--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สถานการณ์ น้ำการเมือง-น้ำนิ่ง-น้ำไหล-น้ำลายและ น้ำเน่า !!?

สวนดุสิตโพลเผยแพร่ผลสำรวจ ’ดัชนีการเมือง“ เดือน ต.ค.จากประชาชนทั่วประเทศ 5,253 คน ระหว่างวันที่ 25 ต.ค.-4 พ.ย. ซึ่งเป็นช่วง ’มหาอุทกภัย“ พบว่า คะแนนนิยมในทุก ๆ ด้าน ’ลดลง“ เอาเฉพาะในแง่มุม ’การเมือง“ พบว่า ทั้งรัฐบาล ทั้งฝ่ายค้าน รวมไปถึงความสามัคคีของคนในชาติ ’ลดลง“ ต่ำกว่าครึ่งจากคะแนนเต็มสิบคะแนน

นี่อาจจะเป็นการสะท้อนแค่ ’บางส่วน“ เท่านั้น แต่เชื่อว่าหากมีการสะท้อนในลักษณะที่กว้างขวางกว่านี้แนวโน้มก็ไม่น่าจะแตกต่างกัน นั่นคือ ความขัดแย้งทางการเมืองยังมีอยู่ มีอยู่สูงด้วยและนับวันสถานการณ์ ’มหาอุทกภัย“ จะเป็นตัวเร่งให้สถานการณ์ ’สูงยิ่ง ๆ“ ขึ้นไป

ในช่วงของการตั้ง ศปภ.ของรัฐบาลเพื่อมาบูรณาการแก้ไขปัญหา “อุทกภัย” ภาพที่ทุกหน่วยงานทั้งทหารซึ่งถูกวิจารณ์จากขั้วหนึ่งในรัฐบาล ภาพของผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เดินเข้าไปให้ความเห็นพร้อมเสนอตัวเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา เป็นสิ่งที่ทำให้ใครต่อใคร ’อุ่นใจ“ ว่า ในสถานการณ์วิกฤติของชาติเช่นนี้ ผู้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองทั้งหลายยังรู้จัก ’แยกแยะ“

แต่พอนานวัน การบริหารจัดการปัญหากลับยุ่งยากและตามไม่ทันกับสายน้ำที่กำลังไหลบ่าท่วมพื้นที่ภาคกลางตามจังหวัดปริมณฑลเรื่อยมาจนถึงกรุงเทพมหานคร ’ไข่แดง“
ของประเทศไทย

นอกจากภาพของความสามัคคีที่ ’คนไทย“ พึงมีให้กัน ยังมีภาพการช่วงชิงจังหวะทางการเมืองแฝงอยู่ในการแก้ไขปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ยิ่งในสถานการณ์ที่ ’ทุกฝ่าย“ เริ่มจะไม่สามารถควบคุมบริหารจัดการกับปริมาณน้ำที่หลั่งไหลมาอย่างมหาศาลได้ ภาพของความขัดแย้งยิ่งเด่นชัด

และแน่นอนภาพที่ชัดที่สุดคือภาพความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างกทม.ในฐานะผู้ดูแลกรุงเทพฯ กับรัฐบาลในฐานะผู้ดูแลทั้งประเทศ

ถ้าจะให้ชัดขึ้นมาอีกก็คือความขัดแย้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย แต่ถ้าให้ชัดที่สุดก็คือความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทย และองคาพยพอย่างแกนนำคนเสื้อแดงกับพวกที่ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยและแกนนำคนเสื้อแดง

ใครจะเชื่อว่า ในสถานการณ์ที่น้ำยังไม่ท่วมกรุงเทพฯสูงสุด กลับมีการพูดถึง “แพะทางการเมือง” พูดถึงต้นเหตุของปัญหา พูดถึงการบริหารจัดการของอีกฝ่ายที่ผิดพลาด พูดถึงภาวะผู้นำ การกล้าตัดสินใจ เรื่อยไปจนพูดถึงแนวทางการฟื้นฟูบูรณะประเทศขึ้นมาใหม่ ที่เหมือนจะใช้ ’การเมือง“ นำ ’บ้านเมือง“

ถ้า ’นับนิ้ว“ กันดูจะพบว่า ’แพะ“ ที่มากับมหาอุทกภัยครั้งนี้มีมากมาย ทั้งธรรมชาติที่มาอย่างไม่มีใครคาดคิด ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ดูแลเขื่อน ทั้งกรมชลประทานในฐานะผู้รู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานหลัก ทั้งพรรคชาติไทยพัฒนาในฐานะดูแลกระทรวงเกษตรฯ ทั้ง

ผู้ว่าฯ กทม. ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ต้นสังกัด รวมไปถึง ’การปฏิวัติ“ ที่เป็นต้นเหตุให้แผนการจัดการที่กำลังจะทำของอดีตรัฐบาลต้องล้มพับไป

ขณะที่อีกฝ่ายก็ ’ตั้งป้อม“ เช่นกันว่า เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลที่นิ่งเฉยต่อสถานการณ์ เอาเวลาของการเป็นรัฐบาลตลอด 1 เดือนไปเน้นการแก้ไขปัญหาให้ ’คน ๆเดียว“ การอ่อนประสบการณ์ การไม่เป็นตัวของตัวเองของผู้นำรัฐบาล เรื่อยมาจนถึงการบริหารจัดการกับการรับมือกับสถานการณ์ ทั้งของบริจาคที่ถูกวิจารณ์ การใช้คนที่ไม่เหมาะสมกับงาน ข้อมูลที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลา

อย่างล่าสุดข่าวการกระทบกระทั่งกันของ ’หน่วยงานหลัก“ ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทานกับ กทม. หรือ กทม.กับศปภ.และแม้กระทั่ง ผู้นำรัฐบาลกับกรมชลประทาน

ภาพที่เกิดขึ้น ’ล้วน“ เป็นสิ่งที่ช่วยกันกัดกร่อนให้ความน่าเชื่อถือของผู้แก้ไขปัญหา ’ลดต่ำลง“ และแน่นอนรัฐบาลในฐานะ ’เจ้าภาพหลัก“ ซึ่งมีหน้าที่แก้ไขปัญหา มี
หน้าที่ประสานความร่วมมือ มีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในชาติ ต้อง ’รับผิดชอบ“

ทั้งหมดนี้ยังเป็นข้อวิจารณ์และข้อถกเถียงที่ปรากฏออกมาจากผู้ทำงาน จากสื่อมวลชนและจากการรับรู้ของประชาชนเท่านั้น หากมีเวทีทางการเมืองเปิดขึ้น น่าสนใจ
ว่า ’ข้อวิจารณ์“ ต่าง ๆ ที่ออกมาจากนักการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือ วุฒิสภา น่าจะยิ่งเพิ่มความขัดแย้งทางการเมืองให้สูงขึ้น

’มหาอุทกภัย“ ในครั้งนี้ได้สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาลขึ้นกับประเทศไทย ประชาชนต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์ไปไม่ต่ำกว่า 400 คน มีผู้ประสบภัยต้องอพยพออกจากบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมหลายแสนคน เศรษฐกิจแทบจะทุกส่วนของชาติเสียหาย เสียโอกาสทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นมูลค่าที่ประเมินมิได้ ที่สำคัญสูญเสียความเชื่อมั่นจากนานาชาติ

ความน่าสนใจจาก ’บทวิเคราะห์“ ต่าง ๆ ของสื่อมวลชนต่างชาติคือการพยายามตั้งคำถามและหาคำตอบว่า “มหาอุทกภัย” ครั้งนี้เกิดจากฝีมือธรรมชาติเท่านั้นหรือเกิดจากฝีมือคนไทยเองนั่นแหละ

ถ้า ’สังคมไทย“ จะแก้ปัญหาร่วมกัน ก่อนที่รัฐบาลจะเดินหน้าฟื้นฟูคือ การแสวงหาความจริงอย่างเป็นระบบเป็นวิชาการ มากกว่าเชื่อด้วยความรู้สึกตัวเอง การหาคำตอบ
หลังความเสียหาย ไม่ใช่เรื่องที่หยิบยกขึ้นหาเรื่องกันแต่ควรหาคำตอบเพื่อเป็น ’บทเรียน“ ไว้ ในอนาคตข้างหน้าอันใกล้จะได้ไม่เกิดขึ้นอีก

แม้รัฐบาลจะมีแนวคิดพลิกฟื้นประเทศไทยหลังน้ำลดหรือที่ ’บางฝ่าย“ เรียกว่า ’นิวไทยแลนด์“ หัวใจสำคัญคือ การหาข้อเท็จจริง การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ไม่เว้นแม้กระทั่งฝ่ายการเมือง อย่างฝ่ายค้าน

’มหาอุทกภัย“ จะปล่อยให้เลยผ่านไปโดยที่ไม่มีการแสวงหาความจริงว่า ’ต้นเหตุ“ ของปัญหาที่นำมาซึ่งความเสียหายอย่างมโหฬาร เกิดขึ้นจากอะไรนั้นไม่ได้

รัฐบาล นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ซึ่งเป็น ’เจ้าภาพหลัก“ นั่นแหละ ต้องใช้โอกาสตรงนี้ดึงทุกภาคส่วนให้เข้ามามี “ส่วนร่วม”อย่างแท้จริง มากกว่าจะพูดว่า จะมาสร้างความสมานฉันท์อย่างนั้นอย่างนี้ 3 เวลาหลังอาหาร

ใน ’วิกฤติ“นั้นมี ’โอกาส“ ประโยคนี้น่าจะใช้กับคนไทยทุก ๆ คน มากกว่า ’ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะเอาไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง.

ต้นฉบับ: http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=8&contentId=174139

ที่มา: เดลินิวส์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น