--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

โฆษก รบ.ปูดแกนนำโจรใต้เคยต่อรอง รบ.'สุรยุทธ์' ตั้งผู้สำเร็จราชการเป็น "นครรัฐ" เหมือน สุลต่านแปลงกาย

"ปณิธาน" ระบุแกนนำก่อความไม่สงบชายแดนใต้เคยเสนอให้รวมนครแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าการมณฑลหรือผู้ว่านครรัฐสมัย "สุรยุทธ์"ให้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการในพื้นที่ถือเป็นสุลต่านแปลงกาย

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมาเสนอให้รวมจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าด้วยกันแล้วสถาปนาเป็น “นครปัตตานี” ว่า เรื่องนี้เป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่สมัยพล.อ. ชวลิตเป็นรัฐบาลแล้ว ต้องถามว่าทำไมตอนเป็นรัฐบาลถึงผลักดันไม่สำเร็จ นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานในพื้นที่มักนำมาสู่การสร้างปัญหาที่ซับซ้อนกว่าเดิม ซึ่งเคยมีบทเรียนมาแล้วจากการยุบศูนย์อำนวยการบริหารราชจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ดังนั้นหากจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างก็ต้องมาจากการยอมรับอย่างกว้างขวางของประชาชนในพื้นที่ ไม่ใช่ผู้นำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือกองกำลังใดกำลังหนึ่ง อีกทั้งต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่แนวคิดการตั้งนครปัตตานีที่จะให้คนในพื้นที่เก็บภาษีได้เอง เลี้ยงตัวเองได้ และเลือกผู้นำเองได้ เชื่อว่าประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย เพราะเป็นเพียงความต้องการของคนกลุ่มหนึ่ง


"ในอดีตกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเคยพยายามผลักดันแนวคิดนี้ บางยุคมีอดีตส.ส. บางคนถึงขั้นเสนอให้นำระบบสุลต่านกลับมาใช้ จนถูกฝ่ายความมั่นคงเพ่งเล็งเป็นพิเศษมาแล้ว" นายปณิธานกล่าว


ผู้สื่อข่าวถามว่า ตราบใดที่รัฐบาลชุดนี้ยังอยู่ จะไม่มีนครปัตตานีเกิดขึ้นใช่หรือไม่ นายปณิธานกล่าวว่า แนวทางของพล.อ. ชวลิตเป็นการนำแนวคิดของคนกลุ่มหนึ่งขึ้นมาทดลองทำ ทดลองยุบ ทดลองสร้าง ถ้าทำได้ก็ไปได้ไกล อย่างอีสานเขียวก็บอกว่าไปได้ แต่เรื่องชีวิตคนและเรื่องประเทศไม่สามารถไปทดลองผิดทดลองถูกได้ โดยไม่ฟังเสียงสะท้อนอย่างรอบคอบได้


เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าข้อเสนอเรื่องการตั้งนครปัตตานีจะเป็นผลจากการที่พล.อ. ชวลิตไปเจรจากับแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบ นายปณิธานกล่าวว่า หลายฝ่ายเชื่อว่าพล.อ. ชวลิตมีข้อมูลจากแกนนำในพื้นที่ ส่วนจะเป็นกลุ่มไหนต้องไปถามเจ้าตัวเอง แต่ถ้าได้ดูข้อมูลจะพบความสอดคล้องกันในเรื่องความพยายามแยกตัวเป็นอิสระจากรัฐไทยในทางหนึ่งทางใด เพราะเชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ดีขึ้น ทั้งที่ความจริงประชาชนในพื้นที่ต้องการได้รับโอกาสจากรัฐมากขึ้น


เมื่อถามว่า ประเมินว่าพล.อ. ชวลิตไปเจรจากับแกนนำผิดตัว หรือผิดกลุ่มหรือไม่ จึงไม่เป็นไปตามที่พล.อ. ชวลิตระบุไว้ว่าจะไม่มีเสียงปืนแตกในช่วง 3 วันที่เดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ นายปณิธานกล่าวว่า ก็เป็นไปได้ เพราะยากที่จะเจรจากับทุกกลุ่ม อีกทั้งในแต่ละกลุ่มก็มีปัญหาเรื่องการไม่ยอมคุยกัน ซึ่งแต่ละกลุ่มจะแบ่งเป็น 2 ระดับคือ 1.ระดับอุดมการณ์ ส่วนใหญ่เป็นผู้อาวุโสอยู่ในต่างประเทศบ้าง อยู่ในกรุงเพทฯ บ้าง มีคีย์แมน-คีย์วูแมนหลายคน ระยะหลังก็พยายามดึงเอาคนหัวก้าวหน้าที่เรียนจบแพทย์และพยาบาลจากต่างประเทศเข้ามา เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ คนกลุ่มนี้จะเป็นนักเจรจาและนักต่อรอง 2. ระดับปฏิบัติการที่กระจายกำลังกันอยู่ในพื้นที่ เป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่ไม่สนใจการเจรจา เพราะคิดว่าการใช้กำลังเท่านั้นที่จะทำให้ตนเป็นฝ่ายชนะ


"ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเมื่อระดับปฏิบัติการไปก่อเหตุ ก็มักถูกระดับอุดมการณ์เคลม (กล่าวอ้าง) ว่าเป็นผลงานของตน ทำให้ 2 กลุ่มนี้ไม่คุยกัน ที่ผ่านมามีคนพยายามจับสองกลุ่มนี้มาคุยกัน แต่ไม่สำเร็จ โดยเฉพาะกลุ่มเอ็นจีโอที่พยายามเข้าไปเป็นตัวกลางในเรื่องนี้ เราเห็นประสบการณ์ในอดีตแล้ว จึงไม่เชื่อว่าจะเจรจากันได้" นายปณิธานกล่าว


เมื่อถามว่า แสดงว่าพล.อ. ชวลิตไปได้ข้อมูลจากระดับอุดมการณ์ใช่หรือไม่ นายปณิธานกล่าวว่า เป็นไปได้ ที่ผ่านมามีข้อเสนอจากฝ่ายกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหลายอย่าง โดยแบ่งออกเป็น 3 ยุคคือ ยุคแรกมีการเสนอให้กลับไปปกครองโดยสุลต่านรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นโมเดลที่เก่าที่สุด แต่เมื่อไม่ได้รับการตอบสนอง ก็เปลี่ยนมาเสนอให้รวมนครแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าการมณฑล หรือผู้ว่านครรัฐ ซึ่งก็ถือเป็นสุลต่านแปลงกายดีๆ นี่เอง และล่าสุดในยุคพล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกฯ มีการเสนอถึงขั้นให้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการในพื้นที่ โดยตั้งจากคนในพื้นที่ขึ้นมา ซึ่งไม่ต่างอะไรจากสุลต่านแปลงกายเหมือนกัน แต่ข้อเสนอเหล่านี้ไม่มีทางเป็นไปได้เลย


"ฝ่ายผู้ก่อการยังพยายามยื่นข้อเสนอผ่านตัวกลางตลอด ซึ่งเราไม่รู้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่ถือเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต้องการต่อรองและกดดันรัฐบาล ไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างแท้จริง ดังนั้นขอยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้จะไม่มีการเจรจา ตราบใดที่ฝ่ายอุดมการณ์กับฝ่ายปฏิบัติการยังไม่สามารถคุยกันได้ แล้วจะให้เราไปคุยกับใครที่ไหน เพราะคุยอย่างไรมันก็ไม่จบ" นายปณิธานกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น