซิมแบงก์ คดีแปลงสัญญาณสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต และคดีก่อการร้าย เขียนผี “ทักษิณ” ปลุกวิญญาณพันธมิตรฯ ขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯที่วันนี้แทบไม่มีพลังจะออกมาเคลื่อนไหว เพราะการแตกแยกกันเองอย่างรุนแรง แต่ยังมีลมหายใจ เพราะหวังว่าจะอาศัยเงื่อน ไขที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับมาเป็นการเขียน “ผีทักษิณ” เพื่อปลุกวิญญาณพันธมิตรฯอีกครั้ง ล่าสุดแกนนำพันธมิตรฯยืนยันจะออกมาเคลื่อน ไหวทันทีหากมีการแก้ไขมาตรา 112 และแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นผิด โดยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ ระบุว่า แม้พันธมิตรฯจะกำหนดบทบาทว่าต้องเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เท่านั้นก็ตาม แต่หากเกิด 2 เงื่อนไขดังกล่าวก็จะออกมาทันที เพราะเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยต้องพยายามให้มีอำนาจแบบเด็ดขาด เพื่อลบล้างความผิดในอดีตแล้วโยนบาปให้คนอื่น รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญและคุมอำนาจในกองทัพให้ได้ ด้านนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรฯ เชื่อว่าปี 2555 จะเกิดเหตุการณ์บางอย่างแต่ไม่กล้าพูด แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ยืนยันว่าจะไม่มีรัฐประหารก็ไม่ต่างจาก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่เคยพูดก่อนจะทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยดึงดันหาคนผิดคดี 16 ศพในเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิตให้ได้ก็นับถอยหลังได้เลย นายสมเกียรติยังเชื่อว่า “ยุทธศาสตร์สุดท้ายของทักษิณต้องการให้ตัวเองพ้นผิด มีอำนาจล้มเจ้าได้ และได้ทรัพย์สินคืน ผมจึงไม่เชื่อการเมืองไทยจะเปลี่ยนผ่านโดยสันติและประนีประนอม ในที่สุดจะต้องเปลี่ยนผ่านอย่างใหญ่ที่ต้องเสียเลือดเนื้อ เว้นแต่ประเทศไทยไม่มีทักษิณ” ปรองดองหรือปองร้าย? ดังนั้น การที่วิปรัฐบาลมีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร.3 ขณะเดียวกันมีความพยายามให้ออก พ.ร.ฎ.ปรองดอง เพื่อเริ่มต้นปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจังนั้นหมายถึงการ ปลดล็อกให้กับทุกฝ่าย รวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณด้วย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 (คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ที่เปลี่ยนไปเป็น คมช.) ที่ปัจจุบันเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึก-ษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ก็กลับมาเล่นบทบาทใหม่ในสภา โดยยืนยันจะเดินหน้าสร้าง ความปรองดองต่อไป แม้ยังมีความขัดแย้งสูงก็ตาม ที่สำคัญปัญหาทั้งหมดถูกดึงมารวมไว้ที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ซึ่ง พล.อ.สนธิได้ฝากให้ทุกฝ่ายยอมรับว่าถ้าต้อง การให้ประเทศเกิดความปรองดองก็ต้องให้อภัยกัน ขณะ ที่พรรคเพื่อไทยยืนยันว่าการสร้างความปรองดองต้องคืนความชอบธรรมทางการเมืองให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณด้วย ข้อเสนอของ “กลุ่มนิติราษฎร์” ที่ให้ลบล้างผลพวงการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงเป็นประเด็นร้อนที่จะทดสอบ พล.อ.สนธิว่ามีความจริงใจในการสร้างความปรองดองหรือไม่ สมาชิกบ้านเลขที่ 111 แม้สถานการณ์ทางการเมืองวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับประเทศ ทั้งที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล เพราะตราบใดที่อำนาจของกลุ่มอำมาตย์และกองทัพยังแข็งแกร่ง การกลับมาของ พ.ต.ท.ทักษิณก็เข้าแผนกลุ่มอำมาตย์ที่จะปลุกกระแสล้มรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการกลับมาของกลุ่มพันธมิตรฯหรือกลุ่มขาประจำที่จะรวมพลังกันอีกครั้ง อย่างที่นายโจชัว เคอร์แลนท์ซิค ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำคณะกรรมการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสหรัฐ เชื่อว่าการกลับมาของ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ว่าในช่วงเวลาใดก็ตาม จะนำไปสู่ความวุ่นวายอย่างหนักในประเทศไทยอีกครั้ง แต่ที่น่าสนใจคือการกลับมาของสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ที่จะปลดล็อกในวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 จากกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไทยรัก-ไทย พร้อมตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารเมื่อปี 2550 ซึ่งนักวิเคราะห์ทั้งในประเทศและต่างประเทศเชื่อว่าจะทำให้เกิดสีสันทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ แต่จะไม่รวดเร็ว เพราะสมาชิก บ้านเลขที่ 111 ที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ข้าง พ.ต.ท.ทักษิณต้อง ช่วยประคองรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้อยู่ได้นานที่สุดอย่างน้อยก็ปี 2555 เพื่อสร้างผลงานและฐานอำนาจให้แข็งแกร่งพอจะต่อสู้กับกลุ่มอำมาตย์และกองทัพได้ ไม่ว่าจะเป็นนายจาตุรนต์ ฉายแสง, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นายวราเทพ รัตนากร, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา, นายภูมิธรรม เวชยชัย, นพ. พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช, นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ, นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ฯลฯ แม้จะต้องต่อสู้กับกลุ่มนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กลุ่มนายเนวิน ชิดชอบ กลุ่มนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และกลุ่มนายสุชาติ ตันเจริญ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณประกาศชัดเจนว่า “ไม่เผาผีกัน” “ทักษิณ” กลับบ้าน? อย่างไรก็ตาม การกลับประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นหนึ่งในเป้าหลักของพรรคเพื่อไทย และเป็นการต่อสู้เพื่อยืนยันว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองจากกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐานหรือตุลาการภิวัฒน์ พรรคเพื่อไทยจึงต้องหาทางช่วย พ.ต.ท.ทักษิณให้ได้รับความยุติธรรม อย่างการคืนพาสปอร์ต ทั้งที่รู้ว่าจะเป็นหนึ่ง ในเงื่อนไขทางการเมือง แต่ไม่ผิดเงื่อนไขทางกฎหมาย เพื่อยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณคือ “เหยื่อที่ถูกกลั่นแกล้ง” ไม่ใช่ “นักโทษหนีคดี” อย่างที่ฝ่ายตรงข้ามยัดเยียดให้ และเกิดจากผลพวงของรัฐประหารที่ใช้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นเครื่องมือกำจัด พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ใช่ตามระบบยุติธรรมในการใช้กฎหมายปรกติ ดังนั้น ต้องจับตามองว่าวันที่ 26 กรกฎาคม ซึ่ง เป็นวันคล้ายวันเกิดของ พ.ต.ท.ทักษิณครบรอบ 63 ปี และยังเป็นเดือนที่จะหมดวาระการทำงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความเป็นจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งจะมีการเปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 ของคณะอนุกรรมการ คอป. ของนายสมชาย หอมลออ จะมีอะไรเป็นของขวัญชิ้นพิเศษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์พูดในรายการรัฐบาลยิ่ง-ลักษณ์พบประชาชน ถึงสิ่งที่รัฐบาลจะทำในปี 2555 ว่าจะเร่งแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและเรื่องความปรองดองของคนในชาติควบคู่กันไป เนื่องจากคนในชาติอยากเห็นความปรองดอง ซึ่งหลักการปรองดองจะทำควบคู่ไปกับประชาธิปไตย ต้องฟังความคิดเห็นจากประชาชน ทำอย่างไรถึงจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เสมอภาคทุกคน และเป็นไปตามหลักนิติรัฐ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้น ปี 2555 นี้ชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณจะยังเป็น “ตัวละครเอก” ที่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งความขัดแย้งทางการเมืองต่อไปอย่างแน่นอน ตราบใดที่สังคมไทยยังไม่ก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ ตราบใดที่ยังมีพรรคการเมืองขี้แพ้ (ชวนตี) ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งจากประชาชน ยังมีกลุ่มการเมืองภาคประชาชนที่กลัว “ผีทักษิณ” และกลุ่มที่หากินกับระบอบลัทธิ โดยการโฆษณาชวนเชื่อ หรือ พ.ต.ท.ทักษิณยังไม่ถูกปลดล็อกทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้นได้เสมอ ทั้งที่ความจริงแล้วสังคมไทยมองเห็นเด่นชัดว่าแทบเป็นไปไม่ได้ที่คนอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับประเทศมาเปิดหน้าเล่นการเมืองอีก ถึงกลับมาได้ก็จะไม่มีชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณในฐานะผู้นำประเทศ (ด้วยตนเอง) อีกต่อไป หรือแม้แต่ พ.ต.ท.ทักษิณจะไม่ได้กลับ (อย่างเช่นทุกวันนี้) พรรคการเมืองที่ยึดโยง พ.ต.ท.ทักษิณก็ชนะการเลือกตั้งทุกครั้งไปอยู่ดี จนต้องตั้งคำถามว่าเหตุใดพรรคการเมืองเก่าแก่ที่หวังแต่รอส้มหล่นจากอุบัติเหตุทางการเมืองจึงไม่เคยชนะเลือกตั้งอีกเลยหลังจากมีรัฐบาลทักษิณเกิดขึ้น ลึกๆแล้วสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการคือความยุติธรรม ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และการอยู่ร่วมกันได้ในความคิดเห็นที่แตกต่าง เมื่อสังคมไทยกลับมานับถือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เมื่อทุกคนมองเห็นทุกคนเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ เรื่องเล็กอย่าง “ทักษิณ” ก็เป็นแค่เรื่องของมนุษย์คนหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาได้ เรื่องใหญ่อย่างคนตายเกือบร้อยศพ และบาดเจ็บร่วม 2,000 คน ก็ไม่ยากที่จะหาความยุติธรรม เมื่อได้ค้นหาอย่างมีใจเป็นธรรมจะพบว่า “การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ” ก็คือระบอบที่ลงตัวและเหมาะสมกับสังคมไทยมากที่สุด ท่ามกลางความขัดแย้งแห่งวาระปัจจุบัน เมื่อไรจะถึงวันที่คนไทยจะได้เลือกผู้นำ เลือกรัฐบาลที่คนไทยอยากได้ด้วยตนเอง หรือถ้าเลือกผิดก็อย่าเลือกกลับมาอีก หันไปเลือกคนใหม่ ไม่ต้องใส่เสื้อสีนั้นสีนี้ออกมาเต็มบ้านเต็มเมือง ไม่ต้องให้กองทัพฝ่ายเลวอ้างเหตุถือโอกาสยึดอำนาจไปจากประชาชนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ต้องเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ รักสามัคคี หรือใครจงรักภักดีมากกว่าใคร อย่างไร แค่ไหน? ทั้งหมดเป็นแค่เรื่องของ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” พื้นๆเท่านั้นเอง ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ////////////////////////////////////////////// |
วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555
ศักดิ์ศรี ทักษิณ..ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ !!?
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น