--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

"ถอย"ในเชิง"รุก" ถอยในทาง"ยุทธศาสตร์" ของกลุ่ม"นปช."


ถูกแล้วที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดินมีมติเลื่อนการชุมนุมใหญ่ทางการเมืองในวันที่ 28 พฤศจิกายนออกไป

ถูกเพราะเป็นเงื่อนเวลาที่ไม่เหมาะสม

ปัจจัยที่สำคัญเป็นอย่างมากที่สุดคือ ใกล้เคียงกับวันที่ 5 ธันวาคม ปัจจัยที่สำคัญรองลงมา คือ ใกล้เคียงกับวันสวนสนามของทหาร

ขณะเดียวกัน ท่าทีของรัฐบาลก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง

ประเมินจากการเคลื่อนไหวของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นระดับหัวขบวน ไม่ว่าจะเป็นระดับท้ายขบวนตรงกัน

นั่นก็คือ วาดรูปเติมสีให้กับการชุมนุมอย่างค่อนข้างน่ากลัว

น่ากลัวเหมือนกับที่เคยประโคมครั้งมีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่หัวหิน เหมือนกับที่เคยประโคมการชุมนุมในเดือนตุลาคมก่อนหน้านี้

แม้สถานการณ์ 2 ครั้งจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเหมือนถ้อยประโคมก็ตาม

การถอยของ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน จึงมิได้เป็นการถอยอย่างไร้เป้าหมาย ตรงกันข้าม เป็นการถอยในทางยุทธศาสตร์

ทำให้อาการถอยสะท้อนการต่อสู้

แท้จริงแล้ว การชุมนุมทางการเมืองเป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อสู้ มีความสำคัญแต่มิได้เป็นปัจจัยชี้ขาดชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

เช่นเดียวกับ การเคลื่อนไหวของ ส.ส.ในรัฐสภา ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง

หากศึกษากระบวนการต่อสู้ทางเมืองในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ก็จะประจักษ์ว่า ปัจจัยสำคัญเป็นอย่างมากอันชี้ผลชัยชนะและความพ่ายแพ้ คือ ปัจจัยภายในของอีกฝ่ายหนึ่ง

เหมือนกับการเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2516 การชุมนุมจะเป็นปัจจัยสำคัญ

เป็นความจริง การชุมนุมอย่างยืดเยื้อและด้วยปริมาณคนจำนวนมากเป็นผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งก่อให้เกิดความขัดแย้งและแตกแยกภายในกลุ่มที่ยึดกุมอำนาจอยู่

หลายฝ่ายเห็นว่า "ระบอบถนอม-ประภาส" ขาดความเหมาะสม

คล้ายกับว่าการเคลื่อนไหวของประชาชนในห้วงปลายปี 2522 จะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อยู่ไม่ได้

เป็นความจริง แต่ลองแงะรายละเอียดภายในมาดูก็จะประจักษ์ในผลสะเทือนอันทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในกลุ่มทหารหนุ่มและสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ประเมินว่าการดำรงอยู่ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางการเมือง

จึงได้มีการผลักดัน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เข้ามาแทนที่

ปัจจัยชี้ขาดอนาคตของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงมิได้อยู่ที่ปัจจัยของ นปช.แดงทั้งแผ่นดินหรือปัจจัยของพรรคเพื่อไทยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ตรงกันข้าม ปัจจัย 1 คือ ปัจจัยภายในพรรคประชาธิปัตย์

ตรงกันข้าม ปัจจัย 1 คือ ปัจจัยภายในพรรคร่วมรัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ

คือ แรงสะเทือน

เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับรัฐบาล นายชวน หลีกภัย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2538 เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับรัฐบาล นายบรรหาร ศิลปะอาชา เมื่อเดือนกันยายน 2539 เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2540

เดือนพฤษภาคม 2538 เป็นการแยกตัวของพรรคพลังธรรม

เดือนกันยายน 2539 เป็นการแยกตัวของ พรรคความหวังใหม่ พรรคกิจสังคม โดยมีแนวร่วมภายในพรรคชาติไทย คือ นายเสนาะ เทียนทอง

เดือนพฤศจิกายน 2540 เป็นการแยกตัวของ พรรคกิจสังคม

จากนี้เห็นได้ว่า ความขัดแย้ง แตกแยกและแยกตัว อันเกิดขึ้นภายในพรรคประชาธิปัตย์ภายในพรรคร่วมรัฐบาลต่างหาก คือ ปัจจัยชี้ขาด

การถอยของ นปช.แดงทั้งแผ่นดินจึงเท่ากับเป็นการถอยในทางยุทธศาสตร์

เป็นการถอยเพื่อที่จะรุกด้วยการชุมนุมในเงื่อนไขอันเหมาะสม และประสานกับการเคลื่อนไหวในทางรัฐสภาผ่านญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ

ทุกอย่างเสมอเป็นเพียงการหยุดเพื่อรอคอยที่จะเดินหน้าต่อไปเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น