--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552

ย้อนคดีหวยบนดิน ให้ ครม.'แม้ว'ชดใช้ 3.6หมื่นล้าน ลุ้นศาลฎีกาเลื่อนตัดสิน 30 ก.ย.อดีด ผอ.กลองสลาก ล่องหน

ย้อนรอยคดีหวยบนดินซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอษยาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดจำลยทั้ง 47 คนฟังคำพิพากษา แต่มีปัญหาว่า "สุรสิทธิ์ สังขพงศ์" อดีคผู้อำนวยการกองสลากบินไปต่างประเทศตั้งแต่เดือนสิงหาคม ต้องต้องลุ้นว่า จะต้องเลื่อนอ่านคำตัดสินหรือไม่

หมายเหตุ"มติชนออนไลน์"-ในวันที่ 30 กันยายน 2552 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษาการทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2ตัว (หวยบนดิน)ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งมีจำเลยถึง 47 คน ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม มีจำเลย 1 ใน 47 รายคือ พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และอดีตรองผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ลาออกจากราชการเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเมื่อประมาณต้นเดือนสิงหาคม 2552 จึงต้องดูว่า พล.ต.ต.สุรสิทธิ์จะเดินืทางกลับมาฟังคำพิพากษาหรือไม่ และจะเป็นเหตุให้ศาลฎีกาเลื่อนอ่านคำพิพากษาหรือไม่
***************
สำหรับคดีดังกล่าว คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียแก่รัฐ(คตส. )ได้ยื่นฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2551 ให้ลงโทษทางอาญาแก่จำเลยและเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 36,000 ล้านบาท โดยองค์คณะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีนายรุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ รองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษา เจ้าของสำนวน
ทั้งนี้จากการสอบสวนของ คตส. ในคดีดังกล่าวสรุปว่า คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล มีการประชุมและมีมติเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2ตัว (หวยบนดิน)และได้เสนอกระทรวงการคลังพิจารณา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำหนังสือที่ กค 0100/11415 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 เสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใน 3 ประเด็น คือ

1. ให้ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว (หวยบนดิน)
2 .ให้นำรายได้ส่วนเกินของกองทุนเงินรางวัลหลังหักค่าใช้จ่ายในการบริหารงานและการจ่ายเงินรางวัลกลับคืนสู่สังคม
3.ได้รับยกเว้นและลดหย่อนภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 310 ) และภาษีการพนันตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้นำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. ในวาระเพิ่มเติม และมีมติเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2546 เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอทั้ง 3 ข้อ และมีการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตามโครงการตั้งแต่งวดวันที่ 1 สิงหาคม 2546 ถึงงวดวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลได้เริ่มนำเงินที่ได้จากโครงการไปใช้ตามมติข้อที่ 2 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2547 ถึง 14 กันยายน 2549 เป็นเงิน 16,027,505,235.94 บาท และตามมติข้อ 3 ในเรื่องการยกเว้นและลดหย่อนภาษีอากรที่เกี่ยวข้อง คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ไม่ได้ชำระจำนวน 8,809,155,737.38 บาท , ภาษีหัก ณ ที่จ่ายของส่วนลดการจำหน่ายขาดไป 161,585,172.84 บาท ภาษีตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 ข้อ1 (4) ขาดไปจำนวน 12,792,152,581.50 บาท และภาษีท้องที่ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 17 ข้อที่ไม่ได้ชำระจำนวน 336,635,594.25 บาท

จากการไต่สวนรวมถึงการสอบปากคำพยาน คตส.มีความเห็นว่าโ ครงการดังกล่าวไม่ใช่เป็นการออกสลากการกุศลหรือสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่เป็นการออกสลากกินรวบโดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย และเห็นว่าการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวนั้นเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายดังนี้

1. มติข้อ 1. ที่ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว (หวยบดิน) ถือเป็นสลากกินรวบเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 มาตรา 5 และมาตรา 9 ในส่วนของ ครม. ที่เข้าร่วมประชุมและมีมติอนุมัติให้ดำเนินการออกสลากฯ โดยฝ่าฝืนนั้น เป็นการปฎิบัติหน้าที่ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานสลากกินแบ่งฯ โดยจะต้องใช้ทรัพย์สินและบุคคลของสำนักงานฯ มาดำเนินการตามโครงการดังกล่าว เป็นความเสียหายที่เห็นได้อยู่ในตัว
การอนุมัติข้อ 1 เพื่อให้เกิดข้อ 2 เป็นข้อบ่งบอกให้เห็นว่า ต้องการแสวงหาผลประโยชน์ ที่ได้จากการดำเนินการตามมติข้อ 1 ซึ่งเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย เข้าหลักเกณฑ์ ของการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานฯ และปฎิบัติหน้าที่โดยทุจริตซึ่งเข้าองค์ประกอบทั้งสองประการที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เร่งรัดให้ในการดำเนินการในเรื่องนี้ ถือว่าเป็นตัวการสำคัญในการก่อให้มีการกระทำความผิด

ส่วนครม.ที่เข้าร่วมประชุม นั้นได้เข้าประชุมโดยรู้สำนึกในการกระทำและประสงค์ต่อผลในเรื่องที่เข้าประชุม การมีมติอย่างหนึ่งอย่างใดไปนั้น ก็มีมติไปในขณะที่รู้สำนึกในการกระทำมีความรับผิดชอบตามหน้าที่ ส่วนที่จะอ้างว่าไม่รู้ว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่น่าจะอ้างได้ จึงถือว่า ครม.ที่เข้าร่วมประชุมทุกคน และมีมติมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 157 ด้วย

สำหรับคณะกรรมการสลากกินแบ่งนั้น มีฐานะเป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติไว้ในกฎหมาย การที่ร่วมกันมีมติเสนอโครงการจนกระทั่ง ครม.มีมติอนุมัติ ถือว่าเป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานสลากฯ และปฎิบัติหน้าที่โดยทุจริตที่บัญญัติไว้ในพรบ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11

2. มติข้อ 2 ที่ให้นำรายได้คืนสู่สังคมนั้นเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491มาตรา 4 และ มาตรา 13 และพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 มาตรา 23และ มาตรา 27 ทั้งนี้ การปฎิบัติหน้าที่ในฐานะครม. มีมติให้นำเงินของหน่วยงานรัฐออกไปใช้ โดยไม่มีสิทธิ์ที่จะนำออกไปใช้หรือมีมติให้นำออกไปใช้นั้น

-เป็นการปฎิบัติหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ คือ สำนักงานสลากกินแบ่ง และเป็นการปฎิบัติหน้าที่ที่แสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบเป็นการทุจริตอันเข้าลักษณะที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

-มติดังกล่าวนั้นเป็นการก่อให้เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ทำจัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด จ่ายทรัพย์ไปโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการเบียดบังทรัพย์นั้น เป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,153

-ก่อให้พนักงานซึ่งมีหน้าที่จ่ายทรัพย์นั้นเกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นตามกฎหมาย จึงต้องถือว่า ครม. ที่มีมติดังกล่าวนั้นเป็นผู้ใช้ให้เจ้าพนักงานกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,153 และเป็นผู้ใช้ให้พนักงานในองค์การของรัฐกระทำความผิด ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดต่อพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานขงอรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 10

สำหรับพ.ต.ท.ทักษิณ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รมว.คลัง และนายวราเทพ รัตนากร รมช.คลัง ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลสำนักงานสลากฯ นั้นมีอำนาจหน้าที่ตามระเบียบบริหาราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ที่จะต้องดูแลสำนักงานสลากฯ การที่บุคคลทั้งสาม เข้าไปร่วมมีมติให้นำเงินรายได้ของสำนักงานสลากฯ ไปจ่ายคืนสู่สังคม ซึ่งฝ่าฝืนต่อพ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ พ.ศ.2517 มาตรา 23 และ 27 เป็นการเข้าไปมีสว่นได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นอันเนื่องด้วยกิจการของสำนักงานสลากฯ เข้าลักษณะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 อีกบทหนึ่งด้วย

ในส่วนของคณะกรรมการสลากฯ ที่มีมติให้เสนอโครงการและต่อมามีมติให้ดำเนินการจ่ายเงินตามมติครม.นั้น คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น ถือว่า เป็นพนักงานที่มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการของสำนักงานสลากฯ การที่เสนอ ให้นำเงินรายได้ของสำนักงานสลากฯ ไปจ่ายคืนสู่สังคม อันเป็นการฝ่าฝืนพ.ร.บ. สำนักงานสลากฯ พ.ศ.2517 มาตรา 23 และ 27 นั้นการกระทำของคณะกรรมการสลากฯ เป็นความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การฯ มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 10 และเป็นผู้ใช้พนักงานที่มีหน้าที่จ่ายทรัพย์จ่ายทรัพย์เกินกว่าที่ควรจ่ายมาตรา 10 การกระทำของครม.และคณะกรรมการสลากฯ เป็นทั้งตัวการร่วมกันและเป็นผู้ใช้และสนับสนุนซึ่งกันและกัน

3. มติข้อ 3 ที่ให้ลดหย่อนและยกเว้นภาษีนั้น คตส. พิจารณาแล้วเห็นว่า มติ นี้ เป็นการขัดต่อกฎหมายฝ่าฝืน พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 310) พ.ศ. 2540 มาตรา 5 จตุทศ และฝ่าฝืนกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ.2543 ) ออกตามความในพรย.การพนัน พ.ศ. 2478 และถือเป็นคำบงการหรือเป็นส่วนก่อให้เกิดการละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากรของเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1574 นอกเหนือจากการมีมติในส่วนนี้จะเป็นการปฎิบัติหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานสลากฯ และปฎิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 157
คตส.จึงมีมติเห็นว่า

1.การกระทำของครม. ที่มีมติ ในส่วนนี้มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,84,86,154 และ 157 และเป็นความคิดตามพรบ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานจของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ส่วนคณะกรรมการสลากฯ ที่มีมติเกี่ยวข้อง มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ,84,86 , 154 และความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11

สำหรับหน่วยงานที่ได้รับความเสียหายจากโครงการฯ นี้ ประกอบไปด้วย สำนักงานสลากฯ แยกเป็นเงินที่มีการอนุมัติให้นำไปจ่ายตามโครงการฯ ต่าง จำนวน 13,679,596,802.79 บาท และจ่ายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2,347,908,433.15 บาท รวมจำนวนเงินทั้งหมด 16,027,505,235.94 บาท (ระหว่างการไต่สวน มีหน่วยงานที่รับเงินไปคืนมาให้สำนักงานสลากฯ จำนวน 1,165,206,460.00 บาท คงเหลือส่วนที่เสียหายจำนวน 14,862,298,775.94 บาท

2. กระทรวงการคลัง ในส่วนของการขาดภาษีอากรที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ หัก ณ ที่ จ่าย จากส่วนลดการจำหน่ายไว้จำนวน 161,585,172.84 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มจากยอดรายได้จากการจำหน่ายสลากตามราคาทั้งหมด เป็นยอดภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่กระทรวงการคลัง ต้องขาดรายได้ไป จำนวน 8,809,155.737.38 บาท ซึ่งถือว่า เป็นค่าเสียหายในส่วนของกระทรวงการคลัง จำนวน 8,970,740,910.22 บาท

3. กระทรวงมหาดไทย ในส่วนของภาษีตามพรบ.การพนัน ที่ต้องชำระ ในส่วนที่หักไม่ครบถ้วน โดยจะต้องชำระ ร้อยละ 10 ของยอดราคาสลากแต่หักไว้เพียงร้อยละ 0.5 รวมเป็นจำนวนเงิน 12,792,152,581.50 บาท

4. กรุงเทพมหานคร ในฐานะเป็นราชการส่วนท้องถิ่นขาดรายได้ภาษีท้องถิ่น ไป รวมเป็นเงิน 336,635,594.25 บาท
รวมค่าเสียหายของหน่วยงานทั้งหมดเป็นเงิน 36,961,827,861.91 บาท โดยในส่วนของ ครม. ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบเต็มจำนวนความเสียหาย ในส่วนของคณะกรรมการสลากฯ จะต้องรับผิดชอบตามจำนวนเงินที่แต่ละคนเข้าไปร่วมประชุมและมีมติอนุมัติไป

สำหรับรายชื่อของผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ มีจำนวน 47 คน ประกอบไปด้วย
1.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 2.พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี 3.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี 4.นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี 5.นายกร ทัพพะรังสี อดีตรองนายกรัฐมนตรี
6.ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี 7.นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี 8.พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรี (รมว.) ว่าการกระทรวงกลาโหม 9.ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ อดีต รมว.คลัง 10.นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีช่วย (รมช.) ว่าการกระทรวงการคลัง
11.นายสนธยา คุณปลื้ม อดีต รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา 12.นายอนุรักษ์ จุรีมาศ อดีต รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 13.นายสรอรรถ กลิ่นประทุม อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ 14.นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ 15.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม
16.นายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีตรมช.คมนาคม 17.นายนิกร จำนง อดีต รมช.คมนาคม 18.นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 19.นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 20.นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีต รมว.พลังงาน
21.นายอดิศัย โพธารามิก อดีต รมว.พาณิชย์ 22.นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมช.พาณิชย์ 23.นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีต รมว.มหาดไทย 24.นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีต รมว.ยุติธรรม 25.นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีต รมว.แรงงาน
26.นางอุไรวรรณ เทียนทอง อดีต รมว.วัฒนธรรม 27.นายพินิจ จารุสมบัติ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 28.นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีต รมว.สาธารณสุข 29.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีต รมช.สาธารณสุข 30.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีต รมว.อุตสาหกรรม
31.นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล 32.นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง 33.นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ในฐานะผู้แทนกระทรวงมหาดไทย 34.นายพรชัย นุชสุวรรณ ในฐานะผู้แทนสำนักงบประมาณ 35.นางสาวสุรีพร ดวงโต ในฐานะผู้แทนกรมบัญชีกลาง
36.นายณัฐวิช อินทุภูมิ ในฐานะผู้แทนสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย 37.นายชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 38.นายกำธร ตติยกวี 39.พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ อดีตผู้อำนวยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 40.นายชัยฤกษ์ ดิษฐอำนาจ ในฐานะผู้แทนกระทรวงมหาดไทย
41.นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ในฐานะผู้แทนสำนักงบประมาณ 42.พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ 43.นางสตรี ประทีปปะเสน ในฐานะผู้แทนสำนักงบประมาณ 44.นายอำนวยศักดิ์ พูลศิริ 45.พล.ต.ท.อิสระพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
46.นายบัณฑูร สุภัควณิช ในฐานะผู้แทนสำนักงบประมาณ และ 47.นางอรอนงค์ มณีกาญจน์ ผู้แทนกรมบัญชีกลางซึ่งเป็นกรรมการ (บอร์ด) สลากกินแบ่งรัฐบาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น