
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน เวลา 13.30 น. ที่ห้อง ร.103 ชั้น 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงปาฐกถาเรื่อง "โลกไร้พรมแดนในประเทศที่มีพรมแดน : ความขัดแย้งระหว่างระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติกับสังคมโลกาภิวัตน์" ในโอกาสครบ 60 ปี ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าเรื่องที่พูดในวันนี้เป็นเรื่องใหญ่มากกว่าเรื่องคณะรัฐศาสตร์ ใหญ่กว่าเรื่องของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทั่งมีด้านที่อาจจะใหญ่กว่าประเทศไทยของเรา
ฉะนั้นสิ่งที่จะพูดต่อไปนี้จึงเป็นเพียงแง่คิด คำถามและการตั้งข้อสังเกตมากกว่า ซึ่งเป็นเพียงทัศนะส่วนตัวซึ่งอาจจะผิดหรือถูก ตนต้องการเพียงแต่จุดประเด็นให้นำไปคิดต่อ และให้ผู้ที่ห่วงใยบ้านเมืองนำไปช่วยกันพิจารณา
ความขัดแย้งระหว่างระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติกับสังคมโลกาภิวัตน์ สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจคงหนีไม่พ้น 3 ประเด็น
1. รัฐชาติคืออะไรทำไมจึงขัดแย้งกับสังคมโลกาภิวัตน์
2.ความขัดแย้งมีลักษณะอย่างไรทำไมจึงขัดแย้งกับสังคมโลกาภิวัตน์
3.เมื่อขัดแย้งกันแล้วเกิดปัญหาอะไร แก้ปัญหาอย่างไร
ทั้งสามประเด็นนี้พัวพันกันอย่างแยกไม่ออก บางทีอาจจะต้องพูดถึงแบบรวมๆกัน ความสัมพันธ์ทางอำนาจระดับรัฐย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องก้าวล่วงไปสู่ปริมณฑลของปรัชญาการเมือง เพราะผู้คนมองบทบาทของรัฐด้วยสายตาที่แตกต่างกัน รัฐเองก็มีจิตนาการในเรื่องอำนาจของตน
รัฐชาติเป็นรัฐสมัยใหม่ ไม่ว่าเราจะรู้สึกคุ้นเคยสักแค่ไหนต้องยอมรับว่ารูปแบบความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบนี้ไม่ได้มีมาแต่โบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่างยิ่งในกรณีของรัฐสมัยใหม่ของไทยและชาติไทยในความหมายสมัยใหม่ อาจจะนับถอยหลังไปเพียงประมาณ 80-90 ปีเท่านั้น
อำนาจการเมืองเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ขึ้นอยู่ต่อการยอมรับของผู้อยู่ใต้อำนาจค่อนข้างมาก และการยอมรับนั้นมักต้องอาศัยศรัทธาเกี่ยวกับประโยชน์สุขบางประการที่ผู้อยู่ใต้อำนาจเชื่อว่าอำนาจดังกล่าวจะนำมาให้
การเกิดขึ้น มีอยู่ และดำเนินไปของระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติ เช่นเดียวกับอำนาจรัฐในรูปแบบอื่น ต้องอาศัยจินตนาการทางการเมืองมารองรับ เพียงแต่ว่าข้ออ้างความชอบธรรมของรัฐชาติมีเนื้อหาสาระเป็นลักษณะเฉพาะตน ต่างจากอำนาจปกครองแบบโบราณและเริ่มแตกต่างมากขึ้นเรื่อยๆกับชุดความคิดความเชื่อของสังคมโลกาภิวัตน์
"อำนาจแบบรัฐชาติมีรากฐานอยู่บนจินตนาการใหญ่ทางการเมือง" มี 3 ประการ
1. การตีเส้นแบ่งความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างพลเมืองและประชากรของตนกับคนอื่นที่ไม่ได้สังกัดรัฐนี้ พูดง่ายๆคือ มีการนิยามสมาชิกภาพของประเทศไทยไว้อย่างตายตัว ความเป็นคนไทยและไม่ใช่คนไทยทั้งบัญญัติทางกฎหมายและโดยนิยามทางวัฒนธรรม
2. ประชากรที่สังกัดอำนาจรัฐเดียวกัน เกี่ยวโยงสัมพันธ์กันหลายมิติกระทั่งเปรียบดังสมาชิกในครอบครัวใหญ่เดียวกัน มีชะตากรรมทุกข์สุขร้อนร่วมกัน
3.ทั้งประเทศเป็นหน่วยผลประโยชน์ใหญ่และถือว่าผลประโยชน์ส่วนรวมมีจริง มักเรียกกันว่าผลประโยชน์ชาติ ทั้งนี้โดยมีนัยว่าทุกคนที่เป็นสมาชิกของชาติย่อมได้รับผลประโยชน์ดังกล่าวอย่างทั่วหน้า
จากจินตนาการทั้งสามข้อนี้รัฐชาติจึงได้ออกแบบสถาบันการเมืองการปกครองขึ้นมารองรับและตรากฎหมายจำนวนนับไม่ถ้วนขึ้นมา เพื่อจัดตั้งความสัมพันธ์ทางอำนาจกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจสังคม ให้เป็นไปตามความเชื่อของรัฐ นอกจากนี้ยังได้ปลูกฝังขัดเกลารูปการจิตสำนึกของประชากรให้เข้ามาอยู่ในกรอบเดียวกัน
"กระบวนการเหล่านี้เรียกรวมว่าเป็นระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติ"
กรณีของประเทศไทย ระเบียบอำนาจรัฐแบบรัฐชาติถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการปัญญาชนจำนวนมาก
ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับรัฐชาติล้วนแล้วแต่ถูกตรวจสอบตั้งคำถามอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมจริงของจินตนาการและชาตินิยม ความชอบธรรมของตัวสถาบันการเมืองการปกครอง ความเป็นธรรมของแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือความถูกต้องของสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมแห่งชาติ และอีกหลายๆด้านที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางอำนาจ
อย่างไรก็ตามคำวิจารณ์เหล่านั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับการพูดคุยในวันนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา แม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับหลายสิ่งหลายอย่างที่รัฐไทยเป็นอยู่และทำไป แต่ข้อวิจารณ์ยังคงจำกัดอยู่ในกรอบของรัฐชาติอยู่ดี เราเพียงอยากให้รัฐชาติของไทยเป็นรัฐชาติที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
ปัญหามีอยู่ว่า ขณะนี้ตัวแบบที่ตกเป็นเป้าวิจารณ์ของนักวิชาการและปัญญาชนเองกลับกำลังถูกแปรรูปด้วยปัจจัยอื่นตลอดเวลา
ระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติ กำลังถูกหักล้างกัดกร่อนอย่างรวดเร็วด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จนทำให้เกิดคำถามว่ารัฐชาติของไทยจะสามารถรักษาระเบียบอำนาจของตนไว้ได้หรือไม่ มันสายไปแล้วหรือไม่ที่จะจำกัดปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไว้ในกรอบคิดแบบรัฐชาติ และสุดท้ายคือ อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อรัฐชาติต้องแปรรูปเป็นรัฐแบบอื่น
"พร้อมหรือยังที่จะพบกับการเปลี่ยนแปลง และเราจะรับมือกับจังหวะก้าวการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้แค่ไหน"
เรื่องที่น่ากังวลก็คือ ที่ผ่านมาเรายังมีองค์ความรู้ไม่พอที่จะตอบคำถามเหล่านั้นและอาจต้องทำการค้นคว้าวิจัยกันโดยด่วน ควรจะเป็นวาระสำคัญที่สุดของวงการวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายสังคมศาสตร์
ความขัดแย้งระหว่างรัฐชาติกับกระแสโลกาภิวัตน์คงไม่สามารถพูดกันในความหมายเก่าๆได้อีกแล้ว
ในห้วงเศรษฐกิจปี 2540 เราเคยพูดกันถึงเรื่อง "เสียกรุง-กู้ชาติ" กระทั่งพูดเรื่อง "การขายชาติ" เนื่องจากมองผ่านจุดยืนของลัทธิชาตินิยมและระเบียบอำนาจรัฐชาติ แรงกดดันจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศดูเหมือนเป็นการละเมิดอธิปไตยของไทยอีกทั้งการออกกฎหมาย 11 ฉบับโดยรัฐบาลไทยเพื่อยกเลิกข้อจำกัดของการค้าและการลงทุนแบบไร้พรมแดน ดูคล้ายเป็นการจำยอมจำนนต่อต่างชาติและเปิดประตูให้ต่างชาติเข้ามาถือครองประเทศไทย
หลังจากเหตุการณ์คลี่คลายมานานกว่าสิบปี เราจึงเห็นชัดว่าระเบียบเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ที่ประเทศไทยถูกกดดันให้ยอมรับนั้นไม่เพียงกลายเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้กันทั้งโลก หากยังมาจากกรอบคิดที่แตกต่างจากจินตนาการมูลฐานของรัฐชาติอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือมันเป็นแนวคิดที่ยกเลิกพรมแดนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และในบางด้านกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ "การยกเลิกพรมแดนในทางการเมือง" ด้วย
"จินตนาการเรื่องอธิปไตยเหนือดินแดนก็ดี เรื่องเศรษฐกิจแห่งชาติก็ดี หรือเรื่องวัฒนธรรมแห่งชาติก็ดี ในหลายกรณีจึงกลายเป็นเรื่องนอกประเด็นกระทั่งถูกมองว่าล้าหลัง ไม่เกิดประโยชน์"
การที่เราไม่สามารถมองปัญหาด้วยกรอบคิดเก่าๆไม่ได้มาจากแรงกดดันของการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกเท่านั้น หากยังเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในสังคมไทยช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา
หลังจากเปิดประเทศต้อนรับการค้าการลงทุนอย่างเสรีทั่วด้าน สิ่งที่เกิดขึ้นตามหลังมาทั้งหมดล้วนมีผลประโยชน์ของคนไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง อย่างน้อยบางส่วน แต่เป็นบางส่วนที่มีจำนวนมาก มีน้ำหนักทางสังคมมิใช่น้อย ทุนต่างชาติไม่เพียงเข้ามาซื้อหุ้น ตั้งโรงงานหรือถือครองทรัพย์สินในประเทศไทยเท่านั้น ผู้ประกอบการชาวไทยก็ร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติหรือไม่ก็ประกอบธุรกิจที่โยงใยก่อเกื้อเอื้อประโยชน์ให้กันและยิ่งไปกว่านั้นนักธุรกิจไทยเองก็ต้องอาศัยระเบียบการค้าโลกที่เปิดกว้างข้ามพรมแดนไปลงทุนในต่างประเทศอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ยังไม่รวมผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบห้างใหญ่มากกว่าร้านโชว์ห่วย และมีพลเมืองไทยจำนวนมากที่ยังชีพด้วยการทำงานกับบริษัทต่างประเทศหรือออกไปขายแรงงานในประเทศอื่นๆ
การรื้อถอนจินตนาการแบบรัฐชาติในส่วนที่เป็นรากฐานที่สุด เกิดขึ้นเองปราศจากจิตสำนึกจงใจและไม่ขึ้นต่อเจตนารมย์ของผู้ใด
"ใช่หรือไม่"
สังคมไทยในเวลานี้กลายเป็นสังคมโลกาภิวัตน์ไปแล้ว เป็นโลกไร้พรมแดนที่ทับซ้อนอยู่ในประเทศที่มีพรมแดน เส้นแบ่งระหว่างความเป็นคนไทยกับคนอื่นมีความหมายน้อยลง คนไทยไม่ได้มีชะตากรรมร่วมกันเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน หลายคนมีเส้นทางเดินชีวิตร่วมกับชาวต่างประเทศเสียมากกว่า บ้างก็โดดเดี่ยวยากแค้นไปโดยลำพัง
"ผลประโยชน์แห่งชาตินั้นมีความหมายพร่ามัวไปหมดโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ไม่เพียงต้องแบ่งก้อนใหญ่ให้ชาวต่างประเทศเท่านั้น ส่วนที่แบ่งกันเองก็เหลื่อมล้ำอย่างยิ่ง กระทั่งมีคนที่ไม่ได้ส่วนแบ่งนั้นเลย"
ข้อสังเกตการเปลี่ยนแปลงภายในสังคมไทยใช้จิตนาการเรื่องชาติต่างไปจากเดิม 2 เรื่องคือ
1.วาทกรรมทางการเมือง สำหรับต่อสู้ภายในประเทศ เช่น มีการพูดถึงการ"กู้ชาติ" ให้รอดพ้นจากคนไทยด้วยกัน ช่วงชิงกันเป็นผู้พิทักษ์รักษา "ผลประโยชน์ของชาติ" ทั้งๆที่ความเป็นจริงในเรื่องนี้ เป็นดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ นับวันยิ่งถูกทำให้ว่างเปล่าด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์
2. วาทกรรมทางการตลาด มีการใช้วาทกรรมเรื่องชาติไปในทางการตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ และถือเป็นส่วนหนึ่งงานโฆษณาสินค้าที่ปกติมักไม่ค่อยถูกจำกัดด้วยหิริโอตัปปะ หรือความรับผิดชอบเรื่องความถูกต้องทางหลักการใดๆ
ตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้คือ กรณีการแจก "เช็คช่วยชาติ" เป็นนโยบายกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศของรัฐบาลเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้รัฐบาลได้ตกลงกับห้างร้านต่างๆในการรับเช็คและเพิ่มมูลค่าของเช็ค เพื่อประกันว่าผู้ที่ได้รับแจกเงินหัวละสองพันบาทจะหมดสิ้นแรงจูงใจในการเอาเงินจำนวนนั้นไปเก็บออม
ผลที่ออกมาคือใช้คำว่า "ชาติ" ในหัวข้อโฆษณาสารพัด เช่นชวนให้ซื้อเครื่องสำอางต่างประเทศเพื่อชาติ ชวนดูหนัง หรือเข้าห้องร้องคาราโอเกะเพื่อชาติ เป็นต้น
"มีการบอกผู้บริโภคว่าแค่ออกไปหาความบันเทิงเริงรมย์ก็ถือว่ารักชาติมากแล้ว"
นอกจากนี้ยังเคยเห็นป้ายคำขวัญตามเมืองท่องเที่ยวระบุนักท่องเที่ยวเป็นคนสำคัญของชาติ อาจจะแปลกหูแปลกตาสำหรับคนที่ถูกสอนมาว่าคนที่สำคัญของชาติต้องประกอบคุณงามความดีบางประการ
การนำจินตภาพเรื่องชาติมาใช้ทางการเมืองและธุรกิจแบบที่กล่าวมานี้ แทนที่จะช่วยรักษาความขลังของคำว่าชาติ กลับจะยิ่งเร่งความเสื่อมทรุดแก่แนวคิดชาตินิยมและระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่แล้วโดยปัจจัยทางภววิสัย
ความขัดแย้งระหว่างระเบียบรัฐอำนาจแบบรัฐชาติกับสังคมโลกาภิวัตน์
ความขัดแย้งนี้ไม่ได้หมายถึงการต่อสู้เชิงปฏิปักษ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจหรือเข้ากันไม่ได้โดยสิ้นเชิงระหว่างผลประโยชน์ไทยกับผลประโยชน์ต่างชาติ และยิ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกัยโลกทั้งโลก
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
คำตอบ คือ เพราะนับวันเส้นแบ่งระหว่างเรากับเขาดังกล่าวแทบไม่มีอยู่ในทางปฏิบัติหรือเหลืออยู่น้อยเต็มที แม้จะยังมีเหลืออยู่มากในจินตนาการของหลายๆคนก็ตาม
"ตามความเข้าใจของผมถ้าพิจารณาจากประเด็นที่เราพูดกันในวันนี้ มันน่าจะหมายถึงลักษณะที่อาจจะเข้ากันไม่ได้หรือไม่สอดคล้องกันระหว่างระเบียบอำนาจที่เราใช้อยู่กับสังคมที่แปรเปลี่ยนไป"
นายเสกสรรค์ ยังกล่าวย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่คนในแวดวงวิชาการต้องช่วยกันค้นคว้าหาคำตอบกันเสียทีว่ารัฐชาติแบบที่รู้จักสามารถดูแลสังคมไทยที่เป็น "พหูพจน์" ได้หรือไม่ จะอำนวยความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจและสังคมอันประกอบด้วยปัจจัยข้ามชาติมากมายหลายอย่างด้วยวิธีใด และถ้าทำไม่ได้ รูปแบบความสัมพันธ์ทางอำนาจในประเทศนี้ควรจะต้องเปลี่ยนแปลงหรือถูกแก้ไขปรับปรุงอย่างไร
"นี่เป็นเรื่องใหญ่กว่าความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างเสื้อสีต่างๆ ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าในบางมิติปัญหาทั้งสองระดับอาจจะเกี่ยวโยงกับอยู่ การเปลี่ยนแปลงในลักษณะของรัฐนั้น ถึงอย่างไรก็ย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับระบอบการปกครองในระดับรัฐบาล"
รัฐหนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลง
จากประสบการณ์โดยตรงของ นายเสกสรรค์ กล่าวว่า รัฐมีความสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจและสังคมตลอดจนวิถีวัฒนธรรมอย่างแยกไม่ออก และบ่อยครั้งเมื่อเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนไป รูปแบบของรัฐก็หนีไม่พ้นต้องเปลี่ยนแปลงตาม
ยกตัวอย่าง เมื่อร้อยกว่าปีก่อนอาจจะเรียกว่ายุคโลกาภิวัตน์ครั้งที่ 1 ภายใต้แรงกดดันของลัทธิล่าอาณานิคม ราชอาณาจักรสยามยอมเปิดประเทศทำสัญญากับราชอาณาจักรอังกฤษ หรือสนธิสัญญาบาวริง ต่อมาก็ทำสัญญาคล้ายกันกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ส่งผลให้สยามต้องเปิดประตูกว้างต้อนรับสิ่งที่เรียกว่า "ระบบการค้าเสรี"
การเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมสยามอย่างรวดเร็วเมื่อบวกกับความเสื่อมของระบบไพร่ และขุนนางที่เกิดมาก่อนบ้างแล้ว ในที่สุดนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจอย่างลึกซึ่งถึงราก ภายในศูนย์อำนาจและระหว่างศูนย์อำนาจกับพลเมืองที่อยู่ใต้การปกครอง
ภายในระยะเวลา 50 ปี โลกาภิวัตน์รอบแรกส่งผลให้รัฐศักดินาโบราณของไทยซี่งเคยมีระบบกระจายอำนาจสูง แปรรูปเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งรวมศูนย์เข้าสู่อำนาจส่วนกลางแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด กลายเป็นต้นทางของการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ในเวลาต่อมา
จากการศึกษาประวัติศาสตร์ทางการเมืองพบว่า การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขสำคัญยิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของรัฐ ทั้งที่มีความจำเป็นและเป็นไปได้ เมื่อเปรียบเทียบกับยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน อดคิดไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงระดับรัฐของประเทศไทย น่าจะมีทั้งความจำเป็นและความเป็นไปได้เช่นเดียวกัน
"ในฐานะปัญญาชนที่หมกหมุ่นครุ่นคิดเรื่องรัฐไทยมานาน สภาพการณ์ปัจจุบันย่อมเป็นเรื่องเย้ายวนมากที่จะชวนให้คิดอะไรแบบอภิมหาทฤษฎีว่าด้วยวิวัฒนาการของรัฐและสังคมไทยแต่สุดท้ายก็ยอมรับว่าไม่มีปัญญาพอที่จะทำเรื่องสุ่มเสี่ยงทางวิชาการขนาดนั้น"
กล่าวอีกแบบหนึ่ง คือ ข้อสังเกตของผมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของรัฐไทยในยุคโลกาภิวัตน์รอบปัจจุบัน ไม่ได้เกิดจากจิตนาการแบบประวัติศาสตร์จะต้องซ้ำรอย หรือประวัติศาสตร์กำลังใช้กฎวิภาษวิธีกับเส้นทางเดินของสังคมไทย ทำนองว่า เมื่อการเปิดประเทศเสรีครั้งแรกให้กำเนิดรัฐชาติ การเปิดประเทศเสรีรอบสองทำให้รัฐชาติหมดฐานะ จากนั้นอาจจะต้องสังเคราะห์หารัฐอะไรอีกสักแบบหนึ่งซึ่งเป็นการพัฒนาขั้นสูงขึ้นไปอีก
ถ้ายอมรับว่ารัฐเป็นแกนกลางความสัมพันธ์ทางอำนาจของแต่ละประเทศ และเป็นกลไกหลักในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ผู้คนในสังคม ต้องยอมรับว่าหลักฐานเชิงประจักษ์มากมาย ชี้ให้เห็นว่าบทบาทหน้าที่ดังกล่าวของรัฐไทยกำลังอ่อนแอลงอย่างน่าตกใจ ในบางด้านรัฐไทยมีอำนาจน้อยลง กระทั่งได้รับฉันทานุมัติในการใช้อำนาจน้อยลง รัฐบังคับใช้กฎหมายบางเรื่องไม่ได้ ยังไม่ต้องกล่าวถึงระยะหลังๆ อำนาจรัฐมักถูกขืนต้านในรูปแบบต่างๆมากขึ้นทุกที
สภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าระเบียบอำนาจแบบที่เราใช้อยู่กำลังมีปัญหาโดยตัวของมันเอง ซึ่งย่อมส่งผลลดทอนประสิทธิภาพของรัฐในการดูแลสังคมลงไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันปัญหาที่รัฐต้องแก้ไม่เพียงมีจำนวนเพิ่มขึ้น หากยังมีลักษณะใหม่ๆเปลี่ยนไปจากเดิม โดยที่ตัวรัฐเองก็ไม่สามารถใช้วิธีการเดิมๆมาแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง
ปัญหาที่รัฐต้องเผชิญเพื่อปรับปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจมี 2 ประเภท คือ
1.ปัญหาการบูรณาการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์กับผลประโยชน์ของส่วนอื่นๆในสังคมไทย
2.ปัญหาความไม่ลงตัวเรื่องการจัดสรรอำนาจทางการเมืองและพื้นที่ทางการเมืองในสังคมแบบพหุลักษณะ
อันดับแรกเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ดังที่ตั้งข้อสังเกตไว้แล้ว ถึงวันนี้เราคงต้องยอมรับว่าผลประโยชน์ของผู้คนในประเทศไทยมีความหลากหลายมาก ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียว กระทั่งขัดแย้งกันเองเกินว่าจะใช้คำว่าผลประโยชน์แห่งชาติมาเป็นข้ออ้างในการบริหารอำนาจ
นอกจากนี้เราต้องยอมรับว่าโลกภิวัตน์ทางเศรษฐกิจมีผลทั้งบวกและลบ ผู้คนได้เสียจากโลกาภิวัตน์ไม่เท่ากัน คำว่ากลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ไม่เท่ากัน คำว่ากลุ่มทุนโลกาภิวัตน์จริงๆแล้วแทบไม่มีเรื่องสัญชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจจะหมายถึงนักลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทยหรือหมายถึงทุนไทยที่ร่วมลงทุนกับต่างชาติและลงทุนในต่างประเทศก็ได้ ระบบการค้าการลงทุนที่ไร้พรมแดนไม่เพียงทำให้ผลประโยชน์ของทุนไทยและทุนต่างชาติคละเคล้ากันจนแยกไม่ออกเท่านั้น แม้ในระดับของการจ้างงานยังมีลักษณะไร้พรมแดนไปด้วยดังจะเห็นได้จากการนำแรงงานต่างชาติเข้ามาในจำนวนมหาศาลทำให้ประเทศไทยมีประชากรที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยในจำนวนที่มีนัยสำคัญ ประเด็นใหญ่ในเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่พวกเขาเป็นต่างชาติที่เข้ามาอาศัยประเทศไทยทำกิน นั่นเป็นกรอบคิดเก่าที่ใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะแรงงานดังกล่าวจำนวนสองล้านห้าแสนคนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพลังการผลิต ที่ช่วยลดต้นทุนและช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทั้งของทุนไทยและทุนต่างชาติบางกลุ่ม ขณะเดียวกันกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่คอยตรึงราคาค่าแรงของผู้ใช้แรงงานชาวไทยด้วย
"แรงงานต่างชาติเป็นคนนอกโดยนิตินัยเท่านั้น หากการดำรงอยู่พวกเขาเป็นคนในของระบบการผลิตในประเทศไทยซึ่งสมควรได้รับการดูแลตามฐานะและศักดิ์ศรีของความเป็นคน"
ตรงนี้เข้าใจว่าระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติยังไม่ได้เปิดพื้นที่เท่าที่ควร ทำให้เกิดการกดขี่ข่มเหงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างชาติขึ้นอยู่ตลอดเวลา ตรงกันข้ามกับการเข้ามาของนักลงทุนหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งมักได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
การออกกฎหมาย 11 ฉบับเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของไอเอ็มเอฟ ไม่เพียงลดอำนาจรัฐไทยในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ และลดทอนความเป็นรัฐชาติของไทยเท่านั้น หากยังพาอำนาจรัฐไทยให้เอนเอียงไปในทางการดูแลอำนวยความสะดวกให้กับการเติบโตของโลกาภิวัตน์ด้วย
แต่ประเด็นมีอยู่ว่าสภาพดังกล่าวสามารถกลายเป็นปัญหาทางการเมืองในระดับคอขาดบาดตายได้ ถ้ารัฐไทยยังใช้คำว่าผลประโยชน์แห่งชาติไปผัดหน้าทาแป้งกับการขยายตัวของฝ่ายทุนเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่สนใจใยดีการสูญเสียผลประโยชน์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตัวอย่างในเรื่องดังกล่าวได้แก่การประท้วงของชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งเดือดร้อนจากการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทั้งโดยทุนไทยและทุนต่างชาติ ทั้งนี้โดยมีกรณีความขัดแย้งที่มาบตาพุดเป็นตัวอย่างล่าสุด
ระบบทุนในยุคโลกาภิวัตน์ทำให้การเติบโตของจีดีพีและการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมก่อให้เกิดประโยชน์กับคนไม่น้อย แต่เป็นแค่ส่วนหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมดอันประกอบขึ้นเป็นประเทศไทย คนจำนวนหนึ่งได้รับผลประโยชน์ คนอีกจำนวนหนึ่งไม่ได้รับอะไร แล้วยังมีอีกจำนวนหนึ่งต้องสูญเสียสิ่งที่เคยได้รับอีกต่างหาก
ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางเศรษฐกิจในประเทศไทย
เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีมาแต่เดิมแล้ว และเมื่อผนึกผนวกปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าวเข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์โดยไม่มีการปรับสมดุลใดๆ สภาพที่เกิดขึ้นจะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ดังจะเห็นรายได้จากช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวยสุด 20 % กับคนที่จนสุด 20 % ซึ่งต่างกันถึง 13 เท่า แล้วถ้าจะพูดถึงการกระจุกตัวของความมั่งคั่ง จริงๆแล้ว ตัวเลขยังน่าตกใจกว่านี้
ล่าสุดนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งคำนวณว่า 42 %ของเงินฝากในธนาคารของทั้งประเทศ มีค่าประมาณหนึ่งในสามของจีดีพีประเทศไทย เป็นของคนจำนวนเพียงสามหมื่นห้าพันคนหรืออาจจะน้อยกว่านั้น เทียบกับประชากรทั้งประเทศ 64 ล้านคน
ฉะนั้นปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่การต่อต้านการค้าการลงทุนแบบไร้พรมแดน หากจะต้องจัดวางฐานะของสิ่งนี้ไว้ในทางอันเหมาะสมและสอดคล้องกับความเป็นจริง ผลประโยชน์ของทุนเป็นได้อย่างมากก็แค่ส่วนหนึ่งของส่วนทั้งหมด หรือเป็นแค่ส่วนหนึ่งของ "ผลประโยชน์ชาติ" เพราะทุนกับชาติไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
เราต้องมองความจริงตรงนี้โดยไม่หลบตาเท่านั้น จึงจะแก้ปัญหาข้อพิพาทต่างๆได้บ้าง การบูรณาการผลประโยชน์ของกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์เข้ากับส่วนอื่นๆของสังคมไทย จะทำไม่ได้เลย ถ้ารัฐไทยยังถือว่าการเติบโตของภาคธุรกิจเป็นดัชนีชี้วัด "ความเจริญ รุ่งเรืองของชาติ" เพียงอย่างเดียว และกดดันให้ผู้ยึดถือคุณค่าแบบอื่นในสังคม ตลอดจนกลุ่มชนที่เดือดร้อนจากการถูกช่วงชิงทรัพยากรหรือเดือดร้อนจากการสูญเสียสิ่งแวดล้อมอันเอื้อต่อสุขภาวะ ต้องหลีกทางให้โดยไม่มีเงื่อนไข
ในทางตรงกันข้าม ถ้าเรายอมรับกันอย่างตรงไปตรงมาในสังคมว่าไทยมีผลประโยชน์ของชาวต่างชาติ และผลประโยชน์ของชาวต่างชาติก็ปะปนอยู่ผลประโยชน์ของคนไทยบางส่วน การตกลงหาความสมดุลกับส่วนอื่นๆของสังคมไทยอยู่ในวิสัยทำได้ การสังเคราะห์ผลประโยชน์ส่วนรวมขึ้นมาใหม่จากความจริงที่เป็นรูปธรรมก็พอทำได้ ทิศทางเช่นนี้จะปรากฎเป็นจริงต่อเมื่อมีการข้ามพ้นการอ้างชาติแบบเลื่อนลอย ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการกำหนดนโยบาย และการบริหารความเป็นธรรมโดยรัฐในขั้นตอนต่างๆ ซึ่งต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมอย่างสมศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกัน
อันนี้ไม่ใช่ระเบียบแบบรัฐชาติเราคุ้นเคยอยู่ และอาจจะต้องมีการค้นคว้าหารูปแบบที่เหมาะสม กระทั้งมีการออกแบบสถาบันใหม่ๆ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม "มันหมดเวลาแล้วที่รัฐจะบัญชาสังคมจากข้างบนลงมา"
"ตั้งแต่รัฐไทยตอบสนองข้อเรียกร้องของไอเอ็มเอฟด้วยการออกกฎหมาย 11 ฉบับอำนาจของรัฐในการแทรกแซงและกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจลดน้อยลงไปอีก ผลคือ กลไกตลาดกลายเป็นสถาบันหลักในการกำหนดทุกข์สุขของประชาชนและรัฐก็แทบจะกลายเป็น "นักเลง"คุมตลาดเท่านั้นเอง"
"ตลาดหรือสถาบันตลาด" ไม่ได้แก้ไขตัวเองได้เสมอไป บ่อยครั้งไม่ได้มีธรรมาภิบาลที่ชอบเรียกร้องเอากับรัฐ ทำให้การแทรกแซงของรัฐเป็นเรื่องที่จำเป็น ดังเราจะเห็นได้จากตัวอย่างในกรณีวิกฤตเศรษฐกิจไทยปี 2540 และวิกฤตในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2551
คำถามมีอยู่ว่า "แล้วรัฐควรมีบทบาทเพียงแค่นี้กระนั้นหรือ เป็นยามรักษาความปลอดภัยและเป็นหน่วยบรรเทาทุกข์เวลาเกิดไฟไหม้ตลาด?"
จริงอยู่ เราไม่ต้องการให้รัฐไทยขยายตัวไปทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบผู้คนในทุกเรื่องราวของชีวิต เพราะนั่นจะยิ่งเสริมฐานะครอบงำของรัฐให้อยู่เหนือสังคมเข้าไปอีก ดังนั้นข้อเรียกร้องของเฉพาะหน้าจึงมีอยู่ว่ารัฐจะทำหน้าที่บริหารความเป็นธรรมในสังคมที่เปลี่ยนไปได้อย่างไร
สิ่งแรกที่รัฐต้องทำคือ บูรณาการสังคมไทยเสียใหม่ ยอมรับการมีอยู่ของทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แทนที่จะปิดบังมันไว้ด้วยจินตนาการเรื่องชาติ จากนั้นหาทางประสานประโยชน์ระหว่างทุนข้ามชาติ ทุนไทย แรงงานต่างชาติ แรงงานไทย เกษตรกรรายย่อย ชุมชนท้องถิ่น ผู้ค้าปลีก ชาวประมงพื้นบ้าน คนชั้นกลาง คนชั้นล่าง ข้าราชการทั้งทหารและพลเรือน และอีกหลายภาคส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นสังคมไทยปัจจุบัน
บูรณาการหมายถึง การทำหน่วยย่อยที่กระจัดกระจายหรือแม้แต่ขัดแย้งกัน ให้เปลี่ยนมามีความสัมพันธ์โยงใยกัน เอื้อประโยชน์ให้กัน อีกทั้งมีความพอใจในความสัมพันธ์ดังกล่าว อันนี้ย่อมต่างจากความสมานฉันท์แบบเลื่อนลอยที่อาศัยการรณรงค์ทางอุดมการณ์เป็นสำคัญ
สำหรับการบริหารความเป็นธรรมนั้น นับเป็นหน้าที่เก่าแก่สุดและเป็นภารกิจใจกลางที่สุดของรัฐหรือผู้กุมอำนาจการปกครอง แม้เนื้อหาของความเป็นธรรมจะเป็นเช่นไร ขึ้นอยู่กับการยึดถือของสังคมในแต่ละยุคสมัย แต่เราอาจกล่าวได้ว่าสังคมที่ปราศจากความเป็นธรรม จะไม่มีวันได้พบกับความสงบร่มเย็น
อันดับต่อไป เรามาพูดถึงเรื่องความไม่ลงตัวในการจัดสรรอำนาจและพื้นที่ทางการเมืองถามว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับยุคโลกาภิวัตน์อย่างไร เกี่ยวข้องกันอยู่สองประเด็น คือ
1. ระบบเศรษฐกิจแบบไร้พรมแดนตลอดจนโลกาภิวัตน์ในด้านข่าวสารส่งผลให้สังคมไทยแตกเป็นพหุลักษณะอย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่ของกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มวัฒนธรรม ข้อนี้ทำให้สังคมไทยปกครองยากขึ้น
2. โลกาภิวัตน์ทำให้เกิดชนชั้นนำกลุ่มใหม่ๆที่มั่งคั่งขึ้นมาอย่างรวดเร็วและมหาศาลเช่นเดียวกับชนชั้นนำที่มาทีหลังในประวัติศาสตร์และทุกหนแห่งในโลก คนเหล่านี้ต้องการส่วนแบ่งในอำนาจการเมืองการปกครอง แต่ขณะเดียวกันไม่มีทั้งประสบการณ์ และความรู้ที่เป็นศาสตร์และศิลป์ของการปกครอง ทำให้เกิดเป็นความขัดแย้งต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
การที่สังคมไทยถูกทำให้เป็นพหุนิยมอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างกว้างขวางตั้งแต่โลกทัศน์ในเรื่องผลประโยชน์ วิถีชีวิต แบบแผนทางวัฒนธรรม ความคิดความเชื่อในด้านจิตวิญญาณ จนถึงความคิดเห็นทางการเมือง สภาพดังกล่าวทำให้เกิดความครอบงำด้วยอุดมการณ์ ชาตินิยมแบบเก่าทำได้ยากขึ้น กระทั่งทำไม่ได้อีกต่อไป คนไทยในปัจจุบันตีความคำว่าชาติและความเป็นไทยแตกต่างกันไป กระทั่งเลิกเชื่อในจินตนาการแบบนี้
ดังจะเห็นได้จากพฤติกรรมของชนรุ่นหลังจำนวนไม่น้อยที่อยากมีชีวิตทางวัตถุแบบชาวตะวันตกแต่อยากมีหน้ามีตาแบบชาวเกาหลี ขณะเดียวกันก็อาจจะชื่นชอบนักร้องไต้หวัน นักฟุตบอลบราซิล และชอบกินอาหารญี่ปุ่นเป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้นการที่คนไทยบางส่วนเริ่มมีผลประโยชน์แบบไร้พรมแดน ย่อมทำให้เป็นการยากขึ้นสำหรับรัฐชาติที่มีพรมแดนตายตัว ตลอดจนผู้คนที่ถือมั่นในลัทธิชาตินิยมจะสามารถยืนหยัดเรื่องผลประโยชน์ไทยได้อย่างเคร่งครัดตามจารีตดังเดิม
ล่าสุดตัวอย่างที่น่าสนใจในเรื่องนี้ได้แก่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา ดังที่ทราบกันอยู่แล้ว การที่นายกรัฐมนตรีเขมรแต่งตั้งอดีตนายกฯไทยเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจนั้น ได้สร้างความไม่พอใจให้กับนายกรัฐมนตรีไทยคนปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเห็นว่าอดีตนายกฯท่านนั้นมีความผิดทั้งในการเมืองและทางอาญา ขณะเดียวกันก็มีคนไทยบางส่วนโกรธแค้นฝ่ายกัมพูชาเพราะพวกเขาเห็นว่าแทรกแซงกิจการภายในของไทยหรืออย่างน้อยไม่ให้เกียรติประเทศไทยเท่าที่ควร
อย่างไรก็ดีปรากฎว่ามีคนไทยอีกจำนวนมากที่ไม่ได้เห็นด้วยกับการโต้ตอบถึงขั้นการเรียกทูตกลับของรัฐบาลไทยเลยหากกลับมีอารมณ์ไปวิตกกังวลว่าความขัดแย้งนี้จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจภายในกัมพูชา ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งการส่งสินค้าไปขายและการลงทุนหลายหมื่นล้านบาท แม้แต่นักธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังอดวิตกไม่ได้ว่ายอดขายทัวร์ไปเขมรอาจจะได้รับแรงกระทบกระเทือน ยังไม่ต้องเอ่ยถึงชาวบ้านที่ทำการค้าบริเวณชายแดนไทยกัมพูชาต่างก็ภาวนาให้เรื่องนี้จบลงเร็ว
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้แม้แต่เรื่องความขัดแย้งระดับคลาสสิคคือเรื่องศักดิ์ศรีของประเทศ คนไทยก็ไม่ได้เห็นพ้องต้องกัน
ในมิติทางการเมืองลักษณะ "พหูพจน์" ของสังคมไทยดังกล่าว สามารถนำไปสู่ข้อพิพาทได้สารพัดอย่างได้โดยง่าย ทั้งความขัดแย้งกันเองของผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้อำนาจรัฐกดดันหรือลดรอนสิทธิในด้านผลประโยชน์และอัตลักษณ์ของบรรดากลุ่มย่อย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หากพวกเราประสงค์ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ก็จำเป็นต้องมีการปรับตัวกันอย่างขนานใหญ่
ในทางวัฒนธรรมการเมืองจะต้องไม่มีการผูกขาดนิยามความเป็นชาติและความเป็นไทยซึ่งมักใช้เป็นข้อกำหนดถูกผิดหากเห็นต่างเรื่อง'ใดก็ว่ากันไปตามเนื้อผ้า และตามลักษณะรูปธรรมของความขัดแย้งเรามีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างสันติและแก้ไขกรณีพิพาทด้วยสันติวิธี ซึ่งในเรื่องนี้การศึกษาวิจัยทางวิชาการได้ดำเนินมาบ้างแล้ว โดยกระบวนการทางสังคมและกระบวนการทางการเมือง สันติวิธียังห่างไกลลักษณะความเห็นสถาบัน
อย่างไรก็ตามมาตรการสำคัญที่สุดในการลดแรงกระแทกของสังคมที่กำลังแตกปัจเจกแยกกลุ่มย่อย คือการมีพื้นที่ทางการเมืองให้กับทุกฝ่าย อันนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกคนทุกกลุ่มต้องขึ้นเวทีการเมือง เพื่อช่วงชิงอำนาจแต่หมายถึงการมีหนทางเข้าถึงกระบวนการใช้อำนาจได้ในกรณีที่ส่งผลกระทบถึงตน อีกทั้งมีพื้นที่ในการอธิบายเรื่องราวต่อรัฐและผู้เกี่ยวข้องตลอดจนสังคมส่วนที่เหลือ พูดง่าย ๆ ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคม "พหุลักษณะ" จะต้องอยู่ในวิถีของการเมืองแบบมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ มิฉะนั้นปัญหาไหนก็แก้ไม่ได้
เรื่องนี้จริงๆนับว่าเราได้เริ่มต้นกันมาบ้างแล้วเช่นมีการกำหนดเรื่องสิทธิชุมชนและการเมืองภาคประชาชนไว้ในรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการใช้ระบบประชาพิจารณ์และการหยั่งประชามติเป็นครั้งคราว แต่ที่ผ่านมาถือว่ายังไม่พอ เรายังต้องขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในทิศทางนี้กันต่อไป
ต่อมาพูดถึงประเด็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำไทยในปัจจุบัน อันที่จริงกรณีทำนองนี้เคยเกิดขึ้นเป็นระยะนานแล้วในประวัติศาสตร์การสร้างรัฐชาติของประเทศไทย เช่นในปี 2475 ปี 2516 ปี 2535 เป็นต้น ซึ่งแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นก็ส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองตามหลังมา การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองดังกล่าวไม่ว่าจะถูกเรียกว่าเป็นระบอบอะไรก็ตามแต่ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือมีการขยายพื้นที่ในส่วนยอดของศูนย์อำนาจเพื่อให้ชนชั้นกลุ่มใหม่หรือรุ่นใหม่เข้ามาอยู่ในพันธมิตรการปกครอง เมื่อผ่านกาลเวลาสักระยะหนึ่งชนชั้นนำใหม่และเก่าก็มักจะปรับตัวเข้าหากัน กำหนดฐานะอันเหมาะควรให้กันและกัน ตลอดจนร่วมกันใช้อำนาจทางการเมืองบังคับบัญชาสังคมที่อยู่เบื้องล่าง
อย่างไรก็ดี สภาพดังกล่าวได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 กล่าวคือชนชั้นนำเก่าจากภาคธุรกิจเอกชนซึ่งเคยร่วมมือเป็นพันธมิตรกับชนชั้นนำจากภาครัฐมาเป็นอย่างดีได้ถูกวิกฤตครั้งนั้นทำให้มีฐานะเสื่อมถอยลงทั้งในการเมืองและอิทธิพลทางสังคม ขณะเดียวกันก็ได้เกิดชนชั้นนำกลุ่มใหม่ที่เติบใหญ่มาจากระบบทุนโลกาภิวัตน์ซึ่งสามารถรวบรวมความมั่งคั่งของประเทศไว้ในมือตนได้อย่างรวดเร็วและมหาศาลอย่างเหลือเชื่อ ที่สำคัญคนกลุ่มนี้ไม่เชื่อถือในการบริหารประเทศทั้งโดยชนชั้นนำจากภาครัฐและโดยนักการเมืองรุ่นเก่า ซึ่งมักเป็นตัวแทนของภาคธุรกิจในกรอบรัฐชาติมากกว่าธุรกิจแบบไร้พรมแดน
ดังนั้นพวกเขาจึงไม่เพียงตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเข้าไปมีส่วนแบ่งในศูนย์อำนาจอย่างที่ชนชั้นนำจากภาคเอกชนรุ่นก่อนๆเคยต่อรองกับชนชั้นนำในระบบราชการ หากมีความประสงค์ถึงขั้นเข้าไปแทนที่ชนชั้นนำรุ่นเก่าๆทั้งหมดในการบริหารจัดการบ้านเมือง
ในบางด้านเราอาจจะกล่าวได้ว่านี่เป็นการขึ้นกุมอำนาจโดยตรงของกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ในประเทศไทย ซึ่งผ่านระบบการเลือกตั้งและมาพร้อมกับความคิดที่แน่นอนชุดหนึ่งในการปรับเปลี่ยนทั้งกลไกรัฐและสังคมไทย ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยเชื่อมร้อยกับโลกไร้พรมแดนได้อย่างกระฉับกระเฉงขึ้น
หลังจากการปกครองประเทศไทยอยู่ได้ 5- 6ปี การสถาปนาอำนาจนำของนักการเมืองจากกลุ่มทุนโลกภิวัตน์ก็ถูกท้าทายรุนแรงจากหลายภาคส่วนของสังคม กระทั่งถูกโค่นด้วยรัฐประหารในปี 2549 จากนั้นประเทศไทยต้องพบกับความแตกแยกทางการเมืองที่หนักหน่วงร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่การสงบลงของสงครามระหว่างซ้ายขวาเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน
ที่กล่าวมาไม่ได้ต้องการฟื้นฝอยหาตะเข็บ หรือกล่าวหาฝ่ายไหนทั้งสิ้น เพียงอยากจะชวนมาทบทวนว่ากระแสโลกาภิวัตน์ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในมิติของการแข่งขัน ชิงอำนาจอย่างไร ประเทศไทยเคยพยายามปรับตัวเข้าหาโลกาภิวัตน์มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยการนำของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งบังเอิญรีบร้อนและไม่มีความคิดแยบยลพอที่จะบูรณาการสังคมไทยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและมอบฉันทานุมัติเสียก่อน จึงประสบความล้มเหลว
ความขัดแย้งทางการเมืองในปี 2549 ที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เรื่องพฤติกรรมและผลประโยชน์ของบุคคลอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ในวันนี้สิ่งที่จะพูดคือโครงสร้างที่ทำให้การแบ่งพื้นที่อำนาจระหว่างชนชั้นนำก็ดี การเปิดพื้นที่ให้มวลชนชั้นล่างมีอุปสรรคขัดขวางมากมายทีเดียว
อำนาจรัฐสมัยใหม่ของไทยรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ที่เข้าใจยากคือ "ทำไมยังรวมศูนย์อยู่จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ทั้งๆที่เราพยายามสร้างระบอบการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย และเคลื่อนเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์มาแล้วระยะหนึ่ง"
สรุปรวมความแล้วก็คือว่า การที่โลกไร้พรมแดนเข้ามาอยู่ในประเทศที่มีพรมแดนทำให้เราจะต้องพิจารณาหาหนทางบูรณาการประเทศกันใหม่ ทั้งในส่วนที่เป็นภาครัฐและภาคสังคม ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม
การสร้างความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันใหม่ในบริบทของความเป็นจริงแห่งปัจจุบันคงจะไม่สามารถทำได้ในกรอบคิดดั้งเดิมของรัฐของลัทธิชาตินิยมหรือภายใต้ระเบียบอำนาจแบบเก่าๆอย่างที่เราคุ้นเคยกัน
"ผมเข้าใจดีว่านี่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ใด โดยส่วนตัวแล้ว ผมเองก็ยังผูกพันอยู่กับความคิดเรื่องชาติแบบดั้งเดิม แต่เราคงต้องยอมรับว่าในระยะที่ผ่านมาคำว่าชาติได้กลายเป็นคำขวัญของการเมืองแบบผู้ชนะได้ไปหมด สมัยก่อนระบบเผด็จการมักอ้างชาติในการผูกขาดอำนาจ ต่อมารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็อ้างชาติให้คนอื่นเงียบ สุดท้ายกลุ่มการเมืองที่ขัดแย้งกันก็อ้างชาติเพื่อผูกขาดความถูกต้อง เราคงจะอยู่กันอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ เพราะมันไม่สอดคล้องกับความจริง ปัญหาการบูรณาการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์กับผลประโยชน์ของส่วนอื่นๆในสังคมไทยก็ดี ปัญหาความไม่ลงตัวในเรื่องการจัดสรรอำนาจทางการเมืองและพื้นที่ทางการเมืองในสังคมแบบพหุลักษณะก็ดี จะแก้ได้ต่อเมื่อเราขยายเส้นขอบฟ้าทางปัญญาให้กว้างกว่าการใช้นิยามเดียวมาตัดสินที่อยู่ที่ยืนของผู้คน"
ปัจจุบันอำนาจรัฐไทยถูกจำกัดโดยเงื่อนไขโลกาภิวัตน์อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ถูกกำกับโดยประชาสังคมเท่าที่ควร อำนาจรัฐบางส่วนถูกโอนให้สถาบันตลาด แต่ตลาดเองก็ไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับสมาชิกในสังคมได้อย่างทั่วถึง มิหนำซ้ำยังจะดึงรัฐไปรับใช้การขยายตัวของทุนอยู่ตลอดเวลา
เราคงไม่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ฝากความมั่งคั่งและอยู่รอดของตนไว้กับทุนและแรงงานจากต่างประเทศ อีกจำนวนไม่น้อยพอใจชีวิตที่ไม่ต้องถูกนิยามด้วยวัฒนธรรมแห่งชาติ และกินอยู่แต่งกายไปตามกระแสบริโภคสากล
แต่เราก็ต้องยอมรับเช่นกันว่ายังมีอีกหลายกลุ่มที่เดือดร้อนกับโลกที่ไร้พรมแดน บ้างถูกเบียดยึดพื้นที่ทางเศรษฐกิจและการเมือง บ้างถูกคุกคามความอยู่รอดอย่างแท้จริง และบ้างเพียงรู้สึกเจ็บปวดเมื่อโลกที่ตัวเองคุ้นเคยกำลังเลือนหายไป
การดำรงอยู่ของทั้งสองส่วนเป็นสาเหตุสำคัญของกรณีพิพาทในหลายๆเรื่อง และนี่คือเหตุผลหลักที่ทำให้ต้องมีการปรับสมดุลกันในประเทศไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น