--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

จาตุรนต์ ฉายแสงให้สัมภาษณ์กรณีกัมพูชา


Posted by ภีรเดช โกตมวรีสุรนารถ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา ว่า เหตุการณ์พัฒนามาจนกระทั่งเกิดผลกระทบ เกิดความเสียหายต่อความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศไปมากอย่างน่าตกใจ ทั้งที่ต้นเหตุไม่ได้เป็นเรื่องที่ควรจะทำให้เกิดความเสียหายขนาดนั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐบาลใช้มาตราการที่รุนแรงเกินกว่าเหตุไปมาก จนมองได้รัฐบาลได้คำนึงถึงการทำลายคู่แข่งทางการเมืองมากว่าประเทศชาติ และเป็นสร้างคะแนนนิยมให้กับตนเองบนความเสียหายของบ้านเมือง ทั้งนี้ที่ผ่านมาข้อขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา มีมาโดยตลอดแต่ความขัดแย้งมีมากขึ้นหลังจากการปลุกกระแสความคลั่งชาติ ในการทวงปราสาทเขาพระวิหารคืน รวมถึงการอ้างว่าแผ่นดินใต้เขาพระวิหารยังเป็นของไทยโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี รวมถึงการที่สมเด็จฯฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีสร้างบ้านที่กัมพูชาให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ และการตั้งเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การตอบโต้ที่รุนแรงของรัฐบาลไทยไม่เกิดผลดีใดๆ ทั้งสิ้น กรณีที่รัฐบาลกัมพูชาไม่ส่งตัวพ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาให้ทางการไทย ซึ่งประเด็นนี้ตนเห็นว่ารัฐบาลไทยควรที่จะร้องต่อศาลกัมพูชา เช่น ในกรณีของนายราเกซ สักเสนา อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ จำกัด (มหาชน) หรือบีบีซี ที่รัฐบาลไทยร้องต่อศาลแคนนาดา แทนการลดระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนกลายเป็นความบาดหมางระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก

“การตัดความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเป็นการตอบโต้ ทำให้ไปกระทบใจกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นด้วย ว่ามีอะไรไม่ตรงกันนิดหนึ่งคุณก็ตัดความช่วยเหลือเสียแล้ว และนี่เป็นการผลักกัมพูชาให้ไปสนิทกับประเทศอื่นมากกว่า นอกจากนี้ควรที่จะคำนึงด้วยว่ากัมพูชาเป็นมิตรประเทศกับไทยอยู่ ไม่ใช่ศัตรูอย่างที่รัฐบาลกำลังปฎิบัติอยู่ โดยเฉพาะการใช้คำพูดกับประเทศเพื่อนบ้านแบบผิดๆเหมือนที่กล่าวหาว่าพล.อ. ชวลิต (ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานพรรคเพื่อไทย) ชักศึกเข้าบ้าน”นายจาตุรนต์กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามยอมรับว่าสมเด็จฯฮุนเซ็นในฐานะนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ได้พูดถึงประเทศไทยได้พูดเกินกว่าที่ควรจะพูดไป เช่น การวิจารณ์ระบบยุติธรรมประเทศไทย หรือบอกให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งถือเป็นการพูดที่เกินวิสัยของนายกรัฐมนตรีที่จะพูดต่อประเทศอีกประเทศหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันสิ่งที่สมเด็จฯฮุนเซ็นพูดวิจารณ์นายอภิสิทธิ์ รัฐบาลไทย ที่มาของรัฐบาล และระบบยุติธรรมที่ถูกแทรกแซงโดยคมช. ส่วนใหญ่ถือว่าพูดตามความจริงทั้งนั้น

“สิ่งที่รัฐบาลนี้ และพรรคประชาธิปัตย์กำลังพยายามทำอยู่ พูดเหมือนกับว่ากัมพูชาเป็นศัตรูของประเทศไทยไปแล้ว เป็นการฉวยโอกาสจากการที่ประชาชนไทยมักถูกสอนให้เกลียดพม่าดูถูกเขมรดูถูกลาวถือเป็นการใช้พื้นฐานของการที่คนไทยถูกปลุกให้มีความคิดชาติยม คลั่งชาติมาเป็นประโยชน์ทางการเมืองจนลืมประโยชน์ของประเทศ”นายจาตุรนต์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคประชาธิปัตย์พยายามอธิบายว่าการที่สมเด็จฯฮุนเซ็น ตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่พล.อ.ชวลิต เดินทางไปกัมพูชา นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การที่พล.อ.ชวลิต เดินทางไปกัมพูชานั้น เท่าที่ตนได้พูดคุยกับพล.อ.ชวลิตทั้งก่อนและหลังไป พล.อ.ชวลิต ไม่มีความต้องการที่ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาหรือแม้แต่การที่สมเด็จฯฮุยกนเซ็นสร้างบ้านให้พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งพล.อ.ชวลิต เข้าพรรคเพื่อไทยมีเงื่อนไขว่าขออย่าให้พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนสั่งว่าให้เป็นอะไร

“พล.อ.ชวลิต ไม่ต้องการให้เป็นเรื่องว่าเข้ามาก็ดี เป็นอะไรก็ดีตามคำสั่งของพ.ต.ท.ทักษิณ ท่านต้องการให้เป็นตามระบบพรรค ท่านแคร์เรื่องนี้มากอยู่แล้ว ไปกัมพูชาก็เป็นกิจกรรมหนึ่งในห้าเรื่องที่พล.อ.ชวลิต ต้องการมาทำ ท่านไม่ต้องการทำเรื่องพ.ต.ท.ทักษิณ กับรัฐบาลกัมพูชา แต่ว่าไปแล้วเกิดมีการต่อสายกันจนกลายเป็นเรื่องที่สมเด็จฯ พูดเรื่องเตรียมบ้านให้พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งท่านชวลิตก็ตกใจอยู่เหมือนกัน เรื่องเลยไปกระทบภาพของพล.อ.ชวลิต ซึ่งเป็นผลเสียอันหนึ่ง”นายจาตุรนต์กล่าว

เมื่อถามว่าพล.อ.ชวลิต เสียใจหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ไม่ทราบต้องไปถามพล.อ.ชวลิต เอง อย่างไรก็ตามพรรคเพื่อไทยควรจัดระบบพรรคให้เกิดขึ้น ทำงานกันในระบบพรรค และให้พล.อ.ชวลิต เป็นกำลังสำคัญในระบบพรรค แทนที่จะให้เป็นเรื่องว่าพล.อ.ชวลิต จะทำอะไรได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับพ.ต.ท.ทักษิณ ถ้าเราไปทำให้พล.อ.ชวลิต ทำเพียงรอคำสั่งพ.ต.ท.ทักษิณ นั้นน่าเสียดายคุณค่าของพล.อ.ชวลิต เพราะพล.อ.ชวลิตยังสามารถทำได้อีกหลายเรื่อง เพราะท่านมีประสบการณ์และความตั้งใจที่ดี การที่จะให้ยอมรับได้ต้องมีระบบมารองรับให้ท่านสามารถแสดงความสามารถได้เต็มที่

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การที่อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย 2 คนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านถือเป็นเรื่องที่ดี แต่การที่พ.ต.ท.ทักษิณ เลือกที่จะมากัมพูชา เปิดเผยว่าจะมีบ้านในกัมพูชา และได้รับการต้อนรับจากรัฐบาลกัมพูชา รวมถึงวิธีการกับจังหวะหรือโอกาสที่เสนอเรื่องนี้มีปัญหา เพราะการเปิดเรื่องนี้ในจังหวะที่ไทยกับกัมพูชาระหองระแหงกันอยู่ โอกาสที่พ.ต.ท.ทักษิณจะเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองมีสูงกว่าที่จะได้เปรียบ จนรัฐบาลนี้สามารถฉวยโอกาสในการทำลายคู่แข่งทางการเมือง ทำให้ในที่สุดพ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทยกลายเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบทางการเมือง ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นภาระต่อไปว่าจะสามารถชี้แจงกับประชาชนอย่างไรว่าเรื่องที่พ.ต.ท.ทักษิณ ทำอยู่ไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศ

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องพยายามสุดความสามารถที่รักษาสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาไว้ และเลิกความคิดที่จะยกเลิกเอ็มโอยู ทั้งนี้หากมีการยกเลิกเอ็มโอยูจริง ต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

เมื่อถามว่ามีการวิเคราะห์กันว่าแท้ที่จริงแล้วพ.ต.ท.ทักษิณ ตกเป็นเครื่องมือของสมเด็จฯ นายจาตุรนต์ นิ่งเงียบไปชั่วขณะก่อนตอบว่า ต่างคนต่างมอง ตนยังไม่เห็นประโยชน์อะไรมากที่จะเกิดกับสมเด็จฯฮุนเซ็นในกรณีนี้ แต่โดยรวมๆแล้ว ทำให้เกิดความเสียหายไปทุกฝ่าย ทั้งกัมพูชาและไทยที่ได้รับความเสียหาย พ.ต.ท.ทักษิณ ก็สึกหรอ

เมื่อถามว่าดูเหมือนว่ากรณีของไทย-กัมพูชา และประเด็นการให้สัมภาษณ์ไทมส์ออนไลน์จะทำให้หนทางการกลับประเทศของพ.ต.ท.ทักษิณ ริบหรี่ลงทุกขณะ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า โอกาสกระทบในทางลบต่อความนิยมของพ.ต.ท.ทักษิณเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเรื่องแบบนี้เกิดเป็นกรณีขึ้นมา เป็นการกล่าวหาแบบฝ่ายเดียว โดยไม่อนุญาติให้ประชาชนเห็นเนื้อหาสาระของสิ่งที่พูด ผู้ถูกกล่าวหาย่อมเสียเปรียบมากทำให้ตกที่นั่งลำบากมากขึ้น ส่วนจะมีผลต่อการเดินทางกลับประเทศของพ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการชี้แจงทำความเข้าใจของพ.ต.ท.ทักษิณ พรรคเพื่อไทย และเสื้อแดง ต่อประชาชนว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น