--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

"เลาะรั้วเสื้อแดง" ตอนแรก พาไปคลุกวงในแดงแนวหลังที่ยังคุกรุ่นในแววตา บนใบหน้ายิ้มแย้มแต่แห้งแล้งกับคนต่างสี

"เลาะรั้วเสื้อแดง" ตอนแรก พาไปคลุกวงในแดงแนวหลังที่ยังคุกรุ่นในแววตา บนใบหน้ายิ้มแย้มแต่แห้งแล้งกับคนต่างสี

หากการ "มองไปข้างหน้า" และ "ความร่วมมือร่วมใจ" จะเป็น "เทรนด์" ของคนเมืองช่วงนี้ "ความสงสัย" ก็ถือเป็นอีกกระแสที่คนภูธรกำลัง "อิน" ไม่น้อยไปกว่ากัน

"สายลับหรือเปล่า?" คำถามทำนองนี้มักมีมาฝาก "คนแปลกหน้า" ที่โฉบผ่านมายังพื้นที่สีแดงแถบที่ราบสูง...เสมอ

ฟังดู อาจจะเป็นตลกร้าย แต่มันกลับสะท้อนถึงความรู้สึกข้างในที่ทั้งไม่ปลอดภัยและหวาดระแวง แม้พี่น้องเพื่อนฝูงที่ไปต่อสู้เรียกร้องถึงเมืองกรุง จะกลับมาแล้วก็ตาม

"ข่าวลือ" หรือ "เรื่องจริง"

"มาจากกรุงเทพเหรอ?"

ไม่ทันฟังคำตอบ เจ้าของคำถามก็หันกลับไปบรรเลงเครื่องปรุงตามออเดอร์อย่างคล่องแคล่ว ร้านเล็กๆ ริมข้างทางของ กี (สงวนชื่อจริง) ถึงจะตั้งอยู่เป็นร้านสุดท้ายของหมู่บ้าน แต่ก็มีลูกค้าแวะเวียนมาสั่งอยู่ไม่ขาด เธอ และเชน (สงวนชื่อจริง) สามีมาทำร้านส้มตำอยู่ที่บ้านโคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น มาเกือบๆ 2 ปีแล้ว

"ถามไปทำไมล่ะ?" รอยยิ้มของกีผุดขึ้นที่มุมปากเมื่อถูกถามถึง "สีเสื้อ" ที่เลือกใส่

หลังสงวนท่าทีฟังคำอธิบายจากคนถาม เธอจึงให้คำตอบแบบภาพรวมว่า แถบอีสานนี้เชื่อขนมกินได้ว่า "แดง" ทั้งบาง

"คนที่นี่ร้อยคนจะมีสักคนที่ไม่ใช่" เชนเปรียบเทียบให้เห็นภาพ

เขายอมรับว่า ความกินดีอยู่ดีเมื่อครั้งรัฐบาลทักษิณ คือความประทับใจที่ทำให้คนส่วนใหญ่ทางนี้ "เลือกข้าง" เมื่อเปรียบเทียบกับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดในวันนี้

"เมื่อก่อนราคาวัวขายได้เป็นแสนเลยนะ แต่เดี๋ยวนี้แค่สามหมื่นยังไม่รู้เลยว่าจะมีคนเอาหรือเปล่า" เชนยกบางตัวอย่างขึ้นมาอธิบาย ซึ่งตัวเขายืนยันว่าช่องทางทำกินอื่นๆ ก็ครือกัน

"ตอบพอดีๆ พูดเยอะไปแล้ว" เสียง "แตะเบรก" จากกี และลูกค้าขาประจำของเธอดังขึ้น เตือนให้รู้ว่าคนที่เขาคุยอยู่ด้วยนั้น "แปลกหน้า"

ความคิด มุมมอง กระทั่งทัศนะทางการเมืองดูจะเป็นเรื่อง "ต้องห้าม" สำหรับคนต่างถิ่น ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะมีเสียงเล่าลือถึง "สายลับ" ที่ทั้ง "ฝ่ายราชการ" และ "เสื้อสีตรงข้าม" ส่งมา "ล้วงความลับ" กระทั่งสร้าง "ความปั่นป่วน" ในชุมชนก็เคย

"เขาลือกันเยอะว่ามีสายจากทหารเข้ามาหาข้อมูลจับคนที่เคยไปชุมนุม แล้วก็มีฝ่ายตรงข้ามที่เข้ามาปล่อยข่าว หมู่บ้านอื่นเขาเคยมีคนมาเอาข้อมูลไปออกข่าวช่องนั้นไง แล้วก็อะไรอีกสารพัด" เธออธิบาย

เหมือนที่ ไพรรัตน์ โพธิ์เศษ เจ้าของร้านซ่อมมอเตอร์ไซด์ในหมู่ 2 บ้านโคกสี และณี (สงวนชื่อจริง) ภรรยาของเขา เลือกจะส่งรอยยิ้มให้แทนการออกความเห็น หรือไม่ก็ยืนกรานว่า "ไม่รู้เรื่อง ไม่เกี่ยว ไม่เข้าใจ"

สถานการณ์ที่ยังไม่ถือว่า "นิ่ง" หลังคนเสื้อแดงแยกย้ายกลับบ้าน และยังมีข่าวคราวการเคลื่อนไหวแบบ "ใต้ดิน" แว่วมาให้ได้ยินอยู่สม่ำเสมอ ยิ่งทำให้ คำบอกเล่า เข้าเค้าความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ

"คนแปลกหน้า" จึงเป็น "ผู้ต้องสงสัย" ทำให้การพูดคุยถูก "รักษาระยะ" ยิ่งเมื่อเข้าประเด็น "การเมือง" คำตอบ รวมทั้งความเห็นโดยทั่วไป หรือถ้าเป็นไปได้ ก็พยายามบ่ายเบี่ยงมากกว่าที่จะตอบ

"จะเป็นนักข่าวจริงหรือเปล่าก็ยังไม่รู้หรอก ถ้าข้อมูลเอาไปทำอย่างอื่นพวกเราก็เสียหาย" กีเปรยขึ้นด้วยรอยยิ้มตามภาษาคนค้าขาย หลังจากมองดู "หลักฐาน" ยืนยันตัวตน ของคนที่กำลังโยนคำถามมากมายใส่เธอ และคำพูดเหล่านั้นแสดงให้เห็นว่า "การ์ด" ของแม่ค้าส้มตำรายนี้ "ยังไม่ตก"

จนกระทั่ง...

"เมื่อกี๊ตอนที่เธอไม่อยู่ ลูกค้าคนหนึ่งเขามาแล้วบอกว่าคุ้นหน้าอยุ่ เหมือนเคยเห็นในทีวี เชื่อแล้วล่ะว่าเป็นนักข่าวจริงๆ"

"นักข่าว" คนนั้นได้แต่ส่งยิ้มตอบกลับ พลางปาดเหงื่อในใจถึง "ส้มหล่น" ที่ไม่ได้เห็นบ่อยๆ โดยเฉพาะสถานการณ์หมิ่นเหม่ต่อความเชื่ออย่างนี้

เปิดใจ "แดงอีสาน"

หากมองย้อนกลับไปถึงเหตุผลในการ "เลือกข้าง" ของชาวบ้านในต่างจังหวัดภาคอีสาน กระทั่งถูกขนานนามว่าเป็น "ฐานที่มั่นเสื้อแดง" นั้น ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องปากท้องที่พวกเขาวัดความรู้สึกจากตัวเองได้เมื่อมีการเปลี่ยนจากรัฐบาลหนึ่งไปเป็นอีกรัฐบาลหนึ่ง

ราคาผลผลิตที่งดงามเมื่อวันวานถูกตัดทอนลงจนรายได้หักลบแทบไม่พอรายรับที่เชนพูดถึงจะกลายเป็นภาพที่จับต้องได้ในความรู้สึกของคนอีสานโดยรวมก็ตาม แต่ผลข้างเคียงจากมาตรการที่รัฐสั่งปิดเคเบิลทีวี และสถานีวิทยุชุมชนเสื้อแดงนั้น ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่ารัฐอยุติธรรม

"เราก็ติดตามบ้าง แต่ก็ไม่ได้ฟันธงอะไรนะ" ไพรรัตน์ เล่าถึงกิจวัตรกับการเปิดรับข้อมูลข่าวสารจาก "สื่อ" ของเขาและครอบครัวก่อนหน้านี้

สิ่งที่กระตุกความคิดของทั้งคู่เริ่มให้เริ่มรู้สึกว่าถูกปิดหูปิดตาจากรัฐบาล ก็คือ การหายไปของเคเบิลทีวี หรือกระทั่งคลื่นวิทยุท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นคนพูด "ภาษาเดียวกัน"

"ข่าววันนี้ดูเถอะ ไม่มีความเป็นกลาง ส่วนหนึ่งมันก็อาจจะเป็นอคติส่วนตัวของเราด้วย ตรงนี้เราก็ยอมรับ แต่วันนี้มีการสื่อสารด้านเดียว บางครั้งเราก็ทำใจให้เป็นกลาง ก็พอจะฟังได้นะ ข่าวที่ออกมาข้างเดียว ขณะที่เราอยากรู้ความเห็นจากอีกด้านด้วยก็ไม่มีให้ดู" เขาให้เหตุผล

ธนพงษ์ กองไตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านโคกสี เปิดเผยถึงพฤติกรรมการรับสื่อของชาวบ้านทั่วไปว่า คนที่ชอบเสื้อแดงที่มีอยู่กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่นั้นฟังวิทยุชุมชน และดูเคเบิลทีวีเป็นหลัก

"การปิดสื่อส่งผลมาก เพราะคล้ายๆ รัฐพยายามปิดข่าว คนจะไม่ค่อยทราบเรื่อง ก็ยิ่งเชื่อ ยิ่งเชียร์เสื้อแดงมากขึ้น"
ความนิยมชมชอบอย่างไม่มีข้อสงสัยเหล่านี้ ถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจนจนมีเรื่องเล่าทำนองว่า หากเข้ามาออกอาการ "ต่างสี" ในพื้นที่จะต้อง "โดนดี" ทุกรายไป กีเล่าเรื่องแม่ค้าร้านส้มตำรายหนึ่งใน อ.เขาสวนกวางไปแสดงอาการไม่ "สบอารมณ์" เรื่องการชุมนุมของเสื้อแดงที่กรุงเทพฯ อย่างออกนอกหน้า เธอจึงถูกบรรดาลูกค้า (เสื้อแดง) "ล้มโต๊ะ" ด้วยความไม่พอใจ

"คนสีอื่นเขามาที่นี่ได้นะ ไม่มีปัญหา แต่นั่งฟังนิ่งๆ อย่างเดียว" เชนสรุป

ความเหนียวแน่นของมวลชนในพื้นที่สำหรับคนทำงานสื่ออย่าง ชาติชาย ชาธรรมา นายกสมาคมสื่อมวลชน จ.ขอนแก่น วิเคราะห์ว่า เป็นเพราะกลุ่มคนเสื้อแดงกับสื่อค่อนข้างเปิดรับสารจำกัด และสอดรับกับความเชื่อส่วนบุคคลเป็นหลักอยู่แล้ว

"ความชื่นชอบส่วนตัว ทำให้เสื้อแดงรับสื่อเฉพาะทาง คือเคเบิลทีวี และวิทยุของเขาเอง ยิ่งเป็นทีวีสาธารณะที่นำเสนอข้อมูลคนละทาง เขาจะไม่เชื่อ"

ความรักและศรัทธาในตัว "ผู้แทน" ที่ตัวเองลงคะแนนสนับสนุนนั้นจึงกลายการต่อต้านการ "รัฐประหาร" เมื่อ 4 ปีก่อนอย่างชัดเจน และจากคติความเชื่อดังกล่าวจึงทำให้วิธีการตอบโต้ของเหล่า "แดงแนวหลัง" กับสื่อของรัฐจะคล้ายๆ กันทั่วภูมิภาคก็คือ "ถ้าไม่ได้ดู ก็ไม่เชื่อ"

"เขาปิดเรา เราก็ปิดเขา" ณีอธิบายสั้นๆ ถึงการ "เอาคืน" สื่อรัฐที่พวกเขามองว่าไม่เป็นธรรม และไม่เป็นกลาง ซึ่งไม่ต่างกันกับกีและเชนที่มองว่าวิทยุชุมชนให้ความจริงกับพวกเขามากกว่า

"ตั้งแต่มีวิทยุชุมชนยิ่งทำให้ความสนใจของชาวบ้านในเรื่องข่าวสารบ้านเมืองขยายวงกว้างอย่างมาก พอเขามาปิดทีวี ปิดวิทยุ มันก็เท่ากับปิดหูปิดตาประชาชน เรื่องนี้เรายอมไม่ได้ การที่คนออกไปแสดงออกนั่นเขาก็ไม่ได้ทำเพื่อเขาเองหรอก เขาทำเพื่อลูกหลานเขา ทำเพื่ออนาคต ไม่ได้หวังจะได้เงินได้ทองกลับมาหรอก วันนี้เขาทำอย่างนี้กับเราได้ แล้วอนาคตล่ะ ลูกหลานชาวบ้านจะไม่ถูกกดขี่เหรอ" เชนสะท้อนมุมมอง

เสื้อแดง (ไม่มีทาง)แสลงใจ

เสียงฟ้า และเม็ดฝนที่พรั่งพรูลงมาเป็นระยะนั้นได้เปลี่ยนภาพของอีสานที่แห้งแล้งให้ดูชุ่มชื่นขึ้นทันตา และยังช่วยคลายความร้อนของอากาศไปได้บ้าง แต่อุณหภูมิในจิตใจของเหล่า "เสื้อแดง" ไม่ว่าจะ "ทัพหน้า" หรือ "แนวหลัง" ที่กรุ่นอยู่ ยังไม่มีใครรู้ว่าจะเย็นลงได้อย่างไร

"พูดไปก็เท่านั้น เหนื่อย พูดไปมันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา" ไพรรัตน์ตัดพ้อถึงรัฐบาลในวันนี้

เหมือนกับเสื้อแดงอีกหลายๆ คนที่มองเห็นถึงความไม่ยุติธรรมในการเข้าสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ทั้งไพรรัตน์ และเชนต่างก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นล้วน "เกินกว่าเหตุ" และ "สองมาตรฐาน"

"เรื่องอาวุธ มันเป็นการใส่ร้ายเพื่อสร้างสถานการณ์ปราบผู้ชุมนุม มันต้องมีเครือข่าย มีองค์กรชัดเจน ไม่ใช่แบบนี้ คนในนั้นก็มีแต่มือเปล่า ถ้าผู้ชุมนุมใช้อาวุธจริงๆ ทหารยิงเข้ามา เขาก็ยิงสวนแล้ว" ช่างซ่อมมอเตอร์ไซด์เปิดประเด็น

"เรามองการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง มองทางเหลืองมากกว่า ถ้าเหลืองทำได้ แล้วทำไมแดงจะทำไม่ได้" เชนเสริม

ย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่ม พวกเขาไม่มีใครคิดว่าเรื่องทั้งหมดจะลงเอยแบบนี้ แม้การเคลื่อนไหวจะเป็นการเรียกร้องเพื่อให้ทักษิณกลับมา แต่จนถึงวันนี้ประเด็นของการเรียกร้อง แนวหลังต่างก็มองว่ามันไปไกลเกินกว่านั้นมาก ถ้าเปรียบเทียบเศรษฐกิจประเทศระหว่างก่อนรัฐประหารและหลังรัฐประหาร ก็ยิ่งเหมือนฉายหนังคนละม้วน ดังนั้นการเคลื่อนไหวในระยะหลังจึงเกิดขึ้นเพื่อประชาธิปไตยของประชาชนเป็นหลัก

ทั้งคนตาย ความวุ่นวายของผู้คน และซากเมืองที่ถูกเพลิงไหม้หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม ทุกคนต่างยอมรับว่าเสียใจ และไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง เพราะไม่เกิดผลดีกับใครทั้งนั้น

"เราก็เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ฝ่ายหนึ่งถืออาวุธ แต่อีกฝ่ายหนึ่งมีมือเปล่า แต่การเผาสถานที่ราชการ เผาเมือง ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีในการตอบโต้ มันก็เป็นแค่ความสะใจชั่วครู่ แต่เราก็ต้องเสียงงบประมาณมาซ่อมแซมดูแลอีกไม่รู้เท่าไหร่" ไพรรัตน์บอก

..............................................

"มันก็เป็นการต่อสู้ที่ไม่จบสิ้นน่ะ ถ้ารัฐบาลทำงานมีประสิทธิภาพ ทำอะไรเด็ดขาด แล้วเห็นผลจริงๆ เศรษฐกิจดีขึ้น ชุมชนก็ดี ปัญหาทุกอย่างมันก็จบ" เชนมองเผื่อถึงทางออก แต่เขาก็เห็นด้วยว่าหากมีการรวมชุมนุมกันอีก คนอีสานส่วนใหญ่ก็พร้อมจะออกไปร่วมอีก

เมื่อชั่งน้ำหนัก และดูปัจจัยแวดล้อม ชาติชายยอมรับว่า แรงกระเพื่อมระลอกสองย่อมจะมีตามมาแน่นอน เพียงแต่รอเวลา และแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงก็พร้อมจะกลับมาอีกครั้ง ทั้งยังมีแนวโน้มแรงกว่าครั้งแรกด้วย

ไพรรัตน์ให้ความเห็นว่าหากไม่ถึงที่สุดจริงๆ มวลชนคงไม่มีทางลุกขึ้นมาเรียกร้องอะไรแบบนี้เป็นอันขาด

"การที่ผลักประชาชนออกไปตรงนั้นได้มันก็ต้องเป็นอะไรที่สุดๆ แล้วนะ ไม่อย่างนั้นเขาไม่ออกไปหรอก"

"สาร" จากฝั่งชาวบ้าน "แดงจริง" จึงเป็นอีกข้อสังเกตหนึ่งที่ควรรับฟัง ถ้าสังคมไทยต้องการ "ความปรองดอง" ที่ "ชัดเจน" และ "ยั่งยืน" อย่างแท้จริง

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
.................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น