
18 มกราคม ของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย ในปี 2553 นี้ลองมาสำรวจบทบาทของทหารผ่านสายตาของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์กันดู ว่าเห็นอย่างไรกันบ้าง
จากการประมวลทรรศนะของนักวิชาการหลายคนต่างมองว่า บทบาทของทหารที่นอกเหนือจากการป้องกันประเทศซึ่งเป็นหน้าที่หลักแล้ว ได้ถูกสังคม (บางส่วน) กำหนดไว้ให้เป็นที่พึ่งในยามยาก ด้วยความที่ไทยไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ความไม่เข้าใจในประชาธิปไตย ตลอดจนการที่กลไกทางการเมืองบนพื้นที่ที่ถูกต้องไม่สามารถสนองความต้องการของประชาชนหรือแก้ไขปัญหาที่ประชาชนประสบในชีวิตประจำวันได้ จึงเกิดเป็นความต้องการ “ตัวช่วย” อันเป็นที่มาของการทำรัฐประหารที่เกิดขึ้นในสังคมไทยบ่อยครั้ง
อาจกล่าวได้ว่าการพัฒนการเมืองไทยทุก 3 ปี 1 เดือนกับอีก 4 วันเศษ ก็จะมีรัฐประหารเกิดขึ้นครึ้งหนึ่ง จากจำนวนรัฐประหารทั้งหมด 24 ครั้ง ที่มีอัตราการสำเร็จค่อนข้างสูงอยู่ที่ร้อยละ 54.17
วังวนแห่งรัฐประหาร
พลเอก ดร.ศุภลักษณ์ สุวรรณะชฎ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้ทำการวิจัยเรื่อง “ทหารกับการเมืองไทย : วังวนแห่งรัฐประหาร” พบว่า ปัจจัยที่ทำให้กองทัพเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง คือ ปัจจัยจากภายในประเทศ (สถาบัน/กองทัพ และเงื่อนไขในการทำรัฐประหาร) โดยในอดีตที่ผ่านมาทหารไทยมักจะเข้าแทรกแซงทางการเมืองในลักษณะที่เรียกว่า “เล่นการเมืองแบบที่ต้องการอยู่เหนือการเมือง” คือ ทหารจะเข้าแทรกแซงทางการเมืองโดยเป็นผู้นำที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นหรือโดย การใช้อิทธิพลอยู่เบื้องหลังนักการเมืองหรือฝ่ายพลเรือน เนื่องจากทหารมักจะไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน ส่วนใหญ่ของการเข้าแทรกแซงทางการเมืองของทหารไทยจึงมักจะเข้ามาในรูปแบบของ การได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลพลเรือนให้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยในการบริหาร ประเทศ
การทำรัฐประหารเป็นมากกว่าการเข้ายึดอำนาจจากรัฐมาเป็นของทหาร นั่นหมายถึง รัฐประหารหยั่งรากลึกลงไปในสังคมที่ประกอบด้วยสภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งยากที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง รัฐประหารถือเป็นทางออกของการเมือง ถ้าการเมืองถึงทางตันไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ จะมีการเรียกร้องให้ทหารทำรัฐประหาร วงจรอุบาทว์ทางการเมืองที่มีรัฐประหารเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญจึงยากที่ จะหลุดพ้นไปจากการเมืองไทย รัฐประหารอาจเกิดขึ้นได้เสมอ เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น
ในอนาคตถ้าประเทศไทยประสบปัญหาทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมที่แตกแยกและ สับสนวุ่นวาย โอกาสที่จะเกิดรัฐประหารครั้งต่อไปย่อมมีความเป็นไปได้สูงและอาจไม่ทิ้ง ช่วงระยะเวลานานเกินไป เพราะผู้ทำรัฐประหารครั้งต่อไป จะพิจารณาศึกษาจากตัวอย่างการทำรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อง 19 กันยาย 2549 ซึ่งได้รับการต้อนรับจากประชาชนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการทำรัฐประหารครั้งใหม่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ไกลเกินความจริง และนั่นหมายความว่าวงจรอุบาทว์หรือวัฎจักรแห่งความชั่วร้ายทางการเมืองมี โอกาสที่จะอยู่คู่กับสังคมไทยเสมอ
ทหารอาชีพกับประชาธิปไตย
ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ในบทวิจัยเรื่องทหารอาชีพกับประชาธิปไตยว่า การปรับปรุงพัฒนากองทัพและสถาบันทางการเมืองให้เกิดระยะห่างที่เหมาะสมใน การไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน เป็นการวางกรอบแนวความคิดต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยที่มีเอกลักษณ์สำหรับ สังคมไทยได้อีกทางหนึ่ง
เมื่อประเทศไทยเป็นระบบการเมืองแบบหลายพรรคหรือในรูปแบบของรัฐบาลผสม จะเป็นปัญหาสำคัญต่อเสถียรภาพของรัฐบาลเพราะความไม่มั่นคงและการต่อรองทาง การเมืองที่หากมีพรรคเล็กพรรคน้อยรวมตัวกันจัดตั้งเป็นรัฐบาลเป็นจำนวนมาก เท่าใด ก็จะยิ่งทำให้เกิดความแปรปรวนต่อเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาลมากขึ้น และจะมีผลทำให้การปรับเปลี่ยนแนวนโยบายรวมทั้งความคิดริเริ่มที่จะปรับปรุง กองทัพให้เป็นทหารอาชีพมีความเป็นไปได้ค่อนข้างจำกัด
เหตุผลข้างต้นจึงทำให้ความคิดต่อการเข้าไปดำเนินการใดๆ ที่อาจกระทบต่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกองทัพยังคงเป็นสิ่งที่ นักการเมืองไม่ประสงค์ที่จะให้บังเกิดขึ้น เพราะเกรงจะได้รับผลสะท้อนกลับในทางที่ไม่พึงปรารถนา ด้วยมีความสัมพันธ์กับกองทัพในระบบอุปถัมภ์เชิงอำนาจ (Patron-client system) ที่รู้จักกันดีและยึดถือยอมรับกันอย่างยิ่งยวดในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงทาง การเมืองก่อนเหตุการณ์เดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 และก่อนเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ได้กลับมามีความชัดเจนและเป็นที่ยอมรับอีกครั้งภายหลังหตุรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
บทสรุปอนาคตสังคมไทยกับบทบาททหาร
ภายหลังจากที่ กกต. ประกาศรับรองผู้แทนราษฎรครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดแล้ว ประเทศไทยก็เหมือนกับก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยเต็มใบอีกครั้ง ภายหลังจากการทำรัฐประหารโดยทหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมาซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ทำให้ไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองที่มีทหารเป็น ผู้อำนวยการจัดการ
ประชาธิปไตยครั้งใหม่ของรัฐบาลใหม่ ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550 แม้จะเป็นฉบับใหม่ (อีกแล้ว) ในครั้งที่ 19 แล้วก็ตาม แต่ก็เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยการออก เสียงลงประชามติ ก็นับเป็นย่างก้าวที่ดีที่สังคมไทยจะเกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการ บริหารปกครองประเทศ ไม่ให้อำนาจในการบริหารและการปกครองประเทศตกอยู่ในคนกลุ่มน้อยเพียงร้อยละ 20 ที่เป็นเจ้าของอำนาจการเมืองและอำนาจทุนเท่านั้น
ถึงเวลาที่คนไทยร้อยละ 80 จะมีอำนาจในการบริหารประเทศแบบมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความพอใจในทุกระดับ ชั้น และหวังว่าจะไม่ต้องอาศัยการปฏิวัติจากกองกำลังทหารมาช่วยส่งเสริม ประชาธิปไตยอีกต่อไป
ที่มา:โต๊ะข่าวประชาธิปไตย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น