โดย. พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์
โอกาสที่ความเสียหายจากอุทกภัยครั้งใหญ่เท่าที่ประเทศไทยเคยประสบจะสาหัสเกินกว่าที่ประเมินเอาไว้เบื้องต้น
จากช่วงแรก ๆ ที่น้ำไหลบ่าท่วมนิคมอุตสาหกรรม โรจนะ อยุธยา หน่วยงานรัฐประเมินไว้ไม่ถึงแสนล้าน แต่ล่าสุดสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมองไกลไปถึง 6-7 แสนล้าน ความเสียหายมีโอกาสเพิ่มมากกว่านี้ หากสถานการณ์ยืดเยื้อออกไป
ขณะที่นักวิเคราะห์มองตรงกันว่า อุทกภัยครั้งนี้ทำให้ธุรกิจการค้าทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะไทยคือฐานการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมนานาชนิด ไม่รวมถึงการเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก
ยอมรับว่านาทีนี้แม้จะหงุดหงิดกับการทำงานของ รัฐบาลเพียงใด แต่ยังพยายามเอาใจช่วยให้รัฐบาลนำพาประเทศผ่านวิกฤตเบื้องหน้านี้ไปให้ได้ ต่อจากนั้นจะเป็นอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง
จริงอยู่อาจมีเสียงโต้แย้ง ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็คงเหมือนๆ กัน เพราะน้ำท่วมครั้งนี้ต่างไปจากทุกครั้ง แต่ถ้าบอกว่ารัฐบาลทำดีที่สุดแล้ว ผมว่าไม่น่าจะใช่
อย่างกรณีการบริหารจัดการน้ำก็เรื่องหนึ่ง
การปล่อยให้น้ำท่วมที่อยู่อาศัย เขตเศรษฐกิจ และนิคมอุตสาหกรรม โดยส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าไม่กี่ชั่วโมงก่อนน้ำจะมาก็อีกเรื่องหนึ่ง
การขอให้ผู้คนทิ้งบ้านโยกย้ายไปอยู่ในศูนย์ผู้ประสบภัย โดยไม่มีความพร้อมใด ๆ รองรับก็อีกเรื่องหนึ่ง
กระทั่งเรื่องอาหารการกิน ผู้คนที่ตื่นตระหนกพากันกักตุน ทำให้สินค้าขาดตลาดอย่างหนัก
ไม่รวมถึง ศปภ.อะไรนั่นด้วย
ที่เอาใจช่วยรัฐบาลให้แก้ไขน้ำท่วมโดยเร็ว เพราะเชื่อว่าหลังน้ำลดจะมีปัญหารอการแก้ไขอีกมากมาย สถานการณ์อาจหนักหนากว่าช่วงน้ำกำลังไหลบ่าเสียด้วยซ้ำ
ไม่ได้หมายความว่าเมื่อน้ำแห้ง ผู้คนคืนสู่ถิ่นฐาน ประเทศไทยจะกลับมาเหมือนเก่าแบบอัตโนมัติทันที
รัฐบาลซึ่งมือเติบอยู่แล้วจะมีปัญหางบประมาณขาดมือ ที่พูดว่า "เงินมี" ถึงเวลาจริง ๆ อาจพูดคำนี้ไม่ออก เพราะรัฐบาลต้องใช้เงินมหาศาลไปกับการฟื้นฟูประเทศ
แค่ใกล้ ๆ ตัวอย่างเรือกสวนไร่นาจมไปกับกระแสน้ำ ส่งผลกระทบโดยตรงถึงเศรษฐกิจชุมชน เมื่อคนไม่มีเงินมาจับจ่ายซื้อหาข้าวของ การค้าขายย่อมฝืดเคืองตาม
ในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม เชื่อได้เลยว่าจะมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยมีปัญหาเงินทุนขาดมือดีหน่อยอาจแค่หยุดกิจการชั่วคราว แต่ถ้าไม่ไหวจริง ๆ คงต้องปิดตัว คนตกงานจะกลายเป็นปัญหาสังคมที่รัฐบาลต้องเตรียมรับมือให้ดี
จริงอยู่ ธุรกิจใหญ่ ๆ เชื่อว่าน่าจะเอาตัวรอดและผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ แต่ธุรกิจรายย่อย ๆ เอสเอ็มอี โรงงานห้องแถว กลุ่มนี้จะน่าเป็นห่วงที่สุด
เพื่อนคนหนึ่งทำมาค้าขายในธุรกิจบริการมานานสะท้อนสถานการณ์ในขณะนี้เหมือนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 อย่างไรอย่างนั้น งานต่าง ๆ ที่เคยรับไว้ถูกยกเลิก ที่ไม่ยกเลิกก็ถูกเลื่อนไปเป็นปีหน้า รายได้นับสิบล้านต่อเดือนหายไปเกือบหมด
ฟังน้ำเสียงของเพื่อนรับรู้ถึงความทุกข์เงินเดือนพนักงาน ร้อยชีวิตต้องจ่ายตามเวลา ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
ดีที่เจ้าเพื่อนคนนี้ไม่ได้ก่อหนี้อะไรไว้มากมาย
ย้อนไปในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ผลจากการปรับเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ผู้มีหนี้สกุลเงินต่างประเทศชักหน้าไม่ถึงหลัง เพราะมูลหนี้เพิ่มร่วมเท่าตัว แต่ผลกระทบตกที่คนชั้นกลาง ทำงานออฟฟิศ มากกว่ากลุ่มอื่น
ผมยังจำภาพพนักงานธนาคารแห่งหนึ่งกอดคอกันร่ำไห้ ต้องกลายเป็นคนตกงานชั่วข้ามคืน แต่ที่ฟื้นตัว อย่างรวดเร็วคืออุตสาหกรรมส่งออก และสินค้าเกษตร แต่น้ำท่วมใหญ่คราวนี้สถานการณ์ต่างออกไป เจ็บหนักกว่าใคร ๆ คืออุตสาหกรรมการผลิต และภาคการเกษตร
คงต้องใช้เวลาฟื้นตัวอีกนานทีเดียว
นั่นยังไม่เท่ากับเรื่องความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทย ที่ร้ายกว่าอะไรทั้งหมด
ถ้าแก้ไม่ดี ประเทศไทยอาจไม่ใช่ "ที่มั่น" ที่เคยปลอดภัย และดึงเม็ดเงินการลงทุนมหาศาลจากนานาประเทศอีกต่อไป
ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น