โดย พระพยอม กัลยาโณ
การให้อภัยถือเป็นหัวใจหลักของพุทธศาสนา ท่านคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “คิดพยาบาทบรรลัย คิดให้อภัยใจเยือกเย็น” หมายถึงชีวิตเราจะอยู่แบบมีความสุขได้ ใจเราต้องไม่พยาบาทต่อใคร
ในสังคมวันนี้ใครที่โกรธแค้นอะไรใครล้วนมีแต่ความพยาบาท ไม่คิดให้อภัยกัน คิดแต่จะออกมาฟาดฟันห้ำหั่นให้อีกฝ่ายต้องมีอันเป็นไป ไม่อย่างนั้นจะไม่มีความสบายใจ
ในทางการเมืองก็มีเรื่องแบบนี้มาก ถึงขนาดฆ่ากันก็มี แต่ที่เห็นบ่อยคงเป็นเรื่องของการฟ้องร้องกัน วันนี้เป็นที่รับรู้กันว่ารัฐบาลออก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ แต่ก็เห็นได้ชัดว่ายังมีคนออกมาต่อต้านกันเยอะ เพราะไม่พอใจกับนโยบายของรัฐบาลที่หวังให้คนที่ตนรักได้รับพระราชทานอภัยโทษ
แต่ถ้าพูดถึงหลักการแล้ว หากไม่ได้เป็นโทษที่สร้างความรุนแรง ก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศ หรือทำให้ประเทศชาติต้องเสียความมั่นคง เป็นคนกบฏทรยศ สร้างความร้าวฉานให้กับชาติ ให้กับสถาบัน เชื่อว่าคงให้อภัยกันได้
ฉะนั้นหากใครไม่ได้ทำร้ายบ้านเมืองแบบนั้นก็ควรให้โอกาสเขาบ้าง เพราะหากไม่ให้โอกาสกันอาจทำให้เราต้องอยู่อย่างไม่มีความสุข ประเทศชาติก็ไม่มีความดีงาม
หากคนในประเทศเราเอาแต่คิดอาฆาตแบบนี้แล้วจะอยู่กันอย่างสบายใจได้อย่างไร อันที่จริงแล้วชาวพุทธอย่างพวกเราส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อาฆาตอะไรกันมากมาย ที่เห็นนักการเมืองไม่ค่อยยอมกันก็เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ ถ้าผลประโยชน์ลงตัวเมื่อไรก็พร้อมจะจับมือกันทันที ดังคำอมตะที่ว่า “นักการเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” ตราบใดที่ผลประโยชน์ไม่ลงตัวก็ยังคงเป็นศัตรูกันต่อไป และตราบใดที่บรรลุในผลประโยชน์ร่วมกันก็เคลียร์กันได้ เรื่องมันก็เป็นเสียอย่างนี้
ถ้าเรายอมกัน ให้อภัยกัน และร่วมกันปรึกษาหารือไปในทางสร้างสรรค์ โดยเฉพาะกับใครก็ตามที่ไม่ได้เป็นภัยกับบ้านเมือง ก็ควรให้อภัยเขา แต่ถ้าให้อภัยไปแล้วยังทำตัวเป็นพิษเป็นภัย ทำให้ชาติบ้านเมืองเสียหาย อย่างนี้ก็ไม่ควร แม้ว่าหลักเกณฑ์หลักการจะเปลี่ยนเพี้ยนไปมากมายก็ไม่ควรให้อภัย
แต่ปัญหาของการให้อภัยไม่ว่าใครก็ตามมักกลัวว่าเขาจะกลับมาทำผิดซ้ำอีก ธรรมดาแล้วเราควรให้อภัยคนที่สามารถช่วยเหลือชาติบ้านเมือง ในสมัยก่อนพวกเราต่างเคยกลัวคอมมิวนิสต์ ซึ่งจริงๆแล้วก็คือคนไทยที่หนีอาญาแผ่นดินเข้าป่า แต่พอทางราชการไม่เอาความผิด เขาก็ออกมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เข้ามาเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ ตั้งแต่กำนัน ผู้ใหญ่ บางรายก็เป็นครูบาอาจารย์ บางรายเป็นถึงรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลที่ล้วนทำประโยชน์ต่อประเทศชาติ
ดังนั้น อาตมาก็หวังใจว่าพวกเราคงได้เห็นประเทศไทยทำความเข้าใจกันง่ายๆ อย่าเป็นคนที่ให้อภัยกันยากและมีความพยาบาทกันง่าย เพราะจะไม่มีใครได้รับโอกาสให้ได้กลับตัวเป็นคนดี จะมีแต่ผู้ร้ายเต็มไปหมด และโอกาสดีๆของบ้านเมืองก็จะเสียไปด้วย
ถามว่าคนแบบไหนควรให้อภัย ก็คือคนที่ไม่ทำผิดซ้ำซาก ไม่ใช่ติดคุกแล้ว 3-4 หนก็ยังไม่หลาบจำ คนอย่างนี้ต้องบอกว่าไม่น่าให้อภัย เพราะไม่รู้จักหลาบจำ แต่สำหรับคนที่เคยผิดแค่ครั้งเดียวก็ควรได้รับโอกาสในการอภัยบ้าง
เจริญพร
**********************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น