คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติแล้ว ฟันอาญา"สมชาย-บิ๊กจิ๋ว"คดี 7 ตุลาเลือด ส่วน"พัชรวาท-สุชาติ"เจอ2เด้งพวงวินัยร้ายแรง ฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ต้องถูกไล่ออก-ปลดออกภายใน 30 วัน ขณะที่ 5 บิ๊กสีกากีระดับ รอง ผบ.ตร.-รองผบช.น.รอดเพราะทำตามคำสั่ง
นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 7 กันยายน ภายหลังการประชุม ป.ป.ช. ซึ่งพิจารณาสำนวนการไต่สวนคดีการสลายผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากว่า ที่ประชุมมีมติให้ชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้สั่งการให้สลายการชุมนุม นอกจากนั้น ยังมีมติให้ชี้มูลความผิดทางอาญา และวินัยร้ายแรงในฐานความผิดเดียว กับพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ในฐานะผู้บัญชาตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ซึ่งเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ แต่กลับไม่มีการสั่งให้หยุดการสลายการชุมนุม ทั้งที่มีผู้บาดเจ็บและชีวิตในช่วงเช้า
นายวิชา กล่าวว่า สำหรับผู้ถูกกล่าวหาอีก 5 คน ระดับรองผบ.ตร. และรองผบช.น. คณะกรรมการฯ เห็นว่าไม่มีความผิด เนื่องจากเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา รายละเอียดทั้งหมดจะแถลงในเวลา 15.00 น. วันเดียวกันนี้ โดยนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการและโฆษก ป.ป.ช.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับความผิดในคดีอาญา ป.ป.ช.จะต้องส่งสำนวนของบุคคลทั้ง 4 ให้กับอัยการสูงสุดภายใน 14 วันซึ่งอัยการสูงสุดต้องพิจารณาส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายใน 30 วัน(พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542(มาตรา 10) เว้นต่อัยการสูงสุดเห็นว่า สำนวนไม่สมบูรณณ์ต้องตั้งคณะทำงานร่วมขึ้นมาระหว่างอัยการสุงสุดกับ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาสำนวนดังกล่าว
ส่วนความผิดวินัยร้ายแรง ของ พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ป.ป.ช.จะต้องส่งสำนวนให้กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.)และฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) พิจารณาโทษซึ่งนายอภิสิทธิ์ จะต้องนำกรณีของ พล.ต.อ.พัชรวาท เข้าพิจารณาใน ก.ต.ช. ส่วนพล.ต.ท.สุชาติ เข้าใน ก.ตร. เพื่อพิจารณาลงโทษภายใน 30 วัน ซึ่งมีเพียงไล่ออกหรือปลดออกเท่านั้น จากนั้นจะต้องแจ้งให้ ป.ป.ช.ทราบ ภายใน 15 วัน
ด้านนายวัฒนา เตียงกูล ทนายความส่วนตัวของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมาได้รับมอบอำนาจจากนายสมชาย ให้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อดำเนินการตามกฏหมายกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฐานหลีกเลี่ยง ละเว้นการเข้าพบคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร ซึ่งถือเป็นกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และขอให้มีคำสั่งให้ ป.ป.ช.เข้าพบคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารก่อนชี้มูลความผิดนายสมชายและคณะจากเหตุการณ์สลายชุมนุมหน้ารัฐสภาวันที่ 7 ตุลาคม
นายวัฒนา กล่าวว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากนายสมชายได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารเพื่อขอให้ ป.ป.ช.เข้ารับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วนรอบด้านก่อนที่จะชี้มูลความผิด เมื่อประมาณ 3-4 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 (7) ว่าด้วยในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็วและเป็นธรรม โอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ การตรวจสอบได้รับพยานหลักฐานตามสมควร จากนั้นคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารได้นัดปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.เข้าพบในวันที่ 8 กันยายนที่จะถึงนี้ แต่ปรากฏว่า ป.ป.ช.กลับไม่ยอมเข้าพบและเร่งรัดชี้มูลความผิดนายสมชายและคณะมาเป็นวันที่ 7 กันยายนถือว่าเป็นการข้ามขั้นตอน อีกทั้งที่ผ่านมาป.ป.ช.ก็ไม่เคยเรียกนายสมชายและพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายรัฐมนตรีเข้าชี้แจง ดังนั้นคำวินิจฉัยของป.ป.ช.ในวันที่ 7 กันยายนจึงถือว่าเป็นคำสั่งที่มิชอบ และเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 157
อนึ่ง ก่อนหน้านี้แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช.เปิดเผย"มติชนออนไลน์"เมื่อวันที่ 6 กันยายนว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.นัดพิเศษวันที่ 7 กันยายน มีวาระพิจารณาคดีสำคัญ 2 คดี
คดีแรกคือพิจารณาสำนวนคดีไต่สวนเจ้าหน้าที่ของรัฐประพฤติมิชอบกรณีสั่งการให้สลายการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นการพิจารณาต่อเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการเมื่อวันอังคารที่ 1 กันยายน ทั้งนี้หลังจากให้เจ้าหน้าทที่ที่รับผิดชอบไปปรับปรุงสำนวนมาใหม่แล้ว คาดว่า คณะกรรมการจะลงมติชี้มูลผู้ที่ถูกกล่าวหาทั้ง 9 คนด้ ตั้งแต่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รอง ผบ.ตร พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล รองผบช.น. พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา รอง ผบช.น.พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบช.น.
คดีที่สอง คือ คดีถอดถอนคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายรัฐมนตรีพร้อมคณะกรณีออกมติ ครม.การออกแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งคดีดังกล่าวติดอยู่ที่การพิจารณาว่า ผู้ถูกกล่าวหากว่า 30 คนซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรี 28 คนแบะข้าราชการประจำ 5 คน "จงใจ"หรือมีเจตนาพิเศษที่จะฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา มีการถกเถียงกันในประเด็นนี้อย่างมาก
อย่างไรก็ตามมีข่าวว่า กรรมการ ป.ป.ช.บางคนพยายามบีบมิให้เจ้าหน้าที่สรุปสำนวนว่า อดีตรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลนายสมัครมีความผิด
สำหรับรายชื่อรัฐมนตรี 28 คนในสมัยรัฐบาลนายสมัคร ที่ถูกป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาประกอบด้วย นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯและรมว.กลาโหม นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตรองนายกฯ นายชูศักดิ์ ศิรินิล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ
นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง, ร.ต.(หญิง)ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมพัฒน์ แก้วพิจิตร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ
นายธีระชัย แสนแก้ว อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ นายสันติ พร้อมพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอนุรักษ์ จุรีมาศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายทรงศักดิ์ ทองศรี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุพล ฟองงาม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายบุญลือ ประเสริฐโสภา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นายพงศกร อรรณนพพร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายไชยา สะสมทรัพย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายมั่น พัธโนทัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางอุไรวรรณ เทียนทอง อดีตรมว.แรงงาน
ส่วนรัฐมนตรี 6 คน คนที่ไม่ถูกป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาเนื่องจากไม่ได้เข้าประชุม ครม.เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 คือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง นายสหัส บัณฑิตกุล อดีตรองนายกฯ พล.ท.(หญิง)พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีตรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายสิทธิชัย โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
สำหรับข้าราชการประจำที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ได้ แก่ 1.นายกฤช ไกรกิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย 2.นายเชิดชู รักตบุตร อัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส 3.นายพิษณุ สุวรรณรชฎ รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก 4.นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ 5 .พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า บรรดารัฐมนตรีที่ถุกแจ้งข้อกล่าวหามีอยู่ 3 คนที่เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แก่ พล.ต..สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ ,นายประดิษฐ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที
น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะผู้รับผิดชอบสำนวนกล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะพิจารณาสำนวนเขาพระวิหารต่อจากสำนวนคดี 7 ตุลาซึ่งจะพิจารณาในช่วงเช้า แต่ขึ้นอยู่กับว่า ที่ประชุมจะสามารถชี้ขาดคดี 7 ตุลาฯได้หรือไม่ ถ้ายังไม่สามารถสรุปได้อาจต้องเลื่อนคดีเขาพระวิหารออกไปอีก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น