--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2555

เหรียญสองด้าน โมเดลนิติราษฎร์...

โมเดลนิติราษฎร์ ในแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ออกมา จากกลุ่มนักวิชาการซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน ที่ จะว่าไปแล้ว ถือเป็นอีกพาร์ตของการเคลื่อนไหวแห่ง “เรดแมป” ฉบับมวลชนคนเสื้อแดง ที่กำลังถูกกล่าวขวัญและกลายเป็นประเด็นบริภาษในสังคมอย่างกว้างขวางทั้งแง่บวกและแง่ลบ

เนื่องด้วยจิ๊กซอว์ 4 ชิ้น ที่คณะนิติราษฎร์ วางธงจะนำมาประกอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูตาม “โมเดลนิติราษฎร์” อันประกอบด้วย รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2475 รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2489 โดยมีรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เป็น แกนกลาง

หากลงรายละเอียดไปถึงลายลักษณ์อักษรในตัวบทกฎหมายสูงสุดของประเทศที่ถูกยกมาอ้างอิง มันก็ล้วนปรากฏซึ่งเหตุผลแห่ง ความอ่อนไหวและเปราะบาง ยิ่งนำมาประกอบกับการเคลื่อนไหวของคณะนิติราษฎร์ ที่มีแผนรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 112 ผ่าน “คณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติม ม.112” หรือ ครก.112 ในการรวบรวมรายชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขมาตรา 112 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา..มันก็ล้วนสะท้อนให้เห็นนัยยะสำคัญทางการเมืองที่ไม่ธรรมดาเช่นกัน!!!

การเคลื่อนตามโมเดลนิติราษฎร์ครั้งนี้ จะเกิดปรากฏการณ์อะไรทางการเมืองตามมายังไม่มีใครทราบ แต่หากว่ากันตามมุมมอง ทางวิชาการทางกฎหมาย ย่อมปรากฏมิติแห่งชุดความคิดของกลุ่ม สนับสนุนและกลุ่มคัดค้าน ที่น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่สามารถหยิบยก ไปใช้ทางวิชาการ ซึ่งน่าจะนำไปสู่จุดตกผลึกในอนาคตข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยเป็นข้อถกเถียงที่อ่อนไหวเปราะบาง “โต๊ะข่าวการเมือง” จึงขอยกเอาใจความสำคัญของ “ประกาศคณะนิติราษฎร์” ที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณชนมาประกบกับบทความของ “คำนูน สิทธิสมาน” ที่ถูกตีพิมพ์ในคอลัมน์หน้ากระดานเรียงห้า (ผู้จัดการ ออนไลน์) มาเป็นข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ เพื่อให้เห็นข้อดีข้อด้อยของทั้ง 2 มุมมอง โดยเฉพาะในปมบริภาษ..รัฐธรรมนูญ ฉบับใต้ตุ่ม!!!

l>> ประกาศคณะนิติราษฎร์ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2554

คณะนิติราษฎร์ เห็นว่า รัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้เป็นต้นแบบ ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่สมควรเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในส่วนของการประกันสิทธิและ เสรีภาพตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับพัฒนาการในยุคร่วมสมัยมาเป็นแนวทางในการยกร่าง

เหตุที่คณะนิติราษฎร์เจาะจงมุ่งเน้นไปที่รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรก ก็เนื่องจากพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกเป็นรัฐธรรมนูญที่จัดวางระบอบประชาธิปไตยและหลักความเป็นราชอาณาจักรซึ่งกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 เป็นรัฐธรรมนูญที่สืบเนื่องต่อมา ตามกระบวนการปกติ โดยที่ไม่มีการล้มล้างรัฐธรรมนูญนอกวิถีทาง ประชาธิปไตย

การรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเกิดขึ้นครั้งแรกใน วันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ต่อมา คณะรัฐประหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 9 พฤศจิกายน 2490 การรัฐประหารครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้น ของ “วงจรอุบาทว์” ในระบอบการเมืองไทย นับแต่นั้น รัฐธรรมนูญฉบับที่สืบเนื่องต่อมา ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกตัดตอนจากอุดมการณ์ ประชาธิปไตยของคณะราษฎร ข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ให้นำรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรกมาเป็นต้นแบบในการยกร่าง จึงเป็นความพยายาม นำระบอบการเมืองการปกครองในปัจจุบันกลับไปเชื่อมโยงอุดมการณ์ประชาธิปไตยของคณะราษฎร์ นอกจากนี้ เราอาจพิจารณาความเห็นของนายปรีดี พนมยงค์ ต่อรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ได้อีกด้วย

นายปรีดี เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม (รัฐธรรมนูญ 9 พฤศจิกายน 2490) เป็นโมฆะ ระบบการเมืองและรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 และฉบับต่อๆ มา ก็เป็นโมฆะ นอกจาก “มิใช่ระบบการเมืองประชาธิปไตยตามวิถีทางรัฐธรรมนูญโดยชอบ” แล้วยัง “มิใช่เป็นระบบปกครองที่สมบูรณ์ในตัวของรัฐธรรมนูญนั้นเอง” ด้วยเหตุผลสามประการ ดังนี้

ประการแรก การลงนามของกรมขุนชัยนาทนเรนทรในรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มเป็นโมฆะ เพราะหัวเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เขียนตำแหน่งผู้ลงนามแทนพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ “คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ซึ่งในภาษาไทยคำว่า “คณะ” หมายถึงบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป แต่เหตุใดจึงมีผู้ลงนามเพียงคนเดียว คือ “รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร”

หลายคนที่มีจิตใจสังเกตก็แสดงความเห็นว่า เมื่อก่อนหน้าวันที่ 8 พฤศจิกายน เคยได้ฟังวิทยุกรมโฆษณาการอ่านประกาศกฎหมาย หลายฉบับ คือ เมื่ออ่านคำว่า “คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” แล้ว ก็อ่านต่อไปถึงชื่อคณะนั้นที่ลงนาม ซึ่งผู้ลงนาม 2 ท่าน คือ “รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร” และ “มานวราชเสวี” (พระยามานวราชเสวี) แสดงว่า คณะนั้นประกอบด้วยบุคคล 2 คน ฉะนั้น ผู้ใช้ความสังเกตจึงเห็นได้ทันทีว่า รัฐธรรมนูญ (ฉบับใต้ตุ่ม) ดังกล่าว เริ่มแสดงถึงการเป็นโมฆะตั้งแต่หัวเรื่องของรัฐธรรมนูญฉบับนั้น

นายปรีดี ยังได้ชี้ชวนให้พิจารณาประกาศตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2489 อีกด้วยว่า เนื่อง จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงพระเยาว์ รัฐสภาจึงลงมติตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นประธาน และพระยามานวราชเสวี โดยมีข้อตกลงว่าในการลงนามเอกสารราชการนั้น ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งสองเป็นผู้ลงนาม ดังนั้น รัฐธรรมนูญ ฉบับใต้ตุ่มซึ่งกรมขุนชัยนาทฯองค์เดียวเป็นผู้ลงนามจึงเป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนข้อกำหนดในประกาศแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ ฉบับวันที่ 16 มิถุนายน 2489

ประการที่สอง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ปฏิญาณตนต่อรัฐสภาว่าจะรักษาและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย นายปรีดีฯ เห็นว่า “...ผู้สำเร็จราชการที่ตั้งโดยรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 นี้ก็ได้ปฏิญาณตนต่อรัฐสภาว่า จะรักษาและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้น ถ้ากรมขุนชัยนาทฯ ได้ปฏิบัติตามที่ปฏิญาณและไม่ยอมลงพระนามในรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม ระบอบแห่งรัฐธรรมนูญใต้ตุ่มอันเป็นบ่อเกิด ให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญต่อมาอีกหลายฉบับ จนมวลราษฎรจำกันไม่ได้ว่ามีกี่ฉบับก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้...”

ประการที่สาม ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม เป็นตำแหน่งที่ไม่มีกฎหมายรองรับ นายปรีดี อธิบายว่า ผู้ลงนามรับสนองฯในรัฐธรรมนูญ 2490 คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย เป็นตำแหน่งที่คณะ รัฐประหาร ตั้งให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งผิดต่อกฎหมาย และ ผู้นั้นไม่มีอำนาจตามที่กฎหมายที่จะลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

l>> “คำนูณ สิทธิสมาน” สมาชิกวุฒิสภา ระบบสรรหาหากดูข้อความในแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ประเด็นที่ระบุว่า..

“...เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้เป็นต้นแบบในการจัดทำ รัฐธรรมนูญใหม่สมควรเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครอง แผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรีภาพตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทาง รัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับพัฒนาการในยุคร่วมสมัยมาเป็น แนวทางในการยกร่าง”

จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ถูกลดคุณค่าไปแค่ “อาจนำ” มาร่วมพิจารณาเฉพาะส่วนโครงสร้างสถาบันทางการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ใช่ปรัชญาและแนวทางหลักแล้วพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 หรือที่ผมขอเรียก ณ ที่นี้ว่ารัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษหรือ?

ความโดดเด่นเป็นพิเศษคือเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้น 3 วันหลัง คณะราษฎรทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากในหลวงรัชกาล ที่ 7 โดยคณะราษฎรเป็นผู้จัดทำฝ่ายเดียวแล้วนำมาถวายพระองค์ ท่าน แม้พระองค์อาจไม่ทรงเห็นด้วยในเนื้อหาบางประการ แต่ด้วย พระราชปณิธานสูงสุดที่ไม่ต้องการให้แผ่นดินนองเลือดจึงทรงยินยอม แต่ก็ลงพระอักษรกำกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้ว่า “ชั่วคราว”

อันเป็นผลให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่พระองค์ท่าน มีส่วนร่วมพระราชทานความเห็นด้วยออกมาประกาศใช้ในอีก 5 เดือน เศษต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งมีเนื้อหาบางประการแตกต่างออกไป

ในรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ไม่มีคำว่า “พระมหากษัตริย์” เหมือนรัฐธรรมนูญทุกฉบับต่อๆ มา โดยใช้คำว่า “กษัตริย์” เฉยๆ หลักการสำคัญอันเป็นเสมือนการแสดงเจตนารมณ์ปฏิบัติประชาธิปไตยเปลี่ยนระบอบบรรจุอยู่ในมาตรา 1 ด้วยข้อความที่สั้น กระชับ เมื่อพูดถึงอำนาจสูงสุดของประเทศก็มีแต่คำว่า “ราษฎร” เท่านั้น ไม่มีข้อความต่อมาที่ระบุถึง “พระมหากษัตริย์” ไว้ในมาตราเดียวกันเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ไม่ใช่แต่เพียงภาษาเท่านั้นแต่ฐานภาพของ “กษัตริย์” ตามรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ไม่เหมือน “พระมหากษัตริย์” ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาทุกฉบับต่อจากนั้น อ่านหมวด 1 ข้อความทั่วไป และหมวด 2 กษัตริย์ ดูก็พอจะ รับรู้อารมณ์และเจตนารมณ์ได้ ที่สำคัญและดูเหมือนจะเชื่อมโยงไปถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่คณะนิติราษฎร์และคนเสื้อแดงบางกลุ่มเสนอให้ทบทวนด้วยก็คือ รัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ไม่มีหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับต่อมาบัญญัติคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์และองค์พระมหากษัตริย์ไว้เด็ดขาด ดังเช่นความในมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งก็เหมือนฉบับ 2540 และฉบับอื่นๆ ก่อนหน้า...“องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้/ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”

หลักการนี้มีที่มาที่ไปที่แสดงลักษณะเฉพาะเป็นพิเศษของประเทศไทย และเพราะมีหลักการนี้บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็น เหตุให้มีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าหลักการนี้ไม่คงอยู่ในรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็ไม่มีฐานรองรับ
แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ก็ยังคุ้มครองฐานภาพของ “กษัตริย์” แต่ไม่ได้คุ้มครองไว้เด็ดขาดเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาทุกฉบับจนถึงปัจจุบัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติไว้ในมาตรา 6 ว่า...

“กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาญาไปยังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย” แม้คณะนิติราษฎร์ไม่ได้ระบุออกมาตรงๆ ว่ารัฐธรรมนูญใหม่ ควรจะต้องร่างอย่างนี้ แต่การหยิบยกให้นำแต่เฉพาะรัฐธรรมนูญของ คณะราษฎร 3 ฉบับ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างออกไปจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับ มาเป็น ต้นแบบ โดยลดความสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2540 ลงไป..มันชวนให้คิด ชวนให้คาดการณ์ได้ไม่ใช่หรือ???

ขอย้ำว่านี่คือข้อถกเถียงในทางความคิดผ่านแง่มุมวิชาการ ด้านกฎหมาย ส่วนผลกระทบในทางการเมืองจากประเด็นดังกล่าว จะตามมาในรูปแบบใด..สังคมและสาธารณชนจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องเฝ้าติดตาม อย่างมีสติ..ขอรับ!!!

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น