--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

ดร.วีรพงษ์ ดันอภิโปรเจ็กต์ พลิกประเทศ ยกเครื่องขนส่ง-สื่อสาร 2.2 ล้านล้านบาท เข้า ครม. 10 มค. !!?

ที่ทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มีนายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน จะเสนอแผนยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ 5 ด้าน ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ประกอบไปด้วย 1.การบริหารจัดการทรัพยการน้ำ 2.การปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการ 3.การพัฒนาเชิงพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ 4.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5.การพัฒนาระบบการประกันภัย

จากคณะกรรมการ กยอ. เปิดเผยว่า สำหรับแผนการบริหารจัดการทรัพยการน้ำที่คณะกรรมการ กยอ. จะนำเสนอ เป็นแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เรียบร้อยแล้ว วงเงิน 317,126 ล้านบาท แบ่งเป็นแผนป้องกันปัญหาระยะเร่งด่วน 17,126 ล้านบาท ใช้แหล่งงบประมาณจากงบกลางปี 2555 ครม.ได้มีมติเห็นชอบไปแล้ว ส่วนแผนลุ่มน้ำแบบบูรณาการและยั่งยืน ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 300,000 ล้านบาท จะใช้แหล่งเงินจากเงินกู้จำนวน 350,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลจะออก พ.ร.ก.การจัดตั้งกองทุนสร้างอนาคตประเทศ มาดำเนินการ

โปรเจ็กต์ 2.2 ล้านล้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

อย่างไรก็ตาม ในวงเงินกู้ทั้งหมด 350,000 ล้านบาท ที่ประชุม กยอ. เมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้ใช้เงินอีกจำนวน 40,000 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำที่เหลือ ทำให้ยอดวงเงินรวมที่รัฐบาลจะใช้สำหรับการจัดทำแผนป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งหมด อยู่ที่ 357,126 ล้านบาท ส่วนวงเงินกู้ที่เหลืออีก 10,000 ล้านบาท จะถูกนำไปใช้ในการลงทุนตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า สำหรับรายละเอียดแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระหว่างปี 2555-2559 รวมวงเงินทั้งสิ้น 2,270,085 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 5 สาขา คือ 1.สาขาขนส่งทางบก วงเงิน 1,469,879 ล้านบาท 2.สาขาขนส่งทางอากาศและน้ำ 148,504 ล้านบาท 3.สาขาพลังงาน 499,449 ล้านบาท 4.สาขาการสื่อสาร 35,181 ล้านบาท และ 5.สาขาสาธารณูปการ 117,072 ล้านบาท

ลุยสร้างข่ายขนส่งทางบก

แหล่งข่าวกล่าวว่า ทั้งนี้ ในการพัฒนาระบบขนส่งทางบก จะแบ่งเป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 187,305 ล้านบาท การพัฒนาระบบรถไฟ/รถไฟสายใหม่ 298,237 ล้านบาท การพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง 481,066 ล้านบาท การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง 321,316 ล้านบาท การพัฒนาโครงข่ายถนน และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ 181,954 ล้านบาท

ส่วนโครงข่ายรถไฟ มีเป้าหมายพัฒนาให้เป็นระบบหลักในการขนส่งสินค้าจากพื้นที่การผลิตหลัก ภายในประเทศเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนรถไฟฟ้าความเร็วสูง ดำเนินการ 4 เส้นทางหลัก คือ 1.กทม.-เชียงใหม่ 2.กทม.-หนองคาย และกทม.-อุบลราชธานี 3.กทม.-หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 4.กทม.-ฉะเชิงเทรา-ระยอง

ร่วมเพื่อนบ้านพัฒนาพลังงาน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนแผนด้านพลังงาน เน้นการแสวงหาและพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาแหล่งพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้านในฝั่งตะวันตก (ทวาย) เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ สำหรับแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เน้นการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา: มติชนออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น