--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

โมเดลแก้กรรม ฉบับนิติราษฎร์ !!?

นับได้ว่าก่อแรงกระเพื่อมในวงกว้าง หลังจากซีกนักวิชาการและภาคพลเมืองบางส่วน หยิบยกปมแก้รัฐธรรมนูญมาเป็น“ชนวนเหตุ” ที่นำไปสู่การถกเถียงกันอย่างแตกหัก โดยเฉพาะในหัวข้อ “การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์-ศาล-กองทัพ” ที่คณะนิติราษฎร์จงใจนำมาเป็นเผือกร้อนในวงอภิปราย ซึ่งเหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า..เป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศ

เริ่มจากที่นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ได้เปิดเวทีอภิปรายในหัวข้อ “ล้มล้างผลพวงรัฐประหาร-นิรโทษกรรม-ปรองดอง” เพื่อเสนอแนวทาง “แก้กรรม!” ที่เกิดขึ้นหลัง 19 กันยายน 2549 ให้หมดสิ้น รวมไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่ยึดโยงกับการรัฐประหาร แน่นอนว่าไม่ลืมที่จะตั้งโต๊ะ ล่ารายชื่อประชาชนสนับสนุนการแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ว่า ด้วยการหมิ่นฯ สถาบันพระมหากษัตริย์ หัวใจหลักที่ “นิติราษฎร์” เสนอ คือ ให้มีการยกเลิกมาตรา 309 หรือ ทำให้ทุกอย่างที่เป็นการกระทำของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ถือเป็น “โมฆะ” คาดหวังให้ การเมืองย้อนกลับไปสู่โหมดก่อนการ รัฐประหาร 19 กันยาฯ

ที่น่าสนใจ เพราะว่ากลุ่มนิติราษฎร์ ได้เปิดเกมเร็ว เสนอให้ตั้งคณะกรรมการจัดทำรัฐธรรมนูญนิติรัฐและประชาธิปไตย ซึ่งมีที่มาจากสารพัดขั้วการเมือง ทั้งฝ่ายค้าน-รัฐบาล และ ส.ว. รวม 25 คน เพื่อทำหน้าที่ยกร่างกฎหมาย ซึ่งหลักการนี้ทางกลุ่มนิติราษฎร์ให้ความเชื่อมั่นว่าเป็นแนวทาง “ปลดล็อกกฎหมายแก้กรรม!”

แน่นอนว่า “โมเดลนิติราษฎร์” เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ “อุกฤษ มงคลนาวิน” ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ หรือ คอ.นธ. ที่เสนอให้ตั้งคณะ กรรมการร่าง รธน.จำนวน 35 คน โดย ผู้จะเข้ามาทำหน้าที่นี้ ให้มาจากการ “ลากตั้ง” แทนที่จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ซึ่งขัดแย้งกับแนวทางที่แกนนำ นปช. และ ส.ส.ค่าย เพื่อไทยตั้งธงไว้ก่อนหน้านี้

ด้านหัวหอกคณะนิติราษฎร์อย่าง “วรเจตน์ ภาคีรัตน์” นักวิชาการด้าน กฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุชัดว่า..ต้องรื้อทั้งฉบับ ก่อนจะมีการยกร่างใหม่! ซึ่งขั้นตอนคือ แก้ ม.291 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการกลุ่มเล็กๆ ขึ้นมายกร่าง โดยวางกรอบให้แล้ว เสร็จใน 30 วัน ก่อนชงเป็น “วาระร้อน” ในวงประชุมรัฐสภา ก่อนไปถึง ขั้นตอนการทำประชามติรับฟังความคิดเห็นประชาชน ซึ่งโมเดลนิติราษฎร์นี้ คาดว่าจะใช้เวลา 9 เดือนก่อนถึงขั้นตอน ประกาศใช้ แถมการันตีว่าวิธีนี้ถือเป็น การเชื่อมโยงกับประชาชนมากที่สุด และเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย

แกนนำนิติราษฎร์ย้ำหัวตะปูว่าที่ไม่เสนอให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.3 เพราะคิดว่าไม่ ตอบโจทย์ เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ต้องการคนที่มีความรู้ความเข้าใจกฎหมายเข้ามายกร่าง และ กระบวนการ ส.ส.ร. จะทำให้การทำรัฐธรรมนูญใหม่เกิดความล่าช้า ซึ่งแนว ทางที่เสนอไม่ได้ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่สำคัญได้มีการศึกษากระบวนการเปลี่ยนแปลงของหลายประเทศแล้วพบว่าแนวทาง ส.ส.ร.ที่พูด กันนั้นไม่มีที่ไหนใช้เลย แต่ ส.ส.ร. บ้าน เราเกิดมาจากพื้นฐานความไม่ไว้ใจ นักการเมือง กลัวว่าจะเขียนกติกาที่เป็น ประโยชน์ต่อตัวเอง จึงให้ตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่าง

แต่ประเด็นที่ทำให้ “นิติราษฎร์” กลายเป็น “หมูไม่กลัวน้ำร้อน” เพราะมีการเสนอกันแบบล่อแหลม หรือคิดกัน เฉพาะในหลักการนิติรัฐ! นั่นคือเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน ตามกรอบกฎหมายที่กำหนดให้ทุกเนื้อหา ใน รธน.ฉบับนี้ “สามารถแตะต้องได้ทุกส่วน!” จากเดิมที่มีข้อห้ามเอาไว้ โดยคณะนิติราษฎร์ได้อ้างถึงการทำให้โครง สร้างของทุกสถาบันมีความเชื่อมโยงสอดคล้องกันตามหลักการประชาธิปไตย! สถาบันกษัตริย์ รัฐ องค์กรที่ใช้ อำนาจรัฐ ประชาชนต้องมีความเชื่อมโยง ที่เหมาะสมและแบ่งแยกอำนาจที่ชัดเจน..

เอาแค่ธงในการ “ปฏิรูปสถาบัน พระมหากษัตริย์” ที่กำหนดให้“...ประมุขของรัฐ จะต้องสาบานตน ก่อนเข้ารับตำแหน่งว่า จะปฏิบัติตาม รัฐธรรมนูญและพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เฉพาะเรื่องนี้เรื่องเดียว ก็ทำให้เกิดภาวะคลื่นใต้น้ำมากมาย ทั้งในภาคการเมืองและกลุ่มมวลชนที่ออกมาโหมโรงต้านกันอย่างหนัก ยิ่งไปกว่านั้นยังมีภาวะแทรกซ้อน จากกระแสสังคมบางส่วน ได้จุดชนวนแห่งวิพากษ์ที่ว่า กรอบหลักของโมเดลนิติราษฎร์นั้น ได้ถูกทำคลอดมาเพื่อการ รื้อ-คว่ำกฎหมายล้มเจ้า! หรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ส่วนการ แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น ใช่หรือไม่?!

บริบทแห่งการแก้ รธน.ตามโมเดลนิติราษฎร์ จะสามารถแหวกฝ่า มรสุมไปได้อย่างไรนั้น คงไม่ได้สลักสำคัญเท่าใด เพราะเป็น “ทางเลือกหนึ่ง” ที่กลั่นมาจากแนวคิดของกลุ่มนักวิชาการและภาคประชาชนบางส่วนที่คิดต่างออกไป เหนืออื่นใด ก่อนจะไปนั่งถกเถียง กันใน “เนื้อหา” ว่าจะแก้ตรงไหน เวลา นี้แม้แต่คำตอบว่าใครเป็น “เจ้าภาพ” ในการแก้ รธน.ฉบับใหม่นี้ ..ตกลงกัน ได้แล้วหรือยัง!?!

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น