--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เราไม่ได้ถือไพ่เหนือกว่า พวงทอง ภวัครพันธุ์


ที่มา:ไทยโพสต์

เขาเคลื่อนไหวแต่ละครั้งมันก็เป็นข่าวที่ทำให้ไทยปวดหัวมาโดยตลอด เราจะชอบเขา-ไม่ชอบเขา นั่นเรื่องหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าเขาเป็นของแข็ง ความสัมพันธ์ที่มีกับเขาเราต้องสุขุมรอบคอบ และต้องเข้าใจเขามากขึ้น ไม่อย่างนั้นเราจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เราไม่ได้ถือไพ่เหนือเขาอย่างที่เราคิดว่าเราเป็น

มีกระแสชาตินิยมในช่วงที่ผ่านมาคอยให้ข้อมูลผิดๆ กับประชาชนเรื่องของ 4.6 ตร.กม. การปฏิเสธที่จะให้มีการประนีประนอมกันในการพัฒนาร่วมพื้นที่นี้ ไม่ว่ารัฐบาลไหนขึ้นมาก็จะทำเรื่องนี้ได้ยากมาก จะเป็นอุปสรรคไม่ให้มีการเจรจาตกลงกันด้วยสันติวิธี ดังนั้น ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาก็จะลุ่มๆ ดอนๆ ไปอย่างนี้อีกพักใหญ่

//////////////

ตลอด 2 สัปดาห์นี้ ประเด็นความขัดแย้งไทย-กัมพูชา อยู่ในความเป็นห่วงของแวดวงนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คือหนึ่งในนักวิชาการที่ติดตามประเด็นความขัดแย้งมาตั้งแต่กรณีปราสาทพระวิหาร สำหรับหนนี้ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การแลกกันแบบหมัดต่อหมัดอยู่อย่างนี้รังแต่จะเจ็บหนักกันทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายไทยที่ได้ออกหมัดเด็ดไปแล้ว ตั้งแต่เรียกทูตกลับ ยกเลิกเอ็มโอยูพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีป ทบทวนโครงการช่วยเหลือและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จะเหลือก็แต่ไม้ตายสุดท้ายคือการปิดชายแดน ซึ่งฮุน เซน สวนกลับทันควันว่าหากไทยปิด กัมพูชาก็พร้อมเช่นกัน

เจ็บทั้งสองฝ่าย
"ถ้าเราดูความขัดแย้งล่าสุดของไทย-กัมพูชาในขณะนี้ และการโต้ตอบกันไปมา ท่าทีของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ที่มีต่อไทยก็ จะเห็นว่าเขาไม่ได้อ่อนข้อให้กับไทยในอย่างที่ไทยคาดหวังว่าจะเป็น คือถ้าไทยแรงไปเขาก็แรงกลับ ซึ่งอันนี้ทำให้เราต้องกลับไปดูว่าเวลาที่รัฐบาลไทยตอบโต้กัมพูชา เป้าหมายคืออะไร ดิฉันคิดว่าเป้าหมายอันหนึ่งก็คือว่า ต้องการที่จะลงโทษกัมพูชา และรัฐบาลไทยอาจจะคิดว่าตัวเองถือไพ่เหนือกว่ากัมพูชา ในแง่มองเห็นว่าเราเป็นประเทศใหญ่กว่า เรามีการค้า ได้กำไรทางการค้า เรามีการลงทุนในกัมพูชามากกว่า เราให้ความช่วยเหลือกัมพูชาด้วย ในเรื่องการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในการสร้างถนน และก็คิดว่าเราอยู่ในฝ่ายที่อยู่เหนือกว่ากัมพูชา แต่ถ้าเราดูท่าทีของฮุน เซน แล้ว เห็นว่าเขาไม่ได้แคร์สิ่งเหล่านั้นเลย เขามีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น ในแง่ที่ว่าเขาไม่ได้พึ่งพิงประเทศไทยประเทศเดียว หรือไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจกับไทยอย่างเดียว จะใช้ว่าพึ่งพิงก็ไม่ถูก"

"จริงๆ แล้วเขาไม่ได้พึ่งพิงไทยอย่างเดียว โลกในปัจจุบันมันเป็นการพึ่งพิงซึ่งกันและกัน มันเป็นเรื่องของเศรษฐกิจการค้า ซึ่งถ้าคนซื้อเขาไม่ซื้อ คนขายก็เจ็บตัวไปด้วย มันไม่ใช่ว่าเราคิดว่าเขาต้องพึ่งพิงสินค้าเราแต่ฝ่ายเดียว ทุกวันนี้สินค้าที่ไทยเราขาย จีนก็ขาย เวียดนามก็ขาย เขาซื้อจากเราไม่ได้ เขาก็ไปซื้อจากเวียดนามจากจีนซึ่งถูกกว่าเราด้วยซ้ำไป และในแง่ของการลงทุน ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ ไทยก็ไม่ใช่เป็นประเทศใหญ่ที่ให้เขา เราไม่ใช่เป็นประเทศใหญ่อีกต่อไปที่ไปลงทุนในประเทศเขา ในแง่ของการลงทุน ถามว่าเราสามารถที่จะถอนการลงทุนของเราได้ทันทีไหม ถ้าเราคิดว่าอันนี้คือไพ่ที่เหนือกว่า ดิฉันคิดว่าถ้าถอนทันที-ไทยเราเจ็บตัว นักธุรกิจไทยเจ็บตัวแน่ๆ และบริษัทเหล่านี้ ถ้าเราไปดูมันเป็นบริษัทข้ามชาติ เป็นบริษัทมหาชนในประเทศไทยทั้งนั้นที่เข้าไปลงทุน บริษัทเหล่านี้เขาก็ต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นด้วย การลงทุนเป็นร้อยล้านพันล้าน มันไม่ใช่ว่าจะถอนตัวมาได้เพียงชั่วข้ามคืน อาจจะยังไม่ได้ทุนคืนด้วยซ้ำไป"

"เราจะเห็นว่าคุณอภิสิทธิ์อึดอัดอย่างมาก ตอนหลังเวลาที่ถูกทางกัมพูชาตอบโต้มาและเราไม่มีไม้เด็ดที่จะออกไปอีก เพราะเราเล่นเอาไม้เด็ดออกไปตั้งแต่ครั้งแรกเลย พอเขาชกมาปุ๊บก็ปล่อยไม้เด็ดออกไปเลย นั่นก็คือการเรียกทูตกลับ ถ้าเราทำตามขั้นตอน เรียกทูตกัมพูชามายื่นจดหมายประท้วง ส่งหนังสือประท้วงออกไป ในเวลาที่เขาตอบโต้มาเรายังมีขั้นตอนต่อไป อันนี้รัฐบาลกำลังอยู่ในภาวะที่ทำต่อไปไม่ได้ เพราะว่าในที่สุดแล้วมันจะเจ็บ คือจะสั่งให้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเด็ดขาด ปิดชายแดน รัฐบาลก็รู้ว่าใครจะเดือดมากกว่า เพราะเวลาปิดชายแดนแต่ละครั้ง อย่างปิดชายแดนไทย-พม่า ซึ่งพม่าเวลาเขาปิดชายแดนเขาสั่งปิดทันที เขาไม่ได้ยืดเยื้อเลย และเขาก็รู้ว่าเราเดือดร้อน เพราะว่าเราต้องแคร์ถึงพ่อค้านักลงทุนของไทย"

เห็นได้ชัดว่าการเดินนโยบายการทางการทูต ให้น้ำหนักกับปัญหาการเมืองระหว่างรัฐบาล-ทักษิณมากเกินไป

"เป็นไปได้ว่าคนที่แวดล้อมคุณอภิสิทธิ์มีความไม่ชอบฮุน เซน มากๆ ฉะนั้น การกำหนดนโยบาย มาตรการที่ออกมา มันเป็นการเน้นความสะใจ เอาแรงเข้าว่าไว้ก่อน โดยที่ไม่ได้ทำการบ้านว่ามาตรการที่ออกมา มันจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อไทยในระยะยาว ก็ลำบาก มันก็เป็นข้อผิดพลาดตั้งแต่แรกแล้ว ตั้งแต่ตั้งรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ที่เอาคุณกษิตมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ทั้งๆ ที่ก็น่าจะรู้ว่าปัญหาไทย-กัมพูชาเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อ หรือว่าคุณอภิสิทธิ์ไม่รู้ก็ไม่รู้นะ อาจจะประเมินเรื่องความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา เรื่องปราสาทพระวิหารต่ำไปหน่อย ให้ความสำคัญกับกัมพูชาน้อยไปหน่อย ถึงได้ไปเอาคุณกษิตขึ้นมา ตอนนั้นอาจจะแค่มุ่งหวังให้คุณกษิตทำหน้าที่ตามไล่ล่าคุณทักษิณก็ได้ และก็ไม่สนใจความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน คิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ ซึ่งดิฉันคิดว่าคุณอภิสิทธิ์รู้เรื่องการต่างประเทศน้อยเกินไป ซึ่งในเมื่อคุณเลือกผิด ผลที่ออกมามันก็เป็นอย่างที่เห็น"

จนถึงวันนี้ รัฐบาลไทยก็ยังเห็นว่าการตัดความช่วยเหลือเหมือนหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาจะได้ผล

"กรณีไทยให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชา ทั้งแบบให้เปล่าและแบบเงินกู้เริ่มขึ้นหลังสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ไทยต้องการเข้าไปทำมาหากินในประเทศเพื่อนบ้าน แต่รัฐบาลไทยยุคนั้นตระหนักว่าเพื่อนบ้านไม่ไว้วางใจเรา ความไม่ไว้ใจย่อมเป็นอุปสรรคต่อความฝัน ที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ในเรื่องของความช่วยเหลือที่เราให้ ดิฉันไม่รู้ว่ารัฐบาลตัดสินใจระงับไปหรือยัง เอ็มโอยูความช่วยเหลือต่อกัมพูชาในเรื่องการสร้างถนน เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 1,400 ล้านบาท ตรงนี้ถามว่าใครได้ประโยชน์ที่เราช่วยเขา จริงๆ แล้วกลับไปดูเป้าหมายพื้นฐานเลย การที่เราช่วยเขามันทำเพื่อตัวเอง ไม่ได้ทำเพื่อกัมพูชา ซึ่งในช่วงที่เกิดขึ้นก็มีกลุ่มสื่อมวลชน กลุ่มชาตินิยม ก็บอกให้ตัดเลย ลงโทษให้เข็ดหลาบ ไม่จำเป็นต้องไปช่วยเหลือกัมพูชา จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เป้าหมายของการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อสร้างถนนในกัมพูชา เพราะถนนเหล่านี้เป็นถนนที่เชื่อมโยงเข้าสู่ประเทศไทยทั้งนั้นเลย จากจังหวัดชายแดนไทยเรื่อยมาตั้งแต่ศรีสะเกษลงมาถึงตราด และเพื่อถนนเหล่านี้จะเชื่อมต่อเข้ากับถนนเส้นใหญ่ในกัมพูชา เพื่อเอาสินค้าของไทยไปขายในกัมพูชา ในพนมเปญ และก็ลงไปถึงเวียดนามใต้ แต่เราไปมองว่าเราให้เงินช่วยเขาเพื่อที่จะช่วยเป็นบุญคุณ นี่เป็นความเข้าใจที่ผิด และเราก็ไม่ใช่เป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือเขามากที่สุด จีนกับญี่ปุ่นต่างหากที่ให้ความช่วยเหลือเขามากที่สุด เขากู้จากเราไม่ได้ เขาไปกู้จากที่อื่นก็ได้ ดังนั้นในแง่ของความช่วยเหลือฮุน เซน ก็จะเห็นว่าเขามีทางเลือก ในปัจจุบันเขามีความสัมพันธ์กับหลายประเทศ ทั้งประเทศเล็กประเทศใหญ่ กับประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาวทั้งเวียดนาม ประเทศที่อยู่นอกภูมิภาค กับฝรั่งเศสเองเขาก็มีการลงทุนเรื่องขุดเจาะน้ำมันกันอยู่ เขามีไพ่เล่นมากยิ่งขึ้น เขาไม่ใช่ในอดีตที่มาพึ่งพิงแค่เวียดนามกับไทย และก็ถูกแซนด์วิชโดยมีเวียดนามกับไทยขนาบข้าง และก็กดดันเขาได้อย่างในอดีต"

เพราะฮุน เซน ตระหนักแล้วว่าไทยไม่ใช่ทางเลือกเดียว ดังนั้น กัมพูชาจึงเดินความสัมพันธ์แบบรอบด้านกับทั้งประเทศเล็กใหญ่ ทั้งในและนอกภูมิภาค

"ดิฉันคิดว่ารัฐบาลคุณฮุน เซน อาจจะสรุปบทเรียนจากในอดีตที่เขาเป็นประเทศเล็ก และเขาจะต้องพึ่งพิงอยู่แค่ไทยและเวียดนาม และก็ปล่อยให้สองประเทศนี้มีอำนาจเหนือเขา แข่งขันกันมีอำนาจเหนือเขา สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องตระหนักก็คือว่า การมองความสัมพันธ์กับกัมพูชาในลักษณะที่คิดว่าตัวเองมีไพ่เหนือกว่ากัมพูชาหลายๆ ด้าน มันเป็นมรดกที่ตกค้างมาจากยุคสงครามเย็น ซึ่งโลกทุกวันนี้มันเปลี่ยนไป ยุคสงครามเย็นเราไม่พอใจที่ประเทศเพื่อนบ้านเป็นคอมมิวนิสต์ เราสั่งปิดชายแดนไทย-กัมพูชา และก็ไทย-ลาวเลย ประกาศห้ามสินค้าตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบเข้าไปขายในลาวและกัมพูชา เพื่อที่จะเป็นการกดดันให้ประเทศเพื่อนบ้านประสบกับความยากลำบาก เป็นการปิดล้อมประเทศคอมมิวนิสต์ แต่ในอดีตคนไม่ได้ทำการค้าซึ่งกันและกัน พอสงครามยุติลง รัฐบาลไทยสมัย พล.อ.ชาติชายบอกว่า ต้องการให้อินโดจีนเปลี่ยนจากสนามรบเป็นสนามการค้า เราก็เข้าไปค้าขายไปลงทุนอะไรมากขึ้น มันก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมันมีเรื่องที่ต้องคบค้าสมาคมในทางที่ดีมากขึ้น ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ และความสัมพันธ์นี้มันดึงให้ประชาชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย พ่อค้าแม่ค้าตามชายแดน นักลงทุน นักท่องเที่ยว ที่เข้าไปเที่ยวในประเทศต่างๆ เหล่านี้"

"แต่คราวนี้มันดึงเอาประชาชน นักธุรกิจระดับเล็กจนถึงระดับใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มันก็เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เราต้องคำนึงถึงมากขึ้น เวลาที่เกิดความสัมพันธ์มันร้าวฉานขึ้น การตัดสินใจที่จะปิดชายแดนง่ายๆ หรือว่าไม่ขายของให้เขา เลิกคบค้าเขา มันทำได้ยากยิ่งขึ้น เพราะว่าโลกวันนี้มันพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกัน นี่คือโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่ว่าประเทศเล็กจะต้องง้อประเทศใหญ่เสมอไป หลายๆ เรื่องมันมีลักษณะที่พึ่งพิงซึ่งกันและกัน"

ในขณะที่สถานการณ์กับไทยยังเขม็งเกลียว แต่ความสัมพันธ์กับเวียดนามกลับแน่นแฟ้น แม้จะมีปัญหาการรุกล้ำเขตแดนที่สวายเรียง แต่ ฮุน เซน ยังคงสงวนท่าที

"ปัญหาชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นประเด็นที่รัฐบาลฮุน เซน ไม่ต้องการที่จะให้มีปัญหามาตลอด คือเราจะเห็นว่าในช่วงที่ความสัมพันธ์ดี กัมพูชากับไทยสามารถที่จะตกลงกันในเรื่องของการพยายามที่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาปักปันเขตแดน การพัฒนาร่วมกัน เอ็มโอยูที่รัฐบาลไทยเพิ่งประกาศระงับไป ในการปักปันพื้นที่เขตไหล่ทวีป ก็เป็นการตกลงว่าจะปักปันเขตแดนและพัฒนา เอาทรัพยากรทางทะเลขึ้นมาใช้ร่วมกัน ก็ใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหา กัมพูชาก็มีปัญหาเรื่องเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 3 ด้าน ซึ่งก็เหมือนไทย ไทยก็มีทุกด้าน กัมพูชากับเวียดนามก็มีความพยายามที่จะแก้ปัญหามาตลอด แต่กัมพูชาก็มีอยู่ในภาวะที่มีสงครามอยู่ตลอด มันก็เริ่มที่จะเป็นเรื่องเป็นราวในสมัยเมื่อสงครามในประเทศยุติลง

ดิฉันคิดว่ากรณีเวียดนามมี 2 ด้านที่เราต้องมอง 1.ฮุน เซน เราก็รู้กันว่าเขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับเวียดนามมาโดยตลอด นับตั้งแต่เวียดนามบุกเข้าไปโค่นล้มเขมรแดงในกัมพูชา ฮุน เซน กับเฮง สัมริน ก็คือทหารของเขมรแดงที่เข้าไปขอความช่วยเหลือจากเวียดนาม เพราะว่าไม่เห็นด้วยกับกลุ่มของพล พต ที่ใช้ความรุนแรงอย่างกว้างขวาง และมีการปราบปรามภายในพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาด้วยกันเอง เขาพึ่งพิงเวียดนามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สงครามยังไม่ได้ยุติลง และกัมพูชาถูกปิดกั้นความช่วยเหลือ การลงทุนต่างๆ จากนานาชาติ มีแต่เวียดนามและสหภาพโซเวียตที่ให้ความช่วยเหลือกัมพูชา ฉะนั้น มันมีความความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องยาวนานกันมา 20 กว่าปี ความรู้จักกัน ความเกรงใจก็ต้องมีแน่นอน บวกกับถ้าเราคำนึงว่าจริงๆ แล้วรัฐบาลกัมพูชา รัฐบาลไทยก็ด้วยในอดีต ที่ต้องการแก้ปัญหาเรื่องชายแดนด้วยสันติวิธี แต่ขณะเดียวกันในกัมพูชามันก็มีกลุ่มชาตินิยม ซึ่งก็ลักษณะเดียวกับไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสม รังสี ใช้ประเด็นชาตินิยมอย่างมากในการเล่นงานรัฐบาลภายใน ซึ่งมันอันตราย ดิฉันว่าอันตรายพอๆ กับกลุ่มชาตินิยมในประเทศไทยนี่แหละ ที่ต้องการจะเล่นงานกลุ่มการเมืองภายใน และเอาเรื่องระหว่างประเทศมาเล่นงาน คุณสม รังสี ไม่เล่นงานกรณีไทย-กัมพูชาเท่าไหร่ เพราะเขาพึ่งไทยเยอะ เช่นรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์เชิญเขามาพูด กับเวียดนามเขารู้ว่ามีประเด็นที่มันจุดง่าย ในแง่ที่ว่าเขาประเมินว่าความรู้สึกของคนเขมรไม่ชอบคนเวียดนามมีสูง นี่เป็นความรู้สึกทั่วไปที่ดำรงอยู่ในกลุ่มคนเขมร เพราะว่าคนเวียดนามเองก็อพยพเข้าไปทำมาหากินในพนมเปญ ในจังหวัดชายแดน และเขาก็พยายามใช้ประเด็นนี้ดิสเครดิตฮุน เซน"

"ขณะเดียวกัน ในทางเศรษฐกิจกัมพูชาเขาก็มีความสัมพันธ์กับเวียดนามมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงสงครามเย็นตอนที่เวียดนามเข้าไปใหม่ๆ เวียดนามจะเป็นคนให้ความช่วยเหลือในเรื่องเงินทอง อาหาร รวมถึงอาวุธยุทธปัจจัยด้วย แต่ขณะเดียวกันตอนนั้นเวียดนามก็ยังยากจนอยู่ ซึ่งอันนี้เป็นเหตุผลที่เวียดนามยินดีที่จะเข้าสู่การตกลงสันติภาพ และยุติปัญหาในกัมพูชาและถอนทหารออกไป เพราะตัวเองก็ไม่ไหวแล้ว ตอนช่วงปลายของสงครามเย็น เราจะเห็นว่าจริงๆ แล้วตอนที่สงครามในกัมพูชายุติลง ตอนสมัย พล.อ.ชาติชายขึ้นมา และเป็นผู้ริเริ่มให้มีการเจรจาและนำไปสู่การเลือกตั้งในปี 1993 เวียดนามเป็นประเทศเล็กๆ ไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆ เลยที่เข้าไปลงทุน และเป็นนักลงทุนรายใหญ่ แต่เราก็จะเห็นว่าเวียดนามเติบโตมากยิ่งขึ้น ในทางเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก จีดีพีเติบโตมาก และเศรษฐกิจของเวียดนามก็เน้นการส่งออกด้วย สินค้าที่เขาขายก็คล้ายๆ กับของไทยและของจีน แน่นอนคนเราขายของก็จะเน้นเพื่อนบ้านมากที่สุด ในแง่การขนส่งก็จะง่ายที่สุด ประหยัดที่สุด เราก็จะเริ่มเห็นว่าเวียดนามเข้าไปลงทุนขายสินค้าให้กับกัมพูชามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นคู่แข่งของไทย และไม่ใช่เฉพาะกัมพูชาอย่างเดียว สินค้าจำนวนมาก-อย่างข้าว ตอนนี้เวียดนามก็เป็นคู่แข่งสำคัญของไทยที่ส่งไปขายในตลาดโลก ดังนั้นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างที่ดำรงในขณะนี้เป็นลักษณะของทุนนิยม ไม่ใช่ลักษณะที่ให้ฟรีอย่างในช่วงสงครามเย็น เวียดนามก็เติบโตมากยิ่งขึ้น กับจีนก็เป็นนักลงทุนที่ติดอันดับ top 3 ก่อนหน้านี้ปริมาณการลงทุนในเวียดนามสูงกว่าจีน สลับกันกับจีน"

"อีกทั้ง ปัจจุบันในกัมพูชายังมีญี่ปุ่นจะให้ความช่วยเหลือผ่านโครงการต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นลักษณะโครงการที่พยายามจะสร้างบูรณาการขึ้นให้กับกลุ่มประเทศ 5 ประเทศ รวมจีนด้วย แต่ว่าจีนไม่ค่อยได้อาศัยเงินจากญี่ปุ่นเท่าไหร่ ในการที่จะเชื่อมต่อโครงข่ายทางเศรษฐกิจของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ญี่ปุ่นเวลาเขาไปลงทุนเขามองภาพกว้าง ไม่เน้นประเทศใดประเทศหนึ่ง ดิฉันสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นการแข่งกับจีนด้วย ในเรื่องของการพยายามหาแหล่งทรัพยากร ซึ่งไม่ได้ป้อนให้แค่ญี่ปุ่นอย่างเดียว อาจจะป้อนให้กับบริษัทญี่ปุ่นที่กระจายอยู่ในภูมิภาคด้วย"

การรวมศูนย์อำนาจของฮุน เซน กว่า 20 ปีที่ผูกขาดบริหารประเทศ ในด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า เขาทำให้เศรษฐกิจของกัมพูชาเข้มแข็งขึ้น ดร.พวงทองให้ความเห็นว่า แม้กัมพูชาในปัจจุบันจะยังถือว่าเป็นประเทศยากจน และก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากต่างประเทศอยู่มากพอสมควร แต่เมื่อเทียบกับวันแรกที่ฮุน เซน ขึ้นมา กัมพูชาในขณะนั้นเรียกว่ากลับไปนับหนึ่งใหม่ เรียกได้ว่าเริ่มต้นศักราชที่ศูนย์ (Year Zero)

"กลุ่มของเฮง สัมริน และฮุน เซน ขึ้นมาหลังเขมรแดง ซึ่งทำลายกัมพูชาอยางราบคาบเลย ระบบทั้งหลายแหล่ในประเทศ ระบบการเงิน การธนาคาร ไม่มีเหลือเลย การขนส่ง อุตสาหกรรม การศึกษา โรงพยาบาล เหล่านี้ถูกทำลายหมด 20 ปีให้หลัง เฮง สัมริน ขึ้นมาปี 2522 ตลอด 30 ปี กัมพูชาก็เติบโตขึ้นเยอะในแง่ของเศรษฐกิจ อาจจะดีกว่าพม่าด้วยซ้ำและก็ลาว ถ้าเราดูจีดีพีต่อหัว และการที่ประชาชนสามารถขยับฐานะทางเศรษฐกิจของตัวเองขึ้นไปได้ ดิฉันเข้าไปกัมพูชาช่วงเดียวกับเข้าไปพม่าเมื่อสิบกว่าปีก่น สิ่งที่เห็นมันต่างกัน มันเห็นการเปลี่ยนแปลงในกัมพูชาเยอะทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ อย่างพระตะบอง พนมเปญ แต่พม่านี่ไม่ค่อยเปลี่ยน ฉะนั้น ด้านหนึ่งมันก็สร้างความพอใจให้กับคนเขมรอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในเมืองใหญ่ๆ แต่ถามว่าดีหมดทุกอย่างไหม-ยัง มันยังต้องไปอีกยาวไกล และปัญหาคอรัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ในรัฐบาลของกัมพูชา ในเขตชนบทเองก็ยังต้องการการพัฒนาอีกเยอะ

แต่ส่วนหนึ่งเราจะเห็นได้ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจในยุคของฮุน เซน มันก็ทำให้เขาได้คะแนนเสียงเยอะในการเลือกตั้ง ไปถามคนเขมร คนเขมรเขาก็เบื่อฮุน เซน ประชาชนที่ดิฉันเคยไปคุยด้วยเขาก็รู้สึกว่านานเหลือเกิน เขาอยากจะได้หน้าใหม่ๆ คนใหม่ๆ บ้าง ขณะเดียวกันเขาก็รู้ว่าฮุน เซน เผด็จการ รวบอำนาจอย่างไร มีการคอรัปชั่นอย่างไร แต่เขาไม่มีทางเลือกอื่นที่จะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับเขา สม รังสี ก็ไม่ได้มีอะไรที่เป็นทางเลือกที่ชัดเจน ก็จะเน้นแต่เรื่องการเล่นกระแสชาตินิยม อีกด้านหนึ่ง ฮุน เซน เขาก็มีความสามารถในการที่จะแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับกลุ่มต่างๆ ด้วย กลุ่มการเมืองต่างๆ ในแง่หนึ่งอาจจะคล้ายคุณทักษิณในด้านนี้ ก็แบ่งกันไป มันทำให้อำนาจของเขามีฐานที่มั่นคง"

"อันหนึ่งที่ชัดเจนคือ มันมีการลงทุนเข้ามาเยอะมาก เกาหลีใต้เข้าไปในกัมพูชาเยอะมาก ตึกธุรกิจใหญ่ๆ ขึ้นเต็มไปหมดเลย อันนี้ก็หมายถึงว่าเกิดการจ้างงาน มันมีเงินหมุนเข้ามาในภาคธุรกิจมากขึ้น ไทยก็เข้าไปลงทุนเยอะแยะบริเวณชายแดน อย่างซีพี. ปูนซีเมนต์ พวกนี้มันก็เป็นการสร้างงานให้กับคนของเขา"

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่มีลักษณะการ 'ปั่น' ก็ตาม

"เราต้องดูด้วยว่า เวลาที่มีการประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจ มันไม่ใช่ดูแค่ว่ารัฐบาลปั่น-ไม่ปั่น มันจะต้องดูตัวเลขของเงินลงทุนทั้งหลายแหล่จากต่างชาติที่เข้าไปในกัมพูชา ซึ่งมันมีเยอะ รัฐบาลฮุน เซน ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ก็มีการออกกฎหมายมาเยอะแยะที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้มีการลงทุนจากต่างชาติ สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างๆ มากยิ่งขึ้น"

บนความสัมพันธ์ลุ่มๆ ดอนๆ
ในประเด็นปราสาทพระวิหาร อ.พวงทองเคยให้ทัศนะว่า คือชนวน sensitive ที่จุดเมื่อไหร่ก็ติดทุกครั้ง และแม้ครั้งนี้จะเป็นเรื่อง 'ทักษิน' ล้วนๆ แต่ในระยะยาวแล้ว ปัญหาไทย-กัมพูชาก็จะปะทุขึ้นมาอีกเรื่อยๆ

"คือปัญหามันยังไม่ยุติแน่ๆ แต่ว่ามันจะไปรุนแรงแค่ไหน ก็หวังว่ามันจะไม่รุนแรงไปกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งสองฝ่ายใช้สติกันมากขึ้น ด้านฮุน เซน เราก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาแกก็ตอบโต้ด้วยความโกรธด้วยเหมือนกัน ความโกรธอันนี้ดิฉันคิดว่ามีสาเหตุมาจากเรื่องปราสาทพระวิหาร ชัดเจนทีเดียว คุณไปสัมภาษณ์คนเขมร สื่อเขมรเขาก็มองแบบนี้ ว่าไม่พอใจที่ไทยโดยเฉพาะรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ พยายามที่จะกีดกันในการที่เขาจะจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก จุดยืนคุณอภิสิทธิ์เรื่องนี้ชัดเจนอยู่แล้วว่าคิดอย่างไร ก็คือว่าไม่เห็นด้วย ซึ่งฝ่ายกัมพูชาก็ไม่เข้าใจว่าทำไม อย่างกรณีที่ส่งคุณสุวิทย์ คุณกิตติ ไปสเปน ทั้งๆ ที่คณะกรรมการมรดกโลกยอมรับให้เขาพระวิหารขึ้นทะเบียนไปแล้วตั้งแต่ปี 2511 แต่เมื่อ 4 เดือนที่แล้วยังส่งคุณสุวิทย์ไปอีก และก็กลับมาให้ข้อมูลบิดเบือนกับคนไทยว่าสามารถที่จะยับยั้งการขึ้นทะเบียนได้ แต่ว่าทางฝ่ายกัมพูชาเขาเห็นอันนี้และเขาก็ไม่พอใจ และเขาก็เลือกจังหวะที่จะมาตอบโต้ไทยในการประชุมอาเซียนซัมมิตที่ชะอำ ก็เพื่อที่ต้องการดึงความสนใจจากนานาชาติเข้าสู่ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา

ดังนั้น ในกรณีคุณทักษิณดิฉันภาวนาว่า คุณทักษิณจะไม่กลับเข้าไปในกัมพูชาอีก ดิฉันไม่เห็นด้วยกับทั้งคุณทักษิณรวมถึงกลุ่มชาตินิยมในประเทศ ที่เอาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาเป็นเครื่องมือในทางการเมืองของตัวเอง หลังสุดที่คุณจตุพร พรหมพันธุ์ ที่ออกมาพูดว่ากัมพูชามีเทปที่อัดเสียงระหว่างคุยโทรศัพท์ของคุณกษิตกับคุณคำรบ (ปาลวัฒน์วิไชย) ดิฉันคิดว่านี่เป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างมาก ที่นักการเมืองไทยพยายามที่จะเอาเรื่องพวกนี้ เอาประเด็นเรื่องระหว่างประเทศมาใช้โจมตี มันอันตราย คือถ้าสิ่งที่คุณจตุพรพูดเป็นความจริง คุณคิดดูสิว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต้องมีการประท้วงใหญ่โต เพราะถือว่ากัมพูชาทำการสอดแนมสถานทูตไทย ถ้าพูดแล้วไม่มีหลักฐานอย่าพูด ถ้าพูดแล้วแสดงหลักฐานไม่ได้อย่าพูด พูดแล้วทำให้สองประเทศทะเลาะกัน ที่สำคัญเฉพาะหน้าตอนนี้คือ ชีวิตของคุณศิวรักษ์ ชุติพงษ์ เราดูการตอบโต้ของทั้งสองฝ่ายในเรื่องนี้ ห่วงคุณศิวรักษ์น้อยไปหน่อย"

รัฐบาลอาจจะกลัวเสียหน้า หากทักษิณเป็นฝ่ายแอคชั่นช่วยศิวรักษ์

"เมื่อวาน พล.อ.ชวลิตบอกว่าอาจจะบินไปรับ เสร็จแล้วคุณกษิตก็บอกว่าไม่ใช่ธุระ ไม่ใช่หน้าที่ของ พล.อ.ชวลิต แต่ดิฉันคิดว่าเอาคุณศิวรักษ์กลับมาก่อนคือสิ่งสำคัญ ถ้าเอามาได้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายของคุณชวลิต คุณทักษิณ หรือรัฐบาลก็แล้วแต่ หลังจากนั้นถ้าคุณคิดว่ามีข้อมูลอะไรจะเปิดโปงก็ทำไป จะโจมตีกัมพูชาว่าไม่แฟร์ที่ตั้งข้อหา เอาไว้ทีหลังเอาตัวคุณศิวรักษ์กลับมาก่อน"

ยอมให้คุณทักษิณเป็นฮีโร่ก็ได้

"และถ้าช่วยกลับมาได้ มันก็สามารถตีความได้ตั้งหลายอย่าง ก็แล้วแต่คนจะมองว่าคุณทักษิณจะเป็นฮีโร่ หรือคุณทักษิณจะเป็นแอนตี้ฮีโร่ก็ไม่รู้ เอาหละในเรื่องเฉพาะหน้า ก็หวังว่าคุณทักษิณจะไม่กลับเข้าไปอีก คุณทักษิณเราก็เห็นว่าเขาก็พยายามที่จะสร้างพื้นที่ทางการเมืองในสังคมไทย ให้ประเด็นของเขาเป็นประเด็นที่ต่อเนื่อง ไม่ลืม ถ้าจะทำคงไม่มีใครไปห้ามเขาได้ แต่ว่าอย่าเอาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาเป็นเครื่องมือ รวมถึงรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์เอง ก็ไม่ควรจะเอาเรื่องการตอบโต้กัมพูชามาใช้เพื่อที่จะสร้างคะแนนนิยมให้กับตัวเอง คะแนนนิยมนั้นมันเป็นเรื่องของชั่วครั้งชั่วคราว มันเปลี่ยนได้ง่ายด้วย ถ้าไปตามกระแสความนิยมเรื่อยๆ บางทีมันอาจจะตีกลับก็ได้ เพราะในที่สุดมาตรการที่ออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง มันกลับมากระทบกับคนไทย"

ความสัมพันธ์สองประเทศอาจจะดีขึ้น หากเกิดการยุบสภาฯ และพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล

"scenario อันนี้ดิฉันมองว่ามันยากมาก คือเราก็เห็นความพยายามของเพื่อไทยที่จะให้มีการยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ ซึ่งเขามั่นใจว่าเขาจะได้กลับมา ซึ่งก็คงเป็นไปได้สูงมาก แต่ถามว่าเพื่อไทยจะตั้งรัฐบาลได้หรือเปล่า ก็ไม่รู้เลย สีเหลืองจะทำอะไรอีก นี่ก็คือสิ่งที่คนกลัวกัน สมมติเขาตั้งรัฐบาลได้ ดิฉันคิดว่าท่าทีของฮุน เซน ที่มีต่อรัฐบาลไทยที่ตั้งมาใหม่ก็จะดีขึ้น แต่กลับไปสู่ปัญหาเดิม ดิฉันมองว่าปัญหาความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ขณะนี้มันยังไม่ออกจากเรื่องปราสาทพระวิหาร ต่อให้เพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลเรื่องนี้ก็แก้ยาก คือเรื่องปราสาทพระวิหารกับเรื่องพื้นที่ 4.6 ตร.กม. มีกระแสชาตินิยมในช่วงที่ผ่านมาคอยให้ข้อมูลผิดๆ กับประชาชนเรื่องของ 4.6 ตร.กม. การปฏิเสธที่จะให้มีการเจรจาประนีประนอมกันในแง่ของการพัฒนาร่วมพื้นที่นี้ ไม่ว่ารัฐบาลไหนขึ้นมาก็จะทำเรื่องนี้ได้ยากมาก จะเป็นอุปสรรคไม่ให้มีการเจรจาตกลงกันด้วยสันติวิธี ฉะนั้น ดิฉันคิดว่าความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาก็จะลุ่มๆ ดอนๆ ไปอย่างนี้อีกพักใหญ่ เพียงแต่ว่ามันจะลุกลามบานปลายแค่ไหน ขึ้นอยู่กับท่าทีของรัฐบาลทั้งสองฝ่าย เป็นปัจจัยสำคัญ"

"สมมติตอนนั้นเพื่อไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็ไม่มีใครรับรองได้ว่าสีเหลืองจะไม่เอาประเด็นเรื่องปราสาทพระวิหารขึ้นมาเป็นประเด็นอีก ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่าประเด็นเรื่องนี้ เวลามันปลุกขึ้นมามันติดไฟง่ายมาก และสามารถทำลายเสถียรภาพความเชื่อมั่นของรัฐบาลได้อย่างรวดเร็ว"

มองเขาอย่าง'เพื่อน'

เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลเลือกที่จะใช้ไม้แข็งตอบโต้ประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นลาว พม่า กัมพูชา คนไทยส่วนหนึ่งจะรู้สึกสะใจที่ได้สวมบท 'พี่เบิ้ม' สั่งสอนลูกไล่

"ทัศนะของคนไทยโดยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนในเมืองยังมองเขมรในลักษณะของการดูถูก เป็นประเทศเล็ก ไม่ให้เกียรติเขา ซึ่งทัศนะอย่างนี้มันจะส่งผลต่อการกระทำของเราที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้าน ดิฉันหมายถึงชนชั้นนำ ผู้นำของไทยด้วย ที่มีกับประเทศเพื่อนบ้านต้องเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นเขมร ลาว เวียดนาม ในแง่ของประเทศแล้วเขาก็มีศักดิ์ศรีเท่ากับเรา และเขาไม่ได้อ่อนแออย่างที่เราเข้าใจอย่างในอดีต อย่างที่เราจะลงโทษเขาด้วยการปิดพรมแดน ปิดชายแดน ไม่ขายของให้เขา แล้วเขาจะเดือดร้อน ไม่มีอีกแล้ว ความสัมพันธ์ไม่ดีเขาก็พึ่งพิงซึ่งกันและกัน ร่วมมือกับเราน้อยลง เราต่างหากที่จะลำบาก"

"ข้อสำคัญอย่าลืมว่า เป้าหมายใหญ่ของประเทศในระยะ 20 กว่าปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่สงครามเย็นยุติลง เราต้องการที่จะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าวันนี้เราเป็นศัตรูกับประเทศเพื่อนบ้านหมด ดิฉันคิดว่าลาวเขาก็ไม่สลายใจที่เห็นความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชาเป็นแบบนี้ และเขาก็ไม่ชอบ เขาก็รู้ว่าเราปฏิบัติต่อเพื่อนบ้านที่อ่อนแอกว่าอย่างไร สิ่งที่เราพยายามสร้างมาตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มันจะสูญเปล่า ถ้าในที่สุดวันนี้เราไม่สามารถที่จะเป็นมิตรกับใครได้อย่างแท้จริง และดิฉันคิดว่าทัศนะแบบนี้ มันจะทำให้ไทยกลายเป็นปัญหาของอาเซียนได้ จะเห็นว่ากรณีไทย-กัมพูชา อาเซียนก็ไม่ได้ยืนข้างไทยนะ เขาก็บอกให้ทั้งสองฝ่ายพยายามเจรจาด้วยสันติวิธี"

เราตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อเกิดประเด็นพิพาทขึ้นมา ในสายตานานาชาติกัมพูชามักได้รับความเห็นใจเสมอ

"คือเขาก็เก่งนะ ฮุน เซน ก่อนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี เขาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศซึ่งหนุ่มที่สุดในโลก และขนาดเป็นประเทศเล็กๆ ถูกปิดล้อมทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง การทูต ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ จนกระทั่งถึงปี 1953 ประมาณ 40 ปีที่เขาไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ตอนนั้นนานาชาติยังโหวตให้เขมรแดงมีที่นั่งอยู่ในสหประชาชาติอยู่เลย แต่เขาสามารถทำให้ประเด็นกัมพูชาเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากนานาชาติ และทำให้ในที่สุดนานาชาติหันไปยอมรับเขาได้ และที่เขาเคลื่อนไหวแต่ละครั้ง มันก็เป็นข่าวที่ทำให้ไทยปวดหัวมาโดยตลอด เราจะชอบเขา-ไม่ชอบเขา นั่นเรื่องหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าเขาเป็นของแข็ง ความสัมพันธ์ที่มีกับเขาเราต้องสุขุมรอบคอบ และต้องเข้าใจเขามากขึ้น ไม่อย่างนั้นเราจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เราไม่ได้ถือไพ่เหนือเขาอย่างที่เราคิดว่าเราเป็น"

"การใช้มาตรการที่แข็งกร้าวกลับไป มันจะเจ็บตัวด้วยกันทั้งคู่ กัมพูชาก็เดือดร้อนนะ ไม่ใช่ว่าเขาจะไม่เดือดร้อน ถ้ามีกรณีปิดชายแดน ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต้องปิดลง แต่มันไม่ได้เดือดร้อนอย่างในอดีตที่เขาจะอดอยาก มันเป็นความเดือดร้อนที่เขารับได้ แต่ถ้าในแง่ของรัฐบาลทั้งสองฝ่าย ถ้าไม่เดือดร้อนเลยจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะคุณอภิสิทธิ์ก็ต้องคำนึงว่าเลือกตั้งครั้งต่อไป จังหวัดที่อยู่ชายแดน รัฐบาลประชาธิปัตย์อาจจะต้องเสียคะแนนในพื้นที่ชายแดนทั้งหมดก็ได้ ถ้าใช้วิธีแข็งกร้าวกับประเทศเพื่อนบ้าน"

/////////////////



ล้อมกรอบ
MOU-ไม่มีใครได้ฝ่ายเดียว

การยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ปี 2544 เป็นสิ่งที่รัฐบาลคิดว่านี่คือการลงโทษให้เข็ดหลาบ ทว่า ในสายตาของนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ มันแสดงให้เห็นว่าผู้ชงประเด็นให้กับนายกฯ อภิสิทธิ์นั้นอ่อนหัดและไม่ทำการบ้าน

หากย้อนหลังอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ.1958 ทั้งไทยและกัมพูชายังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในการอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีป จนกระทั่งมีแนวโน้มว่าจะมีทรัพยากรปิโตรเลียมและก๊าซในอ่าวไทย ประเทศไทยจึงเริ่มก่อนโดยการประกาศพระราชบัญญัติแร่ในปี 2511 และให้สัมปทานพื้นที่สองในสามของพื้นที่อ่าวไทย โดยอ้างว่าเป็นพื้นที่ไหล่ทวีปของไทย จากนั้นในปี 2514 เวียดนามได้ประกาศพื้นที่บางส่วนในอ่าวไทย ต่อมาในปี 2515 กัมพูชาก็ประกาศพื้นที่บางส่วนของไทยด้วยเช่นกัน จากหลักเขตแดนที่ 73 ระหว่างไทย-กัมพูชา มาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เล็กน้อย สาเหตุนี้ทำให้คนไทยรู้สึกไม่สบายใจกับเส้นแบ่งที่กัมพูชาประกาศออกมา

"รัฐบาลต้องคิดมากยิ่งขึ้นว่า ถ้าขืนยังยืนแลกหมัดอยู่อย่างนี้คนที่จะเจ็บตัวมากกว่าคือไทย รัฐบาลไทยก็อาจจะกลับไปดูมาตรการที่ตัวเองออกมา ว่าตกลงที่ออกไปมันทำให้เขาเจ็บจริงหรือเปล่า หรือว่าเราเจ็บ อย่างกรณีเอ็มโอยูการปักปันพื้นที่ไหล่ทวีป ดิฉันคิดว่าจะสร้างความเสียหายความยากลำบากให้กับรัฐบาลไทยอนาคต คือเอ็มโอยูการปักปันพื้นที่ไหล่ทวีป ในเอ็มโอยูนั้นมีสาระที่สำคัญอันหนึ่งก็คือว่า กัมพูชายอมรับสิทธิ์ของไทยเหนือเกาะกูด ซึ่งอันนี้เป็นการยอมรับที่มาจากการผลักดันของหน่วยงานของไทยที่เจรจาเรื่องนี้มาหลายปีมาก และสามารถตกลงกันได้ในยุคของรัฐบาลคุณทักษิณ เรื่องนี้ที่จริงแล้วเริ่มจากสมัยคุณชวนด้วยซ้ำไป สามารถทำให้กัมพูชายอมรับจุดนี้ได้ ดิฉันคิดว่ากัมพูชายอมรับเรื่องสิทธิเหนือเกาะกูดของไทย เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลคุณชวน และเอ็มโอยูมาเซ็นในสมัยคุณทักษิณด้วยซ้ำไป"

"เกาะกูดเดิมทีกัมพูชา ในแผนที่ที่เขาเคยทำมาเขาลากเกาะกูดเป็นครึ่งหนึ่งเลย เป็นของกัมพูชาครึ่งหนึ่ง ของไทยครึ่งหนึ่ง แต่ไทยก็พยายามผลักดันเจรจาว่าไม่ได้ เพราะต้องยึดตามสนธิสัญญาปี 1907 ซึ่งตอนนั้นไทยได้จันทบุรีและตราดคืนจากฝรั่งเศส และฝรั่งเศสก็เอาพระตะบองกับเสียมเรียบไป ในสนธิสัญญานั้นระบุว่า ตราดและเกาะทั้งหลายแหล่จนถึงเกาะกูดเป็นของไทย กัมพูชากับไทยก็เจรจาโน้มน้าวจนในที่สุดก็ยอมรับในจุดนี้ คราวนี้พอไปเลิกเอ็มโอยูอันนั้นเข้า ถ้าจะต้องมาร่างกันใหม่เริ่มกันใหม่ แล้วถ้ากัมพูชาเขาบอกว่าเขาขอกลับไปอย่างเดิม เขาไม่ยอมรับ แล้วจะทำอย่างไร เพราะในเอ็มโอยูนั้นมันมีแผนที่แนบไปด้วย ซึ่งแผนที่นั้นระบุว่าเกาะกูดเป็นของไทย"

ดร.พวงทองยังเป็นห่วงถึงประเด็นการพัฒนาร่วมพื้นที่ชายฝั่งทะเล ที่จะนำก๊าซขึ้นมาใช้ในอ่าวไทย

"มันเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้ง 2 ฝ่ายอยากได้พลังงาน ซึ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศ ก็ไม่รู้ว่าทำไมเลือกเรื่องนี้ทั้งที่เป็นเรื่องที่สำคัญ และก็เป็นเรื่องที่ไทยต้องการมาตลอด คือสาระสำคัญของเอ็มโอยูอีกอันหนึ่ง ก็คือว่ามันจะต้องทำ 2 สิ่งคู่กันไป แยกกันไม่ได้ ก็คือการปักปันเขตแดนกับการพัฒนาร่วม จะแยกกันไม่ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการผลักดันของฝ่ายใด คือเดิมทีกัมพูชาไม่ต้องการเจรจาเรื่องการปักปันเขตแดน แต่ต้องการที่จะเอาก๊าซขึ้นมาใช้ แต่ไทยเห็นว่าในเมื่อเราประเมินว่ากัมพูชาอยากได้ก๊าซใช่ไหม จริงๆ ไทยก็อยากได้ แต่เราอยากได้เรื่องการปักปันเขตแดนให้มันเสร็จสิ้นไปด้วย ไทยก็พยายามผลักดัน ถ้าอย่างนั้นสองอย่างนี้ต้องดำเนินไปด้วยกัน ซึ่งเราผูกไว้ในตัวเองอย่างชัดเจนว่า สองประเด็นนี้จะแยกออกจากกันไม่ได้ จะต้องเดินไปคู่กัน คือเราได้ทั้งสองอัน แล้วจู่ๆ เราก็ไปเลิกมัน รัฐบาลไม่ทำการบ้านก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไร"

"เอ็มโอยูทั้งหลายแหล่มันไม่ได้เกิดขึ้นโดยฝ่ายเดียวได้ผลประโยชน์ ถ้าเราคิดว่ามีแต่ฝ่ายเขาได้ประโยชน์จากเอ็มโอยูนี้ ถือเป็นการดูถูกเจ้าหน้าที่ไทยอย่างมาก ที่ไม่มีน้ำยาในการเจรจาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของไทย และเจ้าหน้าที่ที่มีบทบาทในการเจรจาเรื่องการปักปันเขตแดนไม่ใช่นายกรัฐมนตรีนะ นายกฯ ไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก เพราะเรื่องปักปันเขตแดนจะเกี่ยวข้องกับสนธิสัญญาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 การเจรจาต่อเนื่องยาวนานมาเป็นสิบปี ก็คือข้าราชการในกระทรวงต่างประเทศและในกรมแผนที่ทหาร และก็พวกทหารที่มีบทบาทสำคัญ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น