โพสต์ทูเดย์ : เศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ สับแหลกโครงการไทยไม่เข้มแข็ง แต่ก่อหนี้มหาศาล พบส่วนใหญ่ทำได้แค่ ปะผุ ล้างท่อ รายได้ภาษีไม่พอจ่ายแน่
นักวิชาการกลุ่มจับตานโยบายรัฐบาล คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่าแผนปฏิบัติการ ไทยเข้มแข็ง วงเงิน 1.43 ล้านล้านบาทของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า เป็นโครงการที่ไม่มีพลังในการตอบโจทย์รัฐบาลเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจไทยได้ในระยะปานกลางและยาว ผลที่เกิดจากมาตรการนี้ทำได้เพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นโครงการปะผุและไม่กระจายตัว นักวิชาการกลุ่มนี้ กลัวว่ารายได้จากภาษีที่เกิดขึ้นจากการกระตุ้นไม่เพียงพอรองรับภาระหนี้
นางปัทมาวดี ซูซูกิ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า โครงการส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ไม่มีมาตรการที่สามารถแก้ปัญหาเชิงคุณภาพและเชิงโครงสร้างได้ และโครงการส่วนใหญ่เป็นการสานต่อโครงการเดิมๆ ที่มีอยู่ในระบบงบประมาณที่ยังไม่ได้ทำ หรือทำไปบ้างแล้ว จากนั้นก็นำมาจัดสรรเพิ่ม เสมือนเป็นการปะผุ หรือล้างท่อโครงการต่างๆ ของรัฐบาลเท่านั้นเห็นได้จากการลงทุนในระบบรถไฟฟ้า
“โครงการใหม่ที่เสนอมาถือว่ายังเป็นโครงการที่ยังขาดทิศทาง และเป้าหมายที่ชัดเจน เหมือนเป็นงบแค่ปะผุ หรือจะเรียกว่างบล้างท่อก็ได้ และเมื่อลองเอาโครงการย่อยมาดูจะพบว่า ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาระบบเศรษฐกิจในระยะปานกลางหรือยาวได้เลย จึงเห็นว่างบส่วนที่เหลือหลังจากกดปุ่มลงไป 2 แสนล้านบาทแรก หากรัฐบาล จะปรับโครงการเพื่อเสริมความ เข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจได้อีกก็จะดี” นางปัทมาวดี กล่าว
นางปัทมาวดี กล่าวว่า สิ่งที่ยังขาดในโครงการไทยเข้มแข็งคือ ด้านพลังงานและขนส่งที่ได้รับการจัดสรรงบไปกว่า 3 แสนล้านบาท แต่ปรากฏว่าด้านพลังงานมีการทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนน้อยมาก ไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่พยายามพูดเรื่องนี้ว่านโยบายที่สำคัญข้อหนึ่งของประเทศ
ขณะที่การพัฒนาด้านขนส่ง มีการใช้งบส่วนใหญ่เกือบครึ่งในการซ่อมถนน ที่เหลือนำไปลงทุนในระบบราง แต่ไม่มีการจัดสรรเงินลงทุนในระบบทางน้ำตามแผนโลจิสติกส์ งบพัฒนาทางด้านการศึกษาที่ได้รับการจัดสรรงบถึง 1.3 แสนล้านบาท แต่ส่วนใหญ่ใช้ในการพัฒนาครู ไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาทางด้านระบบการศึกษาของไทยในระยะยาวได้
ด้านการเกษตรได้รับการจัดสรรงบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท งบส่วนใหญ่ใช้ในการพัฒนาระบบชลประทานเดิมที่มีอยู่แล้ว 23% ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด เท่ากับเป็นการใช้งบพัฒนาแบบกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เดิม ทำให้ภาคการเกษตรโดยรวมไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ ไม่มีงบสำหรับวิจัยและพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
ทั้งนี้ กลุ่มจับตานโยบายรัฐบาลเสนอให้รัฐบาลกำหนดเป้าหมายและทิศทางในการใช้งบให้สอดคล้องกับทิศทาง และจุดอ่อนในการพัฒนาประเทศ เช่น การพึ่งพาการส่งออก การพึ่งพาพลังงานนำเข้าสูง และระบบการศึกษาขาดคุณภาพ
นอกจากนี้ ยังควรทำนโยบายในเชิงกลยุทธ์และจัดทำให้เป็นแพ็กเกจ หรือมาตรการเพื่อให้เกิดพลัง และควรคิดกลไกในการขับเคลื่อน ติดตาม และตรวจสอบการใช้เงิน โดยใช้กลไกในท้องถิ่นเข้ามาช่วย
นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า งบไทยเข้มแข็งในช่วง 3 ปี คิดเป็นสัดส่วนได้เท่ากับการขาดดุลประมาณ 5% ของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เกือบทั้งหมดมาจากการกู้ จึงอยากตั้งข้อสังเกตว่ารายได้จากภาษี หรือรายได้ของภาคเอกชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะเพียงพอต่อความสามารถในการชำระหนีได้หรือไม่ เพราะโครงการส่วนใหญ่จะไม่ก่อให้เกิดรายได้ มีความซ้ำซ้อน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น