--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

ห้ามเคลื่อนไหวม.112มธ.กลัวขัดแย้งรุนแรงภายในสถาบัน

สมคิด. เผยมติกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สั่งห้ามใช้พื้นที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับ
ม.112 อ้างกลัวเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการดำเนินการของสถาบันจนก่อให้เกิดความขัดแย้ง
ซึ่งยากต่อการควบคุม “ยิ่งลักษณ์” วอนทุกฝ่ายเลิกขยายความเพื่อประโยชน์ทางการเมือง แนะ
หันมาให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาและฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วมดีกว่า ปชป. ยื่นดีเอสไอ
เอาผิด “ยิ่งลักษณ์-เฉลิม-อนุดิษฐ์-เพรียวพันธ์” ละเว้นฟันเว็บไซต์หมิ่นเบื้องสูง

*************************
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวันที่ 30 มค. ที่ผ่านมา ยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีความพยายามผูกโยงข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร มาเป็นประเด็นทางการเมืองเพื่อใช้โจมตีกัน ทั้งที่ผู้เสนอยืนยันชัดเจนแล้วว่าทำในนามนักวิชาการและเสนอตามหลักวิชาการ ไม่เกี่ยวกับการเมือง

วอนหยุดเรื่องสถาบัน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ทุกฝ่ายอย่าพยายามนำสถาบันมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ตั้งเป้าที่จะแก้ไขกฎหมายใดๆ

“ข้อเสนอของทุกฝ่ายเชื่อว่ามาจากความปรารถนาดี แต่ก็ขอให้อยู่ในข่ายที่ไม่ควรนำเรื่องสถาบันมาใช้ และขอให้ช่วยกันปกป้องสถาบัน”

ไม่อยากตอบโต้ทางการเมือง

ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมพรรคเพื่อไทยถูกโยงให้เกี่ยวข้องกับเรื่องไม่เหมาะสมต่อสถาบันอยู่เรื่อยๆ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่อยากตอบโต้ทางการเมือง และไม่เชื่อว่าประเด็นนี้จะทำให้เกิดการปะทะกันของมวลชน 2 ฝ่าย เพราะเป็นแค่เรื่องความคิดเห็นที่แตกต่างกัน

“อยากขอความร่วมมือสื่อมวลชนด้วย ตอนนี้เรากำลังฟื้นฟูความมั่นใจหลังจากมหาอุทกภัย เพื่อให้นักท่องเที่ยวนักลงทุนกลับเข้ามา”

ควรพูดเรื่องแก้ปัญหาประเทศ

เมื่อถามถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยออกมาแฉขบวนการจ้องล้มรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์นิ่งก่อนตอบว่า “นี่ก็เรื่องการเมือง เราอย่าพยายามเอาเรื่องการเมืองมานำเลย เราควรคุยกันเรื่องการแก้ปัญหาประเทศดีกว่า อะไรที่ไม่ใช่ประเด็นอย่าไปต่อให้ยาวดีกว่าจะไม่จบ คิดว่าประชาชนอยากฟังว่าเราจะฟื้นฟูประเทศกันอย่างไร มาคุยกันเรื่องนี้ดีกว่าเพื่อช่วยเรียกความมั่นใจ”

พท.ไม่แตะกฎหมายสถาบัน

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ย้ำอีกครั้งว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีแนวคิดแก้มาตรา 112 หรือกฎหมายใดๆที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ขอยืนยันว่าหมวดที่เกี่ยวกับสถาบันจะพยายามสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่ายอย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย

ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เข้ายื่นเรื่องให้ตรวจสอบเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ด้วยการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112

ยื่นฟันนายกฯละเว้นหน้าที่

“เคยยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แล้วหลังจากตรวจสอบพบข้อมูลจากชมรมนักรบไซเบอร์ที่พบเว็บไซต์ที่มีข้อความไม่เหมาะสมจำนวน 280 URL แต่ผ่านมา 2 เดือนยังไม่มีการดำเนินการ แถมยังพบเว็บไม่เหมาะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงมาร้องให้ดีเอสไอดำเนินคดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์, ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี, น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีไอซีที และ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 และขอให้ดีเอสไอดำเนินคดีกับเว็บไซต์ดังกล่าวตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และความผิดตามมาตรา 112 รวมถึงขอให้รวบรวมเป็นคดีพิเศษด้วย”

เพื่อไทยแจ้งเอาผิดเว็บหมิ่น

ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เดินทางไปยื่นเรื่องที่ดีเอสไอเพื่อขอให้สืบสวนสอบสวนกรณีที่มีการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เผยแพร่ข้อความหมิ่นสถาบัน ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรค ยังยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยมีแนวคิดแก้มาตรา 112 โดยนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งว่า จะต้องแก้ไขกฎหมายนี้ เพราะไม่ต้องการให้นำไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้นิติราษฎร์ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้

ยันเพื่อไทยหาเสียงแก้ ม.112

“ในการหาเสียงเลือกตั้ง แกนนำพรรคเพื่อไทยพูดชัดเจนว่าจะต้องมีหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาดูแลเกี่ยวกับการยื่นฟ้องตามมาตรา 112 จึงเป็นการชี้ให้เห็นว่าที่นิติราษฎร์และผู้สนับสนุนออกมาเคลื่อนไหว เพราะเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยมีแนวคิดเรื่องนี้ แต่เมื่อกระแสสังคมต่อต้านมากจึงกลับลำ และชิ่งหนีจากนิติราษฎร์”

มธ.สั่งห้ามเคลื่อนไหว ม.112

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊คว่า ที่ประชุมกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีมติเอกฉันท์ว่ามหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อเคลื่อนไหวกรณีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกต่อไป เพราะมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ราชการ การอนุญาตต่อไปอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว อีกทั้งอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในบริเวณมหาวิทยาลัย จนไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยได้


ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
**********************************************************************

ปลุกผีปฏิวัติรัฐประหาร เมื่อพ่ายแพ้หลักการนิติราษฎร์...

ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ไม่สำเร็จแล้วจะทำอย่างไร ผมคิดว่าก็เหมือนจุดไฟ ถ้ามันดับก็ต้องจุดใหม่ ให้มันรู้ไปว่าจะไม่ติดสักวันหนึ่ง นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หนึ่งใน

คณะนิติราษฎร์ กล่าวถึงการรณรงค์ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ในงานเสวนาวิชาการหัวข้อ “ลบล้างผลพวงรัฐประหารนิรโทษกรรม-ปรองดอง” เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา หลังจากเมื่อวันที่ 15 มกราคมได้จัดกิจกรรมรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเปิดตัวคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) เพื่อรวบรวมรายชื่อบุคคลให้ได้ 10,000 คน เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 ซึ่งการจัดกิจกรรม 2 ครั้งได้รับความสำเร็จอย่างยิ่ง ทั้งกระแสตอบรับอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และกระแสต่อต้านมากมาย “สนธิ” ปลุกทหารรัฐประหาร โดยเฉพาะการ “ปลุกผีวงจรอุบาทว์” ให้ทหารออกมาทำ “รัฐประหาร” โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศบนเวทีเสวนาปีใหม่-ตรุษจีนที่บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์

เมื่อวันศุกร์ที่ 20 มกราคม และเผยแพร่ผ่านเครือข่ายสื่อ ASTV ผู้จัดการ โดยยังคงอ้าง “ในหลวง” ว่า “ผมจะบอกให้รู้ว่าผมไม่ได้นั่งเฉยๆแล้วสู้ ครั้งนี้พี่น้องไม่ใช่มาประท้วงที่ถนน จะต้องสู้เพื่อยึดอำนาจรัฐเลย ต้องสู้เพื่อแตกหัก เพราะถ้าไม่แตกหักแล้ว พระเจ้าอยู่หัวเราไปไม่รอด ผมเป็นคนแรกที่บอกว่าทหารเท่านั้นที่จะเป็นเสาค้ำพระเจ้าอยู่หัว แต่ถ้าทหารไม่สามารถจะค้ำได้ อีกไม่นานพวกเราคงต้องออกมาค้ำพระเจ้าอยู่หัว และถ้าออกมาครั้งนี้ต้องชนะอย่างเด็ดขาด ไม่มีการตีงูให้กากิน แล้วก็ไม่มีการให้แมลงสาบตีกินพวกเราอีก ผมเชื่อว่าในที่สุดจะมีเพียงพลังของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะค้ำจุนประเทศชาติได้ ทหารอย่านั่งเฉย รีบออกมาปฏิวัติเสีย แล้วพันธมิตรฯทั่วประเทศจะออกมาร่วมกับทหารยึดประเทศไทยคืนมาจากไอ้พวกชั่วๆ” เปอร์เซ็นต์สูงรัฐประหาร ขณะที่ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานมูลนิธิโรงเรียนเตรียมทหาร ออกมาย้ำในรายการ “ลับ ลวง พราง” ทางวิทยุ อสมท 100.5

หลังจากนายสนธิเรียกร้องให้ทหารยึดอำนาจว่า เห็นด้วยที่ทหารจะทำรัฐประหารอีกครั้ง และมีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะเกิดการปฏิวัติถ้ายังไม่เลิกดูหมิ่นสถาบัน จึงอยากให้ทหารออกมาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์มากๆ เพราะไม่ควรแก้ไขมาตรา 112 หรือแตะต้องอะไรที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ “ถ้ามันถึงที่สุด ทางกองทัพก็ต้องพูดกันบ้าง ไม่ใช่พูดแค่มันปาก ต้องเอาจริง หากเกินเลยจนทหารทนไม่ได้ เพราะใน 7-8 ปีมีการทำลายสถาบันกษัตริย์มากเหลือเกิน ถ้าถึงที่สุด ถ้ามันมากเกินไปจนทนไม่ไหว ทหารก็อาจจะปฏิวัติแน่นอน” เนรคุณแผ่นดิน?

การปลุกกระแสให้ทหารออกมาจึงไม่ควรมองแค่กลุ่มพันธมิตรฯ ที่แม้วันนี้จะมีมวลชนสนับสนุนน้อยกว่าในอดีต เนื่องจากเกิดความแตกแยกและขัดแย้งกันเอง แต่คำพูดของนายสนธิก็ไม่ใช่เลื่อนลอยและเป็นไปไม่ได้ เพราะยังมีกลุ่มขาประจำ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์หรือกลุ่มสลิ่มที่ออกมาต่อต้านการแก้ไขมาตรา 112 อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการกล่าวหาแบบเดิมๆว่าคณะนิติราษฎร์และผู้สนับสนุนเป็นพวก “ล้มเจ้า” และต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ทั้งที่คนกลุ่มเหล่านี้รู้ดีแก่ใจว่าใครหรือกลุ่มใดที่ดึง “สถาบันเบื้องสูง” มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม

โดยเฉพาะการโค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวกพ้อง คนเสื้อแดงจึงถูกอุปโลกน์ให้เป็นเครือข่าย “ขบวนการล้มเจ้า” จาก “ผังล้มเจ้า” ของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ทั้งที่เป็น “ผังกำมะลอ” ที่ผู้มีอำนาจในขณะนั้นสร้างความชอบธรรมเพื่อปราบปรามคนเสื้อแดงและลบล้างความผิดจากเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่มีคนตายถึง 91 ศพ และบาดเจ็บ พิการเกือบ 2,000 คน การคัดค้านและกล่าวถึงประเด็นมาตรา 112 จึงเป็นคนละเรื่องที่ไร้เหตุผลหรือหลักการทางวิชาการ ต่างจากที่คณะนิติราษฎร์พยายามชี้แจง เพราะฝ่ายที่ต่อต้านไม่ได้ต่อสู้ด้วยเหตุผลและหลักการ แต่พยายามทำให้มาตรา 112 เป็นเหมือน “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่ห้ามแตะต้องอย่างเด็ดขาด อย่างเช่นกรณีของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการสถาบันพระปกเกล้า ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวถึงข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาล กองทัพ และสถาบันการเมือง ซึ่งมีบางมาตรากำหนดให้พระมหากษัตริย์ ต้องสาบานตนว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญก่อนเข้ารับตำแหน่งว่า “ผมว่าก่อนจะแก้รัฐธรรมนูญตามที่พวกคุณเสนอ ควรแก้ข้อบังคับทุนอานันทมหิดลให้ผู้รับทุนสาบานว่าจะไม่เนรคุณและไม่ทรยศต่อพระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานทุนจะง่ายกว่ามั้ย ข้อเสนอผมไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญเลย!!!”

นิติราษฎร์ปกป้องสถาบัน? ข้อเขียนของนายบวรศักดิ์จึงต้องการสะท้อนถึงนายวรเจตน์โดยตรงในฐานะที่ได้รับทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต่อจนจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากประเทศเยอรมนี ซึ่งนายวรเจตน์กล่าวถึงการเป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดลว่า เพราะเป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดล จึงต้องออกมาเคลื่อนไหวทางวิชาการเพื่อให้ใช้เหตุผลมาแก้ปัญหาเพื่อปกป้องสถาบัน ไม่ใช่ล้มล้างสถาบัน “สิ่งที่ผมทำอยู่คือการตอบแทน กตัญญูต่อผู้ที่ให้ทุนอานันทมหิดลแก่ผม ที่ผมทำทุกอย่างก็เพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมไม่รู้ว่านักเรียนคนอื่นๆที่ได้ทุนนี้มีจินตนาการเรื่องนี้อย่างไร แต่สำหรับผมแล้ว สิ่งที่ผมทำก็เพื่อความดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์สืบไป ผมชัดเจนเสมอว่าผมต้องการรัฐธรรมนูญในประเทศที่เป็นราชอาณาจักร”

ด้านนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิจัยสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งสิงคโปร์ ที่รณรงค์เรื่อง “ฝ่ามืออากง” และสนับสนุนคณะนิติราษฎร์ ตอบโต้นายบวรศักดิ์ผ่านเฟซบุ๊คว่า รู้สึกผิดหวังที่นายบวรศักดิ์สำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมายจากปารีส แต่กลับตอบโต้คณะนิติราษฎร์ด้วยคำพูดที่ childish แทนที่จะใช้มุมมองด้านวิชาการมาหักล้าง “ทำให้ผมรู้ว่าตำแหน่ง “ศาสตราจารย์กิตติคุณ” น่าจะได้กันมาง่ายๆอย่างนี้นี่เอง แต่ที่สำคัญกว่านั้น ผมคิดว่านายบวรศักดิ์จนด้วยปัญญาในการโต้เถียงกับนิติราษฎร์ก็เท่านั้น” นายปวินยังพูดเรื่องทุนการศึกษาว่า ไม่ได้ห้ามให้คิดต่างว่าเป็นการเนรคุณ และคิดว่าหากในหลวงอานันทมหิดลยังมีชีวิตอยู่ในวันนี้ พระ องค์คงปลาบปลื้มใจที่นิติราษฎร์ได้สร้างคุณประโยชน์ในการปกป้องสถาบันประชาธิปไตย “ผมว่าในหลวงอานันท์รักและต้องการ “ความถูกต้อง” และ “ความยุติธรรม” ครับ” นิติราษฎร์เสียเปล่า!

ส่วนนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ถูกโยงใน “ผังล้มเจ้า” และถูกกล่าวหาความผิดตามมาตรา 112 ยืนยันว่า ควรยกเลิกมาตรา 112 มากกว่าแก้ไข ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เชื่อว่าไม่มีทางที่สภาจะผ่านร่างกฎหมายที่คณะนิติราษฎร์กำลังล่ารายชื่อในขณะนี้ ที่สำคัญจะไม่สามารถช่วย “อากง” และผู้ต้องหาคนอื่นๆได้อีกด้วย แม้แต่ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่เสนอให้มีการนิรโทษกรรมเหตุการณ์ 6 ตุลา จะเป็นไปได้จริงก็ต้องมีเหตุการณ์ “ระดับปาฏิหาริย์” เท่านั้น แต่ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์นั้นต้อง “ยิ่งกว่าปาฏิหาริย์”

ดังนั้น ความเห็นของนายสมศักดิ์ที่ระบุว่า การรณรงค์ของคณะนิติราษฎร์จะได้รับความสนใจอย่างมาก แต่ในที่สุดก็จะไม่ได้อะไรเลย และเสนอว่าควรรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอ “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทั่วไป” ซึ่งก็สอดคล้องกับท่าทีของรัฐบาล โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนเดินทางไปเยือนอินเดียว่า รัฐบาลจะไม่แก้ไขมาตรา 112 ทั้งยังระบุว่าไม่ควรดึงสถาบันมายุ่งเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และทุกฝ่ายควรร่วมกันปกป้อง เช่นเดียวกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันว่าหากใครคิดแก้มาตรา 112 จะคัดค้านเต็มที่ อย่าดึงทหารยุ่งการเมือง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นมาตรา 112 ถือเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองมากกว่าการเคลื่อนไหวร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่หลายฝ่ายกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ แต่จะเป็น “ระเบิดเวลา” หรือไม่นั้นไม่ได้อยู่ที่คณะนิติราษฎร์และฝ่ายสนับสนุนให้แก้ไขมาตรา 112 เท่านั้น แต่อยู่ที่กลุ่มที่ต่อต้านการแก้ไขมาตรา 112 ว่าจะเล่นนอกกติกาและสร้างเงื่อนไขให้เกิดความแตกแยกเหมือนก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือไม่มากกว่า อย่างที่นายสนธิประกาศชัดเจนให้ทหารล้มกระดาน อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ยอมรับว่า มีความพยายามจะดึงทหารลงมายุ่งกับการเมือง แต่ถ้าทหารทำหน้าที่ของตนเองก็ไม่มีใครดึงไปไหนได้ ทหารมีสายบังคับบัญชาที่ชัดเจน ใครเป็นผู้บังคับบัญชาก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ไม่เช่นนั้นก็รบไม่ได้ จึงต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งตนก็มีผู้บังคับบัญชา “อย่าเอาทหารไปยุ่งเสียทุกเรื่อง หรือถือเป็นเรื่องสนุก ถ้าเอาทหารไปยุ่งทุกเรื่องก็ยุ่งทุกเรื่อง ไม่เป็นผลดีกับกองทัพ และไม่เป็นผลดีกับตัวผม”

ส่วนการแก้ไขมาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์นั้น พล.อ.ประยุทธ์ให้ความเห็นกว้างๆว่า เป็นเรื่องของกระบวนการ และเจ้าหน้าที่ต้องดูว่าหากผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการ เพราะปัจจุบันมีกฎหมายที่คาบเกี่ยวกับศีลธรรมอันดีของคนไทย เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อีกทั้งมีคณะกรรมการเฝ้าจับตาดูอยู่แล้ว ส่วน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ ซึ่งเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 10 (ตท.10) รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งถูกปล่อยข่าวว่าอาจเข้ามาเพื่อรื้อใหญ่ในกองทัพนั้น ยืนยันว่าไม่มีและไม่ต้องหวาดระแวงหรือกลัวอะไร โดยเฉพาะข่าวการย้าย พล.อ.ประยุทธ์เพื่อถอดสลักการปฏิวัติรัฐประหารนั้นไม่มีแน่นอน ซึ่งถ้าสื่อไม่พูด ไม่ถาม บรรยากาศก็จะดีขึ้น

“ถ้าปฏิวัติเพราะเรื่องหมิ่นสถาบัน ผมว่าไม่น่าจะใช่เหตุผลนะ แต่ผมขอร้องให้
เลิกพูดเรื่องปฏิวัติอีก ไม่มีใครอยากทำ ผมเป็นทหาร แม้ไม่ใช่ ทบ. แต่ก็รู้ว่าไม่มีใครอยากทำ ไม่ใช่เรื่องดี มีประ-สบการณ์มาแล้วทั้งนั้น” พล.อ.อ.สุกำพลกล่าว พ.ร.บ.กลาโหมไม่ชอบธรรม ขณะที่ความเห็นของ พล.อ.อำนวย ถิระชุณหะ สมาชิกพรรคเพื่อไทยและนายทหาร ตท.10 ไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขมาตรา 112 เพราะล่อแหลมและจะทำให้เกิดความวุ่นวาย กลายเป็นเหยื่อในการปลุกระดม แต่ต้องแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา คือคนที่เอาพระราชอำนาจไปกลั่นแกล้งทำลายผู้อื่น เพราะฉะนั้นต้องออกกฎหมายการแจ้งเท็จ ฟ้องเท็จเรื่องนี้ ถ้าไม่มีหลักฐานต้องลงโทษให้หนัก หรือจับไปขังเป็นปีเพียงกล่าวหาว่าล้มเจ้าก็ไม่มีความยุติธรรม

แต่ที่น่าสนใจคือ พล.อ.อำนวยกลับเห็นด้วยที่จะแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เพราะเห็นว่าไม่ได้มาจากสภาของประ-ชาชน จึงไม่ชอบธรรม หากสมัยโบราณกฎหมายฉบับนี้ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม ต้องลงโทษตัดหัวเจ็ดชั่วโคตร เพราะเท่ากับไปหลอกเบื้องสูง เอาไปทูลเกล้าฯให้ทรงลงพระปรมาภิไธย เพราะกองทัพกินเงินเดือนจากภาษีของประชาชน ไม่ใช่ “กองโจร” ที่ไร้ขื่อแป ไร้กฎระเบียบ พล.อ.อำนวยมั่นใจว่าขณะนี้ทหารไม่กล้าปฏิวัติรัฐประหารแน่ ถ้าจะล้มรัฐบาลก็ต้องมาจากองค์กรอิสระแบบนิ่มๆ ถ้าล้มด้วยกำลัง แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์เองก็ไม่แน่ใจว่าจะมีเอก-ภาพในการบังคับบัญชาหรือไม่ เพราะไม่ได้มีแค่เตรียมทหารรุ่น 12 แต่ยังมีรุ่นอื่นอีก “กองทัพเหมือนม้า อยู่ที่จ๊อกกี้จะพาไปทางไหน คราวที่แล้วจ๊อกกี้บอกให้กองทัพปฏิวัติก็ปฏิวัติ ลำพังม้าเองไม่กล้า อยู่ที่จ๊อกกี้” พล.อ. อำนวยกล่าว กลียุคและหายนะ!

แต่การเมืองไทยไม่เคยมีอะไรแน่นอน ไม่ใช่เพราะนักการเมืองพร้อมจะเปลี่ยนพรรค เปลี่ยนอุดมการณ์ตามผลประโยชน์เท่านั้น แต่การรัฐประหารที่อ้างทุกครั้งว่าเพราะนักการเมืองทุจริตคอร์รัปชันและปกป้องสถาบันนั้น กลุ่มที่ทำรัฐประหารกลับทุจริตคอร์รัปชันเสียเอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้งบประมาณลับมหาศาลที่ไม่เคยมีการตรวจสอบได้เลย ขณะเดียวกันยังแต่งตั้งพวกพ้องเข้ามาดูแลผลประโยชน์ต่างๆอีกด้วย นอกจากนี้การทำรัฐประหารส่วนใหญ่เกิดจากความขัดแย้งภายในกองทัพ โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายซึ่งกระทบต่อผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจเดิม อย่างการโค่นล้มรัฐบาลทักษิณถือเป็นบทเรียนให้เห็นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการดึง “สถาบันเบื้องสูง” มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยการพยายามบิดเบือนข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ว่าเป็น “ขบวนการล้มเจ้า” หรือรับจ้าง พ.ต.ท.ทักษิณ แทนที่จะใช้หลักการทางวิชาการต่อสู้กันในเวทีสาธารณะหรือตามกระบวนการในรัฐสภา แต่กลับ “ปลุกผีปฏิวัติรัฐประหาร” หากเป็นจริงก็มีแต่ทำ ให้บ้านเมืองเกิดกลียุคลุกเป็นไฟและหายนะยิ่งกว่าที่ผ่านมาแน่นอน

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วรเจตน์-ปิยบุตรนิติราษฎร์นัดหารือประเมินสถานการณ์ !!?

แกนนำนิติราษฎร์แฉมีอีเมล์จากทหารสังกัด พล.1 รอ. ข่มขู่ให้หยุดเคลื่อนไหว อ้างคนในกองทัพเริ่มทนไม่ไหวแต่ยังไม่ปักใจเชื่อเป็นทหารจริงหรือไม่ เผย “วรเจตน์-ปิยบุตร” ถูกคุกคามหนักถึงขนาดขู่เอาชีวิต ผิดหวังสังคมไทยยังไม่พร้อมเปิดรับฟังความเห็นเพื่อแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาธิปไตย ยืนยันไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝง นำเสนอทุกอย่างตามหลักวิชาการ หากประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยถือว่าจบ อยากให้คนถืออาวุธทุกกลุ่มอดทนฟังอย่างสันติ

เตรียมนัดสมาชิกหารือในสัปดาห์นี้เพื่อประเมินสถานการณ์และทบทวนท่าทีการเคลื่อนไหว หลังจากที่คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จนนำไปสู่การรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 ชื่อ ของคณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 (ครก.112) เพื่อผลักดันร่างกฎหมายนี้เข้าสู่สภาภายในเวลา 112 วัน รวมทั้งข้อเสนอการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาล กองทัพ และสถาบันทางด้านการเมือง จนเกิดกระแสคัดค้านจากหลายฝ่าย ทั้งจากกองทัพ ฝ่ายการเมือง รวมถึงภาคประชาชนบางกลุ่ม ล่าสุดมีผู้อ้างว่าเป็นทหารจาก พล.1 รอ. ส่งข้อความข่มขู่เข้ามาในอีเมล์ของคณะนิติราษฎร์ระบุว่าสายทหารเริ่มทนไม่ไหวแล้ว ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในแกนนำนิติราษฎร์ เปิดเผยว่า ทางกลุ่มยังไม่แน่ใจว่าผู้เขียนอีเมล์ที่ส่งมาเป็นทหารจริงหรือไม่ และข้อมูลที่ให้มาเป็นจริงหรือไม่ “ถ้าเป็นทหารจริงและมีแนวคิดอย่างนี้เกิดขึ้นในค่ายทหารจริง อยากชี้แจงว่าคณะนิติราษฎร์เป็นนักวิชาการ เสนอความเห็นตามหลักวิชาการที่ถูกต้องทั้งในหลักสากลและหลักวิชาการที่ศึกษามา เมื่อเห็นว่าอะไรที่ถูกต้องสำหรับสังคมไทยก็เสนอออกมา ทหารหรือกลุ่มใดก็ตามที่มีอาวุธอยากขอให้อดทนฟังความเห็นของเราแบบเป็นพี่น้องกันในสังคม” ผศ.ดร.จันทจิรากล่าวและว่า ข้อเสนอของเราเป็นเพียงความเห็นหนึ่ง

หากประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยก็ถือว่าจบ ไม่มีผลอะไรต่อความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงของสถาบันใด อย่างไรก็ตาม การมีอีเมล์นี้เข้ามาเราถือว่ามีคนที่มีไมตรีจิตกับเราเตือนมาด้วยความหวังดี ผศ.ดร.จันทจิรากล่าวอีกว่า สมาชิกนิติราษฎร์ไม่มีใครหวาดกลัวกับการข่มขู่ แต่ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล จะเจอหนักกว่าคนอื่นๆ ต้องไปถามทั้ง 2 ท่านว่ากลัวหรือไม่ เพราะมีถึงขู่เอาชีวิต เราไม่ได้ท้าทายแต่ตั้งใจจะแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย “เราเศร้าใจกับการข่มขู่ เพราะสิ่งที่เราเชื่อว่าสังคมไทยพร้อมแล้วที่จะเดินหน้าไปอย่างสงบสันติ เป็นสังคมที่เปิดกว้างให้ทุกคนทุกฝ่ายมาร่วมกันแสดงความเห็นไม่ใช่เรื่องจริง

แต่ก็ยังเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่จะสามารถเลือกสิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยตัวเอง” ผศ.ดร.จันทจิรากล่าวและว่า ในสัปดาห์นี้สมาชิกในกลุ่มได้นัดหารือเพื่อประเมินสถานการณ์และท่าทีของตัวเองว่าจะขับเคลื่อนอย่างไรต่อไป นิติราษฎร์ได้ออกประกาศถึงประชาชนผ่านเว็บไซต์เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า คำวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายไม่เห็นด้วยจำนวนมากไม่ได้ตั้งอยู่บนเนื้อหาและหลักวิชาการ แต่มุ่งโจมตีและกล่าวหาตัวบุคคลโดยไร้เหตุผลและพยานหลักฐาน หลายกรณีมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงและหลักกฎหมาย จนอาจทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อน นิติราษฎร์

ขอแจ้งให้ประชาชนที่เห็นด้วยกับข้อเสนอทราบ และสบายใจว่าข้อเสนอทุกข้อของนิติราษฎร์เป็นเรื่องที่วางอยู่บนหลักวิชาการและอำนาจตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 นั้นไม่ถือเป็นความผิดใดๆทั้งสิ้น มาตรา 112 มีสถานะเป็นเพียงบทบัญญัติแห่งกฎหมายอาญามาตราหนึ่งเท่านั้น จึงย่อมเป็นสิทธิและอำนาจโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญที่ประชาชนผู้เห็นปัญหาของมาตรานี้จะเข้าชื่อเสนอให้รัฐสภา ซึ่งเป็นเพียงตัวแทนประชาชนเจ้าของอำนาจที่แท้จริงให้ปรับปรุงแก้ไขเสีย

การรวบรวมรายชื่อจะคงดำเนินต่อไปไม่ยุติจนกว่าจะครบ 10,000 ชื่อ ตามกฎหมาย (หรือมากกว่านั้น) โดยแม่งานผู้รวบรวมคือ ครก.112 ทั้งนี้ ผู้เห็นด้วยและประสงค์ลงชื่อ สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ http://www.ccaa112.org/contact-us.html หรือทาง Facebook https://www.facebook.com/ccaa112 กรอกรายละเอียดพร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านพร้อมเซ็นรับรองสำเนา ส่งไปรษณีย์ไปที่คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ตู้ ปณ.112 ปณฝ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ 10200

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรค แถลงยืนยันว่า ไม่เคยใส่ร้ายพรรคเพื่อไทยเรื่องต้องการแก้มาตรา 112 แต่มีการแสดงออกต่างกรรมต่างวาระกันของสมาชิกพรรคในที่ต่างๆว่าต้องการแก้ไขอย่างเปิดเผย โดยเฉพาะนายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ อดีตผู้สมัคร ส.ส.สุราษฎร์ธานี (เปิดคลิปยืนยัน) “การออกมาแสดงท่าทีคัดค้านของพรรคเพื่อไทยเพื่อชิ่งหนีจากนิติราษฎร์ที่ถูกต่อต้านอย่างหนักเท่านั้น หากไม่เห็นด้วยทำไมต้องรอดูกระแสสังคมก่อน จนเห็นว่าไปไม่ได้แล้วจึงออกมาแสดงท่าที”

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยกำลังพยายามปล่อยข่าวว่ามีการลงขันกันของ 4 กลุ่มล้มรัฐบาล เพื่อกลบกระแสเรื่องแก้มาตรา 112 ที่เดินเกมพลาดจนถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากคนในสังคม นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงยืนยันว่า มีขบวนการเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลและใส่ร้ายพรรคเพื่อไทยเรื่องแก้มาตรา 112 ขอยืนยันอีกครั้งว่าพรรคไม่มีนโยบายแก้ไข ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์จะเอาผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี, น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฐานไม่ปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นสถาบันนั้น ถือเป็นการกระทำที่ไม่สร้างสรรค์และไม่ดูข้อเท็จจริง เพราะตั้งแต่รัฐบาลทำงานมา 5 เดือน ปิดเว็บเหล่านี้ไปแล้วกว่า 60,000 URL และยังคงเร่งปราบปรามอย่างต่อเนื่อง

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้ **********************************************************************

วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

ดอกไม้หลากสีที่ปลายฟางเส้นสุดท้าย !!?

ดับเครื่องชนกันทางชุดความคิด จากเฟซบุ๊กพิฆาตไปสู่การแถลงอย่างหมดเปลือกแบบสุดสะเทือนใจของนักวิชาการสายนิติราษฎร์ “วรเจตน์ ภาคีรัตน์” ถึง “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” มาตราร้อน 112 ที่ยังคงปริศนาในเครื่อง หมายคำถามว่า ความจริงแล้วแก่นแกน มันคืออะไร???

“การปฏิรูปนั้นประเทศไทยยังเป็นราชอาณาจักร ยังมีประมุขของรัฐ คือพระมหากษัตริย์ โดยจะต้องจัดวางโครง สร้างความสัมพันธ์ระหว่างประมุขของรัฐกับองค์กรผู้ใช้อำนาจอื่นๆ ให้สอดคล้องกัน โดยกำหนดให้ประมุขของรัฐ จะต้องสาบานตนว่า จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และพิทักษ์รัฐธรรมนูญก่อนเข้ารับตำแหน่ง”

ข้อเสนอของแกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลั่นดาลวาระรัฐประหาร มันได้กลายเป็นคนละเรื่องเดียวกันที่สะท้านสะเทือนไปทั้งปริมณฑลการเมืองไทยในพลันที่ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า แสดงความคิดเห็นส่วนตัวทางเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “Borwornsak Uwanno” โดยระบุถึง ข้อเสนอยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของกลุ่มนิติราษฎร์ว่า..

“ผมว่าก่อนจะแก้รัฐธรรมนูญ ตามที่พวกคุณเสนอ ควรแก้ข้อบังคับทุนอานันทมหิดลให้ผู้รับทุนสาบานว่า จะไม่เนรคุณและไม่ทรยศต่อพระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานทุนจะง่ายกว่ามั้ย ข้อเสนอผมไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญเลย.!!!”

ขยายความจากเฟซบุ๊ก “วรเจตน์ ภาคีรัตน์” เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ได้รับทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต่อจนจบการศึกษา ระดับปริญญาเอก จากประเทศเยอรมนี

“ผมเป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดล ผมจึงต้องออกมาเคลื่อนไหว สิ่งที่ผมทำอยู่ คือ การตอบแทนกตัญญูต่อผู้ที่ให้ทุนอานันทมหิดลแก่ผม ที่ผมทำทุกอย่างก็เพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมไม่รู้ว่านักเรียน คนอื่นๆ ที่ได้ทุนนี้มีจินตนาการเรื่องนี้อย่างไร แต่สำหรับผมแล้ว สิ่งที่ผมทำก็เพื่อความดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์สืบไป ผมชัดเจนเสมอว่าผมต้องการรัฐธรรมนูญ ในประเทศที่เป็นราชอาณาจักร” เสียงสะท้อนกลับจากนักเรียนทุนอานันทมหิดล ไม่ต่างจากวิวาทะทางวิชาการของนักกฎหมายระหว่างมวยเก๋ารุ่นใหญ่อย่าง “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” กับดาวโรจน์รุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง “วรเจตน์ ภาคีรัตน์”

“ปกป้อง” หรือ “ล้ม” กลายเป็นประเด็นที่สังคมกำลังตั้งคำถาม แต่เนื่องด้วย ที่ทั้ง 2 ชุดความคิด ต่างมีมวลชนสนับสนุนอยู่ไม่ใช่น้อย มันจึงกลายเป็นเงื่อน ปมว่าด้วยน้ำผึ้งหยดน้อยนิดมหาศาลนี้ จะถูกขยายความขยายผลไปสู่การฉกฉวยผลประโยชน์ทางการเมืองในอนาคตหรือไม่???

ยุคสมัยเปลี่ยนวิธีคิดเปลี่ยนจาก “ไพร่ฟ้าประชาชน” ยังถูกเบี่ยงเบนให้เป็น “ไพร่อำมาตย์” ได้???

กระนั้นหากตีความให้แตก ว่ากันให้ ตกผลึกถึงแนวความคิดของ “บวรศักดิ์” และ “วรเจตน์” หากพินิจพิเคราะห์อย่างสังเคราะห์ต่างมีข้อดีของแต่ละฝักฝ่ายอยู่ในทีแต่ด้วยมุมมองและมิติที่ต่างที่ต่างเวลากัน มันจึงสุ่มเสี่ยงยิ่งที่จะกลายเป็น ชนวนความขัดแย้ง ยิ่งในเมื่อฝ่ายที่เห็นต่าง กันต่างมีผนังทองแดงกำแพงเหล็กเป็นคู่ขัดแย้งดั้งเดิมกันอยู่แล้ว

อีกทั้งความเคลื่อน ไหวในทางการเมืองที่เหมือนดูจะเป็นน้ำนิ่ง ก็กลับเสมือน “น้ำนิ่ง” ที่กำลัง “ไหลลึก” และเหมือนจะ “WAIT & SEE” เพื่อรออะไรบางอย่าง เงื่อนไขแห่ง 2 ขั้วอำนาจ ที่กำลังเล่นเอาล่อเอาเถิดกันอยู่อย่างเงียบๆ ต้องยอมรับโดยดุษณีว่าต่างฝ่ายต่างมีตัวประกันความเสี่ยง!!!

ว่ากันว่า หากความขัดแย้งรอบนี้ ถึง จุดสุกงอม ไม่ว่าจะรัฐประหารโดยกองทัพ หรือปฏิวัติโดยภาคประชาชน ต่างบังเกิดความเสียหายไม่ต่างกัน!!! โมเดลประชาธิปไตยในทฤษฎีดอกไม้หลากสีคือสิ่งที่สวยงาม แต่สิ่งสวยงามที่คู่ขนานอยู่กับความเป็นจริงในสังคมบนฟางเส้นสุดท้าย..บางครั้งมันก็ไม่สวยสดงดงามเสมอต้นเสมอปลายตลอดไป!!!

ที่มา:สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

โพล ชี้ประชาชน 40.69% เห็นว่าปัญหายาเสพติดมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น พอใจ รบ.ทักษิณ มากสุด !!?

สวนดุสิตโพล. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 2,443 คน ระหว่างวันที่ 20 - 28 มกราคม 2555 สรุปผลได้ดังนี้
 1.ความคิดเห็นของประชาชนต่อการปราบปรามยาเสพติดที่รัฐบาลดำเนินการขณะนี้

อันดับ 1 หรือ 40.28% อยากให้รัฐบาลและจนท.ที่เกี่ยวข้องปราบปรามอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ไม่มีข้อยกเว้นหรือเลือกปฏิบัติ

อันดับ 2 หรือ 34.73% มองว่าเป็นเรื่องที่ดียาเสพติดจะได้ลดลงหรือหมดไปจากประเทศ เพราะมีแต่บ่อนทำลายชาติและเยาวชน

อันดับ 3 อยากให้มีกฎหมายหรือบทลงโทษผู้ที่กระทำผิดในเรื่องนี้ที่รุนแรงและเด็ดขาด 13.59%
อันดับ 4 เป็นการทำเพื่อสร้างผลงาน แต่ถึงอย่างไรก็คิดว่าไม่น่าจะปราบได้หมด 11.40%

2."สาเหตุ" ของการแพร่ระบาดของยาเสพติด ณ วันนี้
 อันดับ 1 หรือ 68.54% เห็นว่า เป็นการละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็รู้เห็นเป็นใจและมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

อันดับ 2 หรือ 18.23% เห็นว่าสภาพสังคม เศรษฐกิจที่เสื่อมโทรม ครอบครัวขาดการดูแลเอาใจใส่ พ่อแม่ไม่มีเวลาให้

อันดับ 3 มองว่าเป็นเรื่องของกฎหมาย บทลงโทษไม่เด็ดขาด เป็นสาเหตุให้ยาเสพติดและผู้เสพมีเพิ่มมากขึ้น 7.80%
และอันดับ 4 มากจากการถูกชักชวนจากเพื่อน อยากลอง สามารถหาซื้อได้ง่าย โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นและนักเที่ยว 5.43%

3. ประชาชนคิดว่า "แนวโน้ม" ปัญหายาเสพติดจะเป็นอย่างไร?
อันดับ 1 หรือ 40.69% เชื่อว่า มีแนวโน้มว่าจะมากขึ้น เพราะ ปัญหาสังคมที่เสื่อมถอย ความเครียด ชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบาก ทำให้มีผู้เสพมากขึ้น, มาจากความเชื่อที่ผิดของผู้เสพยังคงพบเห็นหรือได้ยินข่าวยาเสพติดอยู่บ่อยๆ ฯลฯ
อันดับ 2 เหมือนเดิม 38.73% เพราะ ไม่ว่ารัฐบาลชุดใดจะเข้ามาแก้ปัญหาหรือปราบปรามยาเสพติดก็ยังคงมีเหมือนเดิม, เป็นช่องทางที่หาเงินได้จำนวนมาก ฯลฯ
อันดับ 3 มีแนวโน้มว่าจะลดลง 20.58% เพราะ รัฐบาลมีการปราบปรามอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สามารถจับกุมผู้ค้าและยึดยาเสพติดได้จำนวนมาก ฯลฯ

4.ประชาชน "พึงพอใจ" ผลงานการปราบปรามปัญหายาเสพติดของรัฐบาลใด? มากที่สุด
อันดับ 1 หรือ 64.77% พอใจการปราบปรามของรัฐบาลทักษิณมากที่สุด เพราะ มีการปราบปรามที่เด็ดขาด เอาจริงเอาจัง, จับกุมผู้ค้ารายใหญ่ได้มาก, ปัญหายาเสพติดลดลง ฯลฯ
อันดับ 2 หรือ 19.41% พอใจการปราบปรามของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มากที่สุด เพราะ ดูจากผลงานในช่วงนี้เห็นได้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ถูกใจประชาชน ฯลฯ

อันดับ 3 พอใจการปราบปรามของรัฐบาลอภิสิทธิ์มากที่สุด 15.82% เพราะ เป็นการปราบปรามที่ยึดปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้อง ไม่ใช้ความรุนแรงในการปราบปราม ฯลฯ

ที่มา.มติชนออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

กินกัน พุงปลิ้น !!?

เรียกร้อง “คุณพี่บุญทรง เตริยาภิรมย์” รมว.พาณิชย์คนใหม่ ปราบให้สิ้น
“เขมือบตัวโต” คนโตเบิ้มแถวสอง แถวสามของ “องค์การคลังสินค้า” หรือ “อคส.”ทำงามหน้าอื้อฉาว
ร่วมมือกับพ่อค้า “เปี๊ยก ลพบุรี” จำนำข้าวช่วงน้ำท่วม หาเงินเข้ากระเป๋า
โดย “องค์การคลังสินค้า” ผู้มีอักษรนำหน้า “ส.เสือ ศ.ศาลา” นำข้าวในโกดังที่ถูกน้ำท่วม ที่ท่วมสูงระดับกระสอบที่ ๔ เทกระจาดขายในราคาถูกเหมือนให้เปล่า..และข้าวจำนวนดังกล่าว ก็มีการเล่นแร่แปรธาตุ กับ “เปี๊ยก ลพบุรี” นำกลับมาจำนำกับ “อคส.”ในราคาแพงกันใหม่
กระชุ่นไปถึงรัฐมนตรีพาณิชย์...ช่วยเกาะติด?...เอากลุ่มทุจริตติดคุกหน่อยจะได้ไหม

++++++++++++++++++++++++++++++++++

ขบวนการ “โกงชาติ”
ปล่อยให้คน “องค์การคลังสินค้า” หรือ “อคส.” บางคน? งาบกันคล่องคอไม่ได้อีกแล้ว... “ท่านบุญทรง เตริยาภิรมย์” รมว.พาณิชย์ ต้องรีบขจัด
เพราะมีการหาผลประโยชน์ ของชาติกันทุกเม็ดทุกดอก
เอา “ข้าวหลวง” ที่ถูกน้ำท่วมออกขายในราคาต่ำ..แล้วเวียนเทียนกลับมารับจำนำใหม่ งาบกันระหว่าง คนอคส.บางคน กับ “เปี๊ยก ลพบุรี” ขอบอก
ที่แสบทรวงยิ่งกว่าทิงเจอร์ผสมซีม่า...กรณีเจ้าของโกดัง ที่เข้าโครงการกับองค์การคลังสินค้าต้องจ่ายเงินกินเปล่า ๒ บาทต่อข้าว ๑ กระบอกต่อเดือน..หนำซ้ำค่าเซอร์เวย์เยอร์การตรวจสอบข้าวตามโกดังต่างๆ คิดกันเบ็ดเสร็จลูกละ ๗ บาท มีการหักเงินเข้ากระเป๋าคนหลวงอีก ลูกละ ๔ บาทขาดตัวเสร็จสรรพ
แต่ไม่มีใครจับตัวขี้โกง...เย้ยกันมานานครับ “ท่านรัฐมนตรีบุญทรง”...ลงดาบส่งพวกนี้เข้าตะรางเถิดครับ

++++++++++++++++++++++++++++

เว้นวรรคมานาน
๒๐ กว่าปีมาแล้ว ที่เสืออากาศ แห่งทุ่งดอนเมือง ไม่ได้เป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” ขอรับท่าน
จาก “พล.อ.อ.พะเนียง กานตะรัตน์” มาสู่ “บิ๊กโอ๋” พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต นานจนโลกลืม ที่ทหารอากาศขาดรัก ไม่ได้เป็น “เจ้ากระทรวงปืน”
ให้ “บิ๊กโอ๋”มาค้ำบัลลังก์ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” เพื่อต้านปฏิวัติ ในฐานะตัวยืน
อีกทั้ง ปฏิกิริยาของ “นักรบฝูงบินดอนเมือง” ดูจะเตะตัดขา “นายกฯปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างหนัก
เห็นมีแต่ “บิ๊กสุกำพล”....ที่เป็นกันชน?...เพื่อไม่ให้คนดอนเมือง เล่นใต้ดินกับ “นายกฯยิ่งลักษณ์”

+++++++++++++++++++++++++++++

นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น
เป็นเจ้าของโรงแรมห้าดาว “เพนนินซูล่า” ติดแม่น้ำเจ้าพระยา.. “เสี่ยอ๊อด”ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ก็ทำมาค้าขาย กับคนทั่วไป แหละเนื้อเย็น
ผู้นำเหล่าทัพ?...มาเสวนาสังสรรค์กัน ก็เป็นเรื่องของธุรกิจ
“เสี่ยอ๊อด” ไม่ได้ชักชวนมารวมพล เพื่อต่อต้าน ใครบางคน สักนิด
อย่าได้ผูกหรือโยงเอา “เสี่ยประดิษฐ์”..เพื่อไปชนกับคนแดนไกล ให้เสียศูนย์
สัมพันธ์ระหว่าง “เสี่ยอ๊อด”กำลังไปรอด...อย่าได้มาจอด?..เพราะถูกค่อนขอดเช่นนี้เลยนะคุณ

+++++++++++++++++++++++++++++

ผลงานเข้ม
“บิ๊กเหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้ผลงานเต็ม...เต็ม
ปราบปราบยาเสพติดได้ชะงักนักแล
ช่วยดู “พัทยา สาย ๓” เมืองชลบุรี แหล่งท่องเที่ยว สถานที่ผับ โคโยตี้ ตั้งตัวยาค้าเสพโจ๋งครึ่ม..เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่แยแส
“บิ๊กเหลิม” ช่วยจี้ “”ท่านยงยุทธ วิชัยดิษฐ์” มท.๑ สั่งการถึง “ท่านคมสันต์ เอกชัย” ผู้ว่าฯชลบุรี ช่วยปราบยาเสพติดที่เกลื่อน “พัทยา สาย ๓” อย่าได้ทำลายลูกหลานให้เสียอนาคต
“ท่านเฉลิม”ลงมือปราบ...รับประกันว่ากำหลาบ....ปราบยาเสพติดพวกนี้ได้หมด


ที่มา:คอลัมน์ ตอดนิดตอดหน่อย,บางกอกทูเดย์
xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สงครามนักวิชาการ บนความแตกต่างทางความคิด'กฎหมายอาญา ม.112 !!?

เป็นเวลากว่า 3 ปี ที่นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เงียบหายหน้าหายตาไปจากแวดวงการเมืองไทย สืบเนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ จนต้องหยุดการให้คำจำกัดความรัฐบาล และตัวนายกรัฐมนตรีที่สะท้อนการบริหารงานของรัฐบาลในช่วงเวลานั้น ได้อย่างดุเด็ด เผ็ด มัน ของบรรดาคอการเมือง จนถือเป็นเครื่องหมายทางการค้าของชายผู้นี้ไปแล้ว ขณะการกลับเข้ามาสู่แวดวงทางการเมืองอีกครั้งในการกล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมใหญ่เครือข่ายธุรกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา

ถือได้ว่าเป็นการเรียกน้ำย่อยและสร้างสีสันให้กับการเมืองไทยในระดับหนึ่ง ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ กรณีกลุ่มนิติราษฎร์ เรียกร้องให้แก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดย นายธีรยุทธ มองว่าเป็นความขัดแย้งของรากหญ้ากับรากความคิดของสังคมไทย รากหญ้าคือคนเสื้อแดง ชื่นชมความคิดประชานิยม อยากเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อีกฝ่ายชื่นชมสถาบัน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และไม่ใช่เรื่องมาพูดว่าอีกฝ่ายจงรักภักดี อีกฝ่ายไม่จงรักภักดี ตนมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่อยากให้แง่คิดว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนความคิดที่ขัดแย้ง และความเชื่อดั้งเดิมของสังคมไทย เพราะฉะนั้นมันสามารถเคลื่อนตัวไปสู่ปัญหาที่มากกว่าความรุนแรง มันใหญ่มาก มหาศาลมาก ทั้งยังเสนอแนวทางลดสองมาตรฐาน ต้องดำเนินคดีพวกเผาราชประสงค์-ปิดสนามบิน

ธีรยุทธ บุญมี

“ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้กว้างมาก ลึกมาก ซึ่งทางออกผมจะไม่เสนอประนีประนอม สมานฉันท์ แต่ต้องอาศัยกระบวนการคลี่คลายเป็นช่วงๆ จุดเริ่มต้นที่ดีที่น่าจะเกิด คือต้องมองปัญหาแบบที่เป็นจริงและตัดอคติของตัวเองทั้งหมด เคยเกลียดชัง ไม่เห็นด้วย หรือชื่นชมศรัทธาเชื่อถือมากก็ต้องลด ถ้าศึกษาเข้าใจปัญหาจริงๆ อาจจะช่วยเปิดทางให้มองเห็นว่าควรจะทำอะไร” นายธีรยุทธ กล่าว

นายธีรยุทธ ยังกล่าวต่ออีกว่า ส่วนเรื่องการแก้ปัญหาอุทกภัยใหญ่ของรัฐบาลที่ผ่านมา ส่วนตัวสุดอับอายแก้ปัญหาน้ำท่วมเหลว ส่อถึงระบบความขัดแย้งในสังคมไทย

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นี่ยังเป็นแค่ออเดิร์ฟของนายธีรยุทธเท่านั้น ของจริง รัฐบาลปู น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย จะต้องเจอแน่ ตามที่นายธีรยุทธทิ้งท้าย ประมาณปลายเดือน ก.พ.ที่จะถึงนี้ จะออกมาออกมาวิพากษ์การเมืองอีกครั้ง ส่วนจะทำให้สังคมไทยที่ติดตามการเมืองถึงกับได้ซู๊ดปากหรือไม่ หรือกลายเป็นไม่มีอะไรในก่อไผ่ เดี๋ยวคงได้ทราบ นายธีรยุทธจะเป็นผู้ให้คำตอบ

โภคิน พลกุล

ขณะที่ นายโภคิน พลกุล อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และ อดีต 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย กล่าวเช่นกัน ส่วนตัวคงไม่อยากกล่าวให้ความเห็นข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์โดยเฉพาะกรณีเสนอให้แก้มาตรา 112 แต่ส่วนตัวยังสนับสนุนแนวทางการสร้างความสมานฉันท์ ปรองดอง ไม่ใช่มุ่งแต่เอาชนะคะคานไม่ยอมแพ้กัน ต้องมาพิจารณาว่าสิ่งนั้นที่ทำเหมาะสมหรือไม่ ถ้าไม่ก็ถอยออกจากสิ่งนั้น ที่ผ่านมาแล้วก็ให้มันผ่านไป ควรต้องกลับมาร่วมกันคิดว่าต้องร่วมกันนับ 1 หรือไม่ ถ้ายังไม่ยอมจะจองเวรกันท่าเดียว มันก็ไม่มีทางยุติได้ ดังนั้นควรหันหน้าเข้าหากัน แล้วระบบกฎหมายก็มีระบบปกติของมัน ก็ควรนำไปใช้เป็นไปตามครรลอง แทนที่จะมาใช้ระบบพิเศษ อย่างที่ผ่านมา เพื่อมาจัดการกับตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ซึ่งความจริงมันไม่ถูกหลักนิติรัฐ นิติธรรมด้วยซ้ำ ทำไมต้องนำระบบที่คิดขึ้นมาเป็นพิเศษใช้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ คนเดียว หากใช้ระบบปกติดำเนินการ เรื่องมันก็จบ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำผิดตรงไหนก็ว่ากันไปเป็นเรื่องๆ ผมเห็นว่าต้องเดินมาแนวทางนี้เท่านั้น คือต้องยอมถอยและให้อภัยซึ่งกันและกัน เรื่องมันถึงจะจบ ใช่ ถึงแม้จะมีบางเรื่องที่ยังเป็นอารมณ์ค้างกันอยู่บ้าง แต่ก็ควรหันหน้าเข้าหา พูดคุยปรับความเข้าใจกัน

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ส่วนที่มีนักวิชาการบางกลุ่มอย่างกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ออกมาเสนอความเห็นทางการเมืองชี้ว่า ปัจจุบันเผด็จการทหารมันล้าสมัย ใช้ไม่ได้ในโลกปัจจุบันแล้ว ประชาชนคนไทยไม่ต้องกลัว แต่ที่น่ากลัวกว่า คือระบบเผด็จการนายทุนนั้น นายโภคิน กล่าวว่า ต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ก่อน ว่าระบบประชาธิปไตยที่ใช้กันอยู่ในโลกนี้มันเป็นแนวทางของทุนนิยมหรือไม่ แม้ปัจจุบัน จีนยังเป็นทุนนิยมเลย ถ้าต้องการให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย มันหนีออกจากระบบทุนนิยมไม่ได้หรอก หรือจะเอาแบบประเทศเกาหลีเหนือ ซึ่งคนในประเทศก็ไม่เอาด้วยแน่ แล้วต้องสังเกตว่าหากระบบนี้ไม่ดี แล้วประเทศที่เจริญแล้ว อย่าง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ก็เดินในแนวทางนี้ทั้งสิ้น ต้องถามกลุ่มนักวิชาการที่เสนอเช่นนี้ว่า ถ้าไม่เอาระบบนี้แล้วจะให้เดินไปในแนวทางไหน ดังนั้นเราต้องรับกับมันให้ได้ ยอมรับว่าระบบมันก็มีจุดดี-จุดด้อย เป็นธรรมดา มันไม่ดีตรงไหนก็ต้องปรับปรุง แต่จะหนีจากระบบทุนนิยมไม่ได้ ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่พูดให้นายทุน เพราะไม่ใช่กลุ่มทุนหรือนายทุนนั้นดีทุกคน ถ้าส่วนไหนเราก็มาช่วยกันบอกให้ปรับปรุงและแก้ไขอย่างนี้ไม่ได้กว่าหรือ ทำอย่างไรให้นายทุนไม่เอาเปรียบพี่น้องประชาชน หรือไม่ให้เจ้าหนี้ขูดรีดหรือเอาเปรียบลูกหนี้ และทำให้ประชาชนทุกคนมีงานทำ มีรายได้ ร่วมกันพัฒนาประเทศ

นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เกี่ยวกับมุมมองความขัดแย้งของกลุ่มนักวิชาการ ทั้ง 2 ฝ่าย ที่มีต่อกรณีการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่อยู่ในสังคมขณะนี้ว่า การโต้เถียงกันแบบนี้ฝ่ายที่เสนอก็มีเหตุผลของเค้า ส่วนสุดท้าย ถูกหรือผิด จะเป็นอย่างไร สังคมก็จะเป็นผู้ตัดสินเอง ฝ่ายเสนอข้อมูลสามารถนำเสนอได้ไม่แปลกอะไร

ส่วนตัวมีมุมมอง เห็นว่าที่เกิดการโต้เถียงขึ้นในสังคม ประชาชนและสังคมไทยได้มากกว่าการที่มาบอกว่าอย่ามาโต้เถียงกัน เพราะจะได้ทราบถึงข้อมูล ข้อเท็จจริงทั้งหมด เพราะถ้าสังเกตดีๆที่ผ่านมามีโฆษกสถานีโทรทัศน์บางช่องยังไม่เข้าใจความหมายของกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีการไประบุว่า เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป ซึ่งเห็นชัดว่ายังมีความเข้าใจผิด แต่ในความคิดของผม สังคมไทยควรต้องลองมาหัดเถียงกันดูบ้าง เพราะมวลชนจะได้เกิดการเรียนรู้ ไม่ใช่คิดเพียงแต่ว่า เถียงกันได้เฉพาะผู้รู้ หรือกลุ่มนักวิชาการ แล้วประชาชนอีกกว่า 60 ล้านคนล่ะ ไม่สามารถเรียนรู้ หรือเถียงกัน หรือมีความคิดได้หรือ เพราะจะอย่างไรสุดท้ายสังคมไทยและประชาชนทุกคนก็จะต้องเป็นผู้ตัดสินใจอยู่แล้ว ส่วนการเห็นขัดแย้งกัน อาจเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรงในประเทศขึ้นมาอีกหรือไม่ อันนี้คงไม่มีใครระบุได้

นายคมสัน โพธิ์คง กล่าว กรณีเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า การที่มีกลุ่มนักวิชาการออกมาปะทะกันทางแนวความคิดเห็นการแก้กฎหมายอาญา ม.112 ให้สังคมได้รับรู้ เป็นการถูกต้องแล้ว เพราะที่ผ่านมา นิติราษฎร์เสนออยู่ในมุมมองเดียว การที่ประชาชนในสังคม ได้ฟังจากทั้ง 2 ฝ่าย จะได้ตัดสินใจได้ถูก ไม่น่าเป็นปัญหา ส่วนที่เกรงกันว่า หากปล่อยให้ทั้ง 2 ฝ่าย เสนอแนวคิดตัวเอง ทั้งที่สนับสนุนและคัดค้านกันต่อไป อาจทำให้เกิดความรุนแรงจากการปะทะกันได้นั้น คงต้องขึ้นอยู่ที่สติของมวลชน

เฉลิม อยู่บำรุง
ส่วนกรณีที่เหมือนว่าตอนแรก รัฐบาลชุดดังกล่าวออกแนวสนับสนุนกลุ่มนิติราษฎร์ให้ออกมาเสนอความเห็น แล้วมาช่วงหลัง ผู้นำรัฐบาลอย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี รวมไปถึง ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง และนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ถึงค่อยออกมาชี้แจงว่า รัฐบาลไม่มีแนวความคิดแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น ส่วนตัวก็เห็นว่าไม่มีอะไร เพียงแต่ว่าสิ่งที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอ มันกลายเป็นเผือกร้อนของรัฐบาล เพราะกระแสการคัดค้านรุนแรง แล้วธรรมชาตินักการเมืองห่วงฐานเสียง กลัวเสียคะแนนเสียง สุดท้ายก็เลยต้องมารีบกลับลำก็เท่านั้น


ที่มา: ไทยรัฐ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555

เปิดความคิด:รัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ !!?

ฟังความคิดกลุ่มนิติราษฎร์ กับข้อเสนอ"รัฐธรรมนูญ"ตั้งกก.25 คนเพื่อยกร่างมีชื่อว่า'คณะจัดทำรัฐธรรมนูญนิติรัฐและประชาธิปไตย'

ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวขบวนคณะนิติราษฎร์ เปิดแนวคิด'รัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์' ที่จะยกร่างขึ้นมาใหม่ หลังประเมินว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ก่อปัญหาทางสังคม การเมือง

ข้อเสนอของนิติราษฎร์ จะไม่มีการแก้ไข แต่จะยกร่างขึ้นมาใหญ่และให้ประชาชนลงประชามติ และมีทางเลือกว่าจะเลือกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หรือรับร่างของ นิติราษฎร์ ซึ่งผิดจากประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุว่าหากไม่ลงมติเห็นชอบ ก็แล้วแต่ครม.และคมช.จะหยิบฉบับใด ฉบับหนึ่ง"

เปิดทางตั้งองค์กรใหม่ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญมีชื่อว่า"คณะจัดทำรัฐธรรมนูญนิติรัฐและประชาธิปไตย"โดยมีกรรมการ 25 ท่าน ซึ่งที่มา ให้ส.ส.เลือก 20 คน ส่วนวุฒิเลือก 5 คน

โดยในส่วน ส.ส. ให้สัดส่วนตามโควต้าพรรคการเมือง โดยใครมีส.ส.มากได้โควต้าตัวแทนเข้ามามากกว่า ทั้งนี้คาดว่าจะได้รัฐธรรมนูญไม่เกิน 9เดือน



ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

คอป.ชี้ทิศ เยียวยา ม.112 ขยับอย่างไรไม่ให้แตกแยก !!?


โดย:ปกรณ์ พึ่งเนตร

"กิตติพงษ์ กิตยารักษ์" ห่วงปมแก้มาตรา 112 และการเยียวยาแบบ "ความยุติธรรมของผู้ชนะ" ทำลายบรรยากาศปรองดอง เสนอสูตรเดินหน้าแบบไม่แตกแยก

นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมจากประเด็นการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง และการรณรงค์ให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า การเยียวยาผู้สูญเสียหรือผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง จริงๆ แล้วไม่ได้แก้ปัญหาโดยตัวของมันเอง แต่เป็นบริบทหนึ่งของกระบวนการสร้างความปรองดอง ทั้งนี้ หากพิจารณาในภาพใหญ่ของการสร้างความปรองดองหลังความขัดแย้ง จะพบว่ามี 4 เรื่องสำคัญที่ต้องเร่งทำ คือ

1.ทุกฝ่ายต้องมีความต้องการที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งไปสู่การปรองดอง ซึ่งจุดนี้ประเทศไทยแตกต่างจากประเทศอื่นทั่วโลก เนื่องจากสังคมไทยยังอยู่ในความขัดแย้ง จึงต้องสร้างบรรยากาศให้ทุกฝ่ายต้องการก้าวข้ามความขัดแย้งให้ได้ก่อน

2.ต้องทำความเข้าใจรากเหง้าของปัญหาและข้อเท็จจริง ซึ่งก็คือกระบวนการตรวจสอบและค้นหาความจริง

3.การเยียวยา เพราะแม้จะพยายามก้าวข้ามความขัดแย้ง แต่ก็ยังมีผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งจำนวนมาก การเยียวยาจะช่วยในแง่ของการบรรเทาความคับแค้นใจของผู้สูญเสียและลดการตอบโต้ด้วยความรุนแรง

4.ใช้มาตรการที่เหมาะสมและมีความยืดหยุ่นเพียงพอในการจัดการความขัดแย้ง เช่น กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เป็นต้น

"ฉะนั้นหากข้อ 1 ไม่เกิดก็ต้องระวัง เพราะอาจทำให้เกิดบรรยากาศของการไม่ปรองดอง โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายผู้ชนะใช้โอกาสของการชนะทำให้อีกฝ่ายได้รับผลกระทบ หรือที่เรียกว่า victor justice หรือความยุติธรรมของผู้ชนะ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ทำเรื่องเยียวยาต้องเข้าใจความรู้สึกในเรื่องแบบนี้ด้วย คือระมัดระวังที่จะไปกระทบอีกฝ่ายหนึ่งจนเสียบรรยากาศการปรองดองไป"

อย่าทำให้รู้สึกฝ่ายเดียวได้ประโยชน์

นายกิตติพงษ์ กล่าวต่อว่า จริงๆ แล้ว คอป.ไม่ได้เสนอตัวเลขเงินเยียวยาและวิธีการจ่ายเงิน แต่ได้เสนอแนวคิดและหลักการในทางทฤษฎีเท่านั้น ซึ่งประเด็นที่ผู้กำหนดนโยบายต้องทำก็คือ

1.อธิบายให้ได้ว่าที่มาของตัวเลขเงินเยียวยาที่ประกาศออกมาคิดจากฐานอะไร

2.จำแนกประเภทผู้ที่ได้รับประโยชน์ เพื่อให้การเยียวยาเป็นไปอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และไม่นำกรณีที่ยังไม่มีความชัดเจนมารับประโยชน์ด้วย เช่น คนที่ถูกกล่าวหาว่าวางระเบิดและมีหลักฐานชัดเจนพอสมควร เพราะจะทำให้ถูกต่อต้านจากอีกฝ่าย

3.การเยียวยาต้องทั่วถึง ครอบคลุมทุกฝ่ายอย่างแท้จริง เช่น พิจารณาไปถึงร้านค้าที่ต้องขาดรายได้จากการชุมนุมด้วย เป็นต้น

"นี่คือแนวคิดทฤษฎีที่เราเสนอไป แต่ คอป.ไม่ได้ลงรายละเอียดไปที่จำนวนตัวเลข หรือจำแนกว่าต้องเยียวยาใครบ้าง ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ ปคอป. (คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของ คอป.) ที่ต้องอธิบายที่มาของตัวเลข และยึดหลักการทั่วถึง เป็นธรรม ชัดเจน มิฉะนั้นจะทำลายบรรยากาศการปรองดอง โดยเฉพาะการทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีผู้ได้รับประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว" กรรมการ คอป. กล่าว

นายกิตติพงษ์ กล่าวต่อว่า ช่วงที่ผ่านมา คอป.ได้เดินสายพบปะบุคคลสำคัญฝ่ายต่างๆ ทั้งผู้นำฝ่ายค้าน ผู้นำทางทหาร และอื่นๆ เพื่อจัดลำดับความคิดในการก้าวเดินต่อไปว่า คอป.ควรทำอะไรบ้าง แต่สิ่งที่ให้ความสำคัญมากที่สุดคือบรรยากาศการปรองดอง เพราะหากไม่เกิดขึ้นหรือประชาชนไม่รู้สึกถึงบรรยากาศปรองดอง ความหวาดระแวงก็จะเกิดขึ้นแทน และไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งตามทฤษฎี แต่จะนำไปสู่ความแตกแยกมากกว่าเดิม

แก้ ม. 112 ทำแตกแยกมากกว่าปรองดอง

ส่วนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น นายกิตติพงษ์ กล่าวในฐานะปลัดกระทรวงยุติธรรมว่า แม้จะมีเหตุผลทางวิชาการหลายประเด็น เช่น โทษขั้นต่ำสูงเกินไป ไม่ควรมีอัตราโทษขั้นต่ำ หรือปรับปรุงกระบวนการดำเนินคดีให้ชัดเจน แต่การหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดในช่วงที่ความขัดแย้งยังมีสูง ไม่มีใครฟังใคร ย่อมก่อให้เกิดความแตกแยกมากกว่าปรองดอง

"สิ่งที่ควรทำมากที่สุดคือปรับกระบวนการบังคับใช้ให้เหมาะสม ทำให้กระบวนการดำเนินคดีของตำรวจและอัยการมีเอกภาพ ลดผลกระทบที่จะเกิดกับผู้เกี่ยวข้องให้มากที่สุด เพราะที่ผ่านมามีปัญหาคือผู้เสียหายหรืออ้างว่าตัวเองเสียหายสามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ทุกโรงพักทั่วประเทศ เมื่อรับคดีมาแล้วทั้งตำรวจและอัยการก็มักไม่ค่อยกล้าใช้ดุลพินิจ เนื่องจากเกรงจะถูกมองว่าไม่จงรักภักดี"

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น นายกิตติพงษ์ เสนอว่า 1.ต้องพยายามปรับระบบการดำเนินคดี ให้ตำรวจและอัยการในส่วนกลางร่วมกลั่นกรอง

2.กำหนดประเภทคดีจากเบาไปหาหนัก เช่น ถ้าเป็นการกระทำลักษณะเครือข่าย เป็นขบวนการล้มล้างสถาบัน อย่างนี้ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด เด็ดขาด แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือได้ข้อมูลไม่ถูกต้องจากความขัดแย้งทางการเมือง หรือเป็นนักวิชาการต่างชาติ เป็นสื่อมวลชนต่างประเทศ กลุ่มนี้ควรใช้วิธีการอื่นตามความเหมาะสม

3.ให้ทุกกลุ่มการเมืองเทิดทูนสถาบันให้อยู่เหนือความขัดแย้ง งดเว้นการพูดพาดพิงถึง ก็จะสามารถลดปัญหาลงไปได้ระดับหนึ่ง

"หน่วยงานสำคัญในการแก้ปัญหานี้คืออัยการ เพราะมีดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องคดีได้ โดยใช้ช่องทางคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ฉะนั้นถ้ามีกรอบที่เหมาะสม เช่น สำหรับกลุ่มที่เข้าใจผิด ได้ข้อมูลผิด หรือเป็นสื่อมวลชนต่างประเทศ ก็อาจมีกระบวนการทำความเข้าใจ ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ก่อนจะสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด"

แนะตั้ง กก.กลางกรองดำเนินคดีหมิ่นฯ

ส่วนบทบาทของคณะกรรมการที่ปรึกษาการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า ตั้งขึ้นในรัฐบาลชุดที่แล้ว แม้ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนหรือสั่งคดี แต่เนื่องจากองค์ประกอบของคณะกรรมการเป็นข้าราชการระดับสูง มีที่มาจากทุกมิติ ทั้งฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายต่างประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิที่จะชั่งน้ำหนักผลกระทบระหว่างการฟ้องกับไม่ฟ้องคดี อย่างไหนจะเป็นประโยชน์ต่อสถาบันและสาธารณชนมากกว่ากัน จึงถือว่าเป็นหลังพิงให้อัยการในการใช้ดุลพินิจได้มากทีเดียว

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่สังคมมีความขัดแย้งมากขึ้น และปัญหาซับซ้อนขึ้น คณะกรรมการจึงลดบทบาทลงไป ฉะนั้นหากรัฐบาลจะมีการปรับปรุงกลไกให้เหมาะสมเพื่อให้ตำรวจ อัยการ ทำงานได้ง่ายขึ้น กล้าใช้ดุลพินิจมากขึ้น ก็อาจตั้งคณะกรรมการลักษณะคล้ายคลึงกันขึ้นมาก็ได้ ส่วนเรื่องในระยะยาว เช่น วิธีการริเริ่มคดี บทกำหนดโทษ หรือการวางหลักประกันไม่ให้กฎหมายถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ก็ต้องทำการศึกษาวิจัยอย่างรอบคอบต่อไป

"การแก้มาตรา 112 ต้องศึกษาอย่างรอบคอบรอบด้าน มิฉะนั้นจะกลายเป็นความเห็นที่ไม่ลงรอยกันของคนในสังคม และนำไปสู่การทะเลาะกันมากกว่าปรองดอง" นายกิตติพงษ์ กล่าว

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

โมเดลแก้กรรม ฉบับนิติราษฎร์ !!?

นับได้ว่าก่อแรงกระเพื่อมในวงกว้าง หลังจากซีกนักวิชาการและภาคพลเมืองบางส่วน หยิบยกปมแก้รัฐธรรมนูญมาเป็น“ชนวนเหตุ” ที่นำไปสู่การถกเถียงกันอย่างแตกหัก โดยเฉพาะในหัวข้อ “การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์-ศาล-กองทัพ” ที่คณะนิติราษฎร์จงใจนำมาเป็นเผือกร้อนในวงอภิปราย ซึ่งเหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า..เป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศ

เริ่มจากที่นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ได้เปิดเวทีอภิปรายในหัวข้อ “ล้มล้างผลพวงรัฐประหาร-นิรโทษกรรม-ปรองดอง” เพื่อเสนอแนวทาง “แก้กรรม!” ที่เกิดขึ้นหลัง 19 กันยายน 2549 ให้หมดสิ้น รวมไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่ยึดโยงกับการรัฐประหาร แน่นอนว่าไม่ลืมที่จะตั้งโต๊ะ ล่ารายชื่อประชาชนสนับสนุนการแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ว่า ด้วยการหมิ่นฯ สถาบันพระมหากษัตริย์ หัวใจหลักที่ “นิติราษฎร์” เสนอ คือ ให้มีการยกเลิกมาตรา 309 หรือ ทำให้ทุกอย่างที่เป็นการกระทำของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ถือเป็น “โมฆะ” คาดหวังให้ การเมืองย้อนกลับไปสู่โหมดก่อนการ รัฐประหาร 19 กันยาฯ

ที่น่าสนใจ เพราะว่ากลุ่มนิติราษฎร์ ได้เปิดเกมเร็ว เสนอให้ตั้งคณะกรรมการจัดทำรัฐธรรมนูญนิติรัฐและประชาธิปไตย ซึ่งมีที่มาจากสารพัดขั้วการเมือง ทั้งฝ่ายค้าน-รัฐบาล และ ส.ว. รวม 25 คน เพื่อทำหน้าที่ยกร่างกฎหมาย ซึ่งหลักการนี้ทางกลุ่มนิติราษฎร์ให้ความเชื่อมั่นว่าเป็นแนวทาง “ปลดล็อกกฎหมายแก้กรรม!”

แน่นอนว่า “โมเดลนิติราษฎร์” เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ “อุกฤษ มงคลนาวิน” ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ หรือ คอ.นธ. ที่เสนอให้ตั้งคณะ กรรมการร่าง รธน.จำนวน 35 คน โดย ผู้จะเข้ามาทำหน้าที่นี้ ให้มาจากการ “ลากตั้ง” แทนที่จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ซึ่งขัดแย้งกับแนวทางที่แกนนำ นปช. และ ส.ส.ค่าย เพื่อไทยตั้งธงไว้ก่อนหน้านี้

ด้านหัวหอกคณะนิติราษฎร์อย่าง “วรเจตน์ ภาคีรัตน์” นักวิชาการด้าน กฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุชัดว่า..ต้องรื้อทั้งฉบับ ก่อนจะมีการยกร่างใหม่! ซึ่งขั้นตอนคือ แก้ ม.291 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการกลุ่มเล็กๆ ขึ้นมายกร่าง โดยวางกรอบให้แล้ว เสร็จใน 30 วัน ก่อนชงเป็น “วาระร้อน” ในวงประชุมรัฐสภา ก่อนไปถึง ขั้นตอนการทำประชามติรับฟังความคิดเห็นประชาชน ซึ่งโมเดลนิติราษฎร์นี้ คาดว่าจะใช้เวลา 9 เดือนก่อนถึงขั้นตอน ประกาศใช้ แถมการันตีว่าวิธีนี้ถือเป็น การเชื่อมโยงกับประชาชนมากที่สุด และเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย

แกนนำนิติราษฎร์ย้ำหัวตะปูว่าที่ไม่เสนอให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.3 เพราะคิดว่าไม่ ตอบโจทย์ เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ต้องการคนที่มีความรู้ความเข้าใจกฎหมายเข้ามายกร่าง และ กระบวนการ ส.ส.ร. จะทำให้การทำรัฐธรรมนูญใหม่เกิดความล่าช้า ซึ่งแนว ทางที่เสนอไม่ได้ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่สำคัญได้มีการศึกษากระบวนการเปลี่ยนแปลงของหลายประเทศแล้วพบว่าแนวทาง ส.ส.ร.ที่พูด กันนั้นไม่มีที่ไหนใช้เลย แต่ ส.ส.ร. บ้าน เราเกิดมาจากพื้นฐานความไม่ไว้ใจ นักการเมือง กลัวว่าจะเขียนกติกาที่เป็น ประโยชน์ต่อตัวเอง จึงให้ตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่าง

แต่ประเด็นที่ทำให้ “นิติราษฎร์” กลายเป็น “หมูไม่กลัวน้ำร้อน” เพราะมีการเสนอกันแบบล่อแหลม หรือคิดกัน เฉพาะในหลักการนิติรัฐ! นั่นคือเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน ตามกรอบกฎหมายที่กำหนดให้ทุกเนื้อหา ใน รธน.ฉบับนี้ “สามารถแตะต้องได้ทุกส่วน!” จากเดิมที่มีข้อห้ามเอาไว้ โดยคณะนิติราษฎร์ได้อ้างถึงการทำให้โครง สร้างของทุกสถาบันมีความเชื่อมโยงสอดคล้องกันตามหลักการประชาธิปไตย! สถาบันกษัตริย์ รัฐ องค์กรที่ใช้ อำนาจรัฐ ประชาชนต้องมีความเชื่อมโยง ที่เหมาะสมและแบ่งแยกอำนาจที่ชัดเจน..

เอาแค่ธงในการ “ปฏิรูปสถาบัน พระมหากษัตริย์” ที่กำหนดให้“...ประมุขของรัฐ จะต้องสาบานตน ก่อนเข้ารับตำแหน่งว่า จะปฏิบัติตาม รัฐธรรมนูญและพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เฉพาะเรื่องนี้เรื่องเดียว ก็ทำให้เกิดภาวะคลื่นใต้น้ำมากมาย ทั้งในภาคการเมืองและกลุ่มมวลชนที่ออกมาโหมโรงต้านกันอย่างหนัก ยิ่งไปกว่านั้นยังมีภาวะแทรกซ้อน จากกระแสสังคมบางส่วน ได้จุดชนวนแห่งวิพากษ์ที่ว่า กรอบหลักของโมเดลนิติราษฎร์นั้น ได้ถูกทำคลอดมาเพื่อการ รื้อ-คว่ำกฎหมายล้มเจ้า! หรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ส่วนการ แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น ใช่หรือไม่?!

บริบทแห่งการแก้ รธน.ตามโมเดลนิติราษฎร์ จะสามารถแหวกฝ่า มรสุมไปได้อย่างไรนั้น คงไม่ได้สลักสำคัญเท่าใด เพราะเป็น “ทางเลือกหนึ่ง” ที่กลั่นมาจากแนวคิดของกลุ่มนักวิชาการและภาคประชาชนบางส่วนที่คิดต่างออกไป เหนืออื่นใด ก่อนจะไปนั่งถกเถียง กันใน “เนื้อหา” ว่าจะแก้ตรงไหน เวลา นี้แม้แต่คำตอบว่าใครเป็น “เจ้าภาพ” ในการแก้ รธน.ฉบับใหม่นี้ ..ตกลงกัน ได้แล้วหรือยัง!?!

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เพื่อไทย.ภาคกลางดันเฮียเพ้งหัวหน้ามุ้ง !!?

เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ร้านอาหาร แดท อิส ย่านพระราม 9 นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข แกนนำส.ส.ภาคกลาง ได้นัดส.ส.พรรคเพื่อไทย มาสังสรรค์ในโอกาสวันปีใหม่จีน หรือวันตรุษจีน มีส.ส.มาร่วมงานกว่า 70 คน ส่วนใหญ่เป็นส.ส.ภาคกลาง และอีสานบางส่วน ในขณะที่ส.ส.ภาคเหนือ และกทม.มากันประปราย โดยนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯและรมว.มหาดไทย นายศักดา คงเพชร รมช.ศึกษาธิการ นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รมช.คมนาคม นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็มาร่วมด้วย โดยแขกคนสำคัญคือนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีตรมว.คมนาคม สมาชิกบ้านเลขที่ 111 ที่ได้ถือโอกาสกล่าวกับส.ส.สั้น ๆ ว่า อยากให้รัฐมนตรีตั้งใจทำงาน เพราะไม่อยากให้มีการปรับครม.บ่อย ถ้ารัฐมนตรีชุดปัจจุบันทำงานดีแล้ว 111 ก็ไม่จำเป็นต้องกลับมา

ส.ส.ที่มาร่วมงานส่วนใหญ่ พยายามรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน โดยมอบบทบาทการนำให้กับนายพงษ์ศักดิ์ เพราะถือเป็นแกนนำระดับผู้ใหญ่ มีพาวเวอร์ที่เมื่อแสดงความเห็นแล้วพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมทั้งแกนนำสำคัญคนอื่นๆ ต้องรับฟัง

นายจักริน พัฒน์ดำรงจิตร ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนและเพื่อนส.ส.ประมาณ 60-70 คน ทั้งจากภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสานบางส่วน ได้ไปกินข้าวเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่จีน โดยมีผู้ใหญ่ในพรรค เช่น นายเผดิมชัย นายวิทยา และนายยงยุทธ มาร่วมด้วย งานนี้เป็นการจัดของภาคกลาง แต่ก็มีภาคอื่นๆ มาด้วย เมื่อครั้งตอนส.ส.ภาคอีสานจัดงาน ภาคอื่นๆ ก็มาเหมือนกัน ทั้งนี้นายพงษ์ศักดิ์ถือเป็นผู้ใหญ่ที่มาร่วมงานนี้ ยืนยันว่าไม่มีการหารือประเด็นการเมือง เป็นการกินข้าวกันเท่านั้น

ที่มา.เนชั่น
++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

เรื่องเก่ามาเล่าใหม่ ..!!?

กาลครั้งหนึ่งไม่นานมานี้...

นายกรัฐมนตรี พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ...ได้แต่งตั้ง พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก...เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม...ทว่า...พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ยังไม่ทันได้รับพระบรมราชโองการ...

พลเอก สุนทร คงสมพงษ์...ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในครั้งนั้น...ก็ได้กระทำการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองของรัฐบาลเลือกตั้งของ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ...สถาปนารัฐบาลเผด็จการขึ้นมาปกครองประเทศ...

ว่ากันว่า...

มีข่าวลือหนาหูว่า...พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก...จะมาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม เพื่อย้าย พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ออกจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด และอีกหลายๆ คนใน 3 เหล่าทัพ...

เล่ากันว่า...

ฝ่ายทหารได้รับรู้จากสายความมั่นคงของกองทัพเกี่ยวกับข้อความในโทรศัพท์ที่ตอบโต้กันระหว่าง...คนใกล้ชิดของนายกรัฐมนตรี พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ...ฝ่ายหนึ่งเป็นตำรวจยศสูง...ฝ่ายหนึ่งเป็นทหารเก่ามากบารมี...

แล้วชะตากรรมของประเทศก็พลิกผัน...กว่ารัฐบาลเผด็จการจะจากไป...ประชาชนก็ต้องไปล้มตายกันที่บริเวณถนนราชดำเนิน...ให้กำเนิดวันแห่งความรันทด...พฤษภาทมิฬ...

กาลครั้งหนึ่ง...นานยิ่งไปกว่านั้น...

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์...ในฐานะรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม...และพบว่า...ท่านนายกรัฐมนตรี...อยู่ในชุดเข้าเฝ้าสีขาว...จอมพล สฤษดิ์ สืบสาวราวเรื่องว่า...ตนเองจะถูกปลดจากตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก...เปิดเกมยึดอำนาจโดยใช้ตำรวจบวกทหาร...

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์...ให้หมอดูคู่ใจ พันเอก ประจวบ วัชรปาณ...ตรวจสอบฤกษ์ยาม...แล้วใช้ฤกษ์ก่อนหน้า...สั่งการในฐานะผู้บัญชาการทหารบก...ยึดอำนาจการปกครองประเทศจาก จอมพล ป.พิบูลสงคราม...

เปิดศักราช...ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว...ตราบจนจบสิ้นอายุขัย...เมื่อปี 2506...

จอมพล ป.พิบูลสงคราม...กับ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์...เจ้าของสโลแกน...ไม่มีอะไรใต้ดวงอาทิตย์ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้...แยกย้ายกันไปลี้ภัยอยู่ในโลก...จวบจนวันสุดท้ายแห่งชีวิต...

โลกใบนี้...ไม่มีอะไรเก่า ไม่มีอะไรใหม่ จริงๆ

โดย:พญาไม้ทูเดย์,บางกอกทูเดย์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เป็น สองเส้นขนาน !!?

ต้องบอกว่า “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กับ “พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร” เหยียบกล่องดวงใจกันอยู่น้าน..นาน
มาบัดนี้,มีรายการเชื่อมสัมพันธไมตรี ผ่าน “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง และ “บิ๊กโอ๋” พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม คนใหม่
มีการลิ้งก์ ชงลูกผ่าน “นายกฯปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ฟ้าก็เปิด กลับมาสดใส
เมื่อ “ซุเปอร์ป๋า” และ “ฮีโร่แม้ว” เริ่มจอยความคิดกันได้ การปรองดองที่ขมุกขมัว ก็เช้งวับ
ไทยเสียโอกาสจนยุ่ย....หันหน้ากลับมาคุย?...ดีกว่ามาลุยกันเอง ไม่เข้าเรื่องหรอกครับ

+++++++++++++++++++++++++++++++

หนี้ท่วมท้น อย่างระเนระนาด
ยกรักแร้เชียร์ “คุณพี่ฉลาด ขามช่วง” สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานการแก้ไขหนี้สินแห่งชาติ
มองการณ์ไกล เพื่อ “ปลดหนี้สิน” ให้กับเกษตรกร ชาวนา-ชาวไร่ ได้รับประโยชน์
โดยจะ “ปลดล็อค” ลดดอกเบี้ย ที่กินท่วมต้น ท่วมดอก ทั้งจากหนี้ในระบบ หนี้นอกระบบ และหนี้จากการกู้เงินขอสหกรณ์ ที่ทำให้เป็นหนี้ ชั่วนาตาปี ใช้ไม่มีวันหมด
เมื่อลด “ดอกเบี้ย”ได้บานตะโก้แห้ว...ย่อมสามารถชำระหนี้ “เงินต้น”ลงมาบานพะเรอ
ทำงานอย่างแข่งขัน....โอกาสเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล....ใกล้เข้ามาทุกวันสิเธอ

++++++++++++++++++++++++++++++++

“ชิงดำ”กันสูสี
เลือกตั้ง “นายกฯ อบจ. อุดรธานี”
ให้จับตาดู “ดร.แดง” ณัฐยศ ผาจวง แกนนำเสื้อแดง ผู้ติดคุก ๙ เดือน ร่วมกับ นปช. ผู้รักประชาธิปไตย
แรงดี มีคนสนับสนุนเนื่องแน่น , ได้ “พ.ต.ท.สุรทิน วิมานเมฆินทร์” สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย หนุนให้กำลังใจ
ถึงเจอกระดูกเบอร์ใหญ่ อย่าง “หาญชัย ทีฆธนานนท์”, “โชคสมาน ลีลาวงศ์” และ “สุรชาติ ชำนาญศิลป์” ๓ นักการเมืองใหญ่ ที่เป็นคู่แข่ง ก็ไม่น่ากลัว
เพราะ “ดร.แดง” ณัชยศ ผาจวง...สร้างผลงานเอาไว้อย่างใหญ่หลวง...ย่อมโชติช่วงชัชวาล แน่สิทูนหัว

+++++++++++++++++++++++++++++++

“ยาเสพติด ต้องปราบให้หมด
กฎหมายลงโทษ, ต้องใช้กันอย่างโหด..โหด
เห็นด้วยกับแนวคิด การเพิ่มโทษ “ผู้ค้ายาเสพติด” ให้ประหารชีวิต
ลุยเลย “พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ที่จะทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์
เหมือนกับความคิดบุคคลชั้นสูง ที่ดำริอยากให้ “ประหารชีวิต” ผู้ค้ายาเสพติด ที่ทำลายชาติอย่างย่อยยับ
“ประหาร”ไม่ให้พวกนี้ทำลายชาติ...ต้องตัดวงจรอุบาทว์?...มีแต่มาตรการเฉียบขาด ด้านนี้เท่านั้นแหละครับ

+++++++++++++++++++++++++++++++

“ขี้”อยู่บนมือมองไม่เห็น
“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ฝากผลงานว่าทำงานไม่เป็น
ความผิดของ “กษิต ภิรมย์” ที่ท่านจับยัดมาเป็น “รมว.ต่างประเทศ” ฉกาจฉกรรจ์มากกว่า
ไหนถึงตำหนิ “นลินี ทวีสิน” รมต.ประจำสำนักนายกฯคนใหม่ป้ายแดง อย่างไม่ไว้หน้า
แบล็กลิสต์ ที่สหรัฐอเมริกา ไม่ยอมขี้หน้าใคร ก็จับชื่อเขาแขวนตามอำเภอใจถูกที่ไหน...แต่กลับ “กษิต ภิรมย์” ถูกหมายว่ายึดสนามบิน ท่านกับแต่งตั้ง ให้นั่งตำแหน่งใหญ่โต
ไม่ปกป้องคนไทย....ไม่รักษาเกียรติพวกเดียวกันไว้?....สักวันเราต้องเสียค่าโง่??

ที่มา.คอลัมน์ตอดนิดตอดหน่อย,บางกอกทูเดย์
///////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

วีรกรรม 9 รัฐมนตรีหน้าใหม่ บัญชีดำอเมริกา บัญชีแดงทักษิณ !!?


สุดท้ายการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้เป็นเพียงกระแสข่าวการเมืองอีกต่อไป

ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยมีการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ 16 ตำแหน่ง เป็นการสลับตำแหน่ง 6 คน และมีการปรับรัฐมนตรีเข้าใหม่ 10 คน

9 ใน 10 คน เป็นบุคคลที่อยู่ในโควตาของพรรคเพื่อไทย ที่ล้วนแล้วแต่มีสายสัมพันธ์กับตระกูล "ชินวัตร" ทั้งในทางตรงและทางอ้อม

และอีกหลายคนมีจุดด่าง-รอยดำ เป็นแผล "ตำหนิ" ที่สังคมยังรอคอยฟังคำอธิบายความเหล่านั้น

"ประชาชาติธุรกิจ" ได้ประมวลประวัติ-ผลงาน-สายสัมพันธ์ของ 10 รัฐมนตรีหน้าใหม่ ที่จะเข้าร่วมงานใน "ครม.ปู 2" ว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร สามารถติดตามอ่านได้จากบรรทัดต่อจากนี้

"นลินี ทวีสิน" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีต ส.ว.ปี 2549 แต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน ทำให้ถูกเพิกถอนตำแหน่ง สุดท้ายจึงผันตัวมาเล่นการเมืองในสังกัดพรรคพลังประชาชน-เพื่อไทย ในที่สุด

นอกจากตระกูล "ทวีสิน" ยังเป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศ เธอยังมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับ "คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน" อดีตปลัด กทม.ที่ถูกปลดออก ในช่วงที่มีคดีรถดับเพลิงฉาว และยังถูก ป.ป.ช. สอบสวนด้วยข้อหาร่ำรวยผิดปกติ

ทั้งนี้ "นลินี" เป็นหนึ่งในคนไทยที่ถูกขึ้นบัญชีดำห้ามเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2551 โดยสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างชาติของกระทรวงการคลังระบุว่า เธอเป็น

นักธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลของนายโรเบิร์ต มูกาเบ ผู้นำซิมบับเว ที่ถูกอเมริการะบุว่าเป็นบุคคลอันตรายในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และคอร์รัปชั่นในประเทศ

"นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จบการศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) เข้าสู่วงการเมืองด้วยการลงเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เมื่อปี 2554

ในช่วงสรรหา "ครม.ปู 1" เขาเคยถูกคาดการณ์ให้เข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นมือประสานสิบทิศให้กับรัฐบาล สุดท้ายถูกกันตัวไว้ให้อยู่ในโควตา ส.ส.เพื่อคอยควบคุมเกมการเมืองและบริหารงานในสภาแทน

อดีตเคยเป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน), รองประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือชิน คอร์ปอเรชั่น (ชินคอร์ป) รับผิดชอบงานด้านภาพลักษณ์และกิจกรรมสัมพันธ์, ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และดูแลบริษัท ชินวัตร ไดเร็คทอรี่ส์ จำกัด, บริษัท มูฟวิ่งซาวน์ด จำกัด, บริษัท ชินวัตร แซทเทลไลท์ จำกัด และบริษัท เอสซี แมทช์บ็อกซ์ จำกัด

"ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อดีตนายกเทศมนตรี จังหวัดอุตรดิตถ์ ก่อนที่จะผันลงมาเล่นการเมือง สังกัดพรรคประชากรไทย ในปี 2539 จนกระทั่งปัจจุบันสังกัดพรรคเพื่อไทย เป็น ส.ส.มาแล้ว 5 สมัยติดต่อกัน

"ทนุศักดิ์" เป็น 1 ใน 8 ส.ส.ที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นถอดถอนความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 62 เพราะเข้าไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารจัดการถุงยังชีพ

"ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์พีทีวี และผู้ดำเนินรายการความจริงวันนี้

เริ่มเล่นการเมืองสังกัดพรรคชาติพัฒนา กระทั่งพรรคยุบรวมกับพรรคไทยรักไทย จึงได้ร่วมทีมปราศรัยล่วงหน้าของ พ.ต.ท.ทักษิณ จนได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะทำงานโฆษกพรรคไทยรักไทย

ในช่วงรัฐประหาร 19 กันยายน เขาร่วมต่อสู้ในนาม "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)" กระทั่งมวลชนได้ถูกพัฒนาขึ้นเป็น "กลุ่มคนเสื้อแดง" ในที่สุด

และด้วยสาเหตุที่เป็น "แกนนำเสื้อแดง" ปัจจุบันยังมีข้อกล่าวหาที่อยู่ในกระบวนการของตำรวจและอัยการ โดยเมื่อปี 2551 อัยการฝ่ายคดีอาญาได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง "ณัฐวุฒิ" และพวก รวม 4 คน ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ

ปี 2553 ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ออกมาเปิดเผยเอกสาร "แผนผังขบวนการล้มเจ้า" ซึ่งหนึ่งในขบวนการที่ถูกกล่าวหานั้นมีชื่อ "ณัฐวุฒิ" ร่วมด้วย ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต้องเรียกเขา และพร้อมไปรับฟังข้อกล่าวหา

ในปีเดียวกันนี้เอง พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษก็ได้นำสำนวนมีความเห็นสั่งฟ้อง "ณัฐวุฒิ" และพวกรวม 19 คน ที่เป็นแกนนำ นปช.เป็นจำเลยต่อศาลอาญารัชดา ในข้อหาร่วมกันหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดหรือสนับสนุนให้มีการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 135 รวม 3 กระทง

"จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ข้าราชการพันธุ์แท้ ที่ไต่เต้าตำแหน่งมาตั้งแต่ปลัดอำเภอ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงแรงงาน โดยหลังเกษียณอายุราชการแล้วได้รับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ตั้งแต่ปี 2539-2553 กระทั่งมาถึงการเป็นรัฐมนตรีในที่สุด

สุดท้ายตัดสินใจเข้าสู่สนามการเมือง สังกัดพรรคพลังประชาชน-เพื่อไทย จนได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรค กระทั่งหลังเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เขาได้รับการไว้วางใจให้เป็น "ผู้จัดการรัฐบาล" ในการประสานงานสิบทิศกับพรรคร่วมทั้งหมด

ผลงานของเขามาโดดเด่นที่สุดในช่วงเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา เขารับบทบาทเดินสายเจรจาหาข้อยุติศึกเรื่องน้ำระหว่างประชาชน รัฐบาล และท้องถิ่น ในฐานะ "ประธานคณะกรรมการจัดการชาวบ้านที่รื้อกระสอบทรายในแต่ละพื้นที่"

"ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จบการศึกษาเกียรตินิยมอันดับ 1 สาขาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จาก Massachusetts Institute of Technology และปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จาก University of Illinois at Urbana-Champaign

เขามักได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ที่มีความรู้ด้านวิศวกรรมให้กับพรรคอยู่เสมอ จากอดีตที่มีความใกล้ชิดกับแกนนำพรรคไทยรักไทย ตั้งแต่การเป็นที่ปรึกษาให้ "พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล" อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กระทั่งเลือกตั้งครั้งล่าสุด เขาก็ได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษาให้กับ พล.อ.อ. สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม ที่เพิ่งถูกปรับให้เป็น รมว.กลาโหม ในที่สุด

"ชัชชาติ" เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท วิทยุการบิน จำกัด กรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และกรรมการบริษัท ขนส่ง จำกัด ผู้ช่วยอธิการบดี (สำนักงานจัดการทรัพย์สิน) จุฬาฯ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยจากอัคคีภัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

"อารักษ์ ชลธาร์นนท์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จบการศึกษา Electronic Engineering จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), ประธานกรรมการบริหารสายธุรกิจ ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์, กรรมการบริหารบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), กรรมการบริหารบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), กรรมการผู้อำนวยการบริษัท ชินวัตร อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้อำนวยการบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

และเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ "บุญคลี ปลั่งศิริ" อดีตประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บุคคลที่ พ.ต.ท.ทักษิณมอบอำนาจให้ดูแลธุรกิจแทนตลอดมา

"สุชาติ ธาดาธำรงเวช" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เริ่มทำงานการเมืองโดยการเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีในปี 2546 เป็น รมว.คลัง 2 รัฐบาล ทั้งสมัย

นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งเป็น "หัวหน้าพรรคเพื่อไทย" สมัยที่พรรคพลังประชาชนยังไม่โดนยุบ รวมการเข้าร่วมชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เมื่อปี พ.ศ. 2553 พร้อมกล่าวโจมตีรัฐบาลในขณะนั้นอีกด้วย

เขาจบการศึกษาเศรษฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท เศรษฐศาสตร์ The London School of Economics and Political Science สหราชอาณาจักร ปริญญาเอก เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา ปริญญาบัตรหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 1 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

"ศักดา คงเพชร" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้ามาดำรงตำแหน่งในโควตาภาคอีสาน เขาเป็นหนึ่งในผู้เปิดโปง "แก๊ง ออฟ โฟร์" ของรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช

และเป็นเจ้าของวาทกรรม "หักหลังทักษิณ" ทำให้กลุ่ม "เพื่อนเนวิน" และนายเนวิน ชิดชอบ ถอยทัพไปตั้งพรรคภูมิใจไทย และร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ ในที่สุด

เขาจบปริญญาตรี ด้านบริหารการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด เป็นอดีตสมาชิกสภาจังหวัดร้อยเอ็ด และ ส.ส.ร้อยเอ็ด 4 สมัย ถือเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มอีสานพัฒนา ในพรรคพลังประชาชน ร่วมกับไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม และปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

"ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จบการศึกษาปริญญาตรี Computer Science Southeast Missouri State University ปริญญาโท Industrial Management University of Central Missouri และ Public Policy & Management Harvard University ปัจจุบันเป็นคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม วิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ปี 2543-2547 เขาดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนพัฒนาและเทคโนโลยี ปี 2541-2543 รองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคลและกฎหมาย และปี 2538-2541 ผู้อำนวยการสถาบัน ประมวลข้อมูลเพื่อการศึกษาและการพัฒนา

นอกจากนี้ ยังเคยเป็นกรรมการสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ในคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ อนุกรรมการวางแผนอุดมศึกษา ในคณะกรรมการการอุดมศึกษา และอนุกรรมการประเมินผล สถาบันวิทยาการการเรียนรู้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555

เรื่อง ม.112 ใครเห็นด้วยยกมือขึ้น !!?

ประเทศเราอ่อนไหวเหลือเกิน กับความขัดแย้ง เราเสแสร้งกันเหลือเกินแล้ว ผมไม่อยากจะใช้คำที่รุนแรงไปกว่านี้ ขอความกรุณาเถิดว่าเลิกเสแสร้ง ความขัดแย้งในสังคมประชาธิปไตยเป็นของธรรมดา เป็นของสามัญอย่างยิ่ง ขอเพียงให้คนที่เห็นต่างกันมีโอกาสพูด มีโอกาสเสนอความเห็นอย่างตรงไปตรงมา อย่าไปไล่เขา อย่าไปบอกให้เขาไปอยู่ที่อื่น อย่าไปบอกให้เขาต้องเปลี่ยนสัญชาติ สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในกรอบของกฎหมายทั้งปวง”

นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หนึ่งในคณะนิติราษฎร์ แถลงถึงการจัดกิจกรรมรณรงค์แก้ไขประ-มวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเปิดตัวคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) เพื่อรวบรวมรายชื่อบุคคลให้ได้ 10,000 คน เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 ตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ (อ่านเพิ่มเติมหน้า 6) ท่ามกลางผู้ร่วมฟังนับหมื่นจนล้นห้องประชุมศรีบูรพา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งรายชื่อแรกที่ร่วมรณรงค์คือ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขณะที่นายชาญวิทย์ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คโดยตั้งหัวข้อว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับ ม.112 ของ “สยาม” vs “ไทย” ถอยหลังหรือเดินหน้าเข้าคลอง” โดยสรุปว่า แต่เดิม “ราชอาณาจักรสยาม” (สมัยโบราณ) เคยมี “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ที่มีโทษจำคุกระหว่าง 3-7 ปี แต่ “ราชอาณาจักรไทย” (สมัยใหม่) มี “กฎหมายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” ขึ้นมาแทน และมีโทษจำคุกสูงกว่าคือระหว่าง 3-15 ปี (นับได้ว่าสูงสุดในมาตรฐานสากลและนานาอารย ประเทศโลก และ “ราชอาณาจักรไทย” สมัยใหม่ของเราก็มีคดีขึ้นโรงศาลมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในระดับมาตรฐานสากลของนานาอารยประเทศเช่นกัน)

จาก “กึ่งเสรี” เป็น “ไม่เสรี”

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะตัวแทน ครก.112 อ่านแถลงการณ์ตอนหนึ่งว่า นับแต่การรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา สถิติการจับกุมด้วยมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉพาะปี 2553 มีการฟ้องร้องถึง 478 ข้อหา นอกจากนี้ความ “จงรักภักดี” ยังกลายเป็นอาวุธสำหรับข่มขู่คุกคามและสร้างความเกลียดชังในหมู่ประชาชน ความอ่อนไหวต่อมาตรา 112 จึงมักทำให้ผู้ถูกกล่าวหาถูกกระทำอย่างไม่เคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น ไม่อนุญาตให้ประกันตน ดำเนินการไต่สวนด้วยวิธีปิดลับ และยังถูกกดดันจากสังคมรอบข้างอย่างมาก อย่างกรณี “ขบวนล่าแม่มด”

นอกจากนี้มาตรา 112 ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้สถานการณ์สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประเทศไทยตกต่ำอย่างถึงที่สุด โดยรายงานปี 2554 องค์กรฟรีดอมเฮาส์เปลี่ยนสถานะเสรีภาพของไทยจาก “กึ่งเสรี” เป็น “ไม่เสรี” เช่นเดียวกับเกาหลีเหนือ พม่า จีน คิวบา โซมาเลีย และปากีสถาน

7 ข้อเสนอ “นิติราษฎร์”

โดยเฉพาะกรณีคดี “อากง” และนายโจ กอร์ดอน สัญชาติไทย-อเมริกัน ทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยดังกระหึ่มไปทั่วโลก เพราะสหประชาชาติ องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และประเทศต่างๆแสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 112 ขณะที่ภายในประเทศก็มีการเคลื่อนไหวให้แก้ไขมาตรา 112 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกลุ่มนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ เพื่อให้สังคมร่วมกันพิจารณาในสาระสำคัญคือ

1.ให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร

2.เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

3.แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

4.เปลี่ยนบทกำหนดโทษ โดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ แต่กำหนดเพดานโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 3 ปี สำหรับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่เกิน 2 ปี สำหรับพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

5.เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด กรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

6.เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ กรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง และการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

7.ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษผู้ที่ทำความผิด ให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้นแทนพระองค์

“นิธิ” ชี้ต้องแก้กฎหมายฉ้อฉล

นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ให้เหตุผลที่ร่วมรณรงค์ให้แก้ไขมาตรา 112 ว่า ปัจจุบันไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะให้สถาบันกษัตริย์เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ซึ่งระบอบกษัตริย์ที่ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงในหลายประเทศทั่วโลกล้วนเป็นระบอบกษัตริย์ที่อนุวัตตามระบอบประชาธิปไตย

โดยเฉพาะสัดส่วนการลงโทษความผิดมาตรา 112 เป็นข้อบังคับแน่นอนตายตัว ไม่มีทางเลือกอื่น ซึ่งไม่สอดคล้องกับความผิดที่กระทำคือ หากศาลพิ-พากษาว่ามีความผิดก็ต้องถูกจำคุก 3 ปีเป็นอย่างต่ำ และ 15 ปีเป็นอย่างสูง เมื่อเทียบกับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาจึงแตกต่างและรุนแรงกว่ากันมาก เพราะเหตุเอามาตรา 112 ไปอยู่ในหมวด “ความมั่นคงของรัฐ”

ขณะที่อำนาจในการกล่าวหาฟ้องร้องก็ให้ทุกคนมีสิทธิที่จะฟ้องร้องอย่างไรก็ได้ จนมาตรา 112 ถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อและเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือแม้แต่ไม่ชอบหน้าใครก็สามารถนำไปฟ้องร้องกล่าวโทษได้ การตัดสินใจจะดำเนินคดีหรือไม่จึงต้องใช้การพิจารณามากกว่าข้อบัญญัติของกฎหมาย เพราะบางครั้งการไม่ดำเนินคดีอาจเป็นผลดีต่อสถาบันมากกว่า ไม่ใช่ใครก็สามารถฟ้องร้องได้

“เมื่อใช้กฎหมายอย่างฉ้อฉลภายใต้วัฒนธรรมและการเมืองที่เป็นเช่นทุกวันนี้ ก็ยิ่งทำให้การใช้กฎหมายฉ้อฉลมากขึ้นไปอีก เช่น เจ้าหน้าที่ไม่กล้าตัดสินใจไม่ฟ้อง ดังนั้น จึงต้องแก้ที่ตัวกฎหมายเพื่อให้ในทางปฏิบัติจะไม่มีใครนำมาตรานี้ไปใช้อย่างฉ้อฉลได้”

กลุ่มต่อต้านเคลื่อนไหวตอบโต้

ด้านกลุ่มต่อต้านการแก้ไขมาตรา 112 ก็ออกมาเคลื่อนไหวตอบโต้อย่างคึกคักเช่นกัน ไม่ใช่แค่ “ขาประจำ” ของ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี ที่จัดกิจกรรมตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อผู้ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 เท่านั้น แต่ยังมีพรรคประชาธิปัตย์เจ้าเก่าที่ออกมาคัดค้าน โดยใช้เหตุผลเดิมๆที่กล่าวหากลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวว่าไม่จงรักภักดี แทนที่จะนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและเหตุผลทางหลักกฎหมายและวิชาการมาโต้แย้งและชี้แจงกับประชาชน มิใช่เอาแต่โจมตีด้วยวาทกรรมซ้ำซากอย่างนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่แถลงว่า มาตรา 112 ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่เมื่อมีกลุ่มที่มุ่งร้ายต่อสถาบันออกมาเคลื่อนไหวจึงทำให้มีปัญหาเกิดขึ้น จึงจะนำกฎหมายฉบับนี้แยกออกจากความมั่นคงของชาติไม่ได้ เพราะความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์คือความมั่นคงของไทย

“สยามประชาภิวัฒน์” จัดหนัก

แต่กลุ่มนักวิชาการที่ออกมาร่วมคัดค้านการแก้ไขมาตรา 112 และถูกจับตามองอย่างมากคือ “กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” นำโดยนายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของนักวิชาการ 5 สถาบันอุดมศึกษา ประมาณ 20 คน แม้จะระบุว่าไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อชนกับคณะนิติราษฎร์ แต่ก็แถลงเหตุผลการคัดค้านแก้ไขมาตรา 112 และแก้รัฐธรรมนูญว่า ต้องให้คุณค่ากับสังคมไทย ไม่ใช่ไปเอาแบบสังคมตะวันตก สังคมไทยให้ความสำคัญกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะเป็นตัวตั้งของสังคมไทย

ขณะที่นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หนึ่งในกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ได้ตั้งข้อสังเกตและเหตุผลที่ไม่จำเป็นต้องแก้มาตรา 112 เช่น ความผิดความมั่นคงแห่งรัฐถือเป็นการวางหลักปกป้องคุ้มครองประ- มุขของรัฐ ซึ่งแทบทุกประเทศก็มีกฎหมายลักษณะนี้ ส่วนข้ออ้างว่ามีการนำไปใช้กลั่นแกล้งทางการเมืองนั้นก็ทำได้แทบทุกลักษณะความผิด ไม่ใช่เฉพาะมาตรา 112 เท่านั้น มาตรา 112 จึงไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่แสดงความคิดเห็นเกินขอบเขตจนไปล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นคือสถาบัน

8 ราชนิกุลหนุนแก้มาตรา 112

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือราชนิกุลผู้มีชื่อเสียงจำนวน 8 คน ได้ลงนามในจดหมายที่ส่งไปถึง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันเสาร์ที่ 7 มกราคม 2555 เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ซึ่งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้นำมาตีพิมพ์ในฉบับวันที่ 12 มกราคมว่า ราชนิกุลผู้มีชื่อเสียง 8 คน ได้แก่ หม่อมราชวงศ์สายสวัสดี สวัสดิวัตน์ (ธิดาในหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ หรือท่านชิ้น) หม่อมราชวงศ์สายสิงห์ ศิริบุตร (ธิดาในหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์) หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ (ธิดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์) นายวรพจน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (อดีตเอกอัครราชทูต) พลเอกหม่อมราชวงศ์กฤษต กฤดากร, หม่อม ราชวงศ์ภวรี สุชีวะ (ธิดาในหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง) หม่อมราชวงศ์โอภาส กาญจนะวิชัย และนายสุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา

เนื้อหาในจดหมายระบุว่า จำนวนคดีหมิ่นพระ บรมเดชานุภาพได้เพิ่มขึ้นอย่างสำคัญในช่วงเวลา 7 ปี จากจำนวน 0 คดีในปี 2545 เพิ่มมาเป็น 165 คดีในปี 2552 ซึ่งคดีความถูกรายงานไปทั่วโลก และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมากขึ้นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

จดหมายยังอ้างถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ซึ่งทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่าการลงโทษจับกุมคุมขังบุคคลผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันนั้นมีแต่จะก่อปัญหาให้แก่พระองค์เอง และระบุว่า นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสดังกล่าว มีรัฐบาลหลายชุดหมุนเวียนกันเข้ามาบริหารประเทศ แต่ไม่มีรัฐบาลชุดใดที่จะริเริ่มดำเนินการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมทั้งรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ขณะที่นายสุเมธให้สัมภาษณ์ว่า พวกเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย แต่คิดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลซึ่งต้องแสวงหาหนทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและปกป้องสถาบัน ซึ่งถือเป็นการเอาใจใส่ต่อความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะสังคมไทยกำลังแตกแยก ประชาชนแบ่งออกเป็นฝักฝ่ายอย่างสุดขั้ว รัฐบาลจึงควรให้ความสนใจกับคำแนะนำของในหลวง

“ที่สำคัญสุดเหนือสิ่งอื่นใด พวกเราต้องการให้มีการคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายมาตราดังกล่าว”

คอป. เสนอแนวทางแก้ ม.112

เช่นเดียวกับนายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 30 ธันวาคม 2554 ถึงนายกรัฐมนตรี เสนอให้แก้ไขมาตรา 112 โดยอ้างการศึกษาถึงพื้นฐานความแตกต่างในสังคมประชาธิปไตยในต่างประเทศกับสังคมไทย พบว่าในประเทศประชาธิปไตยคนในกระบวนการยุติธรรมมีความเป็นเสรีนิยมสูง แต่คนในกระบวนการยุติธรรมของไทยมีความเป็นอำนาจนิยมสูง ทำให้เกิดการโต้เถียงและขัดแย้งกันอย่างมาก แต่ คอป. ก็ไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกมาตรา 112

คอป. จึงให้รัฐบาลเสนอแก้ไขมาตรา 112 ต่อรัฐสภาว่า ใครหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งความผิดต้องให้อำนาจในการสอบสวนดำเนินคดีจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอำนาจจากสำนักราชเลขาธิการ

กดดันสภา-ผู้อาวุโส?

ส่วนนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งสิงคโปร์ ที่รณรงค์เรื่อง “ฝ่ามืออากง” ได้ชวนให้สนับสนุนคณะนิติราษฎร์โดยถ่ายภาพฝ่ามือที่มีข้อความว่า “นิติราษฎร์” แม้จะยอมรับว่าไม่ได้คาดหวังกับการขับเคลื่อนของคณะนิติราษฎร์ว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน แต่อย่างน้อยก็ทำให้สังคมไทยตาสว่างเห็นปัญหาของมาตรา 112

ขณะที่อาจารย์สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในแกนนำคณะนิติราษฎร์ ยอมรับว่า การเสนอร่างหรือล่ารายชื่ออย่างเดียวอาจไม่มีอะไรมาก แต่จะต้องคอยกดดันตลอดว่ามาตรา 112 มีปัญหา แม้แต่การรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ที่รวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 ชื่อ ก็เป็นเพียงการผลักดันให้ร่างแก้ไขมาตรา 112 เข้าสู่สภา หลังจากนั้นต้องพยายามขับเคลื่อนในเชิงสังคมไปพร้อมๆกันเพื่อกดดันให้รัฐบาลขยับเรื่องนี้

แต่สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มเรียกร้องให้คนที่มีเสียงในบ้านเมือง อย่างนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยออกมาพูดว่ามาตรา 112 มีปัญหา แต่ไม่ได้บอกว่าแล้วจะทำอย่างไรต่อ จึงต้องพยายามเรียกร้องให้นายอานันท์บอกว่าแล้วต้องทำอะไรต่อ พยายามเรียกร้องให้มานั่งคุยกันว่าสุดท้ายมาตรา 112 จะถูกปฏิรูปหรือไม่ จะแก้ไขอย่างไร หรือจะยกเลิก เชื่อว่าเรื่องนี้คุยกันได้ เพราะถึงเวลาที่จะต้องมาคุยกันแล้ว

112 วัดใจ ส.ส.เพื่อไทย?

แต่ ผศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแกนนำกลุ่มสันติประชาธรรม เตือนว่า แม้จะมีกระแสต่อต้านการแก้ไขมาตรา 112 มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่สามารถกลบเสียงให้แก้ไขได้ “ดิฉันเตือนว่ายิ่งมีการใช้กฎหมายมาตรา 112 อย่างรุนแรงมากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้ประเทศไทยกลายเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อในลำดับต้นๆของโลกเลยทีเดียว ทั้งที่เรื่องสิทธิเสรีภาพในด้านอื่นๆมีการขยายตัวอย่างมาก ประเทศไทยมีความเจริญทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่เรื่องทางการเมืองขณะนี้กลับถดถอยตกต่ำ แล้วยังมาเจอกฎหมายที่ลงโทษคนด้วยการส่งข้อความ SMS อย่างกรณีของอากง ถือเป็นกรณีที่ช็อกความรู้สึกผู้คนเป็นจำนวนมาก”

อาจารย์พวงทองฝากถึงรัฐบาลเพื่อไทยว่า การที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศจะไม่แก้ไขมาตรา 112 ทั้งยังเดินหน้าปราบเว็บไซต์หมิ่นฯอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่ามีความจงรักภักดีในรูปแบบต่างๆ ทำให้ประชาชนที่เลือกเข้ามาในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมารู้สึกว่ากำลังถูกพรรคเพื่อไทยหักหลัง และกำลังทำร้ายประชาชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย

“ดิฉันขอเตือนว่าสิ่งเหล่านี้ประชาชนจะไม่ลืมง่ายๆ และในที่สุดแล้วคนที่จะสูญเสียนอกจากประชาชนที่ถูกพวกคุณกดทับเรื่องสิทธิเสรีภาพแล้ว พรรคเพื่อไทยเองก็จะไม่ได้อะไรจากครั้งนี้เลย”

ดังนั้น แม้พรรคเพื่อไทยหรือรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์จะพยายามหลบเลี่ยงไม่แก้ไขมาตรา 112 แต่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็ต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ว่าทำไมจึงไม่แก้ไขมาตรา 112 ทั้งที่ประชาชนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเข้าชื่อเพื่อขอแก้ไขกฎหมายแล้ว หรือแท้จริงกำลังต้องการเกี๊ยะเซียะกับระบอบอำนาจนิยม อย่างที่นายแฟรงค์ ลา รู ผู้ตรวจการพิเศษด้านเสรีภาพการแสดงออกของสหประชาชาติ กล่าวถึงการเรียกร้องให้ประเทศไทยยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนว่า

“ไม่ใช่เป็นการแทรกแซง เนื่องจากสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องในทางระหว่างประเทศ และเป็นความรับผิดชอบของประเทศที่ทันสมัย มีอารยะ และเป็นประชาธิปไตย ซึ่งมีแต่ประเทศที่ต้องการจะกลับไปสู่ระบอบอำนาจนิยม ไร้อารยะ และไม่ตามครรลองประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะปฏิเสธหลักสิทธิมนุษยชน”

การเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงเป็นเรื่องของ “สิทธิมนุษยชน” โดยแท้

ไม่ใช่ “ขบวนการล้มเจ้า” ที่กลุ่มผลประโยชน์ที่อยู่รายล้อมและอิงแอบแนบชิดพยายามประดิษฐ์สรรหาวาทกรรมใหม่ๆ อาทิ “ทุนนิยมสามานย์” หรือ “เผด็จ การทุนนิยม” มาบิดเบือนให้คนไทยเข้าใจผิดและลืม “ความเป็นมนุษย์” ของตนไปโดยมิทันรู้ตัว

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

นายกฯ รมว.กลาโหม ผบ.สส.ชม กริพเพน !!?



นายกรัฐมนตรี พร้อมรมว.กลาโหมและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารเรือ ชมการสาธิตการใช้กำลังทางอากาศของเครื่องบิน"กริพเพน"

น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกเสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเรือเอก สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก ร่วมเดินทางชมการแสดงสาธิตการใช้กำลังทางอากาศ ในการแข่งขันการปฏิบัติการทางอากาศยุทธวิธีในโอกาสนี้ใด้มีการแสดงของเครื่องบิน"กริพเพน" อีกด้วย โดยมี พลอากาศเอก อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ให้การต้อนรับ ณ สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ยกเลิกการเดินทางไปร่วมงานโดยล่าสุดมีการปรับเปลี่ยนกำหนดการ เนื่องจาก ผู้บัญชาการทหารบก ติดภารกิจที่ จ.ลำปาง จึงได้มอบหมายให้ พลเอก ดาว์พงษ์ เข้าร่วมงานแทน

สำหรับกำหนดการ นายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับจาก จังหวัดลพบุรี ในเวลา 10.45 น. จากนั้นเวลา 12.00 น. นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2555 ห้องประชุมสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ชั้น 1 อาคารสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เวลา 14.30 น. เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรภูฏาน ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี เพื่ออำลา ที่ ทำเนียบรัฐบาล และเวลา 17.30 น. นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีที่ได้รับการโปรดเกล้าฯเข้าเฝ้าฝ่าละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณตน ก่อนเข้ารับหน้าที่ใหม่ ที่ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 14 โรงพยาบาลศิริราช

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555

เมื่อเค้าสงครามอิหร่านก่อตัว !!?

การเผชิญหน้าระหว่างอิหร่านกับสหรัฐและอิสราเอล ที่สืบเนื่องจากการลอบสังหาร นายมุสตาฟา อาห์มาดี-โรชาน นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ชาวอิหร่าน ซึ่งเป็นรายที่สี่นับตั้งแต่มีการวางระเบิดสังหารรถยนต์สังหารนักวิทยาศาสตร์อิหร่านตั้งแต่ปี 2553 ทำให้มีความกังวลว่าจะนำไปสู่การทำสงครามระหว่างกัน
ความขัดแย้งนี้สืบเนื่องจากการพัฒนาโครงการโรงานไฟฟ้านิวเคลียร์ของอิหร่านที่ Bushehr สหรัฐและอิสราเอลเชื่อว่าอิหร่านต้องการใช้สำหรับพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ต่อมาค้นพบโรงงานไฟฟ้าปรมาณูอีก 2 แห่งที่ Arak และ Natanz ทำให้มีข้อสงสัยมากขึ้น ด้านอิหร่านได้ลงนามในสนธิสัญญาป้องกันแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ (Nonproliferation Treaty) หรือ NPT ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาและยืนยันสิทธิของรัฐในจุดยืนที่ถูกต้อง ในการพัฒนาพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ รวมทั้งไม่มีหลักฐานว่าอิหร่าน ได้ละเมิดสนธิสัญญา NPT
โครงการโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์อิร่าน อาจจะเป้าหมายแฝงเร้นในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เหมือนที่ นอม ชอมสกี้ กล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยคำพูดของ Martin van Creveld นักประวัติศาสตร์การทหารอิสราเอลชั้นนำคนหนึ่งว่า หลังจากสหรัฐรุกรานอิรักแล้ว “ถ้าอิหร่านไม่พยายามสร้างอาวุธนิวเคลียร์ พวกเขาต้องเป็นพวกบ้าบอ” [1]
ในการทำความเข้าใจถึงการพัฒนาและความซับซ้อนของสถานการณ์นี้ จะเริ่มจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ Bushehr และอีกสองแห่งของอิหร่าน ที่รวบรวมโดย Mark Gaffney นักวิจัยและนักเคลื่อนไหวต่อต้านสงคราม
 
เตาปฏิกรณ์ที่ Bushehr
 
โรงงานไฟฟ้าปรมาณู Bushehr มีประวัติยาวนาน โครงการนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2517 โดยชาห์ เรซา ปาลาวี แผนงานดั้งเดิมเป็นการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์ขนาด 1200 - 1300 เมกกะวัตต์ทางชายฝั่งทะเลทางใต้ ผู้รับเหมา คือ บริษัทซีเมนต์ ที่มีชื่อเสียงของเยอรมัน เมื่อเกิดการปฏิวัติอิหร่านในปี 2522 โครงการได้เสร็จสิ้นไปประมาณ 85% และโครงงานนี้ต้องหยุดชะงักจากการเปลี่ยนแปลงอำนาจการปกครองจากการปฏิวัติครั้งนี้ ต่อมาช่วงระหว่างสงครามกับอิรัก เตาปฏิกรณ์ที่สร้างไม่เสร็จนี้ ได้ถูกทิ้งระเบิดซ้ำและเสียหายอย่างรุนแรง หลังจากสงครามยุติอิหร่านพยายามเรียกบริษัทซีเมนต์ มาทำการก่อสร้างให้เสร็จสิ้น แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากสหรัฐเข้ามาขัดขวางและกดดันอย่างรุนแรงต่อรัฐบาลเยอรมัน

จนกระทั่งปี 2538 อิหร่านได้ลงนามสัญญามูลค่า 800 ล้านเหรียญกับ Minatom ของรัสเซียในการสร้างเตาปฏิกรณ์ - 1 และได้ทำงานที่โรงงานตั้งแต่นั้นมา โครงการพบปัญหาทางเทคนิคและล่าช้า วิศวกรรัสเซียถูกบังคับให้ ปรับปรุงการออกแบบเดิมของเยอรมัน แต่ปัญหาทั้งหมดได้ปรากฏออกมา เตาปฏิกรณ์ - 1 ได้ลดขนาดลงเล็กน้อยเป็น 1000 เมกกะวัตต์ และเสร็จสมบูรณ์ โดยจะสามารถเดินเครื่องได้ในเดือนธันวาคม 2546 เตาปฏิกรณ์ - 1 เป็นเพียงจุดเริ่มต้น อิหร่านมีแผนเพิ่มเตาปฏิกรณ์ขนาด 1000 เมกกะวัตต์อีก 5 ชุด อิหร่านได้รับเทคโนโลยีนิวเคลียร์จาก จีน รัสเซีย และชาติอื่นๆ อีกหลายชาติ แต่รัสเซียเป็นผู้ส่งมอบหลักตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990
รัสเซียต่อต้านความกดดันของสหรัฐที่ให้ยกเลิกโครงการ รัสเซียอ้างว่าต้องการเงินตราต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งของ Minatom อ้างว่า โครงการนี้สร้างงานให้ชาวรัสเซีย 20,000 คนตามสัญญาที่จะมีมากขึ้น รัสเซียมุ่งไปสู่การขยายความสัมพันธ์ด้านนิวเคลียร์และปฏิเสธคำเรียกร้องของสหรัฐ โดยรัสเซียจะให้ความเคารพอย่างชัดเจนกับการค้ากับอิหร่าน ในฐานะชาติที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี
รัสเซียปฏิเสธความต้องการของสหรัฐสำหรับการตรวจสอบพิเศษด้วย รัสเซียชี้ว่าเตาปฏิกรณ์จะได้รับการตรวจสอบ จากสำนักงานพลังงานปรมาณูนานาชาติ (International Atomic Energy Agency หรือ IAEA) IAEA เยี่ยม Bushehr และสถานที่สงสัยอื่นหลังจากสงครามอ่าวครั้งแรก และล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2546 พร้อมกับรายงานว่าไม่มีการละเมิด แต่สหรัฐยังไม่ยอมรับ IAEA จึงต้องการตรวจสอบโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ของอิหร่านเพิ่มเติม แต่อิหร่านปฏิเสธ
ขณะที่ รัสเซียเห็นด้วยกับการตัดวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่ของข้อตกลงในการถ่ายทอดเทคโนโลยี gas centrifuge โดยใช้เตาปฏิกรณ์ light water ที่จะใช้เชื้อเพลิงยูเรเนียมเสริมสมรรถนะต่ำ (low enriched uranium) หรือ LEU ที่ส่งมอบโดยรัสเซีย เชื้อเพลิง LEU ไม่เหมาะสมกับการสร้างระเบิด รัสเซียมีอีกข้อเสนอ คือ ส่งคืนเตาปฏิกรณ์เดิมไปเก็บไว้ในรัสเซีย นี่จะเป็นการลดความเสี่ยงของแพร่กระจายพลูโตเนียม (Christine Kucia, “Russia, Iran Finalize Spent Fuel Agreement,” Arms Control Today, January/February 2003)
ตั้งแต่การรื้อฟื้นโครงการนี้ในปี 2538 อิหร่านต้องตอบโต้กับข้อสงสัยในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ประธานาธิบดีอิหร่าน อาลี อักบา ราฟซันจานี บอกกับสำนักข่าว ABC ว่าอิหร่านไม่ได้แสวงหาอาวุธนิวเคลียร์ ราฟซันจานีท้าทายผู้วิจารณ์ให้เสนอหลักฐานโครงการระเบิดลับ จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2545 ประธานาธิบดีอิหร่าน โมฮัมหมัด คาตามิ ระบุว่าประเทศของเขามีความมุ่งหวังในการเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิง ไปยังรัสเซียเพื่อแสดงความเชื่อมั่นที่ดี และแสดงว่าประเทศของเขาไม่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เจ้าหนาที่อิหร่านเน้นหนักว่า เตาปฏิกรณ์ Bushehr เป็นความจำเป็นเร่งด่วนในเสริมความขาดแคลนกำลังการผลิตไฟฟ้า อิหร่านเหมือนกับประเทศอื่น ที่ต้องการไฟฟ้าสำหรับการพัฒนา
อิสราเอลและสหรัฐไม่ได้ระงับโทสะ เจ้าหน้าที่อิสราเอลตั้งคำถามว่า ทำไมอิหร่าน ซึ่งมีน้ำมันอย่างเหลือเฟือ จึงต้องการเตาปฏิกรณ์ในการผลิตไฟฟ้า ถ้าพวกเขาเชื่อว่า พลังงานนิวเคลียร์เป็นคำตอบในระยะยาวสำหรับความจำเป็นของเขา พลังงานนิวเคลียร์ไม่มีความเหมาะสมกับอิหร่าน ด้วยเหตุผลเดียวกันว่า ไม่มีความเหมาะสมกับรัฐใดๆ รวมถึงสหรัฐ ทั้งนี้รวมถึงความเสี่ยงของอุบัติเหตุ และการก่อการร้าย ปัญหาการจำกัดกากนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม เชื้อเพลิงปรมาณูสามารถดัดแปลงสำหรับกระบวนการใหม่และการสร้างระเบิด อิหร่านจำเป็นต้องเข้าใจว่าความเบี่ยงเบนเช่นนี้จะนำไปสู่การคุกคาม
Arak และ Natanz
 
เมื่อเดือนสิงหาคม 2545 กลุ่มต่อต้านสาธารณรัฐอิสลาม National Council of Resistance of Iran (NCRI) ได้เปิดการแถลงข่าวในวอชิงตันดีซี รายงานว่ามีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์นิวเคลียร์อีก 2 แห่งในอิหร่านที่ไม่ทราบมาก่อนหน้านี้ แห่งแรกที่ Arak ห่างจากเตหะรานไปทางใต้ 150 ไมล์ เชื่อว่าเป็นโรงงานสำหรับผลิต heavy-water อีกแห่งที่ Natanz ประมาณ 100 ไมล์ทางเหนือของ Esfahan อาจจะเป็นโรงงานยูเรเนียมเสริมสมรรถนะ (uranium-enrichment) ทั้ง 2 แห่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง การวิเคราะห์ภาพสถานที่ของ Natanz จากดาวเทียมแสดงว่า บางส่วนของโรงงานกำลังก่อสร้างระดับในดิน และหุ้มด้วยกำแพงคอนกรีตหนา
หลายวันต่อมา เจ้าหน้าที่อิหร่านยอมรับสถานที่นั้น พวกเขาแถลงว่าเป็นแผนระยะยาว สำหรับการผลิตเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ครบวงจร ในอีกความหมาย อิหร่านมุ่งมั่นในการพัฒนาสมรรถนะกระบวนการเชื้อเพลิงของตัวเอง ประเทศนี้มีแร่ยูเรเนียมดิบมากมาย ในเดือนมีนาคม 2546 เจ้าหน้าที่อิหร่านแถลงว่า โรงงานผลิตเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ Natanz ใกล้ Esfahan เสร็จแล้ว และจะเริ่มการผลิตในไม่ช้า (Paul Kerr, “IAEA ‘Taken Aback’ By Speed Of Iran's Nuclear Program,” Arms Control Today, April 2003)
ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความมุ่งมั่นด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน heavy-water ใช้เป็นตัวกลางของเตาปฏิกรณ์บางประเภท ปัญหาคือ เตาปฏิกรณ์ประเภทนี้ใช้ในการผลิตพลูโตเนียมสำหรับการสร้างระเบิดได้ อิสราเอลทราบถึงการสร้างพลูโตเนียมสำหรับปืนใหญ่นิวเคลียร์จากเตาปฏิกรณ์ประเภทนี้ ขณะที่ เตาปฏิกรณ์ที่ Bushehr ได้รับการออกแบบพิเศษเพื่อใช้ light-water เพื่อทำให้การฟื้นเป็นพลูโตเนียมยากขึ้น ทำไมอิหร่านยังมีความต้องการ heavy-water เมื่อเตาปฏิกรณ์ light-water สามารถให้ไฟฟ้าตามความต้องการได้โปร่งใสกว่า? โรงงาน heavy-water แสดงนัยว่ามีเตาปฏิกรณ์ heavy-water เพียงแต่ยังไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน
เช่นเดียวกัน ทำไมอิหร่านต้องการโรงงานยูเรเนียมเสริมสมรรถนะ ในขณะที่รัสเซียจะให้เชื้อเพลิง LEU สำหรับเตาปฏิกรณ์ Bushehr และสามารถทำแบบเดียวกันกับเตาปฏิกรณ์ในอนาคต? ทำไมการสร้างที่ Natanz เป็นการสร้างใต้ดิน? ทำไมพวกเขาเสริมความแข็งแรง? ความจริง คือ ถ้าอิหร่านกำลังสร้างโรงงานยูเรเนียมเสริมสมรรถนะ หมายความว่าอิหร่านมีเทคโนโลยี gas centrifuge แล้วใครเป็นผู้ส่งมอบ?
ขณะที่ไม่มีหลักฐานว่าอิหร่านละเมิดสนธิสัญญา NPT แต่ความจริง NPT กำหนดให้ผู้ลงนามแต่ละรายต้องทำตามกฎของ IAEA สถานที่ตั้งนิวเคลียร์ทั้งสองที่เปิดเผยจึงเป็นเป้าหมายในการตรวจสอบของ IAEA อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงกับอิหร่าน IAEA ไม่ต้องการตรวจสอบโรงงานใหม่จนกระทั่ง 6 เดือนก่อนที่วัตถุดิบนิวเคลียร์มาถึงครั้งแรก โรงงานที่ Arak และ Natanz ยังห่างจากการสร้างเสร็จสมบูรณ์มากกว่า 6 เดือนในขณะที่เป็นข่าวออกมา ดังนั้น จึงไม่เป็นละเมิดข้อตกลงนี้ แต่ยังคงมีคำถามว่า ทำไมอิหร่านไม่รายงานให้ IAEA เกี่ยวกับโรงงานเหล่านี้ แต่มาจาก NCRI ความจริงถ้าอิหร่านมุ่งสู่การสร้าง LEU ด้วยตัวเองจะสร้างความโปร่งใสมากกว่าปัญหา ถึงแม้ว่า Natanz ได้รับการตรวจตามปกติ อะไรจะหยุดอิหร่านจากพัฒนายูเรเนียมเสริมสมรรถนะเป็นระดับอาวุธได้ เช่น มากกว่า 90% อยู่ในสถานที่ซ่อนเร้น? ผู้นำอิหร่านกำลังเล่นเกมอันตรายอย่างชัดเจนที่ยืนอยู่ตามตัวอักษรของ NPT แต่กำลังสร้างโครงสร้างพื้นฐานนิวเคลียร์ ที่สามารถใช้สร้างระเบิดได้ในอนาคต [2]
ความพยายามโจมตีทางทหารของอิสราเอล
อิสราเอลเป็นชาติที่ระเบิดนิวเคลียร์มากถึง 100 - 200 ลูกในปี 2546 ซึ่งมากกว่าฝรั่งเศสและอังกฤษ ระบบการโจมตี ได้แก่ เครื่องบิน F-15 และ F-16 ขีปนาวุธพื้นดิน Jericho และขีปนาวุธ Harpoon จากเรือดำน้ำ นักวิจัยตะวันตกประมาณว่า อิสราเอลมีขีปนาวุธ Harpoon 120 ลูกที่สามารถยิงจากเรือดำน้ำ จึงมีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ต่อชาติอาหรับ
12 ตุลาคม 2546 สำนักข่าว Haaretz อ้างข้อมูลจาก Der Spiegel ฉบับ 10 ตุลาคม 2546 ที่รายงานว่า อิสราเอลเตรียมตัวโจมตีอิหร่านต่อสิ่งอำนวยความสะดวกที่ใช้ในโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศ ตามรายงานนี้กล่าวว่า เจ้าหน้าอิสราเอลกลัวว่า โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านได้มีการวิจัยในระดับสูง และหน่วยพิเศษ Mossad ได้รับคำสั่งให้จัดทำแผนการโจมตี โรงงานของโครงการอาวุธนิวเคลียร์ในอิหร่านตามรายงาน Mossad เชื่อว่า อิหร่านมีความสามารถผลิตอาวุธระดับ ยูเรเนียม และได้สั่งหน่วยพิเศษเมื่อ 2 เดือนก่อนในเตรียมแผนด้านลึก และรายละเอียดสำหรับการโจมตี นิตยสารได้อ้างคำพูดของนักบินเครื่องบินรบ บอกว่า ภารกิจมีซับซ้อน แต่ทางเทคนิคเป็นไปได้ รายงานได้กล่าวอีกว่า อิสราเอลมีสารสนเทศเกี่ยวกับ โรงงานนิวเคลียร์ 6 แห่งในอิหร่าน ซึ่ง 3 แห่งไม่เคยทราบมาก่อน และแผนเป็นการใช้เครื่องบิน F16 โจมตีโรงงานทุกแห่งพร้อมกัน [3]
อิสราเอลเคยทิ้งระเบิดทำลายโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ Osirak ใกล้กรุงแบกแดด ในอิรัก ในปี 2524 ด้วยความกังวลต่อการนำไปพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ จึงไม่น่าแปลกใจถ้าอิสราเอลจะใช้ปฏิบัติการทางทหารกับอิหร่าน
ภายหลังการทดลองขีปนาวุธ Shahab-3 พิสัย 1,250 ไมล์ของอิหร่าน Rupert Cornwell ของ The Independent อังกฤษ เสนอบทวิเคราะห์ในเดือนกรกฎาคม 2551 มีความเป็นได้ว่า อิสราเอลอาจจะโจมตีในช่วงปลายปี เนื่องจากรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี Ehud Olmert กำลังเผชิญกับข้อหาคอร์รัปชัน การโจมตีอิหร่านอาจจะเป็นทางออก [4]
ปัจจุบัน รัฐบาลของ Benjamin Netanyahu กำลังเผชิญกับท้าทายของประชาชนอิสราเอลอย่างรุนแรง ในเดือนกรกฎาคม 2554 มีการเดินขบวนและชุมนุมที่จัดทั่วประเทศในประเด็นความยุติธรรมของสังคมที่ได้ดึงประชาชนหลายแสนคนมาบนท้องถนนในหลายเมือง มีการชุมนุมและปักหลักตั้งเต็นท์ยืดเยื้อประมาณ 5 สัปดาห์ และยุติลงเนื่องจาก การโจมตี Eilat ทางภาคใต้ของฉนวนกาซา จึงเกรงว่าการตั้งเต็นท์ประท้วงต่อไปอาจจะไม่ปลอดภัย [5]
ในเดือนกันยายน ชาวอิสราเอลประมาณ 430,000 คนได้ออกมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมของสังคม ค่าครองชีพต่ำ และรัฐบาลต้องตอบสนองชัดเจนกับความกังวลที่บีบคั้นชนชั้นกลาง [6] การชุมนุมนี้อาจจะได้รับแรงบันดาลมาจาก “ฤดูใบไม้ผลิในอาหรับ” และ “ฤดูใบไม้ร่วงในชิลี” เพราะแกนการเคลื่อนไหวกลุ่มหนึ่งคือ สหภาพนักศึกษาอิสราเอลแห่งชาติ (National Union of Israeli Students)
ด้านสหรัฐมีปฏิบัติการลับยาวนานในการแทรกแซงอิหร่าน โดยเน้นไปที่กลุ่มชาวคูร์ด (Kurds) อัสซูรี่ (Azeris) ซึ่งเป็นเชื้อสายของ มูซาวี่ ผู้สมัครแข่งขันประธานาธิบดีครั้งที่แล้วที่นำการเคลื่อนไหว “เขียว” และบาลูชิส (Baluchis) ที่เป็นชนกลุ่มน้อยในอิหร่านเพื่อสร้างขบวนการต่อต้านรัฐบาลอิหร่าน [7]
ปฏิบัติการอิหร่านที่ยังไม่เกิดขึ้นมีคำอธิบายว่ามาจากความกังวล “ผลกระทบอิหร่าน” นอม ชอมสกี้ อ้างรายงานการศึกษาของ “ผลกระทบอิหร่าน” โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้าย Peter Bergen และ Paul Cruickshank โดยการใช้ข้อมูลของรัฐบาลและ Rand Corporation การรุกรานอิรักได้นำไปสู่การเพิ่มการก่อการร้าย 7 เท่า “ผลกระทบอิหร่าน” อาจจะผลกระทบมากกว่าและยาวนาน Corelli Barnett นักประวัติศาสตร์การทหารอังกฤษเตือนว่า “การโจมตีอิหร่านจะมีผลทำให้เกิดสงครามโลก” [8]
 
แต่การโจมตีอิหร่านจะทำให้อิหร่านหยุดยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้จริงหรือ จากรายงานของผู้ตรวจสอบอาวุธอิรักพิเศษของสหประชาชาติ ภายหลังสงครามอ่าวเปอร์เซีย ปี 2533 กลับพบหลักฐานว่า ซัดดัม ฮุสเซน ได้มีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างลับๆ ตลอดมา หลังจากอิสราเอลทิ้งระเบิดทำลายโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ในกรณีของอิหร่าน เชื่อว่าไม่สามารถหยุดยั้งได้เช่นกัน
ผลต่อเนื่องจากการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์อิหร่าน
สำนักข่าว YNET ของอิสราเอลรายงานว่า อิหร่าน กล่าวหาว่า สหรัฐและอิสราเอลเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารครั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน Ali Akbar Salehi กล่าวว่า ประเทศของเขาได้รับ “เอกสารน่าเชื่อถือที่พิสูจน์ว่าการโจมตีครั้งนี้มีการวางแผน ควบคุม และสนับสนุนโดยซีไอเอ” นอกจากนี้ เขาได้ทำหนังสือประท้วงอย่างเป็นทางการต่อสถานทูตสวิสในอิหร่าน ซึ่งดูแลกิจการสหรัฐในพื้นที่นี้
รวมทั้งกล่าวหาอังกฤษว่ามีส่วนร่วม โดยอ้างว่าการลอบสังหารเกิดขึ้นในช่วงอันสั้น หลังจากอังกฤษประกาศเองว่า “ได้เริ่มต้นปฏิบัติการข่าวกรองต่อต้านอิหร่าน...”
ทางด้านสหรัฐ Tommy Vietor โฆษกทำเนียบขาว กล่าวว่า สหรัฐ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้ นอกจากนี้ Vietor เพิ่มเติมว่า สหรัฐประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ
ประธานาธิบดีอิสราเอล Shimon Peres ได้ให้ความเห็นกับเหตุการณ์นี้ ผ่าน CNN Spanish ว่า ในการรับรู้ของเขา อิสราเอลไม่เกี่ยวข้องกับการลอบสังหาร [9]
สหรัฐเรียกร้องนานาชาติคว่ำบาตรอิหร่านด้านเศรษฐกิจ ด้วยการเลิกซื้อน้ำมันอิหร่าน แต่ประเทศในเอเชีย คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยังไม่มีความกระตือรือร้น
ขณะเดียวกัน สหรัฐยังไม่มีการเคลื่อนไหวทางทหารมากนักที่จะก่อสงคราม ขณะนี้มีเพียง เรือบรรทุกเครื่อง 2 ลำ USS Carl Vinson และ USS John Stennis พร้อมเรือสนับสนุนที่ลาดตระเวนบริเวณนั้น และทหารในคูเวต 15,000 นาย ซึ่งไม่เพียงพอต่อการทำสงครามกับอิหร่าน สงครามอิรักในครั้งที่แล้ว สหรัฐใช้ทหารมากถึง 150,000 นาย
ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันกลางเห็นว่า อิสราเอลพยายามกระตุ้นให้อิหร่านโกรธและเป็นฝ่ายโจมตีก่อน
Robert Baer อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเออาวุโส ผู้ทำงานในตะวันออกกลางนาน 21 ปี ได้พูดในรายการ “Hardball” ของ MSNBC เมื่อคืนวันที่ 12 มกราคม เขาเชื่อว่าอิสราเอลการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์อิหร่านเป็นความพยายามกระตุ้นอิหร่านให้โจมตีกลับและดึงสหรัฐเข้าสู่สงครามเต็มรูปแบบ
ในวันเดียวกัน Baer ได้พูดถึงเรื่องเดียวกันกับ Guardian/UK โดย Baer โต้แย้งว่า ผลกระทบของตัวโครงการนิวเคลียร์เองมีน้อยมาก ไม่น่าจะนำมาสู่เป้าหมายการรณรงค์ลอบสังหาร
“นี่เป็นกระตุ้น” เขากล่าวว่า “ทฤษฎีของผมคือ อิสราเอลไม่สามารถทำให้ทำเนียบขาวเห็นด้วยกับการทิ้งระเบิด นี่ไม่ใช่การแทรกแซงน่าพึงพอใจ ดังนั้น อิสราเอลกำลังพยายามกระตุ้นอิหร่านให้เปิดการโจมตีด้วยขีปนาวุธและเริ่มสงคราม” [10]
ผลกระทบกับประเทศไทย
ประเทศไทย ได้ตอบสนองต่อคำเตือนเรื่องการก่อการร้ายในประเทศไทยของสหรัฐในทันที ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ด้วยการแถลงข่าวจับกุมผู้ก่อการร้ายฮีสบันเลาะห์ ชาวเลบานอน พร้อมกับการขยายผลด้วยการตรวจค้นอาคารเก็บปุ๋ยที่เป็นวัตถุดิบผลิตระเบิด กลุ่มฮีสบันเลาะห์เป็นกลุ่มที่อิหร่านสนับสนุน ปฏิบัติการของกลุ่มย่อมได้รับการประเมินว่าเชื่อมโยงกับอิหร่าน
ข่าวการก่อการร้ายในประเทศไทยเกิดขึ้นในช่วงความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับสหรัฐและอิสราเอลแหลมคม เรื่องนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง จึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ
ประการแรก ชาวเลบานอนไม่ใช่สมาชิกกลุ่มฮิสบันเลาะห์ทุกคน สหรัฐก็มีความสัมพันธ์กับซุนหนี่จิฮัด เลบานอนที่เชื่อมโยงกับอัลกออิด๊ะ (ในรายงานของซีไอเอ) ที่ร่วมมือกันปฏิบัติงานในดินแดนอิหร่านอยู่ด้วยเช่นกัน [11] ถ้าสหรัฐจะส่งกลุ่มนี้มาปฏิบัติการในไทยย่อมเป็นได้เช่นกัน ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อลดความชอบธรรมของอิหร่าน
ประการต่อมา การป้องกันตัวจากการก่อการร้ายนั้น ไม่หลักประกันในความสำเร็จ 100% เรายังพบว่าเกิดระเบิดในยุโรปหลายครั้ง ทั้งที่มีการป้องกันเข้มแข็ง สำหรับกรณีนี้ การป้องกันที่ดีคือ รักษาสมดุลท่ามกลางความขัดแย้ง ดังนั้น ท่าทีควรเป็น “เราไม่เคยเป็นศัตรูกับใคร ดังนั้น ไม่ควรจะมีใครจะมาก่อเหตุในประเทศของเรา”
ภายใต้สถานการณ์ซับซ้อน รัฐบาลควรจะตอบสนองกับสถานการณ์อย่างเหมาะสม แม้กระทั่ง จำเลยของอิหร่าน ยังตอบว่า “ไม่เกี่ยวข้อง” ถ้า ร.ต.อ.เฉลิม ต้องการแสดงบทบาทด้านความมั่นคงแล้ว ไม่ควรจะมีบทบาทในสถานการณ์อันซับซ้อนเช่นนี้ แต่ควรแสดงบทบาทด้านความมั่นคงด้านอื่นที่ไม่ซับซ้อน เช่น ตามจับ “พวกหมิ่นสถาบัน” ก็พอแล้ว
 
อ้างอิง
[1] Noam Chomsky, "Preemptive War on Iran", 6 April 2007, http://www.tomdispatch.com/index.mhtml?pid=182214
[2] Mark Gaffney, "Will Iran Be Next?", 5 August 2003, http://www.informationclearinghouse.info/article3288.htm
[3] Nathan Guttman, Haaretz Correspondent, "Report: IDF planning to attack nuclear sites in Iran", 12 October 2003, http://www.informationclearinghouse.info/article4956.htm
[4] Rupert Cornwell, The Independent (UK), "Israel hints at pre-emptive attack on Iran", 11 July 2008, http://www.independent.co.uk/news/world/middle-east/israel-hints-at-preemptive-attack-on-iran-865068.html
[5] Harriet Sherwood, "Israel tent protests called off after Eilat attacks", 18 August 2011, http://www.guardian.co.uk/world/2011/aug/18/israel-tent-protests-called-off
[6] Harriet Sherwood, "Israeli protests: 430,000 take to streets to demand social justice", 4 September 2011, http://www.guardian.co.uk/world/2011/sep/04/israel-protests-social-justice
[7] Tom Engelhardt, "Neocons in Cheney's Office Fund al Qaeda-Tied Groups ... and No One Cares?", 17 March 2007, http://www.alternet.org/waroniraq/49275/
[8] Noam Chomsky, อ้างแล้วใน [1]
[9] Common Dreams staff, "Report: US Preparing for an Israeli Strike on Iran", 14 January 2012, http://www.commondreams.org/headline/2012/01/14
[10] Common Dreams staff, "War Clouds Darken: Russia Warns of US Strike on Iran", 12 January 2012, http://www.commondreams.org/headline/2012/01/12-5
[11] Tom Engelhardt, อ้างแล้วใน [7]
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////