--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2554

กมธ.ตปท.มีมติ 8 ข้อกรณีไทย-เขมร จี้หยุดเหตุปะทะ นำสู่กรอบเจรจาทวิภาคี

มีการประชุมคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายต่อพงษ์ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน กมธ. มีวาระสำคัญคือการหารือกรณีเหตุปะทะระหว่างไทย-กัมพูชาบริเวณชายแดน ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก รองผู้ว่าราชการ จ.สุรินทร์ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กรมกิจการชายแดนทหาร กรมยุทธการทหาร กรมการข่าวทหารบก รองเลขาธิการสภาความมั่นคง

นายต่อพงศ์แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาศึกษาและได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ กมธ.จึงได้มีมติ ต่อสถานการณ์ 8 ข้อ

1.อยากให้สถานการณ์ทั้งสองประเทศอยู่ในกรอบการเจรจา อย่าได้บานปลายไปสู่การปะทะกัน โดยการเจรจาอยากให้อยู่ในวงการเจรจาของทวิภาคี

2.ยุติความรุนแรงและอย่าได้ยกระดับไปสู่การปะทะกัน

3.กมธ.ไม่เห็นด้วยที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะประกาศสงคราม เพราะสงครามไม่ได้เป็นการยุติปัญหา

4.กมธ.ไม่เห็นด้วยตามกระแสข่าวลือว่าจะประกาศกฎอัยการศึกมาถึงพื้นที่กรุงเทพฯ

5.ขอให้ทหารใช้ยุทธศาสตร์กองกำลังด้วยความระมัดระวังในการปฏิบัติการ ซึ่งขณะนี้ทหารฝ่ายตรงข้ามมีการใช้อาวุธในขีดความสามารถที่ขยายความรุนแรงทำลายล้างสูง ทหารโดยกองทัพจะต้องระมัดระวัง โดยเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ต้องเป็นทหารไม่ใช่พลเรือน ขณะนี้มีการละเมิดจากฝ่ายตรงข้าม ขอให้ประชาชนระมัดระวัง

6.กมธ.ไม่เห็นด้วยกับทุกฝ่ายไม่ว่า ฝ่ายการเมืองและฝ่ายปฎิบัติการ ที่จะยั่วยุให้เกิดความแตกแยก

7.ให้สื่อมวลชนระมัดระวังในการตั้งคำถามที่จะนำไปสู่การยั่วยุและความแตกแยก และ

8.ขอส่งความห่วงใยกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ จ.สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ โดย กมธ.จะมีมติเพิ่มเติมหลังจากลงพื้นที่จริง รวมถึงส่งความห่วงใยถึงทหารที่ปฏิบัติงานด้วย

"ที่ประชุมเห็นว่าฝ่ายตรงข้ามพยายามขยายผลเพื่อให้มีอำนาจต่อรองโดยใช้ทุกวิถีทางทำให้การเจรจากับไทยไปสู่รูปแบบพหุภาคี โดยเฉพาะขยายไปถึงยูเอ็นเอสซี ซึ่งฝ่ายตรงข้ามไม่ยอมเข้าสู่การเจรจาในกรอบทวิภาคี เพราะเขาจะมีอำนาจในการต่อรองเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงตัวประธาน ยูเอ็นเอสซี เป็นประเทศฝรั่งเศสซึ่งก็ทราบดีว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชา ซึ่งการเป็นประธานก็สามารถชี้นำได้ ดังนั้น ไทยก็ควรจะหาพันธมิตรด้วย โดยเฉพาะประเทศจีนก็ไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งในภูมิภาค" นายต่อพงษ์กล่าว

ที่มา.มติชนออนไลน์
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น