พื้นที่ในเขตเรดโซนหลายแห่ง ยังมีความเคลื่อนไหวการเมืองอย่างลับ ๆ เงียบ ๆ ทั้งใต้ดิน-บนดิน
เพราะชนวนแห่งข้อหา "ก่อการร้าย" และการไล่ล่าผู้อยู่ในขบวนการ "เสื้อแดง" อย่างไม่ลดละ อาจถูกจุด- ขยายวงระดับ "สงครามใต้ดิน"
เหมือนกับที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วง 6 ปีที่ผ่านมา
ภาพจำลองปรากฏการณ์ "ใต้ดิน" ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สะท้อนผ่านกระจก นักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญทั้งจากในและนอกพื้นที่ ร่วมวงถกแถลง ประเมินความเป็นไปได้ จากสงคราม "บนดิน" สู่ "ใต้ดิน" จากแนวรบชายแดนใต้ ถึงกรุงเทพฯ
"ปัญญศักดิ์ โสภณวสุ" นักวิจัยในโครงการความมั่นคงศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ประเมินสถานการณ์ของกลุ่มคนเสื้อแดงว่า แม้การต่อสู้จะยุติลง แต่สงครามยังไม่เลิก และ จะยืดเยื้อต่อไป
"ความเจ็บแค้นของคนเสื้อแดงจะถูกอธิบายเป็นวาทกรรมและนำไปใช้อธิบายในทางการเมืองอย่างไม่รู้จบ เพราะการต่อสู้ระหว่างพรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่ยังคงอยู่ และมวลชนของแต่ละฝ่ายก็มีอยู่ชัดเจน วาทกรรมที่ใช้อธิบายกับมวลชนของแต่ละฝ่ายเป็นคนละชุดความคิดกัน ทำให้การต่อสู้ทางการเมืองไม่มีโอกาสยุติลงในระยะเวลาอันสั้นอย่างแน่นอน"
"ปัญญศักดิ์" วิเคราะห์ว่า การต่อสู้นับจากนี้ไปอาจเป็นไป็ต้องหันไปต่อสู้แบบใต้ดิน เพราะเห็นรูปแบบการต่อสู้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
"การต่อสู้ใต้ดินเป็นกฎธรรมชาติของการต่อสู้อยู่แล้ว ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ไม่ว่าประเทศไหน หรือศาสนาไหนก็ตาม หากต่อสู้แบบเผชิญหน้าอย่างเปิดเผยไม่ได้ ก็ต้องหันไปใช้รูปแบบการต่อสู้ใต้ดิน ส่วนจะทำได้แค่ไหนหรือมีประสิทธิภาพมากเพียงใด มันต้องอาศัยเวลา"
"ปัญญศักดิ์" เห็นว่า ศักยภาพของกองกำลังที่สนับสนุนคนเสื้อแดง เป็นกลุ่มคนที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี อาจจะเป็นคนในกองทัพหรืออดีตคนในกองทัพก็ได้ เพราะสามารถใช้อาวุธทำลายเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ มีการบัญชาการชัดเจน และทุกวันนี้ยังไม่รู้ชัดว่ากองกำลังติดอาวุธมีอยู่มากน้อยแค่ไหน
"หากจะเปรียบเทียบรูปแบบการต่อสู้ คงจะเปรียบได้กับสมัยสงครามคอมมิวนิสต์ คือต่อสู้แบบเปิดเผยไม่ได้ ต้องหันไปต่อสู้แบบใต้ดิน ตั้งกองกำลังติดอาวุธมาต่อสู้กัน ถือเป็นรูปแบบการต่อสู้ที่เหมือนกัน แต่ในเรื่องอุดมการณ์อาจจะแตกต่างกัน"
"พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ" ผู้อำนวยการโครงการเข้าถึงความยุติธรรมและคุ้มครองทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ผู้ติดตามปัญหาชายแดนภาคใต้มาอย่างยาวนาน เห็นว่า สิ่งที่รัฐต้องดำเนินการเป็นลำดับแรกคือให้ความเป็นธรรมกับกลุ่มคนที่ถูกจับกุมและดำเนินคดี อย่าใช้ช่องทางตามกระบวนการยุติธรรมกลั่นแกล้งเพื่อผลทางการเมือง ที่สำคัญคือกระบวนการต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้
"อย่าให้เกิดปัญหาเหมือนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐจะต้องดำเนินการโดยให้พวกเขาได้มีโอกาสพิสูจน์หลักฐาน พยาน ให้เขามีตัวแทนของเขาในการต่อสู้ในชั้นศาลด้วย"
พรเพ็ญแสดงความเป็นห่วงว่า การใช้ถ้อยคำเรียกขานผู้ต้องหาหรือข้อกล่าวหาที่เตรียมแจ้งดำเนินคดี เช่น ผู้ก่อการร้าย หรือคดีก่อการร้าย จะยิ่งสร้างความรู้สึก ขัดแย้ง เกลียดชัง เพราะเหมือนยิ่งไปทับถมบุคคลเหล่านั้น
"รัฐควรเคารพสิทธิของบุคคล หากทำได้จะเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยาความรู้สึกทั้งผู้ที่ถูกจับกุมและผู้ชุมนุมโดยทั่วไปได้มากทีเดียว" พรเพ็ญระบุ
"สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์" เลขาธิการศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า การฟื้นฟูกระบวนการยุติธรรมเพื่อทำความจริงให้ปรากฏเป็นสิ่งสำคัญ หากกระบวนการยุติธรรมไม่โปร่งใสและไม่เป็นกลางเพียงพอ ปัญหาจะตามมาอีกมากมาย แต่ถ้าดำเนินการอย่างโปร่งใส ทุกฝ่ายจะยอมรับได้ และน่าจะยุติปัญหาได้ในที่สุด
ทนายสิทธิพงษ์ แสดงความเป็นห่วงว่า การบังคับใช้กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) ที่ประกาศในกรุงเทพฯและจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูจะมีมาตรฐานแตกต่างกัน
"เรื่องนี้คนในพื้นที่สามจังหวัดพูดกันมาก ระวังจะกลายเป็นปัญหาทางความรู้สึกกันต่อไป เพราะคนสามจังหวัดมองว่าทำไมรัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กรณีที่กรุงเทพฯอย่างระมัดระวังและมีหลักการมาก แต่กับที่สามจังหวัดดูจะมีมาตรฐานอีกอย่าง ฉะนั้นรัฐควรทำให้เหมือนกัน และถือโอกาสนี้พิจารณากฎระเบียบต่าง ๆ ในรายละเอียดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมด้วย"
นายยะโก๊ป หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า เหตุการณ์ร้อนแรงในกรุงเทพฯ ต้องใช้ความอดทน และรัฐต้องคลี่คลายปัญหาอย่างระมัดระวัง
"ในอดีตคนสามจังหวัดก็ถูกมองว่าเป็นโจร เป็นผู้ก่อการร้าย และถูกกล่าวหาเป็นอะไรต่อมิอะไรมากมายแบบเหมารวม ลองคิดดูว่าคนที่ไม่มีความผิดอะไรเขาจะรู้สึกว่าอย่างไรที่ถูกมองว่าเป็นโจร ถ้าอย่างนั้นเป็นโจรไปเลยไม่ดีกว่าหรือ ด้วยเหตุนี้เราอย่าไปเหมารวม กรณีที่กรุงเทพฯก็เช่นเดียวกัน ผมว่าประวัติศาสตร์สอนเรามาเยอะแล้ว เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 มีคนเข้าป่าเพราะอะไร เพราะเราไปกล่าวหาเขา ไปอคติกับเขามากเกินไป ทั้ง ๆ ที่เป็นคนไทยด้วยกันน่าจะคุยกันได้"
อิหม่ามยะโก๊ป บอกว่า ที่ผ่านมาได้ติดตามบทบาทการจัดการปัญหาของรัฐมาตลอด พบว่าพื้นที่สื่อของรัฐไม่เปิดโอกาสให้กับฝ่ายตรงข้ามเลย โทรทัศน์ 4-5 ช่องมีแถลงการณ์ของรัฐตลอด ในความรู้สึกของชาวบ้านเหมือนยิ่งถูกปิดหูปิดตา ยิ่งรัฐปิดหูปิดตามากเท่าไหร่ ผลสะท้อนกลับมันจะแรงมากเท่านั้น เหมือนบูมเมอแรง แล้วมันจะย้อนกลับมาหาเรา
อิหม่ามยะโก๊ป ชี้ว่า การเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การมีเมตตาต่อกัน มันหายไปแล้วจากสังคมไทย ฉะนั้นรัฐบาลน่าจะถือโอกาสนี้ใช้น้ำเย็นเข้าลูบ อย่าไปใช้ความร้อนหรือความรุนแรง เพราะมันไม่ได้แก้อะไร ไฟที่เผาไหม้สรรพสิ่งอาจดับไป แต่อย่าลืมว่าไฟที่อยู่ในอกมันยังอยู่ เหมือนป่าพรุที่ถูกไฟเผา ดูเหมือนดับแล้ว แต่ความร้อนใต้ดินยังมี
"ญาติของผู้สูญเสียเขาคงมีความรู้สึกแบบนั้น และหลักการทางศาสนาเท่านั้นที่จะยุติปัญหาได้ นั่นคือการให้อภัยซึ่งกันและกัน เลิกแล้วต่อกัน รัฐบาลก็ทำหน้าที่ของตัวเองไป เดินหน้าไปพร้อม ๆ กับการให้อภัย แล้วสังคมจะเดินไปข้างหน้าได้อย่างสันติ"
"แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างตั้งแง่กันมันก็ไม่จบ คนไทยต้องไม่ตึงและไม่หย่อนเกินไป หลักการบริหารง่าย ๆ เมื่อเขาตึง เราหย่อน เมื่อเขาหย่อน เราตึง พยายามเดินทางสายกลางให้ได้ หันหน้ามาใช้หลักศาสนาเถิด อย่าไปใช้ความรุนแรงเลย เพราะเมืองไทยเป็นสยามเมืองยิ้มอยู่แล้ว อย่าให้การยิ้มของคนไทยมีอคติแฝงอยู่ข้างใน เพราะสิ่งเหล่านี้มันจะไม่เกิดเฉพาะที่กรุงเทพฯ แต่จะระบาดไปทั่วประเทศ"
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น