--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

สัมภาษณ์พิเศษ สก็อต ธอมป์สัน (Scott Thompson) ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศ .

ศาสตราจารย์เกียรติคุณสก็อต ธอมป์สัน (Professor Emeritus W. Scott Thompson) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคง ที่เคยมีผลงานในรัฐบาลสหรัฐอเมริกามาแล้วมากมาย

ประวัติของ Scott Thompson

ศาสตราจารย์สก็อต ธอมป์สัน จบการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด (โดยได้ทุน Rhodes Scholar) สาขาที่เชี่ยวชาญคือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความมั่นคง การทหาร การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน
ศาสตราจารย์สก็อต ธอมป์สัน เคยสอนวิชาการเมืองระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ และสอนด้านกฎหมายและการทูตที่วิทยาลัยเฟลทเชอร์ มหาวิทยาลัยทัฟท์ เคยเป็นที่ปรึกษาให้กระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ เขาเคยร่วมรัฐบาลเรแกน โดยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ระหว่างปี 1975-1976) และผู้ช่วยผู้อำนวยการของ US Information Agency ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการประชาสัมพันธ์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ (ปัจจุบันหน่วยงานยุบรวมกับหน่วยงานอื่นแล้ว เขาดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1982-1984)

ผลงานภาคเอกชน ศ. สก็อต ธอมป์สัน เป็นประธานของบริษัทที่ปรึกษาระหว่างประเทศ Strategic Research Associates ในสายงานวิชาชีพ เขาเป็นสมาชิกของคลังสมองด้านนโยบายต่างประเทศที่มีชื่อเสียงคือ Council on Foreign Relations ของสหรัฐและ International Institute for Strategic Studies
ศาสตราจารย์สก็อต ธอมป์สัน มีความเชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพิเศษ ในอดีตเคยได้รับตำแหน่ง SEATO Fellowship และเคยเป็นที่ปรึกษาให้กับประธานาธิบดีรามอสแห่งฟิลิปปินส์ กระทรวงการต่างประเทศของไทย และหน่วยงานภาครัฐบาลของอินโดนีเซีย สก็อต ธอมป์สัน กำลังจะมีผลงานหนังสือชีวประวัติของประธานาธิบดีรามอส ออกวางจำหน่ายในเร็วๆ นี้
อ่านประวัติอย่างละเอียดของ Scott Thompson

ในโอกาสที่สก็อต ธอมป์สัน มาเยือนประเทศไทยรอบล่าสุด SIU มีโอกาสเข้าสัมภาษณ์ในหัวข้อที่เกี่ยวกับอาเซียน สถานการณ์การเมืองไทย และนโยบายด้านการต่างประเทศของไทย

Prof. Emeritus W. Scott Thompson
Prof. Emeritus W. Scott Thompson

บทสัมภาษณ์ Scott Thompson

ถาม: ในฐานะที่คุณมีความเชี่ยวชาญเรื่องประเทศไทยไม่น้อย มีมุมมองอย่างไรต่อสถานการณ์ในประเทศไทย

ตอบ: กรุงเทพฯ เปลี่ยนจากเดิมไปมากจนผมหลงทาง มาประเทศไทยรอบนี้ผมกำลังพยายามเรียนรู้สถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพใหม่อีกครั้ง

ปัญหาที่แย่ที่สุดของประเทศไทยในรอบ 15 ปีหลังคือการกระจายรายได้ โดยค่า Gini coefficient (ดัชนีวัดการกระจายรายได้ของประเทศ) เพิ่มขึ้น 20%

ปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่พยากรณ์ได้ถ้าเศรษฐกิจของประเทศนั้นเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่โดยทั่วไปแล้ว ประเทศที่เผชิญปัญหาลักษณะนี้ จะมีแรงกดดันทางสังคมต่อความไม่เท่าเทียมของรายได้ให้กลับมาสู่ภาวะที่ไม่ตึงจนเกินไป เกิดเป็นวัฏจักรทางสังคม ซึ่งอธิบายได้ด้วยทฤษฎี Kondratiev cycle วัฎจักรแบบนี้เคยเกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกาเช่นกัน

คำถามที่สำคัญของประเทศไทยก็คือ ทำไมแรงกดดันทางสังคมที่จะทำให้รายได้กลับมาเท่าเทียมเกิดขึ้นช้ามาก เดิมทีประเทศไทยไม่ได้มีค่า Gini แย่ขนาดนี้ ปรากฎการณ์นี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีมาแล้วเท่านั้น
ผมเพิ่งอ่านหนังสือเกี่ยวกับประเทศปากีสถาน ซึ่งมีค่า Gini ดีมาก แต่สาเหตุเกิดจากความบังเอิญ เพราะผู้นำชาติพันธ์ต่างๆ จำเป็นต้องกระจายความมั่งคั่งให้กับบริวารของพวกเขา เพื่อที่จะรักษาความเป็นผู้นำต่อไปได้

เพื่อนๆ ปัญญาชนของผมทุกคนที่อยู่ในเมืองไทย ต่อต้านการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ถ้าพิจารณาจากสถานะทางสังคมของพวกเขา และผลประโยชน์ที่พวกเขาได้รับ ก็เป็นธรรมชาติที่จะเข้าข้างฝ่ายเสื้อเหลือง คนกลุ่มที่ผมหมายถึงนี้เป็นปัญญาชนระดับสูงสุดของไทย ซึ่งจบการศึกษาปริญญาเอกจากอ๊อกซฟอร์ด เคมบริดจ์ ฮาร์วาร์ด

ดังนั้นปัญญาชนกลุ่มที่จะเห็นด้วยกับเสื้อแดง จึงเป็นปัญญาชนรุ่นใหม่ที่ปรับความคิดได้ง่ายกว่า นี่เป็นเรื่องของคนแต่ละรุ่น

ถาม: สาเหตุของการกระจุกตัวของรายได้ เกิดจากสภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ของประเทศไทย ที่มีลักษณะรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพหรือเปล่า

ตอบ: หนังสือที่อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างดีคือหนังสือของผาสุก พงษ์ไพจิตร ที่อธิบายว่าทำไมทุกอย่างในประเทศไทยถึงมารวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพ

ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ทุกประเทศในอาเซียนต้องเผชิญ ทางออกหนึ่งที่เป็นไปได้อาจเป็นการสร้างศูนย์อำนาจใหม่ขึ้นมาแข่งกับกรุงเทพ ตัวอย่างที่น่าสนใจของการกระจายอำนาจในอาเซียนคืออินโดนีเซีย ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะสภาพภูมิศาสตร์ แต่ส่วนหนึ่งก็มาจากนโยบายของอินโดนีเซียเอง อินโดนีเซียมีเมืองคู่แข่งด้านศูนย์อำนาจอย่าง “ยอกยาการ์ตา” (Yogyakarta) ซึ่งยังมีสุลต่านปกครอง มาแข่งกับจาการ์ตา (Jakarta) ทำให้นักการเมืองที่ต้องการอำนาจปกครองประเทศต้องแบ่งทรัพยากรมาสนับสนุนยอกยาการ์ตาด้วย

ตัวอย่างการกระจายความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจคือ ธุรกิจขนาดเล็ก (SME) ทำลายพรมแดนระหว่างประเทศ และมองหาทรัพยากรจากต่างชาติ หรือที่ตั้งที่ตัวเองจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (competitive advantage) ได้มากที่สุด ซึ่งปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาอาจใช้วิธีนี้ ในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเริ่มเกิดปรากฎการณ์ SME หันไปดำเนินธุรกิจที่เกาะอื่น และถ้าภาครัฐเปิดไฟเขียว ช่วยสนับสนุน ธุรกิจเหล่านี้จะออกไปเองโดยธรรมชาติ

ถาม: คุณค่อนข้างเชี่ยวชาญด้านอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ไม่ทราบว่ามีมุมมองต่อสภาพสังคมของสองประเทศนี้อย่างไรบ้าง

ตอบ:  เพื่อนชาวฟิลิปปินส์เคยบอกกับผมว่า อินโดนีเซียมีอุดมการณ์ด้านชาตินิยมที่เข้มแข็งกว่ามาก เหตุผลก็เพราะในปี 1927 ในการประชุมสภาของพรรคชาตินิยมอินโดนีเซีย ได้เลือกภาษาของชนเผ่าเล็กๆ ที่มีรากมาจากภาษาตระกูลมาเลย์ที่พูดกันในแถบนั้น (หมายถึงภาษา Riau ซึ่งภายหลังถูกเรียกว่า Bahasa Indonesia – รายละเอียดดูใน Wikipedia) เป็นภาษาประจำชาติ แทนที่จะเป็นภาษาชวาซึ่งเป็นภาษาที่มีคนพูดมากที่สุดในขณะนั้น

กรณีของฟิลิปปินส์นั้นกลับกัน สมัยสร้างชาติฟิลิปปินส์ในฐานะประเทศอิสระ ผู้นำในยุคนั้นเลือกภาษา ฟิลิปิโน (Filipino) ซึ่งพูดโดยชาวตากาล็อก ประชากรกลุ่มหลักของประเทศเป็นภาษาประจำชาติ ผลก็คือประชากรเผ่าอื่นที่อาศัยอยู่ตอนใต้ของเกาะลูซอน (เกาะหลักของฟิลิปปินส์) และเกาะอื่นๆ ไม่ยอมพูดภาษานี้ ทำให้คนในชาติไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

การตัดสินใจของอินโดนีเซียถือเป็นการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ชาญฉลาด และมองผลประโยชน์ระยะยาวเป็นสำคัญ ตอนนี้นโยบายนี้เริ่มจะเห็นผล ผมอายุมากแล้ว สิ่งที่ผมเห็นมาคือผลเสียของนโยบายแต่ละอย่างที่จะแสดงออกมาในระยะยาวหลายสิบปี นโยบายที่ดีจะเป็น “ตัวคูณ” ให้ประเทศได้ประโยชน์มากขึ้น

ถาม: นโยบายของสหรัฐอเมริกาต่ออาเซียนในขณะนี้เป็นอย่างไร และในอนาคตสหรัฐควรวางตัวอย่างไร ควรจะเข้ามาในอาเซียนมากขึ้นเพื่อถ่วงดุลกับจีนหรือเปล่า?

ตอบ: คำตอบของคำถามหลังสุดคือ “ไม่” เพราะอเมริกาไม่สามารถเข้ามาเกี่ยวข้องกับอาเซียนเพื่อถ่วงดุลจีนได้

ส่วนคำตอบของคำถามแรกต้องย้อนกลับไปที่รากเหง้าของอาเซียน อาเซียนเป็นองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลสหรัฐ ในกรณีที่สหรัฐจะต้องถอนตัวออกจากสงครามเวียดนาม ก่อนจะพัฒนาตัวมาเป็นองค์กรระหว่างประเทศอย่างแท้จริงในภายหลัง

ผมรู้สึกมหัศจรรย์มากที่อาเซียนมาได้ถึงขนาดนี้ ในการประชุม UN ครั้งหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ UN เคยให้ความเห็นกับผมว่า อาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่ทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดีมากกลุ่มหนึ่ง เป็นรองก็แต่กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียเท่านั้น แต่นั่นก็เพราะสแกนดิเนเวียทำงานร่วมกันมานานมากแล้ว
ตอนนี้สหรัฐให้ความสำคัญกับอาเซียนมากขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเรา (หมายถึงฮิลลารี คลินตัน) มาเยือนอาเซียนหลายครั้ง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศก็เข้ามามีบทบาทไม่น้อย

แต่ในภาพรวม นโยบายต่างประเทศของเราคือไม่ต้องการแข่งกับใคร โดยเฉพาะจีน ไม่ว่าภูมิภาคไหนในโลก ถ้าเลือกได้เราอยากจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนมากกว่า เพราะเราไม่ต้องการเผชิญหน้ากับจีน อาเซียนอาจอยู่ใกล้กับจีนมากกว่า แต่เรามาอยู่ในอาเซียนนานกว่าจีน ผู้บริหารและปัญญาชนของไทยยังไปศึกษาต่อในสหรัฐมากกว่าจีนมาก

บทบาทและความท้าทายสำคัญของอาเซียนคือจะทำอย่างไรต่อสถานการณ์ในพม่า อาเซียนจะเป็นคำตอบที่สำคัญต่อพม่า

ถาม: ช่วงหลังมีข่าวว่าสหรัฐกลับมาให้เงินสนับสนุนใต้โครงการ US AID กับประเทศไทยแล้ว จากที่ว่างเว้นไปนาน นี่เป็นสัญญาณว่าสหรัฐกำลังกลับมามีอิทธิพลในไทยหรือเปล่า

ตอบ: สหรัฐจ่ายเงินสนับสนุนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยผ่าน US AID ในยุค 1960-70s เพราะกังวลว่าประเทศไทยจะเป็น “โดมิโน” ตัวถัดไปในภูมิภาคนี้ นอกเหนือไปจากงบประมาณทางทหารที่สหรัฐช่วยสนับสนุนอยู่ในขณะนั้น

ตอนนั้นเศรษฐกิจไทยมีขนาดเพียงหมื่นล้านดอลลาร์ การให้เงินสนับสนุนหลักร้อยล้านดอลลาร์ถือว่าเป็นสัดส่วนที่เยอะพอตัว แต่ทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยมีขนาดใหญ่กว่าสมัยนั้นหลายเท่า การให้เงินช่วยเหลือจึงมีสัดส่วนน้อยมาก เป็นเรื่องเชิงสัญลักษณ์เสียมากกว่า

สหรัฐเรียนรู้ว่าการให้เงินสนับสนุนผ่านภาคพลเรือน หลายครั้งมีประสิทธิภาพดีกว่าให้ผ่านกองทัพ อย่างไรก็ตามวิธีการเลือกผู้รับเงินบางครั้งก็ไม่มีหลักการตายตัวมากนัก ขึ้นกับบุคคลากรของรัฐบาลในสมัยนั้นรู้จักใครเสียเยอะ

ถาม: ถามแทนคนไทยหลายๆ คนว่า ทำไมสหรัฐถึงใส่ใจพม่ามากขนาดนี้

ตอบ: (คิดไปครู่ใหญ่) มันเหมือนกับว่าเราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นในพม่าได้ ถ้าเรากดดันรัฐบาลพม่ามากพอ

ถ้าให้เทียบ เราไม่สามารถกดดันรัฐบาลซาอุดีอาระเบียว่าปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างไม่เป็นธรรมได้ เพราะเป็นเรื่องศาสนาและวัฒนธรรมที่ตกทอดมานาน การกดดันลักษณะนี้ไม่เกิดในทางปฏิบัติ (practical)
แต่กรณีของพม่า เรารู้สึกว่าเป็นประเทศที่เราสามารถกดดันได้ แต่สุดท้ายเราก็พบว่าข้อสันนิษฐานของเราผิด

เหตุผลหนึ่งที่สหรัฐเห็นว่าสามารถกดดันพม่าได้ ก็เพราะชัยชนะในการเลือกตั้งของอองซานซูจี ในปี 1990 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกับชัยชนะของขบวนการมวลชนในฟิลิปปินส์ (ที่สามารถขับไล่ประธานาธิบดีรามอสในปี 1986) ทำให้เรารู้สึกว่า น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะเดียวกัน เราน่าจะปลุกพม่าให้ตื่นขึ้นได้

บทเรียนสำคัญของเราคือเหล่านายพลในพม่าคือ พวกเขาไม่สนใจโลกภายนอกแม้แต่น้อย พวกเขามีแนวคิดในการบริหารพม่าของตัวเอง เราไม่สามารถคุยกับนายพลพม่าได้ เหล่านายพลของประเทศไทยก็ไม่เคยมีใครประสบความสำเร็จในการพูดคุยอย่างจริงใจกับนายพลของพม่า

ประธานาธิบดีรามอสของฟิลิปปินส์เคยเป็นนายทหารมาก่อน ตามหลักก็น่าจะเข้าใจทหารด้วยกัน แต่การไปเยือนพม่าของรามอสไม่ประสบความสำเร็จเลย เพราะนายทหารของพม่าไม่เปิดใจรับอะไรเลย
บางทีการแก้ปัญหาเรื่องพม่าอาจต้องเป็นเรื่องระยะยาวจริงๆ เพราะยังไงนายพลในรุ่นนี้ก็ย่อมแก่ตายไปสักวัน และรอคนรุ่นใหม่ขึ้นมาแทน

มีหนังสือด้านประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ของ Thomas Kuhn เล่มหนึ่งเขียนไว้ว่า สมัยก่อนคนเชื่อว่าโลกแบน ถึงแม้โคเปอร์นิคัสจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าโลกกลม คนในสมัยนั้นก็ยังเชื่อว่าโลกแบนอยู่นั่นเอง ไม่มีใครเปลี่ยนใจ แต่เมื่อคนรุ่นนี้ตายไป คนรุ่นใหม่ที่ขึ้นมาแทนถึงค่อยเชื่อว่าโลกกลม

ถาม: สาขาที่คุณเชี่ยวชาญอีกด้านคือการต่อต้านการคอร์รัปชัน คุณมีประสบการณ์อย่างไรบ้าง

ตอบ: ข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องสำคัญมาก ในฟิลิปปินส์มีโครงการตรวจสอบนักการเมือง โดยเทียบจำนวนทรัพย์สินที่แจ้งต่อสาธารณะ ต่อทรัพย์สินจริงที่ปรากฏ เช่น แจ้งว่ามีทรัพย์สิน 20 ล้านบาท แต่ภาพถ่ายรถยนต์ในบ้านของนักการเมืองคนนี้พบว่ามีราคารวมกันเกิน 50 ล้านบาท ในฟิลิปปินส์ทำสำเร็จมาแล้ว
วิกิลีกส์เป็นอีกตัวอย่างที่น่าสนใจ ตอนนี้ถือว่าสายเกินไปแล้วที่รัฐบาลสหรัฐจะดำเนินการใดๆ กับข้อมูลที่รั่วออกมาในวิกิลีกส์ เมื่อคนรู้เรื่องเหล่านี้แล้ว เราไม่สามารถเรียกกลับคืนได้ ความรู้เป็นสิ่งถาวร สมมติว่าประเทศไหนสักแห่งสร้างระเบิดนิวเคลียร์ได้สำเร็จแล้ว เราจะไปเรียกคืนความรู้ในการสร้างนิวเคลียร์ก็คงเป็นไปไม่ได้

หลักการของการต่อต้านการคอร์รัปชันคือ เราไม่สามารถทำให้ทุกอย่างโปร่งใสได้ แต่ความท้าทายคือเราจะทำให้ข้อมูลโปร่งใสได้มากแค่ไหน

ข้อตกลงหลายๆ อย่างยังต้องทำในที่ลับ (backroom) แต่มันจะดีกว่าถ้าเราสามารถนำข้อตกลงเหล่านี้มาทำในที่แจ้ง (frontroom) ให้มากที่สุด เราต้องสร้าง front room ให้ใหญ่ๆ เท่าที่เป็นไปได้
สถานการณ์ด้านคอร์รัปชันของประเทศอาเซียน ในภาพรวมถือว่าดีกว่าในอดีตมาก ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนปัจจุบัน (หมายถึงซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน) มีความเป็นมืออาชีพ และที่สำคัญคือไม่รับเงินใต้โต๊ะ

ผมไม่ได้บอกว่าปัญหาคอร์รัปชันหายไปหมด พวกนี้ต้องใช้เวลา แต่ในอดีตคุณสามารถขนเงินสดเป็นกระเป๋าเข้าไปในทำเนียบประธานาธิบดีได้ ตอนนี้คุณทำไม่ได้แล้ว ในฟิลิปปินส์ อดีตประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา เคยขนเงินสดๆ จากคาสิโนเข้าไปทำเนียบ เพื่อจ่ายให้กับกลุ่มผลประโยชน์ที่เขาต้องการการสนับสนุน



 
 
 
ดร. พรชัย มงคลวนิช (ที่สองจากซ้าย) ถ่ายภาพร่วมกับ Scott Thompson และทีมงาน SIU

หมายเหตุ: SIU ขอขอบคุณ ดร. พรชัย มงคลวนิช อธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม และ อ. เอกชัย ไชยนุวัติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ และอำนวยความสะดวกในการเข้าสัมภาษณ์ Prof. Scott Thompson ระหว่างที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย

ที่มา.Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////// 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น