จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน ส.ว. จี้รัฐบาลเปิดเผยรายชื่อ จำนวน และสถานที่คุมขังคนเสื้อแดงที่ถูกจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และต้องเปิดให้สื่อ องค์กรต่างๆเข้าตรวจสอบความเป็นอยู่ ย้ำผู้ถูกคุมตัวมีสิทธิไม่ให้การ และมีสิทธิพบทนาย แฉรัฐบาลทำผิดกฎหมายส่งผู้ชุมนุม 133 คนเข้าเรือนจำทั้งที่กฎหมายห้าม อัดรัฐบาลไม่จริงใจปรองดอง จับผู้ชุมนุมที่ต้องการกลับบ้านทั้งที่ประกาศชัดใครยอมออกจากพื้นที่ราชประสงค์ไม่มีความผิด ประธานวุฒิฯจี้ทำโรดแม็พให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าจะทำอะไร เมื่อไร อย่างไร อย่าดีแต่พูด
วันที่ 3 มิ.ย. 2553 กลุ่มนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร้องขอให้เปิดเผยรายชื่อและสถานที่ควบคุมตัวผู้ที่ถูกจับตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
จดหมายระบุว่า หลังรัฐบาลใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธสงครามเข้าสลายการชุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยถูกประณามและมีข้อห่วงใยจากประชาคมโลกเป็นจำนวนมาก
จี้เปิดรายชื่อ-จำนวน-สถานที่ขัง
รัฐบาลโดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติออกหมายจับและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเว็บไซต์ของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางรายงานว่ามีหมายจับภายในพื้นที่กรุงเทพมหานครและในพื้นที่ตำรวจภาค 1 จำนวน 99 หมาย แต่ไม่ปรากฏรายชื่อผู้ถูกจับ และไม่ระบุสถานที่ควบคุมบุคคลดังกล่าว ตลอดจนไม่มีรายงานของสำนักงานตำรวจภาคอื่นๆที่อยู่ในเขตท้องที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินว่ามีจำนวนผู้ถูกจับตามหมายเท่าไร และถูกควบคุมอยู่ที่ใด การไม่ทราบรายชื่อผู้ถูกจับและการไม่แจ้งสถานที่ควบคุมผู้ถูกจับถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแก่ผู้ถูกจับและญาติมิตร ที่ไม่อาจทราบได้ว่าผู้ถูกจับมีชีวิตอยู่หรือไม่ และไม่ทราบสภาพความเป็นอยู่
รัฐบาลต้องยึดตามกติกาสากล
กลุ่มนักสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย นักกฎหมาย ทนายความ และบุคคลที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ผู้มีชื่อท้ายจดหมายนี้ขอแสดงความห่วงใยต่อผู้ถูกจับกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติต่อผู้ถูกจับกุมในลักษณะที่อาจมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และต้องได้รับความคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ที่ประเทศไทยมีพันธกรณี โดยเฉพาะมีสิทธิได้รับหลักประกันขั้นต่ำดังนี้
ข้อ 7 ห้ามการซ้อม ทรมาน หรือปฏิบัติใดๆอย่างโหดร้ายไร้มนุษยธรรม
ข้อ 9 ข้อ 2 ย่อย ต้องได้รับแจ้งถึงเหตุผลในการจับกุมในขณะถูกจับกุม และจะต้องได้รับแจ้งถึงข้อหาที่ถูกจับกุมโดยพลัน
ข้อ 3 ย่อย มีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาอันสมควร หรือได้รับการปล่อยตัวไป มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี
ข้อ 14 มีสิทธิมีทนายความที่เลือกเอง หากไม่มีรัฐต้องจัดหาให้ ต้องได้รับการสันนิษฐานว่าไม่มีความผิด และมีสิทธิให้การหรือไม่ให้การด้วยความสมัครใจ ต้องได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย รวดเร็ว โดยสื่อมวลชนสามารถเข้าสังเกตการณ์ได้
สิทธิมนุษยชนตามหลักการดังกล่าวสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ให้เยี่ยมป้องกันครหาซ้อมนักโทษ
จากหลักการและเหตุผลดังกล่าว กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศรายชื่อผู้ถูกจับกุมและสถานที่คุมขังต่อสาธารณะ ที่อยู่ในอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกพื้นที่ที่ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้ญาติและทนายความสามารถติดต่อได้ทันที และเพื่อป้องกันข้อครหาว่ารัฐบาลซ้อมทรมานผู้ถูกจับ หากผู้ถูกจับเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม
จดหมายดังกล่าวมีผู้ร่วมลงนาม ประกอบด้วย น.ส.เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ทนายความ, นายพิทักษ์ เกิดหอม นักกฎหมาย, นายศราวุฒิ ประทุมราช ทนายความ, น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความ, น.ส.ปรานม สมวงศ์ นักกฎหมาย และนายนรินทร์ พรหมมา นักกฎหมาย
นำเด็ก 2 ขวบร้องเรียนแม่ถูกจับ
ที่รัฐสภา นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย นำตัว ด.ช.เกรียงศักดิ์ หอมชื่น หรือน้องอ้ำ อายุ 2 ขวบ มาร้องเรียนต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เนื่องจาก น.ส.พรนภา ทนุวรรณ์ อายุ 19 ปี มารดา ด.ช.เกรียงศักดิ์ ถูกจับกุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่แยกราชประสงค์ โดยมีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา กลุ่ม ส.ส.หญิงพรรคเพื่อไทย เช่น นางอรุณี ชำนาญยา ส.ส.พะเยา, นางเปร่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข ส.ส.เลย, นางปานหทัย เสรีรักษ์ ส.ส.แพร่ เป็นผู้รับเรื่อง
แฉไม่จริงใจจับขณะจะกลับบ้าน
“ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมแม่น้องอ้ำที่ทัณฑสถานหญิง เรือนจำกลางคลองเปรม ทราบว่าวันที่ 19 พ.ค. หลังจากรัฐบาลประกาศให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับจะไม่มีโทษ แม่ของน้ำอ้ำก็ซ้อนรถจักรยานยนต์ของเพื่อนที่มาด้วยกันเพื่อเดินทางกลับบ้าน แต่ไปเจอทหารบริเวณสวนลุมพินีกักตัวไว้บอกให้รอก่อน รอให้คนเยอะค่อยกลับพร้อมกันทีเดียว แต่กลับถูกนำตัวส่งสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี และถูกนำไปควบคุมที่ค่ายนเรศวร 1 คืน ก่อนถูกส่งมาที่ทัณฑสถานหญิงคลองเปรมและถูกคุมขังอยู่จนปัจจุบัน ทั้งที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินกำหนดชัดเจนว่าห้ามคุมขังที่สถานีตำรวจหรือเรือนจำ แต่ขณะนี้ที่เรือนจำกลางคลองเปรมมีผู้ถูกคุมขังหลายร้อยคน”
ปรองดองพูดแต่ปากไม่ได้
นพ.ทศพรกล่าวอีกว่า รัฐบาลและ ศอฉ. ประกาศตลอดเวลาว่าทำเพื่อรักษากฎหมาย แต่กลับทำผิดกฎหมายเสียเอง อยากให้นายกรัฐมนตรีมาเห็นภาพเด็กเกาะลูกกรงร้องหาแม่ อยากรู้ว่าท่านจะรู้สึกอย่างไร นายกฯบอกว่าผู้ที่มาชุมนุมโดยบริสุทธิ์ไม่มีอาวุธจะไม่มีความผิด แต่ข้อเท็จจริงคือมีผู้ชุมนุมที่บริสุทธิ์ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงจำนวนมากถูกควบคุมตัวอยู่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปากบอกว่าอยากปรองดองแต่เท้าไปเหยียบอกเขาไว้ข้างหนึ่ง แล้วจะปรองดองได้อย่างไร หลังจากนี้จะพาน้องอ้ำไปพบนายกฯที่ทำเนียบรัฐบาล และจะไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย
เสื้อแดง 133 คนถูกขังในเรือนจำ
ด้านนายเรืองไกรระบุว่า เท่าที่ทราบข้อมูลผู้ชุมนุมที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำเป็นผู้หญิง 17 คน ผู้ชาย 116 คน ไม่ทราบว่ายังมีที่ถูกคุมขังไว้ในสถานที่อื่นอีกหรือไม่ อยากเรียกร้องไปยังนายกฯหากมีความจริงใจและกล้าหาญจะต้องเปิดเผยข้อมูลนี้ โดยต้องให้สื่อและตัวแทนองค์กรต่างๆเข้าไปตรวจสอบ
ที่รัฐสภา นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ประกาศแผนงานสร้างความปรองดองให้ชัดเจนว่ามีกระบวนการดำเนินการอย่างไร
จี้นายกฯทำโรดแม็พให้ชัดเจน
“นายกฯต้องบอกให้ชัดว่าโรดแม็พ 5 ข้อที่พูดไว้จะทำอย่างไร เมื่อไร เพราะต่างชาติมีความเป็นห่วงสถานการณ์ในไทย อย่างญี่ปุ่นจะมาลงทุนก็เป็นห่วงสถานการณ์เพราะยังไม่มีความชัดเจน เขาไม่แน่ใจว่าประเทศไทยจะถูกแบ่งแยกเป็นส่วนๆหรือเปล่า” นายประสพสุขกล่าวและว่า นายกรัฐมนตรีต้องทำเรื่องปรองดองให้เป็นรูปธรรม ส่วนการทำงานของคณะกรรมการติดตามสถานการณ์การเมืองของวุฒิสภามีการประชุมกัน 2 ครั้งแล้ว ซึ่งถือเป็นโอกาสที่วุฒิสภาจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างความสมานฉันท์
**********************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น