ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มีนายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งที่ 1 โดยมีกรรมการเข้าร่วมประชุมประกอบไปด้วย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาฯ สศช. นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ นายวิษณุ เครืองาม นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ นายศุภวุฒิ สายเชื้อ เป็นต้น
ทั้งนี้ นายวีรพงษ์ กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมมีการพิจารณากรอบการทำงานของ กยอ. โดยมีเป้าหมายสำคัญในหลายประเด็น ประการแรก ได้มีการวางเป้าหมายระยะสั้นที่จะต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเป้าหมายระยะยาวที่จะทำงานเชื่อมโยงกับชุดคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (กฟย.) ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทยเป็นประธาน เพื่อวางแนวทางพัฒนาประเทศที่จะต้องนำปัจจัยเสี่ยงเรื่องอุทกภัยเข้ามาพิจารณาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย โดยจะลงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องลักษณะภูมิศาสตร์ โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ระบบทางน้ำ รวมทั้งการพัฒนาบ้านเมืองในเขตอุตสาหกรรม เขตเกษตรกรรม และเขตทางน้ำไหลต่างๆ
ส่วนประการที่สอง คือ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะที่ปรึกษา 4 ชุด ดังนี้ คณะที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และต่างประเทศ มีนายพันศักดิ์ วิญญูรัตน์ เป็นประธาน คณะอนุกรรมการด้านการประสานความร่วมมือและสร้างความมั่นใจกับภาคเอกชน มีนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เป็นประธาน คณะอนุกรรมการด้านการจัดตั้งองค์กรถาวรและแนวทางการปฏิบัติราชการแผ่นดิน มีนายวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการด้านการเงินและตลาดทุน มีนายศุภวุฒิ สายเชื้อ เป็นประธาน
ทั้งนี้ในส่วนการทำงานด้านธุรกิจและฝ่ายเลขานุการ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สศช. พร้อมอัตรากำลัง 30 คน เพื่อปฏิบัติหน้าที่กับ กยอ.โดยเฉพาะ ส่วนสถานที่ตั้งสำนักงานนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้
นายวีรพงษ์ กล่าวต่อว่า ด้านการสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจประกันภัยที่วิตกกังวลกัน ว่า สำนักงานบริษัทประกันภัยจะไม่รับประกันอุทกภัย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการเจรจากันอยู่ ว่า สถานการณ์อุทกภัยคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของภัยธรรมชาติทั้งหมด หากตกลงกันได้แล้วก็จะต่อรองเรื่องค่าธรรมเนียมเงื่อนไขต่างๆ โดยฝ่ายรัฐบาลให้ความมั่นใจได้ว่าจะดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมซ้ำ โดยเรื่องนี้ตนได้อาสาที่จะเป็นตัวกลางระหว่างภาคเอกชนและรัฐบาล ในการสร้างความมั่นใจให้บริษัทเหล่านั้นสามารถรับประกันได้ โดยเบื้องต้นได้รับแจ้งว่า บริษัทเหล่านี้รับประกันอุทกภัยแล้ว แต่ว่ามีค่าธรรมเนียมแพงขึ้น ก็ยังพยายามเจรจาให้ราคาเท่าเดิมหรือแพงขึ้นจากเดิมไม่มาก
สาเหตุที่บริษัทต่างชาติไม่กล้ารับประกันภัยน้ำท่วม เพราะกลัวว่าบริษัทแม่ระดับโลกจะไม่รับต่อนั้น ผมจะเดินทางไปให้ความมั่นใจกับเขาที่ลอนดอนเอง ว่าจะดูแลเรื่องนี้ให้ดีที่สุด ขออย่าได้กังวล ส่วนจะเดินทางวันไหนผมจะบอกอีกครั้ง แต่เบื้องต้นได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังรับเรื่องไปดูแลแล้ว โดยมีกรอบที่จะต้องทำให้เขารับประกันอุทกภัยให้ได้ ในราคาที่เป็นธรรมที่สุด ในส่วนภาครัฐจะต้องทำทำอย่างไรบ้างนั้น ก็จะให้นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลังเป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง
นายวีรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้ตนได้มีโอกาสพบกับคณะผู้แทนธุรกิจญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทย โดยได้พบกับประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ประธานหอการค้าญี่ปุ่น (เจซีซี) และประธานบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยล่าสุดประธานเจโทร ได้ให้ความมั่นใจว่า ญี่ปุ่นมีความปรารถนาที่จะอยู่กับประเทศไทย และขยายกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ ต่อไป เพราะไทยมีความได้เปรียบในหลายเรื่อง โดยเฉพาะแรงงานที่มีคุณภาพ และสามารถที่จะรับวัฒนธรรมการจ้างแบบญี่ปุ่นได้ โดยในขั้นตอนการซ่อมแซมโรงงานนั้น ได้ขอให้อนุญาตให้แรงงานที่ได้รับผลกระทบ สามารถเดินทางไปทำงานในบริษัทญี่ปุ่นในประเทศอื่นได้ ซึ่งตนคิดว่าก็ไม่น่าจะมีอะไรขัดข้อง
"สิ่งที่เร่งด่วนที่สุดตอนนี้ คือ การส่งวิศวกรญี่ปุ่นเข้ามาดูแลเครื่องจักร เขาก็ขอให้รัฐบาลไทยออกใบอนุญาตทำงานชั่วคราวให้ เพื่อจะได้ยกกำลังคนมาซ่อมแซมโรงงาน ผมก็ได้รับปากแล้วว่า จะดำเนินการอำนวยความสะดวกให้ เพื่อให้โรงงานเปิดทำการให้เร็วที่สุด"
นายวีรพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนั้น ญี่ปุ่นยังมีความต้องการที่จะลงทุนเพิ่มเติมในส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยต้องการที่จะขยายฐานะการผลิตจากเดิม 1 ล้านคันต่อปี เป็น 2.5ล้านคันต่อปี เพื่อให้ไทยกลายเป็นศูนย์การผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดรองจากญี่ปุ่นในอนาคต หากไทยมีการลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม นอกจากนั้นยังได้หารือกับประธานเจโทรอีกว่า ในอนาคตมีความจำเป็นที่จะต้องแบ่งโซนอุตสาหกรรม เพราะจะไปคิดว่าไทยน้ำไม่ท่วมอย่างเก่าไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งเขาก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
"อย่างไรก็ตาม ประธานเจโทรได้บอกว่า ญี่ปุ่นมีความพร้อมทางด้านการเงิน ด้านเทคนิคที่จะเข้ามาช่วยเหลือไทยอย่างเต็มที่ เพราะญี่ปุ่นมีประสบการณ์ในเรื่องภัยธรรมชาติมากมาย โดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วม เป็นเรื่องที่เขาชอบมานาน เพราะว่าเจอสถานการณ์แบบนี้มากว่า 1,000 ปี จึงมีประสบการณ์มาก โดยในวันที่ 28 พ.ย.นี้ เขาได้เชิญผม และคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ไปพูดคุยกับรัฐบาลญี่ปุ่น และสภาหอการค้าญี่ปุ่นอีกด้วย"
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาฯ สศช. กล่าวว่า สำหรับแผนแก้ไขปัญหาระยะสั้นไม่ให้น้ำท่วม ในส่วนยุทธศาสตร์คงแบ่งเป็น 2 ระยะคือ ในฤดูฝนปีหน้าจะต้องมีระบบป้องกันอย่างน้อย 2 ระบบ คือ ระบบในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เรื่องนี้ผู้ประกอบการจะต้องปรับปรุงแก้ไข ทางรัฐบาลได้มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการกู้ไปลงทุนในเรื่องเขื่อนป้องกันในนิคม นอกจากนั้นยังมีกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่เป็นแหล่งเงินทุนที่สามารถใช้ได้
ในระดับที่สอง ก็จะเป็นเรื่องของการป้องกันน้ำท่วมนอกนิคม บริเวณรอบนอก และชุมชน เป็นการลงทุนของภาครัฐ คงจะต้องรอในเรื่องของการออกแบบ และรอการพิจารณาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ( กยน.) ด้วยว่า วิเคราะห์ทางน้ำ ที่จะมาต่อยอดว่าจะออกแบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างไร
ส่วนนายวีรพงษ์ กล่าวว่า การดำเนินงานเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน จะต้องมีการทำโครงการขึ้นมา และมีการประมูลมูลค่าของราคากลางราคาเท่าไร เพื่อนำเข้าสู่ระบบราชการประจำต่อไป ส่วนเรื่องการลงทุนเพื่อป้องกันอุทกภัยในระยะยาว จะต้องสอดคล้องเชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่น ที่จะยกระดับการพัฒนาประเทศให้สูงขึ้นไป จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะในคณะกรรมการ กยน. ซึ่งหากตนได้รับผลประเมินแล้วก็จะมาดูเรื่องการดำเนินการให้ลุล่วงไป ถึงตอนนั้นจะรู้ว่ามีอะไรบ้าง ราคาเท่าไร ใช้เงินที่ไหน ซึ่งการประชุม กยอ. จากนี้ไป จะประชุมเดือนละ 2 ครั้ง
เมื่อถามว่า จะหาแหล่งเงินจากไหนมาลงทุน นายวีรพงษ์ กล่าวว่า อยากให้นึกไปถึงสมัยป๋าเปรม (พลเอกเปรม ติณสูลานนท์) เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ช่วงนั้นเกิดวิกฤตทางการเงิน ดุลการค้าขาดดุล ดุลบัญชีเดินสะพัดก็ขาดดุล สมัยนั้นเราเจ็บป่วย โดยมีฐานะยากจน แต่ตอนนี้เราเจ็บป่วย โดยไม่ได้ยากจนอย่างเก่า ภาคเอกชนก็มีเงินออมจำนวนมาก บัญชีเดินสะพัดก็ยังเป็นบวกอยู่ คนเรานี่ก็แปลกเวลาจนไม่มีใครอยากให้กู้ แต่เวลารวยก็มีคนวิ่งมาให้กู้จัง ส่วนจะใช้เงินบาท เงินเหรียญสหรัฐ ก็ค่อยมาคุยกันอีกทีหนึ่งว่าจะใช้อย่างไร
เมื่อถามว่า จะเอาเงินสำรองระหว่างประเทศมาใช้หรือไม่ นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ก็เอามาบางส่วน แทนที่จะให้อเมริกากู้ถูกๆ ก็เอามาให้รัฐบาลไทยกู้ อาจจะให้ดอกเบี้ยดีกว่า หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่อยากให้กู้ ก็ต้องไปจี้เขาว่าทำไมปล่อยให้อเมริกากู้ได้
เมื่อถามว่า แผนระยะสั้น จะเห็นเป็นรูปธรรมเมื่อไร นายวีรพงษ์ กล่าวว่า "ต้องทำให้เร็วที่สุด ผมเป็นคนใจร้อน ผมอายุมากก็อยากเห็นผลงานของตัวเองเหมือนกัน"
ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น