--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

วิกฤติแห่งมหานที ภาวะล่อแหลมรัฐนาวา กอบกู้ศรัทธาหลังน้ำลด !!?

ไม่มีใครต้องการให้เกิดภัยธรรมชาติ แต่เมื่อเกิดแล้วเราต้องเข้าใจธรรมชาติ และให้ภัยธรรมชาติเป็น ครูที่สอนเรา...” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2533

วินาทีนี้คนไทยทั้งประเทศคงเผชิญ หน้ากับ “มหาอุทกภัย” ครั้งร้ายแรง...! นับเนื่องถึงตอนนี้ ก็ยังมิอาจนิ่งนอนใจ แม้ว่า “มวลน้ำก้อนใหญ่” กอปรกับน้ำทะเลหนุนเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็เป็น “เศษเสี้ยวแห่งความหวัง” ที่ช่วยละลายความตึงเครียดของประชาชน โดยเฉพาะกับคนปลายน้ำเช่นคนกรุง ให้คลายวิตกลงไปเปราะหนึ่ง

พลันให้จับตาว่า ประเทศไทยจะก้าว พ้นวิกฤตการณ์ไปได้หรือไม่...! หลังจากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนกำลังหมดไป และเปิดทางให้การระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ สะดวกมากขึ้น

ทีนี้เมื่อได้สำเหนียกเสียงก่นอื้ออึง ที่ลั่นมากระทบโสต ทั้งผู้นำรัฐนาวา “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” กับผู้ว่าฯ กทม. “สุขุมพันธุ์ บริพัตร” จึงเริ่มหันหน้าเข้าหากัน เพื่อบรรเทาวิกฤติ และ “สกัดกั้น” มวลน้ำ มหาศาลที่จ่อคิวไหลทะลักสู่ใจกลางเมืองหลวง ก่อนมีข้อแถลงตรงกันว่า...น้ำเริ่มนิ่ง แต่ยังมิอาจวางใจได้มากนัก เพราะอาการ พนังแตกกระสอบทรายทะลาย ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก พลันให้การระบายน้ำผันน้ำให้พ้นจาก “มหานครกรุงเทพ” จึงดำเนินไปอย่างรีบเร่ง

แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า...การบริหารจัดการน้ำล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ล้มเหลว...!! เพราะประเมินสถานการณ์ผิดพลาด...การสอดประสานระหว่าง รัฐต่อรัฐยังไร้ทิศทาง จนทำให้ประชาชนตกอยู่ในภาวะ “ลอยคอกลางน้ำ”

เหนืออื่นใด รัฐบาลและกรุงเทพมหานคร (กทม.) ใต้ปีกประชาธิปัตย์ ต่าง ได้รับบทเรียนราคาแพงไปแล้ว!!

ขณะที่การเมืองใต้ผิวน้ำ...! ยังไม่คลายเกลียว...กลายเป็นภาวะ “ล่อแหลม” ของรัฐบาล หลังการเดิมพันอันสูงลิ่วของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่พลั้งปากมาว่า น้ำเหนือ ที่มาจ่อคิวลงทะเลนั้น มีมวลน้ำมากถึง 1-2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ข้อมูลจากฝ่ายรัฐบาล หรือศูนย์ปฏิบัติการ บรรเทาและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ระบุว่า มีปริมาณน้ำเพียง 1 หมื่น ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบได้เกือบ 2 เท่าตัวจากปริมาณน้ำที่กักเก็บในเขื่อนภูมิพล ซึ่งกักได้ราว 1.2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร

สิ่งเหล่านี้ เป็นข้อมูลอันคลาดเลื่อน ไปจากข้อเท็จจริงหรือไม่..! แต่นั่นได้เป็นชนวนเหตุแห่งการวิพากษ์ กัดเซาะระบบเตือนภัยของรัฐบาลและ ศปภ. ให้ตกอยู่ใน สถานะติดลบไร้ความน่าเชื่อถือ!!

ยิ่งตลอดช่วงวิกฤติแห่งน้ำ รัฐบาลเพื่อไทย และตัวนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ต้องเผชิญวิบากกรรมน้ำท่วมปาก ผจญกับสารพัด “ตอผุด” และ “แรงต้าน” จนแทบสำรอกเป็นโลหิต มีทั้งเกมการเมืองทั้งในและนอกสภา กอปรกับกลุ่มอำนาจ รวมถึง “สื่อรับใช้” ที่พุ่งเป้าทำลายล้างรัฐนาวาให้จมหายไปกับมหานที

ถึงเวลานี้ รัฐบาลจะถูกเกมการเมือง กระหน่ำซัดจนสำลักน้ำ แต่กระนั้นความเชื่อมั่นจากภาคประชาชนก็ยังเปี่ยมล้น หลังจากวิกฤติแห่งน้ำเริ่มทุเลาเบาบาง โดย เทียบเคียงจากผลวิจัยเชิงสำรวจของ “เอแบคโพลล์” ที่ระบุชัดว่า ประชาชนร้อยละ 61.9 ยังให้โอกาสรัฐบาล และนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม ขณะที่ร้อยละ 40.6 เริ่มมีความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล และ กทม.

“ไชยวัฒน์ ค้ำชู” คณะรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ระบุถึงมหาอุทกภัยครั้งนี้ว่า เป็นเรื่องใหญ่และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การแก้ปัญหาจึงต้องทำไปและเรียนรู้ไปด้วย เพราะไม่มีใครมีประสบการณ์จัดการ ปัญหาน้ำท่วมที่ใหญ่ขนาดนี้มาก่อน อีกทั้ง นายกฯ เอง ก็ไม่มีประสบการณ์ จึงต้องอาศัยนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญมาร่วมกันทำงาน จึงมีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย กว่าจะได้วิธีการแก้ไข ต้องพูดคุยกัน หลายรอบ

“เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ การวิพากษ์วิจารณ์แก้ปัญหาของรัฐบาลก็ทำได้ เพียง แต่ต้องคิดไว้ก่อนว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรก หากครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้วรัฐบาลยังทำ ได้ไม่ดี นั่นแหละรัฐบาลสมควรถูกด่า...”

ส่วนหนึ่งก็เข้าใจประชาชน เพราะเหตุการณ์แบบนี้คนที่เดือดร้อนก็ต้องวิจารณ์และไม่ไว้วางใจรัฐบาลอีก ส่วนความเด็ดขาดของนายกฯ เรื่องการควบคุมคนนั้น ต้องบอกว่าภาระหน้าที่ของ นายกฯ มีมาก บางอย่างอาจไม่ทั่วถึงและ เกิดปัญหาขึ้นได้ แต่เมื่อเกิดแล้วต้องแก้ไข และมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทุกข้อวิจารณ์จะต้องรับฟังและแก้ไข

เวลาของการฟื้นฟูความเชื่อมั่นนั้น จะเห็นได้ว่าครั้งนี้เป็นภัยพิบัติในวงกว้าง หลายพื้นที่รัฐบาลต้องระดมสมอง ระดมบุคลากรเพื่อบรรเทาปัญหา และปัญหาน้ำ ท่วมยังไม่จบสิ้น จึงยังประเมินไม่ได้ว่าต้อง ใช้เวลาเท่าไหร่จะฟื้นฟูสำเร็จ แต่รัฐบาลต้องพูดให้ชัดเจนว่าการฟื้นฟูระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้..!!

นับเป็นมุมแห่งวิพากษ์จากฟากนักวิชาการ ที่เน้นย้ำถึงภาระหน้าที่อันหนักอึ้ง ของรัฐบาล ตลอดจนการฟื้นฟูภัยพิบัติ และแผนล้อมคอกก่อนวัวหาย... ยิ่งในห้วง “วิกฤติแห่งมหานที” ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกฝักฝ่ายจะข้ามพ้นความขัดแย้ง-เห็นแก่ตัว แล้วยึดเอาประโยชน์สุขของประชาชน เป็นหลักนำ

เหนืออื่นใด “รัฐนาวา” แม้ถูกมองเป็นเพียงมือใหม่หัดขับ จักพิสูจน์ตัวตนและความตั้งใจจริง ในการ “สกัดกั้นความเสียหาย-บรรเทาทุกข์” ไปพร้อมๆ กับการฟื้นฟู-เยียวยาหลังน้ำลด นั่นย่อมจะเป็น ผนังทองแดง กำแพงเหล็ก...! ที่คอย โอบอุ้มรัฐบาลให้ก้าวพ้น “วิกฤตการณ์” ก่อนจะไร้ซึ่งโอกาสในการ “กอบกู้ศรัทธาแห่งประชาชน” !!!

ที่มา.สยามธุรกิจ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น