--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เวทีภาคประชาชน จากผู้รับ ถึงผู้ให้ ธารน้ำใจ..ป่าล้อมเมือง !!?

มหาอุทกภัย ครั้งใหญ่และรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี ได้กลืนกินชีวิตและทรัพย์สิน คนไทยไปเกือบค่อนประเทศ... “มวลน้ำมหึมา” ไหลทะลักจากชนบทสู่เมืองใหญ่..! กระทั่งบัดนี้ ได้ปริ่มทะลักมาถึงเมืองหลวงแล้ว นั่นเท่ากับ เป็นการ “เฉลี่ยความทุกข์ยาก” ให้ทั่วถึงกัน ทั้งคนกรุง และคนต่างจังหวัดโดยไม่แบ่งแยก

วันนี้ถนนหลายสายในกรุงเทพฯ จึงกลายเป็น “คลอง” เรือวิ่งกันขวักไขว่แทนรถยนต์ คนกรุงนับล้านกลายเป็น “ผู้อพยพ” ขณะที่ตามท้องถนนในย่านธุรกิจ ก็เต็มไปด้วย “บังเกอร์” อันเป็นกระสอบทราย ที่ไว้สกัดกั้นมวลน้ำมหึมา ที่จ่อทะลักจากชั้นนอกเข้าสู่เมืองหลวงชั้นใน อันเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจของ ประเทศ

ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคเริ่มขาดแคลน บ้างก็ถีบราคาสูงขึ้น ก่อให้เกิด ภาวะ “ข้าวยาก หมากแพง” แม้แต่สินค้าจำเป็นต่างๆ ทั้งในร้านสะดวกซื้อ หรือในห้างค้าปลีก ผู้คนพากันแห่กักตุน..! จนเกลี้ยงแผง...“บนทางด่วน” หรือตามสะพานสูงทั่วกรุง กลายเป็นพื้นที่จอดรถหนีน้ำ คนกลุ่มใหญ่อพยพหนีน้ำกันอย่างทุลักทุเล ยิ่งไปกว่านั้น...หลังน้ำลด ก็ยังไม่อาจประเมินได้ว่าจะต้องใช้เม็ดเงินอีกกี่มากน้อยในการ “ฟื้นฟู-เยียวยา”
ไม่น่าเชื่อว่าภาพเหล่านี้เกิดขึ้นในเมืองหลวงของประเทศไทย!!

จากผลพวงภัยพิบัติในครั้งนี้ รัฐบาล จึงต้องคิดหาหนทางแก้ปัญหา ก่อนจะมีข้อเสนอผุดอภิโปรเจกต์ “New Thailand” ซึ่งเป็นแผนระยะยาวในการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วมใหญ่ ภายใต้กรอบลงทุนมหาศาล กว่า 9 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี

แม้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ยังมิอาจ ทั่วถึง..! แต่ก็ปรากฏภาพความร่วมมือร่วม ใจของทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล กองทัพ และ ภาคเอกชน เพื่อร่วมกันบรรเทาความเดือดร้อนของ “เหยื่อภัยพิบัติ” อย่างสุดกำลัง

ไม่เว้นแม้แต่ผู้คนในต่างจังหวัด ที่เพิ่งประสบชะตากรรมทุกข์สาหัสมาไม่นาน แต่กระนั้นเมื่อน้ำลด ความเดือดร้อนเริ่มทุเลาเบาบาง “คนต้นน้ำ” เหล่านี้ก็หันมาหยิบยื่น “ธารน้ำใจ” กลับคืนสู่คนกรุง นั่นย่อมพิสูจน์แล้วว่า “น้ำใจไทย” ...ไม่เคยเหือดแห้ง..!

ทั้งที่ผ่านมา หลายคนต่างจับจ้องไป ที่รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐ ว่ามีหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งปรากฏว่าภัยพิบัติครั้งนี้ ทำให้เห็นว่าการช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติ มิใช่หน้าที่ของรัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นหน้าที่ ของคนไทยทุกคนที่จะต้องช่วยกัน

นอกเหนือจากยอดเงินบริจาคผ่าน “กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย” เฉพาะที่สำนักนายกรัฐมนตรี และศูนย์ช่วย เหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ซึ่งรวมทั้งสิ้นกว่า 283 ล้านบาท ยังมีภาพที่น่าประทับใจของชาวสุโขทัยนับร้อย ที่พร้อม ใจออกจับปลาตามแหล่งน้ำที่ท่วม แล้วนำ มาทำเป็นปลาย่างกว่า 10 ตัน เพื่อส่งเป็น “กำลังใจ” และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนที่กำลังประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ขณะที่หลายจังหวัดได้จัดส่งอาหารไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ โดยไม่คิดว่า เป็น “ภาระเหนื่อยยาก” มีทั้งไส้อั่ว ข้าวเหนียวหมูทอด ไก่ทอด น้ำพริก ตลอดจน “ปัจจัยสี่” เผื่อไว้ใช้ในการดำรงชีพ รวมทั้งมีการส่งทีมกู้ชีพกู้ภัยเข้ามาช่วยเหลือ เช่นเดียวกับชาวจังหวัดนครพนม ก็ร่วมกัน ประดิษฐ์เรือห่วงยางเพื่อช่วยผู้ประสบอุทกภัย โดยใช้วัสดุในพื้นที่ เช่น ยางในรถยนต์ กะละมัง ท่อน้ำพีวีซี กระบะฉาบปูน ซึ่งรับน้ำหนักได้ถึง 150 กก. นำมาแจกจ่ายช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในเมือง หลวง และ “เหยื่อน้ำท่วม” ในภาคกลาง
ส่วนอีกหลายจังหวัด ได้มีการต่อแพ จากไม้ไผ่และถังแกลลอนน้ำมันเปล่า ส่งมา ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบ อุทกภัย กระทั่งชาวม้ง 10 หมู่บ้านในอำเภอ นครไทย และอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ก็ยังนำพืชผลการผลิตจากไร่ และสวนของตัวเอง พร้อมทั้งเครื่องอุปโภค- บริโภค ที่ได้รวมน้ำใจขนกันมาบริจาคเช่นกัน

เช่นเดียวกับ “คนเสื้อแดง” ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ต่อเนื่อง เพื่อรวบรวมเงินและสิ่งของบริจาค ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีการจัดแข่งแรลลี่เส้นทางสีแดง (กรุงเทพฯ-พัทยา-จอมเทียน) ช่วยภัยน้ำท่วม พร้อมรณรงค์รับบริจาคเงิน และสิ่งของไปตลอดทั้งเส้นทาง ก่อนจะนำ มามอบให้กับ ศปภ.
นอกจาก “ปัจจัย” ที่หลั่งไหลเข้ามา ไม่ขาดสายจากทั่วประเทศแล้ว ยังมีภาพแห่ง “น้ำใจ” อันท่วมท้นของคนไทยหลายกลุ่ม หลากหลายอาชีพ มีทั้งภาคประชาชน และเหล่าอาสาสมัครที่ไม่แบ่งแยกเพศหรือ อายุ ที่ต่างมุ่งมั่นในการบรรเทาทุกข์เพื่อนร่วมชาติในภาวะ “ลอยคอกลางน้ำ”

ท่ามกลางอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์..! ยังปรากฏแง่มุมอันดีงามมากมาย โดยเฉพาะ “จิตสาธารณะ” หรือ “จิตอาสา” ซึ่งพิสูจน์ชัดแล้วว่า...ในยามยาก หัวจิตหัวใจคนไทย ไม่ทอดทิ้งกัน!!

ที่มา:สยามธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น