ร้อนแรงทั้งวาทกรรม "ปรองดอง" ที่แฝงนัยยะการนำ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศไทย
ร้อนแรงทั้งฝีมือบริหารประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้าน-อดีตนายกรัฐมนตรี วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ เศรษฐกิจ การเมือง และ "ทักษิณ" ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย
- ประเมินเศรษฐกิจปีหน้าอย่างไร
ทุกสำนักยังมองว่าปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปยังไม่จบ ต่อให้พยายามอย่างไรพื้นฐานของปัญหาก็ยังอยู่ ถ้ายุโรปคิดจะอุ้มประเทศที่มีปัญหาไว้ก็จะเป็นปัญหากับตัวยุโรป และมีปัญหาทางการเมืองรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกันหากยุโรปไม่อุ้มประเทศเหล่านั้นก็จะกระทบกับความน่าเชื่อถือในเรื่องของสกุลเงิน แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้สิน ปัญหาระบบการเงินมันไม่ได้หายไป รักษาตามอาการไปเรื่อย ๆ
แต่ประเทศเราไม่ได้มีเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียว แต่ยังเจอภัยพิบัติเรื่องน้ำท่วม จึงจำเป็นที่ต้องเรียกความเชื่อมั่นกลับคืน รวมกับเรื่องของการเมืองที่ยังทำให้งานหลายอย่างไม่เดินหน้า
ฉะนั้นเศรษฐกิจในปี"55 หากมองในเชิงตัวเลข หลายคนคงคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าปี"54 เพราะปีนี้เจอภัยพิบัติ ก็จะทำให้ตัวเลขในปี"55 อยู่ในแดนบวก แต่ในเชิงชีวิตจริงนั้นยังมีความยากลำบากพอสมควร และในปี"55 ช่องว่างระหว่างตัวเลขและชีวิตจริงจะมีมากขึ้น เพราะตัวเลขที่โตทางเศรษฐกิจเป็นการใช้จ่ายเงินเพื่อซ่อมแซม ฟื้นฟู เพื่อให้ทรัพย์สินที่ สูญเสียไปกลับสู่สภาพเดิม
ยิ่งถ้านำไปรวมกับสิ่งนักลงทุนยังไม่มีความมั่นใจคืออะไร วันนี้หากมองไปข้างหน้าก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าเราจะขยายธุรกิจต่อในไทยหรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะผูกพันใกล้ชิดกับการทำงานของรัฐบาล
- การบริหารเศรษฐกิจส่วนรวม ครึ่งปีแรกจะยังคงสาละวนเรื่องน้ำท่วม
ถ้าเอาหลายปัจจัยมารวมกันก็จะมีผลกระทบจากน้ำท่วมหลายเรื่อง ทั้งการชะลอการลงทุน การกระจายฐานการผลิตเพื่อกระจายความเสี่ยง ตรงนี้เกิดขึ้นแน่ ขณะที่ภาคประชาชนยังประสบปัญหารายได้หาย รายจ่ายเพิ่ม และภาครัฐนอกจากจะต้องทำนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ อีกทั้งยังต้องทำนโยบายฟื้นฟูเยียวยาที่ยังไม่ตอบโจทย์ว่าจะทำได้หรือไม่ ก็ยังเป็นปัญหามาก
ยกตัวอย่างนะ ตอนนี้ผมยังมองไม่เห็นว่าเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท จะเกิดขึ้นได้อย่างไร นอกจากจะต้องเป็นศรีธนญชัยคือ ไม่ขึ้นเงินเดือน แต่นับรวมอย่างอื่นให้ได้ตามอัตรา 15,000 บาท ส่วนค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่วันนี้ทำได้เพียง 7 จังหวัดนำร่องในเดือนเมษายนปี"55 แต่เรายังได้ยินเสียงตามมาว่า มีการลดภาษีเงินได้นิติบุคลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555
ล่าสุด เหมือนกับว่ามาตรการดูแลควบคุมราคาสินค้าจะทำน้อยลง พร้อมให้เหตุผลว่าจะพึ่งพาตลาดมากขึ้น ทำนองเดียวกันกับทฤษฎี 2 สูง แต่ทั้งหมดเหมือนจะสูงทางด้านรายจ่ายก่อน ส่วนรายได้จะสูงเท่าที่สัญญาไว้ ส่วนนโยบายมหภาคทั้งจำนำข้าวหรือ รถคันแรกซึ่งทำกันแบบไม่สนใจว่าน้ำจะท่วมหรือดินถล่ม ก็จะมีภาระในงบประมาณสูงมาก
ผมไม่ปฏิเสธเลยว่าโครงการทั้งหมดจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ต้องถามว่าใช้เงินคุ้มค่าที่สุดหรือยัง
มีบางเรื่องที่ทำได้เลย ไม่ต้องรอแล้ว สมมติจะทำแก้มลิง อุโมงค์ผันน้ำ สิ่งที่ต้องทำแน่นอนวันนี้คือ ปรับผังเมือง เราไม่สามารถให้ กทม. ปทุมธานี หรืออยุธยาทำผังตัวเองได้อีกต่อไป มันต้องมีผังใหญ่ก่อนว่าน้ำจะมาทางไหน ไม่อย่าง นั้นเป็นไปไม่ได้เลยว่าจะทำให้พื้นที่ ฟลัดเวย์ของปทุมธานีเชื่อมต่อกับ กทม.
สิ่งที่ประชาธิปัตย์กำลังบอกคือ เราต้องเผชิญปัญหาที่แท้จริง ไม่ใช่ว่าเราเอาแต่ชี้หน้าด่าคุณว่าทำผิด แต่ถ้าคุณไม่เผชิญสิ่งเหล่านี้ คำตอบที่ว่าปีหน้าจะไม่เกิดเรื่องเหล่านี้มันจะไม่มีน้ำหนัก วันนี้คุณไม่เคยส่งสัญญาณเลยว่าจะมีการแก้ปัญหาอย่างไร
ข้อเท็จจริงต่างชาติบอกเลยว่า สิ่งที่จะทำให้มีความมั่นใจกับเขามากที่สุดคือประโยคที่บอกว่า เราจะให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาบริหารน้ำ ไม่ใช่ให้นักการเมืองบริหารน้ำ ซึ่งความจริง ศปภ.ไม่เคยตอบโจทย์ตรงนี้เลย
- แผนแก้น้ำท่วมของนายวีรพงษ์ รามางกูร จะเป็นเป็นทางออกทั้งหมด
ก็ยังไม่เห็นนะครับ ที่ผมเห็นมีในลักษณะที่ว่าต้องย้ายฐานการผลิตหรือต้องมีฐานสำรอง ผมก็ต้องถามต่อนะว่า หากจะมีฐานสำรอง เราก็ต้องมีอะไรในกระเป๋าที่บอกต่างชาติได้ว่าฐานสำรองควรจะอยู่ในไทยนะ เพราะเขาจะไปสำรองที่ไหนก็ได้
ซึ่งการเดินทางไปการันตีกับบริษัทประกันภัยนั้นก็เป็นดัชนีชี้วัดเลยว่าเขาจะมั่นใจเราหรือไม่ แต่ปัญหาวันนี้คือ ในปี"55 ใครจะซื้อประกันเรื่องน้ำท่วมได้บ้าง และก็หนีไม่พ้นที่รัฐบาลเองจะต้องมีกลไกในการรับประกันภัยต่อ หากเขาจะทำกองทุนก็ต้องเร่งออกกฎหมาย เพราะการมีองค์กรที่มาทำประกันภัยต่อ หากไม่ทำกฎหมายใหม่ก็จะไม่สามารถเอาเงินงบประมาณออกมาใช้ได้
ผมได้พูดกับท่านวีรพงษ์ด้วยตัวเองนะว่าเป็นเรื่องที่ต้องรีบทำ เพราะกว่าจะเป็นรูปเป็นร่างได้มันจะช้ามาก ดังนั้น ยิ่งเริ่มต้นเร็วเท่าไรก็จะเป็นผลดีเท่านั้น วันนี้รัฐบาลต้องรีบฟันธงเสียทีว่าจะทำหรือไม่ทำ
- ในที่สุดทุกประเด็นจะถูกลากกลายเป็นปัญหาการเมือง
ก็ส่วนหนึ่ง เพราะผมคิดว่าครั้งนี้ที่เสียหายมากกว่าที่ควรจะเป็นเพราะมีการเมืองเข้าไปยุ่ง ที่เราอภิปรายไม่ไว้วางใจเที่ยวนี้ก็คือประเด็นหลักที่พยายามบอกกับสังคม และเราไม่ได้ต้องการอะไร ไม่ได้ต้องการล้มรัฐบาล แต่หวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงปรับปรุง และผมค่อนข้างมั่นใจว่ารัฐมนตรีไม่รอดหรอกในเรื่องถอดถอน เพราะเห็นทำผิดกฎหมายชัดเจน
- หากรัฐบาลจะออก พ.ร.บ.เงินกู้ พ.ร.ก.เงินกู้ ขยายวงเงินธนาคาร เฉพาะกิจ และให้แบงก์ชาติออกซอฟต์โลน แก้ปัญหาน้ำท่วม
ผมประเมินไว้ว่าจะมีเงินทั้งหมด 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งจะกระทบฐานะของเราเหมือนกัน แต่ถ้าวันนี้ยังตอบไม่ชัดเจนว่าการบริหารเงินตรงนี้เป็นไปตามหลักการที่ควรจะเป็นหรือไม่ เพราะผมดูวิธีบริหารขณะนี้ก็แปลกใจว่า เงินที่เกี่ยวกับน้ำท่วม 1.2 แสนล้านบาท น้ำลดแล้ว ความเสียหายทางเศรษฐกิจก็หยุดแล้ว แต่ยังตอบไม่ได้ว่าจะเอาเงินตรงนี้ไปใช้ทำอะไรบ้าง แล้วคุณจะหาเพิ่มอีก 1.6 ล้านล้านบาท จะเอาไปทำอะไรได้บ้าง
วันนี้เงิน 1.2 แสนล้านบาท เพิ่งอนุมัติงบประมาณไปเพียง 2 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งมีงบประมาณตายตัวในการจ่ายเงิน 5,000 บาทไปแล้ว 1.3 หมื่นล้านบาท ที่เหลือต้องถามว่า รัฐบาลจะเอาเกณฑ์อะไรมาอนุมัติโครงการ คำตอบคือ เป็นโครงการที่คาดว่าจะใช้เงินได้ทันเดือนมกราคม ผมยืนยันได้ว่าไม่ได้อนุมัติตามความจำเป็นเร่งด่วน แต่เป็นการอนุมัติเงินตามความสะดวก เพราะงบประมาณที่จะใช้ได้ทันเดือนมกราคมนั้นจะทำได้เพียงโครงการฟื้นฟูเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น
- ปัญหาประชาธิปัตย์-คดีราชประสงค์ ในปี"55 จะเป็นอย่างไร
ผมคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมทำงานไป ผมกับคุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ปัญหาการเมืองไม่ใช่ตรงนั้น แต่มันอยู่ตรงที่ว่ารัฐบาลไม่ควรทำอะไรให้เกิดความขัดแย้ง หากยังมุ่งมั่นอยู่แต่กับการทำเพื่อคนคนเดียว เหมือนเรื่องพาสปอร์ต มันก็เป็นความเสี่ยงที่รัฐบาลสร้างขึ้นเอง เพราะเขาเลือกได้ที่จะไม่ทำ
- ขณะที่ประชาธิปัตย์มองว่าเป็นปัญหา แต่เพื่อไทยอาจมองว่าเป็นโอกาสที่จะเดินหน้าหน้าปรองดอง แก้รัฐธรรมนูญ หรือนิรโทษกรรม
มันทำได้หมด แต่ต้องถามว่าทำเพื่ออะไร ถ้าออก พ.ร.บ.ปรองดอง แล้วทำให้คนในชาติสามัคคีกันผมก็ดีใจ แต่ถ้าทำให้คนฆ่ากันอีกก็อย่าออกดีกว่า มันไม่ได้อยู่ที่ว่าจะออกหรือไม่ออก พ.ร.บ.ปรองดอง แต่ขึ้นอยู่กับว่าสามารถทำให้คนปรองดองกันได้จริงหรือไม่
- แต่รัฐบาลเดินหน้าปูทางจนถึงการตั้งกรรมาธิการในสภา
เขาก็ทำอยู่แล้ว แต่ก็มีปัญหาว่าสุด ท้ายหลักของคุณคืออะไร เช่น พยายามจะอ้างว่ามันมีปัญหาเรื่องความเห็นทางการเมือง ใครไปชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินก็คือความผิดทางการเมือง แต่ คนเอาอาวุธมาทำร้ายผู้คน วางเพลิง ลักทรัพย์ แล้วคุณบอกว่ามันเกิดขึ้นในช่วงชุมนุมหรือเกี่ยวโยงกับผู้ชุมนุม อาจต้องแยกคุมขังหรือได้รับนิรโทษกรรม ผมก็บอกว่าถ้าคุณเชื่ออย่างนี้ วันข้างหน้าบ้านเมืองจะหาความสงบสุขไม่ได้เลย
เหมือนกับว่า ถ้าใครจะไปขโมยของ ก็แนะนำให้ใส่เสื้อแดงไปขโมย ถ้าถูกจับก็จะบอกว่าผมไม่ได้ทำผิด แต่ผมทำตามอุดมการณ์ทางการเมือง การเมืองคุณคิดต่างได้ ถ้าคุณมีปัญหานั่นคือความผิดทางการเมือง ไม่ใช่ว่าคุณจงใจทำผิดกฎหมายทางอาญา แต่อ้างว่าใช้แรงจูงใจทางการเมือง สิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองคือ สงบ ปราศจากอาวุธ เหมือนเสรีภาพในการแสดงออกที่เขารับรองคือ มีสิทธิเสรีภาพโดยไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่น สุดท้ายเขาก็ทำเพื่อประโยชน์ของคน ของเขา สุดท้ายการทำเพื่อพวกก็ไม่ใช่คำตอบของการปรองดอง
- เพื่อไทยบอกว่าทำเพื่อทุกคน และ "ทักษิณ" จะเป็นคนสุดท้าย
มีใครบ้างครับที่ทำผิดกฎหมายทุจริตแล้วหนีศาลอยู่ อย่าไปลากคนอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคุณทักษิณ แล้วจะมาบอกว่าฉันจะให้เธอด้วย เหมือนที่บอกว่าจะใช้คำสั่ง 66/23 ผมก็บอกว่าทำได้ เพราะเขาบอกคอมมิวนิสต์ว่า คุณวางอาวุธแล้วหันมาพัฒนาชาติไทย คุณจะไม่มีความผิด ผมก็บอกว่า ถ้าทำอย่างนั้น ก้าวแรกที่รัฐบาลต้องบอกคนเสื้อแดงคือให้ถอดเสื้อแดง สลายหมู่บ้านเสื้อแดง เลิกการเป็นเสื้อแดงสิ แต่เกี่ยวอะไรกับการที่บอกว่าต้องมานิรโทษกรรมคุณทักษิณ
- คำสั่ง 66/23 จะกลายเป็นรากความคิดที่จะนำไปสู่แนวทางอื่น
ผมไม่มีข้อขัดข้องกับการเมืองนำการทหาร ผมไม่มีข้อขัดข้องกับความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน ผมไม่มีข้อขัดข้องว่าความผิดทางการเมืองที่ต้องแก้ด้วยการเมือง แต่ผมถามว่า ในปีที่ผ่านมาประเทศอังกฤษถือคดีก่อจลาจลเป็นคดีการเมืองหรือไม่ ที่เขาเผากันอย่างนี้ ผมเห็นก็เข้าคุกเข้าตะรางเป็นความผิดอาญากันทั้งนั้น เขาบอกหรือไม่ว่าบังเอิญทุกคนเผากันหมดเลยไปเผาด้วย เลยเป็นความผิดทางการเมือง แล้วทำไมเราจะไปดึงให้เป็นการเมือง ถ้าจะอ้างหลักสากลต้องดูด้วยว่าระดับสากลเขาทำกันอย่างไร
- มองในมุมเพื่อไทย เขาบอกว่าพยายามที่จะสร้างความปรองดอง แต่ฝ่ายค้านต่างหากที่ไม่เข้าใจ จึงเกิดความขัดแย้ง
ผมถามง่าย ๆ ว่า วันที่เขาไม่พูดเรื่องปรองดอง อภัยโทษ นิรโทษ รัฐธรรมนูญ และเขาเดินหน้าแก้ปัญหาประเทศ ถามว่าบ้านเมืองขัดแย้งหรือไม่ และวันที่พูดกับไม่พูดอันไหนขัดแย้งมากกว่ากัน ฉะนั้นคุณไปดูแลประชาชน อย่าแบ่งแยกประชาชน ส่วนใครไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ให้ คอป.เป็นผู้ดูแลไป
- มีการโฆษณาว่า หากแผนปรองดองออกมา ทุกสีจะได้หมดอย่างเท่าเทียม
มันเป็นเรื่องของประเทศ ไม่ใช่เรื่องของสี ผมพูดถูกไหมครับ
- เรื่องปรองดองที่สุดจะนำไปสู่ความขัดแย้งใหญ่หรือไม่
ผมถึงต้องบอกว่า จะทำปรองดองต้องเลิกปลุกระดม คุณก็ต้องให้โอกาส เราก็เปิดโอกาส วันที่ตั้งอาจารย์คณิต (ณ นคร) คุณก็ไม่ยอมรับ แต่วันที่มีข้อเสนอที่ใช้ประโยชน์ได้คุณก็ยอมรับ แต่ถ้ามีข้อเสนอที่ไม่ถูกใจคุณก็จะไม่ยอมรับอีกหรือ สรุปแล้วคุณจะบอกว่าปรองดอง แปลว่าต้องตามใจคุณใช่หรือไม่ ผมตั้งอาจารย์คณิต ท่านเสนอมาบางเรื่องผมไม่เห็นด้วย แต่ผมก็พยายามทำ เพราะท่านเป็นคนกลาง
- หาก พ.ร.บ.ปรองดอง ทำไปพร้อมกับแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร
ผมไม่มีปัญหาเรื่องการแก้ไขมาตรา 291 และถ้าเป้าหมายสูงสุดจะทำให้รัฐธรรมนูญดีขึ้นก็ไม่ขัดข้อง แต่ถ้าคุณพยายามทำทั้งหมดเพื่อลบล้างคดีคุณทักษิณ ผมก็ต้องบอกว่าไม่ใช่
ถ้ากระบวนการมีเหตุมีผล ผมก็รับได้ แต่ถ้าจะตั้งธงล่วงหน้าว่าจะช่วยคุณทักษิณ ผมก็ว่ามันไม่ใช่ แต่ถ้าคุณบอกว่าทั้งหมดจะให้เป็นเรื่องของ ส.ส.ร. ก็ต้องให้เขาทำ ให้เขามีอิสระ ไม่ใช่มีแต่สมัครพรรคพวกของคุณ อย่างนั้นก็ไม่ถูกต้อง
- ประชาธิปัตย์ระแวงแต่ว่า "ทักษิณ" จะได้รับประโยชน์
ผมถามว่าที่ผ่านมา การอภัยโทษ การยกเว้นกฎหมาย ป.ป.ช.มันเคยมีหรือไม่ ทำไมในอดีตเขาไม่ทำ ทำไมวันนี้ต้องทำ จะมีกี่คนที่ทำผิดกฎหมาย ป.ป.ช. แล้วมีปัญหาอยู่ตอนนี้ มันไม่ใช่เรื่องระแวง แต่ต้องเอาข้อเท็จจริงมาพูดกัน
วันนี้คนที่หมกมุ่นเรื่องคุณทักษิณคือเพื่อไทย เรามีแต่บอกว่าให้ไปแก้น้ำท่วมนะ ไปฟื้นฟูเศรษฐกิจนะ ไปทำเรื่องค่าแรง 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทให้สำเร็จนะ แต่เขากลับไม่ทำ จะทำแต่เรื่องคุณทักษิณ ก็มีแต่ปัญหา ถ้าคุณเลิกทำแล้วก็จบ
ผมไม่ได้สนใจเลยว่าคุณทักษิณจะอยู่อย่างไร จะอยู่ต่างประเทศก็อยู่ไป หากอยากกลับมาก็มารับอำนาจศาลไทยก่อน หากไม่อยากรับก็อยู่นอกประเทศต่อไป วันนี้ผมไม่ได้เรียกร้องให้คุณ ยิ่งลักษณ์ไปไล่ล่าให้คุณทักษิณมาติดคุก ผมบอกแต่ว่าคุณยิ่งลักษณ์ทำงานให้ ประชาชนได้ไหม อย่าคิดจะทำให้คุณทักษิณมีสิทธิ์เหนือกฎหมายก็เท่านั้น
- หมายความว่าการไล่ล่า "ทักษิณ" ของประชาธิปัตย์จบแล้ว
ผมไม่ได้ไปไล่ล่า เพียงแต่บอกว่าเป็นหน้าที่รัฐบาลไทยนะครับ ทำผิดกฎหมายไทยก็ต้องมารับโทษ แต่คงไม่ได้ไล่ล่าเหมือนกับการตั้งทีมพิเศษไปติดตาม แต่มันเป็นเรื่องปกติ ใครทำผิดกฎหมายไทย ศาลตัดสินว่าผิด ก็ปฏิบัติอย่างนั้น คำว่า ไล่ล่า มันเป็นวาทกรรมที่เพื่อไทยสร้างขึ้น
------------------
@@@ ถ้ารัฐบาลไม่ยุ่งเรื่องคุณทักษิณ ก็อยู่ได้ 4 ปี"
นัก รัฐศาสตร์ ทั้งสำนักท่าพระจันทร์ สำนักจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ตรงกันว่า ประชาธิปัตย์ต้องยืนเป็นฝ่ายค้านอีกนานกว่าครึ่งทศวรรษ
อภิสิทธิ์-บอกว่าโดยทางการศึกษา เขาก็เป็นนักรัฐศาสตร์เหมือนกัน
ขณะที่สำนักคิดด้านรัฐศาสตร์ ในเมืองไทย มองเรื่องการกลับมา เป็นรัฐบาลของประชาธิปัตย์ แต่ "อภิสิทธิ์" สวนว่า
"ผม ไม่ได้มองตรงนั้น เราเป็นพรรคการเมือง จะฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็ต้องทำหน้าที่ จะเป็นรัฐบาลเมื่อไรก็อยู่ที่ประชาชน วันนี้ใครเขากล้าทำนายการเมืองล่วงหน้าได้ขนาดนั้น ลองมองย้อนกลับไป 8 ปีที่แล้ว ตอนปี 2546 มีใครทำนายถูกไหมว่าการเมืองจะเป็นเหมือนวันนี้ หรือตอนปี 2548 จะมีใครคิดหรือไม่ว่าบ้านเมืองปี 2554 จะเป็นอย่างนี้"
"การ วิเคราะห์ก็ทำไป แต่ผมก็มีความคิด ความเชื่อที่แตกต่างกันไป แต่ถามว่าผมเชื่อหรือไม่ ผมไม่เชื่อ มีคน อื่น ๆ ทำนายด้วยซ้ำว่า จะยุ่งวุ่นวายจนไม่รู้เรื่องก็มี"
ข้อวิเคราะห์ของ "ผู้นำฝ่ายค้าน" คือ "ผมเห็นเพื่อไทยมีความได้เปรียบสูง แต่ก็น่าเป็นห่วงว่าสังคมไทยยังยอมรับการสร้างความได้เปรียบแบบนี้ วันข้างหน้าการเมืองก็จะรุนแรงขึ้น"
ดังนั้นเพื่อไทยจะเป็นรัฐบาลจนจบสมัย หรือจากไปก่อนเวลาอันควร ล้วนขึ้นอยู่กับ "ทักษิณ"
"ถ้ารัฐบาลไม่ยุ่งเรื่องคุณทักษิณ ก็อยู่ได้ 4 ปี แต่ก็อยู่ที่รัฐบาล ส่วนจะทำได้หรือไม่ก็ต้องไปถามเขา"
"เวลา นี้ความขัดแย้งที่เริ่มต้นจากปัญหาของคุณทักษิณ มันถูกกลไกของพรรคเพื่อไทยขยายให้เป็นปัญหาของประเทศ และจะไปไกลถึงปัญหาของระบบ ผมเพียงแต่ถามว่า อยากทำอย่างนั้นต่อไปใช่หรือไม่ ก็ต้องอยู่ที่ว่าเขาอยากทำงานตอบโจทย์ประเทศ หรือตอบโจทย์คุณทักษิณ แต่เท่าที่เห็นผ่านมา 6 เดือน ผมเห็นว่ายังไม่ได้ตอบโจทย์ใครได้เลย"
ข้อ สรุปง่าย ใช้ตรรกะการเมืองแบบประเทศไทย "อภิสิทธิ์" เห็นว่า "การเมืองไม่มีอะไรเลย...เลือกตั้งก็เลือกแล้ว เพื่อไทยชนะแล้ว คุณก็ไปบริหารตามนโยบายไป ทำอย่างนี้ก็อยู่ไปเลย 4 ปี ไม่มีอะไร นอกจากจะทำเรื่องอื่น เช่น อยากให้คนบ้านเลขที่ 111 มาเป็น ส.ส. ก็ต้องยุบสภาแล้วเลือกตั้งให้เร็วขึ้น ทั้งหมดวันนี้ไม่มีเรื่องอะไรที่เป็นปัญหาจากฝ่ายค้านเลย" ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น