--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ประเทศไทยจะหลีกพ้นวังวนจลาจลครั้งใหม่ได้อย่างไร?

ภัควดี ไม่มีนามสกุล
แปลจาก Andrew Marshall, “How Thailand Can Avoid a New Insurgency, Time: http://www.time.com/time/world/article/0,8599,1991888,00.html; Thursday, May. 27, 2010

สถิติที่น่าหดหู่ใจที่สุดในสัปดาห์นี้ได้รับความเอื้อเฟื้อมาจากแหล่งข่าวในรัฐบาลไทยที่ไม่ระบุชื่อคนหนึ่ง ซึ่งอ้างไว้ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post แหล่งข่าวผู้นี้เปิดเผยว่า กองทัพยินดีที่จะฆ่า “ประชาชนระหว่าง 200-300 คน” และทำให้บาดเจ็บ “หลายพันคน” ในปฏิบัติการกระชับพื้นที่สัปดาห์ที่แล้ว เพื่อสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในย่านการค้าของกรุงเทพฯ

หากเปรียบเทียบกับตัวเลขประเมินนี้ ตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงในวันที่ 19 พฤษภาคม กล่าวคือ เสียชีวิต 15 ศพ บาดเจ็บหลายร้อยคน ดูเหมือนเกือบจะน่าพอใจ แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการจากการปะทะและการโจมตีด้วยระเบิดทั้งหมดนับตั้งแต่วันที่ 10 เมษายนเป็นต้นมา เมื่อกองทัพปฏิบัติการอย่างมักง่ายและไร้ประสิทธิภาพในการสลายฐานการชุมนุมอีกแห่งหนึ่งของคนเสื้อแดงในย่านเมืองเก่าของกรุงเทพฯ เมื่อรวมกันแล้วก็ไม่ใช่ตัวเลขที่ควรเป็นเหตุให้ฉลองชัยเลยแม้แต่น้อย เพราะมีผู้เสียชีวิตถึง 85 คน และบาดเจ็บถึง 1,402 ราย (คลิปวิดีโอเกี่ยวกับการประท้วง http://www.time.com/time/video/player/0,32068,86413453001_1990167,00.html)

คนไทยจำนวนมากเปรียบเทียบเหตุการณ์ครั้งนี้กับเหตุการณ์ “พฤษภาเลือด” พ.ศ. 2535 ซึ่งครั้งนั้นกองทหารสาดกระสุนใส่ผู้ประท้วงชาวกรุงเทพฯ ในตอนนั้นมีผู้เสียชีวิต 48 คน เป็นไปได้ว่าอาจมีมากกว่านั้น (ตัวเลขยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่) แต่อันที่จริง มีตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้อีกตัวอย่างหนึ่งที่กองทัพไทยฆ่าพลเมืองในประเทศของตนเอง และเป็นตัวอย่างที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะพึงสังวรไว้เมื่อเขาพยายามจะเยียวยาประเทศที่แตกเป็นเสี่ยงๆ

มันเป็นความรุนแรงที่เริ่มต้นด้วยการประท้วง ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ประชาชนหลายร้อยคนรวมตัวกันหน้าสถานีตำรวจอำเภอตากใบในจังหวัดนราธิวาส เพื่อประท้วงการจับกุมตัวชาวบ้านไปหกคน ประเทศไทยมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธพูดภาษาไทย แต่ประชาชนส่วนใหญ่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นชาวมุสลิมพูดภาษามลายู ซึ่งมีความคับข้องใจต่อการปกครองจากกรุงเทพฯ อันห่างไกลมาเนิ่นนานกว่าศตวรรษ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 การปล้นค่ายทหารใน จ.นราธิวาส จุดชนวนให้เกิดการแข็งข้อต่อรัฐบาลไปทั่วพื้นที่ในภูมิภาคนั้น

เหตุการณ์ที่ตากใบเลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประท้วงขว้างก้อนหินและมีรายงานว่าพยายามบุกเข้าไปในสถานีตำรวจ ตำรวจและทหารเปิดฉากยิง สังหารประชาชนไป 7 คน จากนั้นก็จับกุมตัวผู้ประท้วงหลายร้อยคน ส่วนใหญ่เป็นชายมุสลิมที่ยังหนุ่ม พวกเขาถูกจับมัดมือไพล่หลัง แล้วถูกโยนเข้าไปสุมทับกันถึงห้าหกชั้นในรถบรรทุกทหาร มีผู้เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจหรือถูกทับจนตายถึง 78 คน

ถึงแม้มีกลุ่มกบฏหลายกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลที่กรุงเทพฯ โดยใช้ความรุนแรงมาหลายสิบปีแล้วก็ตาม แต่เหตุการณ์ที่ตากใบจุดชนวนให้เกิดนักสู้รุ่นใหม่ที่น่าจะเหี้ยมเกรียมยิ่งกว่าเดิม คลิปแสดงความโหดร้ายของทหารที่ทุบตีและเตะผู้ประท้วง แล้วโยนพวกเขาเข้าไปในรถบรรทุก ถูกทางการสั่งห้ามเผยแพร่ทันที แต่ยังคงแพร่หลายอย่างลับๆ ตามบ้านเรือนของผู้คนในภาคใต้ หกปีหลังจากนั้น ความขัดแย้งที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 4,100 ราย เกือบทั้งหมดเป็นพลเรือน

เหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้นภายใต้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งนโยบายโหดร้ายของเขากระตุ้นให้เกิดความไม่สงบในภาคใต้ (ในวันพุธที่ผ่านมา ศาลในกรุงเทพฯ ออกหมายจับทักษิณด้วยข้อหาก่อการร้าย โดยกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังการต่อต้านรัฐบาลด้วยความรุนแรงของฝ่ายเสื้อแดง) แต่มันน่าจะเป็นบทเรียนสอนใจผู้นำคนปัจจุบันของประเทศไทยด้วยเช่นกัน การล้อมปราบที่ราชประสงค์จะผลักให้คนเสื้อแดงหันไปใช้ความรุนแรงแบบเดียวกับที่ตากใบกระตุ้นให้เกิดผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้หรือไม่? ฐานที่มั่นของคนเสื้อแดงในภาคเหนือและภาคอีสานจะกลายเป็นเขตห้ามเข้าสำหรับทหารและเจ้าหน้าที่รัฐบาล เช่นเดียวกับที่เป็นอยู่แล้วในหลาย ๆ เขตในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่? หลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งล่าสุดในกรุงเทพฯคราวนี้ ความเป็นไปได้ทั้งสองประการดูเหมือนไม่ไกลจนเกินเอื้อม การเมืองแตกเป็นขั้ว และเห็นได้ชัดว่าทั้งสองฝ่ายต่างเต็มใจที่จะใช้กำลัง จนคนไทยจำนวนมากหวาดเกรงว่า พื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศของตนอาจกลายเป็น “เหมือนภาคใต้”

นอกจากนี้ ยังมีภาพเทียบเคียงได้อีกประการหนึ่ง ข้อหนึ่งในแผนการปรองดองของนายอภิสิทธิ์หลังเหตุการณ์นองเลือดที่ราชประสงค์ก็คือ การตั้งสิ่งที่รัฐบาลของเขาเรียกว่า “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง” เพื่อสอบสวนความรุนแรงที่เกิดขึ้น นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะความยุติธรรมคือการเยียวยาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด อันเป็นสิ่งที่อภิสิทธิ์เองก็ยอมรับเมื่อหกเดือนที่ผ่านมาในการปราศรัยเกี่ยวกับความไม่สงบในภาคใต้ “การมีกองกำลังรักษาความสงบอยู่ในพื้นที่มากมายไม่ใช่คำตอบเดียวในการแก้ไขความขัดแย้ง” เขากล่าวเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว “เราเชื่อในการพัฒนาและระบบยุติธรรมที่ไม่ลำเอียง”

แต่ความยุติธรรมที่ลำเอียง ซึ่งที่แท้แล้วก็คือการไม่มีความยุติธรรมเลย ย่อมไม่ช่วยเยียวยาอะไรได้ มันรังแต่จะเป็นยาพิษ ประเด็นนี้ยิ่งเป็นความจริง เมื่อหน่วยงานหลักในการรักษากฎหมาย ทั้งทหารและตำรวจ ต่างอยู่เหนือกฎหมายเสียเอง ลองพิจารณากรณีตากใบอีกสักครั้ง เมื่อปีที่แล้วนี้เอง ในวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ศาลจังหวัดได้วินิจฉัยว่า ทหารและตำรวจไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ต่อความตายของผู้ประท้วง ทันทีที่มีคำตัดสินของศาลออกมา คาดหมายได้เลยว่าจะต้องมีความรุนแรงตามมาอีกเป็นระลอก ทั้งจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบชาวมุสลิมและกลุ่มชาวพุทธที่ติดอาวุธ ไม่ถึงสองสัปดาห์ถัดมา ความรุนแรงก็มาปะทุด้วยการสังหารหมู่ชาวมุสลิมที่กำลังละหมาดถึง 11 คนในมัสยิดอัลฟุรกอนในจังหวัดนราธิวาส (หมู่บ้านไอปาแย อ.เจาะไอร้อง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552 แต่ตามข่าวของไทยบอกว่ามีผู้เสียชีวิต 10 คน อาจมีผู้เสียชีวิตเพิ่มในภายหลัง—ผู้แปล) ซึ่งถือเป็นการสังหารหมู่ที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นในภาคใต้ การสอบสวนของตำรวจชี้ให้เห็นว่า กองกำลังติดอาวุธที่สนับสนุนรัฐบาลอาจมีส่วนพัวพันกับการโจมตีครั้งนี้

ด้วยการให้คำมั่นสัญญาถึง “ความยุติธรรมที่ไม่ลำเอียง” แต่นั่งเป็นประธานเหนือความรุนแรงครั้งต่อมาเสียเอง อภิสิทธิ์จึงสูญเสียพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไป หากปล่อยให้การปะทะที่ก่อให้เกิดความสูญเสียครั้งล่าสุดในกรุงเทพฯ ผ่านไปโดยปราศจากการสอบสวนอย่างเต็มที่และเที่ยงตรงไม่ลำเอียงแล้วไซร้ เกรงว่าอภิสิทธิ์อาจสูญเสียพื้นที่ที่เหลือในประเทศนี้ไปด้วย นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศไทยและสากล รวมทั้งองค์กร Human Rights Watch ในนิวยอร์ก ต่างออกมาเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนอิสระเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ ที่ยังเป็นข้อโต้แย้งกันอย่างหนัก ซึ่งรวมถึงการใช้อาวุธร้ายแรงทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายเสื้อแดงที่ติดอาวุธด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามเป็นการส่วนตัวแล้ว นักสิทธิมนุษยชนต่างยอมรับว่า การสอบสวนแบบนี้คงไม่คืบหน้าไปไหน ตอนนี้อภิสิทธิ์ตกอยู่ในสมรภูมิสองด้าน ด้านหนึ่งคือผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกด้านหนึ่งคือฝ่ายเสื้อแดงในภาคเหนือและภาคอีสาน ในทั้งสองสมรภูมินี้ อภิสิทธิ์พึ่งพิงแต่กำลังทหารกองทัพไทยอันทรงอำนาจเพียงอย่างเดียว นั่นคือเหตุผลที่เขาอาจไม่กล้าขัดใจนายทหารระดับสูงด้วยการสอบสวนปฏิบัติการของทหาร นี่คือความผิดพลาด “การสอบสวนอย่างน่าเชื่อถือจะช่วยให้ประเทศไทยกลับมาเป็นหนึ่งเดียวกันได้” คือคำพูดของสุนัย ผาสุก นักวิจัยขององค์กร Human Rights Watch ในนิวยอร์ก “ไม่มีความยุติธรรมและการรับผิด ก็ไม่มีทางเกิดการปรองดอง” (ดูรูปหลังสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง http://www.time.com/time/photogallery/0,29307,1990882_2141116,00.html)

นี่คือตัวเลขนับศพอีกตัวเลขหนึ่ง: 19 ศพ นี่คือจำนวนชีวิตที่สังเวยในความขัดแย้งภาคใต้ที่จังหวัดนราธิวาส ยะลาและปัตตานี นับจากวันที่ 10 เมษายน ถึง 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวนผู้เสียชีวิตในกรุงเทพฯ มีมากกว่านั้น 4 เท่า แต่ก็เป็นจำนวนที่เกิดขึ้นในช่วง 6 สัปดาห์อันคุกรุ่น ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยล้มตายไปหลายพันคนตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ในเมื่อรัฐบาลในกรุงเทพฯ อันแสนห่างไกลต้องมัวพะวงอยู่กับความอยู่รอดทางการเมืองของตัวเอง ประชาชนคงต้องตายกันอีกมากในหลายปีข้างหน้านี้

หมายเหตุผู้แปล: หลังจากที่เรามีวัน “วีรชน 14 ตุลา” “พฤษภาเลือด” และคงมี “พฤษภาอำมหิต” เราน่าจะมีคำเรียกเหตุการณ์ที่ตากใบ เพื่อระลึกถึงผู้คนจำนวนมากที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นั้น ซึ่งก็เป็นราษฎรที่อาศัยอยู่ “ใต้ฟ้าเดียวกัน” กับพวกเราทุกคน
ที่มา.ประชาไท
........................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น