--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เด็กก็แย่คนแก่ยิ่งไปกันใหญ่


Posted by ภีรเดช โกตมวรีสุรนารถ
รัฐบาลไทยโดยนายกรัฐมนตรีนายอภสิทธิ์ เวชชาชีวะได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศปกป้องศักดิ์ศรีและผลประโยชน์ของไทยต่อกัมพูชา โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการเรียกตัวเอกอัครราชฑูตไทย ณ กรุงพนมเปญกลับประเทศไทย เพื่อตอบโต้กัมพูชาในกรณีที่มีการแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชาและรัฐบาลกัมพูชา เพื่อเป็นมาตรการปกป้องศักดิ์ศรีของประเทศไทยและเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทย

ศักดิ์ศรีประเทศไทยในเรื่องนี้คืออะไร? และผลประโยชน์ของประเทศไทยในกรณีนี้เป็นอย่างไร?

การดำเนินการของรัฐบาลกัมพูชาในกรณีนี้โดยนายกรัฐนตรีฮุนเซนนั้นเป็นการ “ตบหน้า” นายอภสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรีของไทย หลังจากที่นายอภิสิทธิ์ โดนนายกรัฐมนตรีกัมพูชาตบหน้ามาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อก่อนการประชุมอาเซียนที่หัวหิน คราวนั้นเป็นการตบแก้มขวา คราวนี้เป็นการตบแก้มซ้าย สำหรับนายอภิสิทธิ์ ดูเหมือนว่าครั้งนี้คงจะ “เจ็บ” เพราะนายกฯ ฮุนเซน ถนัดขวา จึงคิดหาทางตอบโต้ “นายกฯ ฮุนเซน” ด้วยการเรียกเอกอัครราชฑูตไทย ณ กรุงพนมเปญกลับไทยโดยด่วน
เรื่องนี้จะเห็นว่าเป็นเรื่องของคนสองคน มีบุคคลที่สามที่อ้างถึงคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นประเด็นในการกล่าวอ้าง

เป็นธรรมดาอยู่เองที่หากมีใครมาด่าพ่อล่อแม่เรา เราก็สมควรโกรธหรืออาจเกลียด แต่หากเป็นบุคคลทั่วไปการกระทำที่แสดงออกอย่างมากคือไม่มองหน้าไม่พูดคุยด้วย หรือที่เรียกว่า “ผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ” แต่ในกรณีที่คนที่โดนเป็นถึงนายกรัฐมนตรีของประเทศอาการฟาดงวง ฟาดงาจึงมีผลกระทบในการกำหนดนโยบายไปด้วย ข้าพเจ้าเข้าใจและเห็นใจนายอภิสิทธิ์ในกรณีนี้ แต่ไม่เห็นด้วยกับอาการฟาดงวง ฟาดงาที่ได้กระทำการอยู่ในเวลานี้

เมื่อเช้าวันอาทิตย์ (๐๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๒) นายอภิสิิทธ์ เวชชาชีวะจึงได้ออกมาชี้แจงประเด็นนี้ต่อสาธารณะ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อประชาชนภายในประเทศ ซึ่งเนื้อหาข้าพเจ้าฟังแล้วต้องบอกว่าการทำความเข้าใจประเด็นนี้ของนายอภิสิทธิ์ เป็นการมา “ฟ้อง” ประชาชนที่รับชมมากกว่าจะเป็นการทำความเข้าใจ และเนื้อหาก็ชัดเจนว่าเรียกคะแนนมากกว่าจะมองได้เป็นอย่างอื่น กรณีนี้คือหาแนวร่วม

นายอภิสิทธิ์จะเจ็บแค้นนายกฯ ฮุนเซนมากขนาดใหน ข้าพเจ้าคงไม่สามารถรับรู้ได้ แต่เท่าที่จับอาการคงจะ “โกรธมาก” เพราะบุคลิกเด็กดื้อที่ใครๆ ก็รู้ของนายอภิสิทธิ์นั้นต้องเอาชนะให้ได้ และหากเอาชนะไม่ได้ก็จะ “แถ” เพื่อหลบที่จะตอบคำถามต่อสังคม ตอนนี้นายอภสิิสิทธิ์ พยายามเอาชนะอยู่ ต่อไปต้องดูกันว่าจะชนะหรือไม่ หากไม่ก็ต้องตามดูว่าจะแถหรือเปล่า?

ประเทศนี้ดำรงระยะเวลามากว่า ๗๐๐ ปีมีเมืองขึ้นและเมืองบริวารมากมาย ขยายอาณาเขตไปจนถึงพม่า กัมพูชาและมาเลเซียในปัจจุบัน แต่ก่อนเราเป็นศูนย์กลางในแถบภูมิภาคนี้ ใครตั้งตนเป็นเจ้าก็ต้องมีบรรณาการมาถวายกษัตริย์ไทยเพื่อเป็นการเจริญสัมพันธไมตรี เราเคยชินในรับบรรณาการมาแต่ใหนแ่ต่ไร และประเทศแถบนี้ก็คิดกันแบบนี้ไปหมดกระทั่งจีน ประเทศหนึ่งอาจเป็นเมืองขึ้นของอีกหลายเมืองก็เป็นได้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี เพราะหากไม่เช่นนั้นประเทศที่ใหญ่กว่าและมีกำลังกว่าย่อมมา “ตี” เพื่อขยายอาณาจักรจของตน หลักคิดนี้มีอยู่ในความคิดของเจ้าผู้ครองรัฐหรือประเทศในอดีตกันทุกคน

แต่ความคิดดังกล่าวก็มลายหายไปเพราะวิวัฒนาการของมนุษย์ก้าวผ่านเวลาในการไปทะเลาะเบาะแว้งเพื่อขยายดินแดน มาเป็นการสร้างความเจริญให้กับประเทศของตน และภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลง เรื่องต่างๆ ก็เป็นอันยุติ รวมถึงอาณาจักรไทยด้วย

แต่ก็มีหลายคนในปัจจุบันที่หลงยุคคิดว่าประเทศอื่นต้องบรรณาการตน ไม่เช่นนั้นถือว่าเป็นศัตรู รัฐบาลไทยโดยนายอภิสิทธิ์ในเวลานี้ก็กำลังคิดว่ากัมพูชา “แข็งเมือง” จึงได้พยายามดำเนินการเพื่อตอบโต้กัมพูชาให้กำหราบจำ เพราะประเทศไทยในเวลานี้หากมองกันในแง่ความสามารถทางเศรษฐกิจนั้นมีสูงกว่ากัมพูชา และเขตเศรษฐกิจของไทยก็ใหญ่กว่ากัมพูชาหลายเท่า พูดง่ายๆ คือกัมพูชาต้องพึ่งไทยมากกว่ที่ไทยจะต้องพ่งกัมพูชา

การเรียกเอกอัครราชฑูตไทยกลับประเทศนั้น เพื่อกดดันนายกฯ ฮุนเซน ให้ทบทวนการกระทำที่ได้ทำลงไปแล้วและข้พเจ้าก็เห็นว่าอาจจะได้ผล เพราะนายอภิสิทธิ์ กำลังรุกคืบการกดดันด้วยการ “ขู่” ว่าไทยจะพิจารณาในเรื่องการลงทุนและการตกลงทางการค้ากับกัมพูชาใหม่ และกำหนดเป้าหมายทั้งหมดใหม่

นายกฯ ฮุนเซนคงอ่อนข้อให้นายอภิสิทธิ์ เพราะนายกฯ ฮุนเซนรู้ว่าเสียเปรียบและรู้ว่าบทบาทที่ตนเองควรเล่นในตอนนี้นั้นต้องรักษาผลประโยชน์ของประชาชนชาวกัมพูชา โดยเฉพาะการค้บริเวณชายแดนไทยกัมพูชา เพราะหาไม่แล้วประชาชนกัมพูชานั่นแหละที่จะเป็นคนมากดดันนายกฯ ฮุนเซนอีกที

เรื่องต่างๆ ต้องดูักันต่อไปเพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ ข้าพเจ้าได้อ่านบทความของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ว่ารัฐบาลไทยพร้อมแล้วหรือที่จะรบกับกัมพูชายืดเยื้อ ซึ่งข้าพเจ้าเห็นด้วยในประเด็นนี้ แต่ข้าพเจ้าไม่คิดว่านายอภิสิทธิ์จะทำสงครามกับกัมพูชาเพราะกรณีนี้ เพราะนี่เป็นการ “ฟาดงวง ฟาดงา” ของนายอภิสิทธิ์เท่านั้น

แต่ต่อไปนี้นี่แหละสำคัญ เพราะหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร หากนายอภิสิทธิ์กดดันนายกฯ ฮุนเซนได้แล้ว นายกฯ ฮุนเซนจะทำอย่างไร? หากถามนายอภิสิทธิ์ก็ต้องได้คำตอบว่าไม่ใช่เรื่องของตนให้ไปถามนายกฯ ฮุนเซน นายกฯ ฮุนเซนอาจไปกราบบังคมทูลสมเด็จเหนือหัวแห่งกัมพูชาให้ตราพระราชกฤษฎีกายกเลิกประกาศอันเก่าก่อนหน้า แล้วทุกอย่างก็กลับมาปกติสุขเหมือนเดิม?

มันเป็นไปไม่ได้ไม่ว่ากรณีใด รัฐธรรมนูญไทยกับกัมพูชานั้นคล้ายกัน คือกษัตริย์กับการเมืองนั้นแยกกัน แต่รายละเอียดนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบแต่ก็คงเหมือนกันอยู่บ้างในหลักการ และหากเรามองย้อนในมุมกลับ เกิดวันดีคืนดีนายอภิสิทธิ์แต่งตั้งนายฟีเดล คาสโตรอดีตประธานาธิบดีคิวบาเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลและของนายกรัฐมนตรีไทยเพราะคิดว่ามีความรู้ความสามารถ โดยใช้เกณฑ์เดียวกันกับกัมพูชานั่นคือต้องตราพระราชกฤษฏีกา ให้กษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และอีกเช่นกันสหรัฐอเมริกาบอกว่าจะทบทวนความสัมพันธ์ทางการฑูตและการค้ากับไทยใหม่นายอภิสิทธิ์จะทำอย่างไร?

ที่ถามนี่รู้คำตอบว่านายอภิสิทธิ์จะต้องบอกว่า “เป็นไปไม่ได้ ตนจะไม่ทำอย่างนั้น ถึงสมมติก็เป็นไปไม่ได้” แต่ข้าพเจ้าก็ยังคงถามต่อไป

มาตรการต่อไปของนายอภิสิทธิ์นั้นคงจะกดดันนายกฯ ฮุนเซนต่อไปคือทำทุกอย่างให้มันอึมครึมเข้าไว้ แต่คงไม่ถึงขั้นปิดด่านเพราะจะกระทบคะแนนจากพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของบริเวณชายแดน นายอภิสิทธิ์สามารถทำได้อย่างมากก็แค่ขอร้องนักพนันชาวไทยให้กลับตัวกลับใจเลิกเล่นการพนันยังบ่อนกัมพูชาและหันหน้ามาช่วยกันพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองให้เจริญรุดหน้าทันชาวโลก

ทั้งหมดนี้คือเรื่องจริง และเรื่องจริงจะจบลงได้ดีกว่านี้หากนายอภิสิทธิ์คิดถึงผลกระทบต่อประชาชนและประเทศชาติ “จริงๆ” ตามที่ได้ระบุไว้ในแถลงการณ์ เพราะหากนับนิ้วมือข้อได้ข้อเสียแล้ว ไม่มีใครได้อะไรเลยกับการกระทำครั้งนี้ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ นายอภิสิทธิ์อาจโยนเรื่องนี้ไปให้อดีตนากฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรว่าเป็นตัวต้นเรื่องของเรื่องทั้งหมด ซึ่งนายอภิสิทธิ์สามารถคิดแบบนั้นได้ เพราะมันง่ายที่สุดที่จะคิดแล้ว แต่อย่าลืมว่าตนเองเป็นรัฐบาลของประเทศไทย การกระทำทุกอย่างต้องตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าผลประโยชน์ของประชาชนต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง หากการกระทำใดๆ ทำลงไปแล้วประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรก็ไม่สมควรทำ

ข้าพเจ้าขอยกคำของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์มาอ้าง “ดังนั้นอยากให้รัฐไทยมองกัมพูชาเท่ากับเรามองสหรัฐฯ หรือจีนได้หรือไม่? ไม่ต้องมองเป็นลูกน้องที่จะต้องยอมเราตลอด เพราะว่าหากเรามองตามความจริงแบบนี้ จะำทำให้เรากลับมาคิดว่าเราจะต้องวางแผนอย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น และจะต้องทำอย่างไรถึงจะไม่เสียเปรียบกัมพูชา เพราะหากรัฐไทยยังมองกัมพูชในทัศนคติเช่นนี้ ก็ไม่แน่ใจว่ารัฐไทยจะสามารถรักษาผลประโยชน์ของรัฐไ้ทยได้หรือไม่?”

เรื่องของศักดิ์ศรีนั้นเป็นเรื่องใหญ่ข้าพเจ้าเห็นด้วยและยอมรับ แล้วเรื่องของประชาชนล่ะ “เรื่องใหญ่” หรือไม่?

ความสัมพันธ์ของคนเรานั้นใช้เวลาไม่นานเราก็หักสะบั้นมันลงได้ แต่หากเราจะสร้างมันขึ้นมานี่ต่างหากเป็นเรื่องยาก หากจำประเทศซาอุดิอาระเบียได้ก็จะรู้ว่าเรื่องราวมันยากเย็นขนาดใหน

ถึงเวลาหรือยังที่คนใหญ่คนโต “ตัวจริง” จะคุยกันในเรื่องทั้งหมดนี้ หรือจะให้มันแบบนี้ “เด็กก็แย่ คนแก่ยิ่งไปกันใหญ่”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น