การบ้านที่หินที่สุดต้อนรับปีใหม่ สำหรับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หนีไม่พ้นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 อย่างแน่นอน....
ในสายตาของคนประชาธิปไตย ในสายตาของนักวิชาการที่ไม่ได้เลือกสี ก็ยังต้องยอมรับว่า เสียงสะท้อนที่เกิดขึ้น ที่ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่คลอดออกมาภายใต้อุ้งมือเผด็จการ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำ ที่จงใจใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเครื่องมือในทางการเมือง เพื่อที่จะทำลายล้างขั้วตรงข้ามนั้น
เป็นประเด็นที่มีความจริง
ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่บรรดากลุ่มคนเสื้อแดง ที่เดินหน้าทวงถามหาความยุติธรรม และทวงประชาธิปไตยที่แท้จริงกลับคืนมา จะประกาศเดินหน้าทวงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่แคร์หากว่าจะต้องกระทบกระทั่งกับรัฐบาลที่อุตส่าห์ลงคะแนนเลือกมาก็ตาม
อะไรไม่สำคัญเท่ากับว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2553 พรรคเพื่อไทยได้ประกาศชัดในการหาเสียงว่า มีนโยบายที่จะเดินหน้าแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ
นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ประชาชน และคนเสื้อแดง เทคะแนนเลือกตั้งให้กับพรรคเพื่อไทยได้ชนะอย่างถล่มทลายใช่หรือไม่??
พรรคประชาธิปัตย์ที่แพ้ไม่เห็นฝุ่น เป็นเพราะในช่วงเป็นรัฐบาลอยู่ 2 ปี 7 เดือน มีโอกาสมากมายที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ คืนความเป็นธรรม และสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นกับประเทศชาติ แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ทำ
แถมยังใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 มาเป็นความได้เปรียบ มาทำลายล้างในทางการเมืองกับพรรคการเมืองคู่แข่งเสียอีกด้วย
เพราะประชาชนที่รักประชาธิปไตย มองเห็นในประเด็นนี้ใช่หรือไม่ จึงทำให้พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ไม่เป็นท่า และทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ไม่สามารถที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ได้ดังใจที่ต้องการ
ไม่ว่าจะพูดเก่ง หรือหน้าตาดีสักเพียงใด หากไม่รักษาคำพูดหรือทำตามสัญญา ทำในสิ่งที่ประชาชนเห็นว่าสมควรจะทำไม่ได้ ก็เท่ากับตัดคะแนนทางการเมืองของตนเองไปอย่างน่าเสียดาย
ดังนั้นการที่กลุ่มคนเสื้อแดง กลุ่มนักวิชาการ ออกมาทวงสัญญาพรรคเพื่อไทยในเรื่องของการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ควรจะมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง
หากไม่ทำตามสัญญา และยิ่งถ้าหากว่าไม่มีคำตอบที่เป็นเหตุผลที่ดีพอ รัฐบาลยิ่งลักษณ์งานเข้าแน่นอน แม้ว่าจะเป็นรัฐบาลที่ประชาชนและคนเสื้อแดงเทคะแนนเลือกตั้งเข้ามาก็ตาม
ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 จึงจะเป็นปัญหาชิ้นใหญ่สำหรับรัฐบาลในช่วงต้นปีนี้อย่างแน่นอน
การออกตัวของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ว่าการแก้รัฐธรรมนูญอยากให้เป็นกระบวนการของรัฐสภา ส่วนจะแก้มาตราใด ต้องดูโจทย์และเจตนาก่อน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมเป็นสำคัญ
ส่วนการทำประชามติ โดยภาพรวมเห็นด้วย แต่ต้องพิจารณาว่าจะทำเรื่องใด เพราะหากไม่มีโจทย์ในการแก้รัฐธรรมนูญ จะทำให้ผลการทำประชามติไม่ได้ผลเท่าที่ควร
สำหรับเรื่องที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เสนอให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จากประชาชน 77 จังหวัด รวมทั้งนักวิชาการและนักปราชญ์ รวม 99 คน น.ส.ยิ่งลักษณ์ มองว่าเป็นข้อเสนอที่ดี แต่ขอให้เป็นกระบวนการของรัฐสภา และอยากให้มั่นใจว่า การสรรหาตัวแทนประชาชน มาจากทุกภาคส่วนจริง
ขณะที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า การแก้รัฐธรรมนูญจะนำไปสู่ความแตกแยก นายกรัฐมนตรีเห็นว่าขณะนี้ยังเป็นความคิดของแต่ละฝ่าย ซึ่งต้องมีการหารือในวงกว้าง
อ้างว่าภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลขณะนี้ คือ การแก้ปัญหาและฟื้นฟูวิกฤติน้ำท่วมเป็นภารกิจหลัก
แต่แน่นอนว่าทั้งหมดยังเป็นคำตอบที่ไม่สามารถจะหยุดกระแสการทวงคืนประชาธิปไตย ไม่สามารถจะหยุดการทวงถามรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงได้
เพราะความต้องการลึกๆในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือการโละรัฐธรรมนูญปี 2550 ทิ้งทั้งฉบับ เพื่อนำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ใหม่
เหตุผลที่ฝ่ายทวงคืนประชาธิปไตยระบุก็คือ รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นผลพวงมาจากการรัฐประหาร จึงต้องการได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ส่วนจะมีเป้าในการโละทิ้งมาตรา 309 ที่มีเนื้อหารับรองการกระทำของคณะรัฐประหาร และการดำเนินการที่เกี่ยวเนื่อง ว่าให้เป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่นั้น แน่นอนว่าการชุมนุมที่จบลงด้วยคราบเลือด 91 ศพ และน้ำตาผู้บาดเจ็บกว่า 2,000 คน รวมทั้งความเจ็บปวดเจ็บใจของมวลชนคนเสื้อแดงทั้งประเทศด้วยแล้ว
สู้กันมายาวนานขนาดนี้ บาดเจ็บล้มตายกันมากมายขนาดนี้ ใครจะอยากให้ต้นตอของเรื่องที่เกิดจากการทำรัฐประหารลอยนวลได้ง่ายๆ
แต่ก็เพราะจุดนี้แหละ หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วฉีกทิ้งมาตรา 309 และทำให้มีการไล่ย้อนเช็คบิลคนทำรัฐประหารได้ ฝ่ายที่จะได้รับผลกระทบหรือถูกเชือดโดยตรง มีหรือจะยอมง่ายๆ
ดังนั้นหากมีการแบะท่าแก้ไขมาตรา 309 ออกมาเมื่อไหร่ แรงต้าน แรงเสียดทาน ก็ต้องเกิดขึ้นมาในทันทีด้วยเช่นกัน
ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลายเป็นประเด็นหินของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปแล้วในขณะนี้
จะแก้ไขก็ไม่ง่าย เพราะทั้งขั้วอำนาจ ทั้งพรรคการเมืองตรงกันข้าม และทั้งกลุ่มก๊วนเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภา โดยเฉพาะสำคัญที่สุดกลุ่มที่ระแวงและจงเกลียดจงชัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะต้องออกมาค้านแน่
วนเวียนก้าวข้ามไม่พ้นคนชื่อ “ทักษิณ” ฉะนั้นการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะทำอะไร ก็รุมกล่าวหาว่าเป็นการทำที่จะมีคนชื่อทักษิณได้รับประโยชน์ด้วย
เป็นต้องโดนในทันที ไม่ว่าเรื่องนั้นจริงๆแล้ว ลึกๆแล้วจะเป็นเรื่องที่สมควรจะทำสักเพียงใดก็ตาม
คนทั้งแผ่นดินจะได้ประโยชน์ไม่เป็นไร แต่จะต้องไม่ให้คนชื่อทักษิณได้ประโยชน์จากการกระทำใดๆเลย
จะเรียกว่าเลือกปฏิบัติ จะเรียกว่ากี่มาตรฐาน หรือต่อให้ทั้งโลกจะมองอย่างไรก็ไม่สน ขอแค่สกัดให้ “ทักษิณ ชินวัตร”อยู่นอกประเทศไปนานๆได้เท่านั้นเป็นพอ หรือถ้าจะกลับประเทศก็ได้ แต่จะต้องเข้ามาติดคุกก่อน
น้ำหนักของคดี กระบวนการในการตัดสิน แม้แต่กระทั่งระบบศาลเดียว ใครจะวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลกอย่างไรก็ไม่ว่า แต่จะต้องให้มีผลบังคับใช้เฉพาะกับคนชื่อทักษิณให้ได้เท่านั้นเป็นพอ
ตรงนี้จึงเป็นประเด็น เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทำอะไรไม่ง่ายนักในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้
ถ้าหาก กลัวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันก็ทรยศกับประชาชนไปแล้วครึ่งหนึ่ง...
ขัดขวางความพยายามของผู้ประสงค์จะแก้ไข...ก็ทรยศกับประชาชนเต็มรูปแบบ...
โดยขยายเหตุผลว่า...
รัฐธรรมนูญ 2550 ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อนำอำนาจของคนส่วนใหญ่ไปให้คนไม่กี่คนกำกับบังคับใช้...และมันถูกใช้ทำลายรัฐบาลของประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 2 รัฐบาล...มันทำให้ประเทศก้าวเข้าสู่วิกฤติอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน...ในชั่วเวลาเกือบพันปีที่...ไทยเป็นประเทศ
หายนะที่มันนำมาสู่ทุกๆ สถาบันที่รวมกันเป็นประเทศไทยนั้น...เกินกว่าจะพรรณนา
เป็นข้อเขียนที่เจตนาเตือนกันตรงๆว่า เหตุผลใดจึงจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และหากไม่ทำจะเกิดอะไรขึ้น??
ส่วนว่าหากทำ หากเดินหน้าแก้ไขแล้วจะต้องเจอกับแรงต้าน เจอกับปัญหาการเผชิญหน้าก็เป็นเรื่องที่จะต้องหาทางแก้ไขฝ่าฟันไปให้ได้
ดังนั้นสถานการณ์ที่เดินมาถึงขณะนี้ พรรคเพื่อไทยหนีไม่พ้นที่จะต้องแสดงความชัดเจนในหลักการที่จะต้องผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เข้ามาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แม้จะยังไม่มีมติพรรคออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ ส.ส.ในพรรคก็เห็นตรงกันว่า จะต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นนโยบายที่หาเสียงไว้
แม้ว่าจะมีข้ออ้างในเรื่องของระยะเวลาในการดำเนินการว่าจะต้องเร่งด่วนแค่ไหน? เวลาใดคือช่วงเวลาที่จะเหมาะสม?
เป็นความเห็นต่างที่จะต้องหาข้อสรุป เพราะอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้บอกว่าจะไม่แก้ เพียงแต่อยากให้หน่วงเวลาเอาไว้ก่อน รอให้แก้ปัญหาน้ำท่วม แก้ปัญหาเศรษบกิจ สร้างผลงานสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ก่อน แล้วค่อยเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ
โดยจะต้องไม่ไปแตะในเรื่องมาตรา 112
ก็เท่านั้นเองของความเห็นซีกนี้... แก้ แต่ยังไม่ถึงเวลา
ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งโดยเฉพาะแกนนำกลุ่มเสื้อแดง ยืนยันต้องการให้เร่งดำเนินการทันที เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศเอาไว้อยู่แล้ว
และขณะนี้ก็ก้าวล่วงพ้นมาปี 2555 แล้ว ทำไมจะต้องรอช้าอะไรอีก
ยังคงเดินไปในทิศทางเดียวกัน แต่เดินเร็วเดินช้าต่างกัน
ในขณะที่ฝ่ายที่พยายามประนีประนอมหาทางออก ก็มองแนวทางว่าควรดำเนินการตามขั้นตอนที่ต้องมีการทำประชาพิจารณ์และประชามติตาม กระบวนการของ ส.ส.ร.
ทำให้ฝ่ายที่ไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว อาศัยการพูดเก่ง ฉวยโอกาสออกมาตีกินในเรื่องรายละเอียดในทันทีว่า นอกจากจะต้องทำรายละเอียดในเรื่องการทำประชามติจากประชาชนให้เป็นที่ยอมรับแล้ว
กระบวนการเลือกสรร ส.ส.ร. ก็ควรจะต้องได้รับการยอมรับจากทุกๆฝ่ายด้วย
เจตนาเตะถ่วงดื้อๆ เพราะไม่ว่าจะแต่งตั้ง ส.ส.ร.โดยวิธีการใดก็ตาม เสียงครหาก็เกิดขึ้นทั้งนั้น
ก็ดูอย่างสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่มาจากกลไกหลังการรัฐประหาร ที่กำหนด ให้มีสมัชชาแห่งชาติจำนวนไม่เกิน 2 พันคน โดยสรรหาบุคคลจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการ จากภูมิภาคต่างๆ จากนั้นสมัชชาจะคัดเลือกสมาชิกด้วยกันเอง เพื่อทำบัญชีรายชื่อผู้สมควรเป็น ส.ส.ร. 200 คน ให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เลือกให้เหลือ 100 คน เพื่อแต่งตั้งเป็น ส.ส.ร.
จากนั้น ส.ส.ร.จะเลือกกันเอง 25 คน และ คมช.คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิอีก 10 คน รวมเป็น 35 คน ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ก็โดนด่าเละเทะมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ฉะนั้นไม่ว่าจะสรรหา ส.ส.ร.อย่างไร ก็หนีไม่พ้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายตรงกันข้ามแน่นอน
การบ้านแก้รัฐธรรมนูญจึงเป็นปัญหาหนักของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเกี่ยวพันกับการอยู่รอดหรือการล้มคว่ำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปด้วย
นี่คือพิษสงร้ายลึกของ รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่จนถึงวันนี้ ยังสามารถที่จะเป็นชนวนจุดระเบิดให้เกิดวิกฤตกับประเทศชาติได้อีกหนหนึ่งเลยทีเดียว
ยิ่งหากมีการปลุกผี “ทักษิณ”ขึ้นมาเป็นประเด็นในการเผชิญหน้า โดยที่ทั้งฝ่ายหนุน ฝ่ายต้าน ต่างก็มีมวลชนจำนวนมากที่พร้อมจะลุกฮือขึ้นมาแสดงพลังใส่กันอย่างเต็มเหนี่ยว
การเผชิญหน้า ปะทะรุนแรง ก็จะต้องเกิดขึ้น
“วิกฤติแตกหัก” ถึงขั้นนองเลือด ก็จะไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป
นี่คือเกมโหดที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องเจออย่างชนิดที่หนีอย่างไรก็หนีไม่พ้นแน่นอน!!
ที่มา.บางกอกทูเดย์
////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น