--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ทักษิณ ชินวัตร: เดินฝ่าพายุ


ที่มา – Siam Intelligence Unit

และแล้ว พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก็เดินทางถึงประเทศกัมพูชาตามคำเชิญของนายฮุนเซ็นในฐานะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจและการคลังของประเทศกัมพูชา และคงจะได้บรรยายสรุปผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจกัมพูชาที่ดูแลด้านเศรษฐกิจจำนวน 300 คน ฟังในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้

เนื้อหาการบรรยายของเขา คงไม่พ้นสิ่งที่ถูกเรียบเรียงอยู่ในหนังสือ “Tackling Poverty : The policy that change Thailand, and how they can change the world” เขียนโดยนักเขียนชาวอินเดีย ที่ทำงานกับนิตยสาร CEO ในกลุ่มประเทศอาหรับ

หนังสือเล่มนี้ถูกแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร : คนไทยหายจน (เสียดายถูกปล้นเสียก่อน)”

เนื้อหาหลักๆ ในหนังสือเล่มนี้ก็ไม่พ้นจากที่เคยได้ยินได้ฟังกันมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค, กองทุนหมู่บ้าน, หวยบนดิน, โครงการโอท็อป ตลอดไปจนถึง นโยบายระดับมหภาคที่อยู่ในชื่อ “เศรษฐกิจสองขา” (dual track policy)

พูดกันอย่างเป็นธรรม หลายต่อหลายนโยบายไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถูกคิดขึ้นมาโดยข้าราชการและมือทำงานในหลายๆ กระทรวงที่เกี่ยวข้อง

สิ่งที่แตกต่างกันออกไปคือ พรรคไทยรักไทยนำมาปัดฝุ่น “บรรจุหีบห่อ” และโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างเป็นบูรณาการ ที่สำคัญที่สุด พ.ต.ท. ทักษิณสัญญา แล้วยังทำได้จริง

นี่เป็นเรื่องไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย พ.ต.ท. ทักษิณและพรรคไทยรักไทย เปลี่ยนจารีตของการแข่งขันทางการเมืองจาก การ “แจกเงิน” มาเป็น “แจกนโยบาย”

พรรคการเมืองน้อยใหญ่ต่างต้องรีบปรับตัว เปลี่ยนรูปแบบการหาเสียงที่ยึดติดกับตัวบุคคลหรือหัวคะแนน มาใช้นโยบายเป็นหลัก

จึงไม่แปลกที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ออกมายอมรับในคำให้สัมภาษณ์ว่า “การทำงานการเมือง ไม่ต่างกับการทำธุรกิจ” เขาเพียงแต่ ทำการตลาด, หาเสียง, และขายของ นอกเหนือจากนี้ก็เป็นความสามารถในเชิง “บริหารจัดการ”

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์แล้วเขาไม่เคยคิดว่าเป็นศัตรูที่น่าเกรงขามมากมายอะไร

อย่าลืมว่าทักษิณเคยเริ่มต้นด้วย “กำลัง” ที่ติดลบมาก่อน

กับภาพการหาเสียงที่จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2542 เมืองหลวงของพรรคประชาธิปัตย์ยามขณะเรืองอำนาจ เวทีหาเสียงของพรรคไทยรักไทยถูกรื้อ กระแสไฟฟ้าก็ยังถูกตัด ส้วมสาธารณะถูกสั่งปิด แต่ พ.ต.ท. ทักษิณ ยังจุดเทียนปราศรัยท่ามกลางสายฝน

และในเวลาต่อมาพรรคไทยรักไทยก็สามารถเอาชนะเลือกตั้งได้แบบถล่มทลาย!

ด้วยความสำเร็จอย่างท่วมท้น ทั้งในด้านธุรกิจ และการเมือง พ.ต.ท. ทักษิณ ไม่คิดว่าเขาจะ “สะดุดล้มคว่ำ” ทางการเมือง แต่สิ่งที่ทักษิณเห็นอาจเป็นเพียงภาพลวงตา

กระแสการเบื่อหน่ายพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจต่างหาก ที่เป็นตัวหอบหิ้วทักษิณผงาดขึ้นในสนามการเมือง

ถามว่าทักษิณมีความ “ยอดเยี่ยม” ในเชิงเศรษฐกิจและบริหารจัดการหรือไม่ คำตอบคือ “อาจใช่”

แต่ไม่ใช่ในเชิง “การเมือง”!

เอาเข้าจริง เขาก็ยอมรับในคำให้สัมภาษณ์ล่าสุดกับไทมส์ว่า “เขาอ่อนหัดทางการเมือง”

ความผิดพลาดในการ “พูดทางการเมือง” เป็นจุดอ่อนสำคัญของเขา ไม่ว่าจะเป็นคำพูด “โจรกระจอก” กับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือการพูดว่าเขาจะลาออกหากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่ง แม้จะฟังได้สองมุม แต่ภาพของเขาถูกวาดไว้ว่า “ไม่จงรักภักดี”

ภาพลักษณ์ของเขายังถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ทุจริต, โคตรโกง, ขายชาติ, คบศัตรู, ทรยศชาติ หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า “ไม่จงรักภักดี” สำหรับทักษิณแล้ว หากเขาพลาดเมื่อไหร่ เรื่องนี้ “จุดติด” ทุกครั้ง ซึ่งหากจะว่าไปเรื่องอื่นไม่ได้ร้ายแรงเท่ากับข้อกล่าวหาว่า “ไม่จงรักภักดี” และเขาเองก็รู้ดี

ทักษิณต้องลงทุนอย่างมากในการแก้ภาพลักษณ์ความไม่จงรักภักดีของเขา ไม่ว่าจะเป็นการเชิญ นายสมัคร สุนทรเวช เข้าพรรคพลังประชาชน หรือการเชิญ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ เข้าพรรคเพื่อไทย เพราะสองคนนี้มีภาพความจงรักภักดีสูง

บทให้สัมภาษณ์ในไทมส์นั้น ปัญหาก็มาจาก “วาจา” ของทักษิณอีกนั่นแหละ การให้สัมภาษณ์ในเชิงโจมตี “ผู้อยู่ใต้เบื้องพระยุคลบาท” และคำพูดที่ก้าวลึกไปยังพื้นที่ต้องห้ามของสังคมไทย ที่แจ่มชัดมากเกินไป สร้างปัญหาให้กับเขา

อันที่จริงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยให้สัมภาษณ์ในลักษณะเดียวกันนี้กับไฟแนนเชียลไทมส์

ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร ก็ให้สัมภาษณ์เรื่องที่คล้ายกันนี้กับ Spiegel ของเยอรมัน

แต่ทั้งสองคนนี้ไม่มีปัญหากับคำให้สัมภาษณ์ เพราะรู้ดีว่าจุดที่พูดได้อยู่แค่ไหน สำหรับทักษิณแล้วเขายิ่งต้องระมัดระวัง หากไม่พูดถึงเรื่องเหล่านี้ได้ยิ่งจะเป็นการดี

แต่ด้วยลักษณะนิสัยที่ต้องรู้หมดทุกอย่างของเขา ทำให้ทักษิณอดไม่ได้ที่จะให้ความเห็น และนั่นก็ทำให้ผิดพลาดทางการเมืองอย่างร้ายแรง เมื่อไทมส์พาดหัวด้วยถ้อยคำที่อ่อนไหว ในห้วงเวลาขณะปัจจุบัน

สำหรับสมัครนั้นเขาเคยปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องนี้อย่างเด็ดขาดด้วยการโต้นายบรรหาร ศิลปอาชาว่า ให้ “แหงน” ขึ้นมามองเครื่องราชฯของเขา และหลังจากนั้นเขาต้องแอบไปกราบขอโทษนายบรรหารถึงบ้านภายหลัง สะท้อนให้เห็นว่านายสมัครเข้าใจว่าเรื่องนี้ “อ่อนไหว” และ “ลึกซึ้ง” แค่ไหน

มันคงเป็นเหมือนชะตากรรมของทักษิณ การเล่นการเมืองของเขาก็ไม่ต่างอะไรกับการเล่นการพนัน

ครั้งที่พรรคของเขาได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย แม้ถูกรัฐประหารจนคว่ำไป ก็ยังคว้าชัยชนะกลับเข้าสภาหินอ่อนได้ หรือแม้กระทั่งเลือกตั้งซ่อมครั้งล่าสุด ทักษิณก็ใช้การโฟนอินขอคะแนนจนได้รับชัยชนะ

โชคชะตาดูเหมือนจะล่อให้ทักษิณติดกับในการเมืองทุกขณะ

เพราะยิ่งเล่นการเมืองเขาก็ยิ่งเสีย เมื่อยิ่งเสียเขาก็ยิ่งสู้ต่อ

ใครจะไปเชื่อในช่วงที่เขาเรืองอำนาจที่สุดในปี 2548 หากจะมีคนบอกว่าเขาจะต้องถูกยึดทรัพย์ สูญตำแหน่ง ครอบครัวแตกแยก ไม่มีแผ่นดินอยู่ และต้องคดีถูกจำคุก

แต่เขาก็ยังเชื่อว่าเขาจะได้รับชัยชนะ เหมือนคนวางเดิมพันแล้วเสีย แต่ไม่ยอมรับว่าตัวเองแพ้ สถานการณ์ที่พลิกกลับไปกลับมาทำให้เขาต้องติดพันกับการเมือง

บางทีการที่เขาพูดว่าเขานั้น “ไร้เดียงสา” ทางการเมือง ในใจจริงแล้วเขาอาจไม่เคยยอมรับมันเลยก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น