--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เปิดใจ.วีรพงษ์ รามางกูร ขอ 1 ปี ปรับโฉมประเทศฟื้น เชื่อมั่นเศรษฐกิจ !!?




ทันทีที่ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 แต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดขึ้นมาวางแผนอนาคตเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นอีกในระยะยาว  ดร.วีรพงษ์ รามางกูร" หรือ "ดร โกร่ง" ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ซึ่งยืนยันจะใช้เวลาไม่เกิน 12 เดือน ดึงความเชื่อมั่นจากทั่วโลกกลับมา ด้วยการวางระบบ จัดทำโครงสร้าง เตรียมความพร้อมประเทศ เพื่อสร้างฐานรากอันมั่นคงเพื่อการป้องกันภัยธรรมชาติในอนาคต ดูแลนักลงทุน เศรษฐกิจให้พ้นความเสี่ยง ควบคู่กับเยียวยาเต็มรูปแบบ

- 1 ปีทุกเรื่องเห็นผล ฟื้นความเชื่อมั่นกลับมาทั้งหมด

การสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนต่างชาติผมรับดูแลเอง ระยะเร่งด่วนคือทำแผนปีหน้า ไม่ว่าปีไหนไทยจะต้องไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีก สิ่งที่ต้องทำระยะเริ่มต้นตอนนี้คือ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่เสียหายให้เสร็จเร็วที่สุด ระยะต่อไปคงจะต้องลงทุนขนานใหญ่ ต้องเริ่มศึกษาพิจารณา คิดโครงการต่าง ๆ วางระบบเรื่องบริหารจัดการน้ำให้ครบ เท่าไรก็ต้องลงทุน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้อีก

ทั้ง 2 อย่างเมื่อชัดเจน ผมเข้าใจว่าจะเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนทั่วโลกมาลงทุนในไทยได้

ส่วนแผนงานระยะสั้น 1 ปี ตลอดปีหน้า ผมคิดไว้ในใจคือให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่จมน้ำ หรือยังไม่ได้จมน้ำ พิจารณาลงทุนเพิ่มเติมเรื่องการป้องกันน้ำ เสริมคู ขุดร่องระบายน้ำ หรืออื่น ๆ แต่ละนิคมต้องใช้เงินแห่งละเป็นพันล้านบาท หากเป็นเขื่อนดินก็เปลี่ยนเป็นดินเหนียวที่รับน้ำอยู่

ภายใน 12 เดือนนี้แต่ละนิคมต้องเร่งทำ หากต้องการเงินเท่าไร ทางรัฐบาลจะจัดสินเชื่อถูกหรือดอกเบี้ยต่ำให้ ตอนนี้รัฐมนตรีกระทรวงการคลังกรุณาจัดให้แล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้นิคมนำไปดำเนินการสร้างแนวป้องกันถาวร

1 ปีของผมคือจะต้องไม่มีน้ำท่วมอย่างนี้อีกแล้ว ดังนั้นเงินที่เตรียมไว้ให้เอกชนกู้ 5 หมื่นล้านบาท น่าจะเพียงพอ

ช่วงนี้ผมจะไปหารือกับญี่ปุ่น เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่มีนักลงทุนรายใหญ่อยู่ในไทย ทั้งการผลิตและส่งออก หากเขาต้องการเห็นอะไรก็จะช่วยทุกเรื่อง หรือบริษัทประกันภัยในญี่ปุ่นซึ่งรับประกันอุตสาหกรรมในไทย ถ้าจะรับประกันภัยร่วมกัน ต้องการเห็นหรืออยากได้อะไรก็บอกมา

ผมขอท่านทูตญี่ปุ่นจัดให้ไปพบและฟังข้อเสนอจากนักลงทุนญี่ปุ่นที่อยู่ในไทยและในญี่ปุ่น เพื่อถามเขาว่าช่วง 1 ปีข้างหน้า เมื่อการฟื้นฟูประเทศกลับมาสู่ภาวะปกติได้ บริษัทต่าง ๆ จะต้องรับแรงงาน 8 แสนคน กลับมาทำงานอย่างเดิมได้ จะให้ผมทำอะไรบ้าง จะไปหาไจก้าหรือรัฐบาลญี่ปุ่น ถามเขาว่าจะช่วยด้านเทคนิค หรือการเงิน ทางไหนได้บ้าง เรื่องเงินทองเท่าไรก็ต้องลง เพราะเราไม่ได้มีปัญหาด้านความมั่นคงทางการเงินการคลังเหมือนสมัยก่อนแล้ว

ผมเชื่อว่าถ้าเราทำสุดความสามารถอย่างนี้ เขาคงจะเห็นความตั้งใจกอบกู้สถานการณ์อย่างแท้จริง ให้ความเชื่อมั่นว่าเขาสามารถอยู่ประเทศไทยได้ต่อไป ไม่ต้องย้ายไปที่อื่น

ภารกิจที่ 2 ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นที่ปรึกษาคณะ

กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะต้องดูเรื่องระบบบริหารน้ำ ทางด้านเทคนิค การลงทุนต่าง ๆ ต้องจัดการทั้งระบบ ทั้งประเทศ ว่าจะต้องทำอะไร ที่ไหนบ้าง ทางรัฐบาลต้องสนองตอบหาสินเชื่อกับการเงินมาสนับสนุน ส่วนเรื่องการประมูล จัดซื้อ จัดจ้างให้เป็นของระบบราชการทำไป การก่อสร้างจะกี่ปีก็ต้องว่ากันไป เมื่อทำเสร็จจะได้เป็นระบบที่ถาวรไปถึงรุ่นลูกหลานของเรา

ทุกเรื่องต้องทำทันที พอน้ำลด การสร้างเขื่อน สะพาน ทำให้เสร็จเลย อาจจะต้องยืดหยุ่นทางการเงิน สินเชื่อมากขึ้น เอกชนสามารถซ่อมบำรุงต่าง ๆ ได้ทันที

เรื่องความช่วยเหลือผมเน้นญี่ปุ่น เพราะมีนักลงทุนอยู่ในไทยปาเข้าไป 70-80% รองลงมามีไม่มากเป็นสิงคโปร์ ไต้หวัน หากโมเดลญี่ปุ่นดีก็จะนำไปใช้กับนักลงทุนประเทศอื่นด้วย และพร้อมจะตอบสนองทุกฝ่ายทั้งทางด้านเทคนิค โครงการต่าง ๆ และการเงิน เพราะประเทศเราเกินดุลการค้ามา 20 ปี สะสมสมบัติไว้เพียงพอจะกู้วิกฤต

ผมเองมาทำหน้าที่นี้โดยไม่มีเรื่องหนักใจอะไรเลย สามารถทำงานกับใครก็ได้ ขออย่างเดียวคือให้รู้ว่าจะต้องทำอะไร

- จะเสนอโซนนิ่งพื้นที่เกษตร-อุตสาหกรรม

ผมคิดเองเรื่องการทำโซนนิ่งพื้นที่เกษตรและอุตสาหกรรม น้ำท่วมครั้งนี้ทางโรงงานอุตสาหกรรมคงจะเข็ดแล้ว ต่อไปคงไม่เลือกที่น้ำท่วมควรจะหาที่อยู่ใหม่ แผนผมจะเสนอนายกรัฐมนตรีทำเรื่องนี้ โดยรัฐบาลนำทางจัดสาธารณูปโภค ถนน ระบบไฟฟ้า ประปา เชื่อว่านักลงทุนก็คงจะตามไปกับเรา

ครั้งนี้ภาคเกษตรเสียหายเพราะเป็นเรื่องเฉพาะหน้าเป็นส่วนใหญ่ พื้นที่นาภาคกลางเป็นข้าวนาปรังอยู่ในระบบชลประทานก้าวหน้า มักจะทำปีละ 3-4 ครั้ง หรืออย่างน้อย 2 ครั้ง ใช้ข้าวเบา พอน้ำลด ชาวนาหว่านไถได้ทันที ใช้เวลา 90 วัน ข้าวออกรวงเก็บเกี่ยวได้ สิ่งที่ต้องทำคือเยียวยาเฉพาะหน้า ซ่อมแซมบ้านเรือน เครื่องมืออุปกรณ์ที่เสียหายจากน้ำท่วม

ภาคอุตสาหกรรมคือส่วนที่หนักมาก ในอนาคตเราสามารถทำแผนให้กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมต่อไปคงต้องย้ายจากที่ลุ่มไปอยู่ที่ดอน ส่วนรัฐบาลมีหน้าที่สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ไฟฟ้า น้ำประปาให้ไปถึงก่อน เพื่อให้เอกชนตามไปลงทุน

เราจะต้องทำให้ได้จริงเพื่อสร้างความมั่นคง ลดความเสี่ยง เพราะนักลงทุนเสี่ยงในเรื่องตลาดต่างประเทศตามภาวะเศรษฐกิจเดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง เสี่ยงทางการเงินแล้วยังต้องมาเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม เอกชนก็คงไม่ไหวเหมือนกัน

แต่การปรับระบบครั้งนี้ก็ไม่ถึงขั้นจะเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยเสียเลยทีเดียว ผมว่า old Thailand ยังใช้ได้อยู่ แต่ทำให้ดีกว่าตอนนี้ เพียงแต่น้ำท่วมครั้งนี้ไม่มีใครตั้งตัวทัน

ส่วนปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องขนส่งถูกตัดขาด ปีหน้าคงจะไม่เกิดเหตุการณ์นี้ ตอนนี้ต้องมาสรุปแล้วว่า ถนนเส้นไหนควรจะยกระดับขึ้น หรือทำอะไร เพราะเห็นกันแล้วครั้งนี้ ตรงไหนบ้างที่เกิดปัญหาท่วมหรือไม่ท่วม หรือแม้แต่ความบกพร่องต่าง ๆ เช่น เครื่องสูบน้ำทำงานหนักก็เสียสูบน้ำไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ต้องแก้ไขอย่างเป็นระบบทั้งหมด

- ตั้ง สศช.เป็นกองงานดูแลระยะยาว

ผมจะตั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และตั้งกองใหม่ขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะอย่างถาวร สมัย ดร.เสนาะ อูนากูล เป็นเลขาธิการ ได้ทำหน่วยอีสเทิร์นซีบอร์ด ผมก็จะใช้แนวทางนี้เป็นโมเดลการวางอนาคตประเทศเรื่องภัยพิบัติธรรมชาติ

ส่วนหัวใจของกองใหม่คือเป็นหน่วยขับเคลื่อนเรื่องการทำระบบ ทั้งการเงิน โครงสร้าง ติดตาม ประเมินผลงาน จะต้องเข้าสู่ระบบปกติของราชการ

เราจะต้องใช้วิกฤตอัพเกรดตัวเองสู่ระดับที่มีความมั่นคง

ไม่เสียหายจากการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ ภัยพิบัติ โชคดีที่ไทยไม่ค่อยมีภัยพิบัติแผ่นดินไหว เหลือแต่เรื่องน้ำ เรื่องฝน การรักษาและปกป้องภัยธรรมชาติที่จะเกิดนั้น ผมคิดว่าแผ่นดินไหวแก้ลำบาก แต่น้ำแก้ได้ เราคงจะไม่ไปขัดขวางธรรมชาติ คงจะไปกับธรรมชาติมากกว่า ที่ไหนลุ่มน่าจะทำนา ที่ไหนดอนก็น่าจะตั้งโรงงาน เรื่องเหล่านี้เอกชนรู้อยู่แล้ว

ส่วนภาคธุรกิจเอง ผมต้องฟังจากผู้ประกอบการที่จะมา

บอกเรา เพราะมีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนอยู่ กยอ.

ผมจะประชุมคณะกรรมการวันอังคารหน้า (15 พ.ย. 54) หารือ 2 เรื่องใหญ่ เรื่องแรก จัดตั้งฝ่ายเลขานุการ กำหนดหน้าที่ให้ชัดเจน เรื่องที่ 2 งานเร่งด่วนที่จะต้องเตรียมตอนนี้ไว้สำหรับปีหน้า หากเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ทุกฝ่ายจะต้องทำอะไรบ้าง ใช้เงินเท่าไร ใช้เงินอะไร อย่างไร

ส่วนการจัดตั้งคณะอนุกรรมการชุดย่อย ยังคงจะรอพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนถึงจะประชุมแบ่งงานกันอีกครั้ง

ดร.วีรพงษ์กล่าวพร้อมเสียงหัวเราะอย่างมีความสุขด้วยประโยคที่ว่า ผมเข้ามามีส่วนร่วมแก้วิกฤตประเทศในรัฐบาลแต่ละสมัย 4 ครั้ง ครั้งแรก สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ วิกฤตการเงินตอนนั้นประเทศเกือบล้มละลาย ครั้งที่ 2 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีสงครามอ่าวเปอร์เซีย ราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด ครั้งที่ 3 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เกิดต้มยำกุ้ง ค่าเงินบาทลอยตัว และครั้งที่ 4 คือตอนนี้ ยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ผมจะเข้ามาวางระบบโครงสร้างปีเดียวก็จะไป ที่เหลือเป็นงานของหน่วยปฏิบัติภาคราชการต้องสานต่อไป

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น