--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

คนนนท์.ฮือทวงสัญญาไล่บี้ กทม.เปิดประตูน้ำมหาสวัสดิ์จี้ ยก 1ม.-สุขุมพันธ์ขอดูก่อนแฉเหตุ ระบายน้ำลงทะเลช้า !!?

กรุงเทพพฯ-นนท์ ร้าว จี้เปิดประตูระบายน้ำท่วมเมืองนนท์ "สุขุมพันธ์" ลั่นทำไม่ได้เหตุกระทบฝั่งธนฯ ตต.น้ำทะลักเข้า 7-8 ล้าน บ.ม.ต่อวัน ขอประเมินสถานการณ์ 24 ชม. ย้ำทุกฝ่ายต้องยึด ก.ม.ฟังเหตุและผล แฉน้ำเหนือระบายลงทะเลช้า “ลมสลาตัน” ทำน้ำทะเลหนุน เกิด “เซอจ” สูงถึง 40 ซม. คาดน้ำแห้งปลายปี 54 “รอยล”ไม่อยากเผยแพร่หวั่น ปชช. ตื่นตระหนก ชลประทานแจงกระทบต่อภาคลงทุน-อุตสาหกรรมนายกฯ ครม.ไฟเขียวอนุมัติกว่า 2 พันล้านช่วยผู้ประสบภัย กทม. เลื่อนเปิด รร. 2 กลุ่ม น้ำป่า-ดินถล่มเมืองลุง “แม้ว” ดอดดูงานน้ำแดนโสม อัดรัฐประหารทำโครงการป้องกันน้ำเป็นหมัน
สถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพมหานครในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย อย่างเช่นบนถนนวิภาวดีรังสิต หน้าสำนักพิมพ์เดลินิวส์ แต่ในหลายพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขัง อย่างเช่น จ.ปทุมธานี ที่ผู้ประสบภัยได้รวมตัวกันปิดถนนพหลโยธิน เรียกร้องให้ภาครัฐเร่งช่วยเหลือเยียวยา รวมถึงยื่นข้อเสนอให้รื้อบิ๊กแบ็ก ที่ทำให้การระบายน้ำยากลำบาก ตามที่นำเสนอไปนั้น
เมืองนนท์ขู่รื้อประตูระบายน้ำ

ที่หน้าศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีประชาชนจากหลายอำเภอที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวมกว่า 500 คน มาฟังคำตอบจากนายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าฯ หลังจากยื่นข้อเสนอเรียกร้องให้ทางจังหวัดเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในหลายอำเภอ บางส่วนได้ชูป้ายประท้วงระบุข้อความว่า นนทบุรีไม่ใช่เขื่อนเก็บน้ำ ไม่อยากมีชายแดนติด กทม. หรือคนนนท์เป็นพลเมืองชั้น 2 ใช่ไหม ส่วนใหญ่โจมตีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร พร้อมยื่นคำขาดว่า หากเวลา 13.00 น.ยังไม่ได้รับคำตอบ จะรวมตัวขึ้นไปที่ประชุมชั้น 5 และจะเดินทางไปรื้อแนวเขื่อนที่ประตูระบายน้ำทุกจุด แต่จะไม่มีการปิดถนนเหมือนที่ผ่านมา เพราะไม่อยากให้คนในพื้นที่เดือดร้อนเพิ่มขึ้น แต่จะแก้ปัญหาจากต้นเหตุแทน

ต่อมา ผู้ว่าฯ ได้เปิดห้องประชุมชั้น 5 เพื่อให้ตัวแทนชาวบ้านอำเภอละ 10 คน รวมถึงชาวบ้านจาก กทม. ขึ้นไปหารือเพื่อหาทางออกร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งผู้แทนจากกระทรวงคมนาคม กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้เวลากว่า 1 ชม. ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ต่างฝ่ายต่างเรียกร้องเพิ่มเติมและโต้เถียงกันอย่างรุนแรง กระทั่งนายวิเชียรต้องจัดรถยีเอ็มซี 2 คัน บรรทุกผู้ชุมนุมกว่า 200 คน ไปตรวจแนวประตูระบายน้ำคลองมหาสวัสดิ์ทั้ง 9 บาน ว่าทาง กทม.ได้เปิดประตูสูง 1 เมตร ตามที่ได้ตกลงไว้หรือไม่

“สุขุมพันธุ์”ลั่นทำไม่ได้

ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงกรณีประชาชนใน จ.นนทบุรี จะมารวมตัวที่ศาลาว่าการ กทม. เพื่อให้เปิดประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนาให้สูง 1 เมตรว่า ตนรับทราบเรื่องนี้แล้ว และยืนยันว่าไม่สามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องได้ ขณะนี้ประตูระบายน้ำเปิดอยู่ที่ 75 ซม. หากเปิดกว้างกว่านี้จะทำให้น้ำเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ อีก 7-8 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน และขอประเมินสถานการณ์น้ำภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อดูผลกระทบที่จะมีต่อพื้นที่ชั้นใน ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการใดๆ ตนเข้าใจปัญหาของประชาชนในพื้นที่นนทบุรีที่ถูกน้ำท่วมขังมานาน สิ่งใดตอบสนองได้ก็จะทำ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างจะทำตามความรู้สึกไม่ได้ ต้องเป็นไปตามกฎหมายและเหตุผล อยากให้ทุกฝ่ายเคารพเหตุผลกัน ตนไม่สัญญาว่าจะเปิดประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนาสูงขึ้น 1 เมตรได้เมื่อไหร่ เพราะตนไม่สามารถกำหนดระดับน้ำได้

24ชม.ประเมินสถานการณ์

ต่อมาในช่วงเย็น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยถึงผลการหารือการแก้ไขปัญหากรณีข้อเรียกร้องของประชาชน จังหวัดนนทบุรี โดยขอให้ กทม. เปิดประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนา คลองมหาสวัสดิ์ คลองภาษีเจริญ เพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีน และให้รื้อแนวกระสอบทรายริมคลองมหาสวัสดิ์ฝั่ง กทม. เพื่อให้การระบายน้ำจากคลองมหาสวัสดิ์ด้านจังหวัดนนทบุรีสะดวกยิ่งขึ้น ลดความเดือดร้อนของประชาชน โดยผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เพื่อลดผลกระทบของประชาชนจังหวัดนนทบุรี กทม.ได้พิจารณาลดช่วงเวลาการประเมินสถานการณ์ภายหลังจากเปิดประตูระบายน้ำคลอง 3 สาย ได้แก่ คลองขุนศรีบุรีรักษ์ คลองควาย และคลองซอย จาก 48 ชั่วโมง เป็น 24 ชั่วโมงหรือประมาณเช้าวันที่ 23 พ.ย. เพื่อเร่งประเมินสถานการณ์โดยคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนชาวนนทบุรีเป็นที่ตั้ง

ทั้งนี้สำหรับผลการเจรจาร่วมกันระหว่างตัวแทน กทม. ศปภ. และจังหวัดนนทบุรี มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการว่า 1. ขอให้กทม.เปิดประตูระบายน้ำคลองขุนศรีบุรีรักษ์ คลองควาย และคลองซอย โดยพิจารณาเปิดในลักษณะขั้นบันไดจาก 50 ซม. เป็น 75 ซม. โดยหากประเมินผลแล้วไม่กระทบต่อทุกฝ่าย กทม.จะพิจารณาเปิดเพิ่มอีกครั้ง ในส่วนของคลองทวีวัฒนา จะเปิดที่ 50 ซม.เหมือนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง 2. เปิดเพิ่มประตูระบายน้ำคลองบางพลัด คลองบางอ้อ และคลองบางบำหรุ โดยคลองบางพลัด และคลองบางอ้อ จะเปิดเพิ่มเป็น 70 ซม. และคลองบางบำหรุ จะให้เปิดเพิ่มภายหลังจากซ่อมแซมและนำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้ง ซึ่งอาจให้เวลา 2 วัน ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า การเพิ่มประตูในพื้นที่เหล่านี้จะขึ้นอยู่กับขีดความสามารถและประสิทธิภาพเครื่องสูบน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองต่าง ๆ ซึ่งในเช้าวันนี้ ได้ลงนามในหนังสือถึง ผวจ.นนทบุรี เพื่อยืนยันข้อตกลงข้างต้น นอกจากนี้ จะประสานกับกรมชลประทาน เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำคลองมหาสวัสดิ์ และคลองภาษีเจริญลงสู่ทะเลให้เร็วขึ้น

“ปู”ให้กทม.เร่งระบายน้ำ

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ ว่า เราเห็นใจผู้ที่เดือดร้อน และพยายามจะดูแลให้ทั่วถึง ทั้งเรื่องอาหาร ความเป็นอยู่หรือการฟื้นฟู โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำท่วมสูง โดยในที่ประชุม ครม. ได้สั่งการให้รัฐมนตรีทุกคนลงไปประจำในพื้นที่เพื่อคอยดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างทั่วถึง สำหรับเรื่องเงินช่วยเหลือขอไปดูให้รอบคอบเสียก่อน เพราะทุกพื้นที่มีความลำบากเหมือนกัน นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับ กทม. เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ จ.นนทบุรี และปทุมธานี

เมื่อถามย้ำว่า ประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมจะได้รับเงินเยียวยา 5 พันบาทเท่ากันทั้งหมดใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า อยากขอความกรุณาว่าให้เป็นในรูปแบบการดูแลให้เต็มที่ดีกว่า เพราะทุก ๆ จังหวัดก็ลำบากเหมือนกัน และวันนี้ค่าดูแลเยียวยาก็ไม่ใช่แค่ 5 พันบาท แต่ยังมีการดูแลกรณีของบ้านเรือนที่เสียหายทั้งหลัง จะได้รับ 3 หมื่นบาท เครื่องมือประกอบอาชีพเสียหายได้ 1 หมื่นบาท ส่วนบ้านที่ถูกน้ำท่วมเกิน 7 วันจะได้ 5 พันบาท ซึ่งจะมีการแจกแผ่นพับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยปี 2554 รวม 1 ล้านฉบับ ทั้งภาษาไทยและอังกฤษให้ทุกจังหวัด โดยมอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ไปหารือในรายละเอียดการช่วยเหลือ พื้นที่ต่างจังหวัดเชื่อว่าคงไม่มีปัญหา แต่ใน กทม.อาจจะมีปัญหาบ้าง เพราะมีการปกครองเป็นคนละแบบ

นายกฯ ยังกล่าวถึงข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ให้เยียวยาผู้ประสบภัยแบบขั้นบันไดว่า ขอให้ทีมงานรับไปศึกษาก่อน

กยน.ย้ำพยากรณ์น้ำต้องแม่น

ต่อมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ครั้งที่ 1 โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง จากนั้นนายสมิทธ ธรรมสโรช หนึ่งใน กยน. เปิดเผยว่า ตนได้เสนอต่อที่ประชุมว่าจากนี้ไปข้อมูลการพยากรณ์น้ำจะต้องมีความแม่นยำ เพื่อที่จะวางแผนได้อย่างถูกต้อง ไม่เช่นนั้นการบริหารจัดการน้ำก็จะไม่ได้ผล เพราะเราไม่รู้ว่าจะเก็บน้ำไว้เท่าไหร่ และปล่อยน้ำเท่าไหร่ นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ข้อสรุปให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการวางแผนป้องกันน้ำท่วมในระยะสั้นและระยะยาว โดยมีกรอบการทำงาน 6 เดือน และ 1 ปี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมอีกในอนาคต และเป็นหลักประกันให้ต่างประเทศมั่นใจในการลงทุนในประเทศไทย โดยคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดจะต้องมีข้อเสนอออกมาให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมในการประชุมครั้งหน้าวันที่ 7 ธ.ค.นี้ ส่วนที่ปรึกษาจากต่างประเทศเราคงไม่เอาเข้ามาร่วม เพราะอาจมีข้อผูกพันเยอะ และเราไม่อยากให้ข้อมูลรั่วไหลออกไปสู่ต่างประเทศ

“มท.”หนุนงบช่วยกรุงเทพฯ

ที่กระทรวงมหาดไทย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. เข้าพบนายยงยุทธ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย เพื่อหารือการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภายหลังนายยงยุทธ กล่าวว่า ได้พูดคุยถึงการเปิดบิ๊กแบ็กและประตูระบายน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมสูง เพื่อแบ่งเบาปัญหาน้ำท่วมขัง รัฐบาลห่วงใยและจะไม่ปล่อยให้ กทม.รับผิดชอบคนเดียว โดยขณะนี้ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณฉุกเฉิน 50 ล้านบาทให้กับ 22 จังหวัด รวมถึง จ.ปทุมธานี นนทบุรี และนครปฐม ทั้งนี้ ใน 22 จังหวัดเป็นพื้นที่น้ำไม่ท่วม แต่จะนำงบประมาณเหล่านี้มาช่วยเหลือคน กทม.ในด้านต่าง ๆ เราจะต้องทำงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น ทาง กทม.จะต้องเสนอโครงการแก้ไขปัญหา เพราะการระบายน้ำใน กทม.นั้น เป็นเพียงการระบายน้ำฝน ไม่ได้รองรับที่จะระบายน้ำเหนือให้ไหลลงสู่ทะเล

“รัฐบาลได้อนุมัติเงิน 1,250 ล้านบาทให้กับ 25 จังหวัด จังหวัดละ 50 ล้านบาท ส่วนกรุงเทพฯ มี 22 จังหวัดที่จะมาช่วยเหลือ ส่วนอีก 3 จังหวัดจะช่วยเหลือ จ.นนทบุรี ปทุมธานีและนครปฐม ส่วนการให้เงินช่วยเหลือ 5,000 บาท รอบแรก ครม.ได้อนุมัติเงินให้ กทม.แล้วกว่า 3 พันล้านบาท กว่า 6 แสนครัวเรือน นอกจากนี้ ยังจัดสรรให้ส่วนราชการที่รับมอบหมายให้ช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมเป็นวงเงินอีก 1,400 ล้านบาท”

ลมสลาตันซ้ำน้ำทะเลหนุน

ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล ร่วมกับคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้จัดการเสวนาธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการน้ำ โดยมีตัวแทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยนายรอยล จิตรดอน กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กล่าวตอนหนึ่งว่า ปัญหาน้ำในคลองมหาสวัสดิ์ที่วกกลับเข้าท่วมพื้นที่แม้จะมีการระบายน้ำออกก็ น่าจะใช้วิธีแก้ปัญหาเหมือนที่คลองบางเขน ด้วยการทำหูช้าง โดยใช้เรือขนาดใหญ่ปิดปากคลองบางกอกน้อย เมื่อน้ำทะเลลงก็จะเปิดทางให้น้ำไหล แต่เมื่อน้ำทะเลหนุนสูงก็จะนำเรือมาปิดกั้นทางน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำทะเลไหลเข้าสู่พื้นที่ ซึ่งเบื้องต้นนั้นนายสมัย ใจอินทร์ อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับทหารเรือ หากทำได้จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ เช่น อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี

“บางส่วนไม่กล้าพูดออกมา เพราะจะทำให้เกิดความตระหนก โดยสาเหตุที่ทำให้หนักหนาสาหัส นอกจากน้ำเหนือเยอะ สิ่งที่ไม่เคยคิดจะเกิดก็คือ อยู่ดี ๆ ลมทางอ่าวไทยได้ตีโต้ หรือที่เรียกว่าเซอจและหนุนน้ำทะเลขึ้นมาอีก 40 ซม. บริเวณป้อมพระจุล แล้วเซอจยาวกว่าที่เราคิด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลม ที่สมัยก่อนเรียกว่า ลมสลาตัน ต่อจากนี้ไปเราต้องร่วมกันหาทางออก ภายใต้เงื่อนไขที่แย่กว่าเดิม” นายรอยล กล่าวและว่า ลมสลาตันที่พบ ถือว่าเกิดขึ้นเป็นปีแรก และจะสร้างผลกระทบหนักในพื้นที่ที่ไม่มีป่าชายเลน เช่น เขตบางขุนเทียน เพราะป่าชายเลนนั้นสามารถเป็นตัวหน่วงน้ำทะเล ช่วงน้ำขึ้นได้

น้ำแห้งช้าเจิ่งถึงปลาย ธ.ค.

เมื่อถึงช่วงดังกล่าว ทำให้ ส.ว. ที่เข้าร่วมได้ท้วงติงและขอคำชี้แจงถึงเหตุที่ไม่ให้เผยแพร่ข้อมูลตรงนี้ออกไป ทำให้นายพิสิษฐ์ พิบูลย์ศิริ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสมุทรสาคร ชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาคอุตสาหกรรมได้ เพราะขณะนี้นักลงทุนมาดูพื้นที่ของประเทศไทยเสมอ

ต่อมา นายรอยล ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ระดับคลื่นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 40 ซม.นั้นไม่ได้สูงคงที่ แต่เฉลี่ย 20-30 ซม.ในบางพื้นที่ ซึ่งกรณีดังกล่าวนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ รับทราบข้อมูล แต่คงไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาใดได้ เพราะเป็นน้ำทะเล ดังนั้นผลดังกล่าวจะทำให้การระบายน้ำเหนือในพื้นที่ลงสู่ทะเลเป็นไปได้ช้า จากเดิมที่คาดว่าประมาณต้นเดือนพ.ย. จะระบายน้ำออกไปได้ทั้งหมด เบื้องต้นคาดว่าเมื่อมีเซอจเข้ามา จะทำให้ระบายน้ำเหนือที่ค้างอยู่ได้ทั้งหมด อย่างช้าที่สุดภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ธ.ค.

อีกด้าน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เลขานุการคณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรง กล่าวว่า คาดการณ์ว่าน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่น่าจะลดลงและกลับคืนสู่สภาวะปกติในช่วงกลางเดือน ธ.ค.

ขณะที่ศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม (ศอส.) รายงานว่าสถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 17 จังหวัด 124 อำเภอ 867 ตำบล 5,752 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,886,062 ครัวเรือน 5,051,235 คน

‘ประชา’หนุนรื้อบิ๊กแบ็ก

ด้าน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ศปภ.) กล่าวถึงกรณีผู้ประสบภัยหลายพื้นที่ ต้องการให้รื้อบิ๊กแบ็กออกว่า ตนเห็นว่าบางจุดสามารถรื้อออกได้บ้างแล้ว ต้องดูว่าตรงไหนที่รื้อออกแล้วไม่เกิดปัญหา อย่างเช่นบนถนนแจ้งวัฒนะ ดอนเมืองบางจุด เพราะบิ๊กแบ็กทำให้น้ำท่วมขังและน้ำเน่าเสีย เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เราต้องหารือกันเพื่อหาทางช่วยเหลือชาวบ้านให้ดีที่สุด

ขณะที่นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ได้สั่งการให้กรมอนามัยและกรมควบคุมโรค ประสานการทำงานร่วมกับ กทม.และพื้นที่ดูแลความสะอาด ปรับปรุงคุณภาพน้ำ พ่นหมอกควันทำลายยุงตามศูนย์พักพิงทุกแห่ง

ส่วนที่ทำการ ศปภ. กระทรวงพลังงาน ถนนวิภาวดีซอย 11 เจ้าหน้าที่ได้รื้อกระสอบทรายและบันไดเหล็กข้ามประตูทางเข้าด้านหน้ากระทรวงฯ พร้อมเก็บเครื่องสูบน้ำด้านหน้าออกทั้งหมด หลัง ศปภ.ประเมินว่าจะไม่มีน้ำทะลักท่วมบริเวณนี้อีก และเตรียมประสานกรมทางหลวงเพื่อรื้อถนนที่ถมขึ้นมาใหม่ ทางเข้าด้านหน้ากระทรวงพลังงาน ส่วนถนนลาดยางที่เชื่อมโทลล์เวย์เข้า ศปภ.นั้น เจ้าหน้าที่ได้นำหินกรวดมาเทเพื่อให้สามารถสัญจรได้ง่าย แต่กลับส่งผลให้เกิดฝุ่นละอองกระจายฟุ้งไปในอากาศ ทำให้ผู้คนที่สัญจรไปมาต้องหาผ้ามาปิดจมูกป้องกันฝุ่นละออง

เช่นเดียวกับที่ทำเนียบรัฐบาล หลังการประชุม ครม.เสร็จสิ้น อาสาสมัครจากกระทรวงศึกษาธิการ ได้ทยอยเข้ารื้อกระสอบทรายที่เรียงปิดรอบทำเนียบรัฐบาล แต่ยังคงเหลือแนวกั้นอิฐบล็อกเอาไว้

ด้านนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวเตือนการขับขี่ยานพาหนะผ่านเส้นทางหลังน้ำลด โดยให้เพิ่มความระมัดระวังหลุมบ่อ และให้สังเกตป้ายเตือน ป้ายบอกทางอย่างเคร่งครัด

กทม.เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุน

ด้านนายวสันต์ มีวงษ์ โฆษกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำและการแก้ไขปัญหากรุงเทพฯ ว่า วันนี้ปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 1,826 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากเมื่อวาน 101 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำอ.บางไทร 3.47 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ลดลงจากเมื่อวาน 5 ซม. ระดับน้ำสูงสุดวันนี้ที่บริเวณปากคลองตลาด คาดการณ์โดยกรมอุทกศาสตร์ เวลา 14.25 น. จะอยู่ที่ระดับ 2.14 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สำหรับระดับน้ำบริเวณประตูระบายน้ำคลองมหาสวัสดิ์ ระดับน้ำลดลง ประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ ลดลง 4 ซม.บริเวณคลองหก น้ำลดลง 7 ซม. คลองแสนแสบและคลองประเวศบุรีรมย์ ลดลง 1-2 ซม.คลองลาดพร้าว ลดลง 2-4 ซม. คลองเปรมประชากร ช่วงดอนเมืองลดลง 2 ซม. ในเมืองลด 4 ซม. คลองบางเขน ลดลง 2 ซม. บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึงคลองลาดยาว รถเล็กผ่านได้ชิดเกาะกลาง ซึ่งกทม.จะเร่งเคลียร์น้ำบริเวณคลองบางบัว เพื่อลดระดับน้ำในพื้นที่ดังกล่าว โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพิ่ม ส่วนถนนแจ้งวัฒนะ จากถนนวิภาวดีรังสิต ถึงคลองถนนน้ำแห้ง ทั้งสองฝั่ง คลองมอญ 78 ซม. ลดลงเหลือ 70 ซม. คลองบางกอกใหญ่ 52 ซม. ลดลงเหลือ 50 ซม. ลาดพร้าว 56 อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะถอนเครื่องสูบน้ำบริเวณนี้เพื่อไปกู้พื้นที่อื่น ๆ บริเวณหน้า นสพ.เดลินิวส์ลดลงไปอีก 20 ซม.

ทั้งนี้ กทม. ยังคงเฝ้าระวังการเปิดกระสอบทรายและเปิดประตูระบายน้ำเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหาน้ำท่วมในกทม.ยาวนานขึ้น รวมถึงเฝ้าระวังแนวริมน้ำเจ้าพระยาทุกจุดเนื่องจากระดับน้ำทะเลจะหนุนสูง ช่วงปลายเดือนนี้ หรือประมาณวันที่ 27 พ.ย. บวกกับฐานน้ำเดิมมีระดับสูงอยู่แล้ว อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนริมแม่น้ำดังกล่าวที่ผ่านมา

เลื่อนเปิดเทอม 2 กลุ่ม

อย่างไรก็ตามผู้ประสบภัยพักพิงของ กทม. 15,204 คน ทั้งนี้กทม.จะเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยซึ่งพักพิงภายในโรงเรียนสังกัดกทม.ไปยังศูนย์พักพิงที่ปลอดภัย ศูนย์เยาวชนในสังกัดของกทม. และที่ค่ายลูกเสือกรุงธนฯ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ ศปภ. เพื่อทำความสะอาดโรงเรียนและให้พร้อมเปิดเทอมกลุ่มแรก 6 ธ.ค. ในส่วนของพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขังสูง 7 เขต คือ ดอนเมือง สายไหม หลักสี่ ทวีวัฒนา หนองแขม บางแค และบางบอน จะรอให้ระดับน้ำลดลงก่อนจากนั้นจึงจะทำความสะอาดและเปิดเรียนเป็นกลุ่มที่สองในวันที่ 13 ธ.ค. 54

สำหรับภาพรวมการจัดเก็บขยะในพื้นที่กทม. 50 เขต เมื่อวันที่ 20 พ.ย. จัดเก็บได้ 7,473 ตัน คิดเป็น 87.92% ของปริมาณขยะในสภาวะปกติ 8,500 ตัน ทั้งนี้ภายหลังน้ำลดในพื้นที่ ทำให้ประชาชนเริ่มทยอยเข้าบ้าน พร้อมทั้งทำความสะอาดบ้านเรือนและนำสิ่งของซึ่งถูกน้ำท่วมภายในบ้านมาทิ้งเพิ่มเติม ส่งผลให้ปริมาณขยะในการจัดเก็บเพิ่มสูงขึ้น แต่ กทม.จะเร่งดำเนินการจัดเก็บให้มากที่สุดและเร็วที่สุด
น้ำป่า-ดินถล่มเมืองลุง

ที่ จ.พัทลุง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เกิดน้ำป่าจากเทือกเขาไหลท่วมพื้นที่ราบในเขต อ.กงหรา ศรีนครินทร์ ศรีบรรพต ควนขนุน เขาชัยสน และ ต.นาโหนด อ.เมือง จ.พัทลุง ระดับน้ำสูงประมาณ 70 ซม. ประชาชนต้องตื่นขึ้นมาขนย้ายสิ่งของไปไว้ในที่ปลอดภัยอย่างโกลาหล โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพัทลุงแจ้งว่า ตามที่ได้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ อ.กงหรา ศรีบรรพต เขาชัยสน ศรีนครินทร์ ควนขนุนและอำเภอเมืองพัทลุง 16 ตำบล 53 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 3,445 ครอบครัว ประมาณ 13,000 คน และมีฝนตกหนักในพื้นที่ อ.ปากพะยูน ป่าบอน กงหรา ตะโหมด บางแก้ว วัดปริมาณน้ำฝนได้ 170 มม.

ส่วนที่ จ.สุราษฎร์ธานี ได้มีฝนตกหนัก ลมกระโชกแรงตลอดทั้งวัน ทำให้บ้านเลขที่ 120/3 หมู่ 7 ต.ปากหมาก อ.ไชยา และบ้านเลขที่ 188/6 ต.ปากหมาก ถูกลมหมุนพัดจนเสียหาย นอกจากนี้ยังมีน้ำป่าไหลหลากกัดเซาะคอสะพานบ้านห้วยตาหมิง หมู่ 6 ต.ปากหมาก จนรถเล็กไม่สามารถสัญจรไปมาได้ อย่างไรก็ตามยังมีฝนตกหนักในอีกหลายพื้นที่ภาคใต้ ทั้ง ปัตตานี ตรัง นครศรีธรรมราช ทางจังหวัดได้เตรียมพร้อมรับมือภาวะน้ำท่วมฉับพลันที่อาจเกิดขึ้น

ที่นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า(ไฮเทค) อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่ามีพนักงานจำนวนหลายร้อยคนเข้าไปในโรงงานเพื่อเข้าไปทำความสะอาดพื้นที่ เช่นเดียวกับที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย เพราะว่าระดับน้ำในนิคมลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบนิคมฯต่างวิตกกังวลว่าน้ำที่สูบออกมาจะมีสารพิษเจือปน

ที่วัดช่องแสมสาร ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พระครูวิสารทสุตาการ เจ้าอาวาสได้จัดพิธีอัญเชิญท้าวสหัมบดีพรหม ขนาดหน้าตักกว่า 7 เมตร สูง 8.9 เมตร ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกประดิษฐานบนแท่นศิลา โดยนิมนต์พระสงฆ์ระดับเจ้าอาวาสและเกจิรวม 109 วัด 109 รูป มาเจริญพระชัยมงคลคาถา และสวดมนต์บทอภัยปริตรและคาถาบทยังกิญจิ ซึ่งเป็นบทสวดไล่น้ำที่มีมาแต่พุทธกาล มีพุทธศาสนิกชนนับพันคนที่ทราบข่าวมาร่วมงานอย่างเนืองแน่น

“แม้ว”ลุยโสมดูงานแม่น้ำ

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยกำลังอยู่ระหว่างการเยือนประเทศเกาหลีใต้ เพื่อเยี่ยมชมโครงการยกระดับแม่น้ำมูลค่า 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 570,000 ล้านบาท โดยเชื่อว่าจะสามารถนำมาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทย ทั้งนี้จากการเปิดเผยของนายโก ยอง-ซุค เจ้าหน้าที่กระทรวงที่ดินของเกาหลีใต้ ซึ่งร่วมคณะติดตามพ.ต.ท.ทักษิณมาด้วย กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้ของพ.ต.ท.ทักษิณเป็นการมาเยือนแบบส่วนตัว ตั้งแต่วันที่ 21-24 พ.ย.นี้ และมีกำหนดไปเยี่ยมชมโครงการเกี่ยวกับการขุดลอกคลอง เขื่อนกั้นน้ำ และทัศนียภาพอันสวยงามของแม่น้ำสายสำคัญ 4 สายของเกาหลีใต้ พร้อมกับตั้งคำถามมากมายกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนั้นพ.ต.ท.ทักษิณยังได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์โชซุน อิลโบ ว่า ตนจะนำผลการมาเยือนเกาหลีใต้ครั้งนี้กลับไปแจ้งให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ น้องสาวและรั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของไทย รับทราบ ทั้งนี้ ตนเคยร่างแผนป้องกันน้ำท่วมและภัยแล้งไว้แล้วสมัยที่ยังอยู่ในตำแหน่งนายกฯ แต่ก็ต้องล้มเลิกไปเพราะถูกรัฐประหารเมื่อปี 2549 ความเสียหายของน้ำท่วมครั้งล่าสุดนี้ ถือเป็นเพียง 1 ใน 5 ของระดับน้ำที่อยู่ในแผนป้องกันที่ตนเคยร่างเอาไว้.

ต้นฉบับ: http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=354&contentId=177569

ที่มา: เดลินิวส์
/////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น