สัมภาษณ์พิเศษ
เมื่ออายุรัฐบาลเริ่มนับถอยหลัง เมื่ออายุตัวของ "บรรหาร ศิลปอาชา" ย่าง 78 ปี
เมื่ออายุพรรคชาติไทยพัฒนาที่แปลงร่างมาจากพรรคชาติไทย อายุครบ 2 ปี
เมื่ออายุของการถูกตัดสิทธิทางการเมืองของ "บรรหาร" เหลืออีกประมาณ 3 ปี
พรรคชาติไทยพัฒนาจึงดิ้นเพื่อการกลับสู่สนามเลือกตั้ง สืบพันธุ์ "พรรคปลาไหล"
จึงต้องริเริ่ม-เร่งรัด-ปูพรมเพื่อกลับสู่สนามการเมืองด้วยการ "แก้ไขรัฐธรรมนูญ"
ถึงกับลั่นวาจาชูธง "ถอยไม่ได้ แม้แต่ก้าวเดียว"
เมื่อ "มังกรเติ้ง" ออกโรงบรรดาเซียนการเมือง-เสือ-สิงห์จึงต้องสดับรับฟัง
เมื่อสิงห์ "สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล" ร่างทรงและหัวใจ ลมใต้ปีกของ "มังกรเติ้ง" ร่วมขับเคลื่อน
บรรทัดจากนี้ไปเป็นวาจา-สมศักดิ์-ทรรศนะบรรหาร-แนวคิดพรรคชาติไทยพัฒนา
- มีการวิจารณ์ว่า พรรคชาติไทยพัฒนาได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ 2550 น้อยที่สุด จึงเป็นหัวหอกในการแก้ไข
ผมไม่มองประโยชน์ของพรรค หรือนักการเมืองว่าได้หรือไม่ได้ พวกเรามาวิเคราะห์กันแล้วว่า อย่ามาแตะในส่วนที่พวกเราจะได้รับประโยชน์ แต่ถ้าเราสุจริตใจในการที่จะทำ วันนี้ไม่มีทางหรอกที่จะเอารัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้ทั้งฉบับ มันเป็นไปไม่ได้ หรือแม้แต่กระทั่งบทสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์ สรุป 6 ประเด็น เราก็วิเคราะห์กันว่าถ้าเอา 6 ประเด็นก็ได้รับการปฏิเสธแล้ว
เพราะมันมีหลายประเด็น เช่น 237 เราได้รับผลประโยชน์เต็ม ๆ หรือ 265, 266 หรือเขตเลือกตั้งแบบระบบสัดส่วน สิ่งเหล่านี้เราบอกว่า...อย่าเลย
- พลังของ 5 พรรคร่วม จะทำให้ประชาธิปัตย์ยอมรับได้หรือไม่ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ผมไม่ได้หวังในการที่จะให้พรรคประชาธิปัตย์ยอมรับ แต่ผมหวังให้สังคมและประชาชนได้รู้ว่า เราเป็นพรรคการเมืองที่ไม่เคยพูดว่า เรามีหัวใจเป็นประชาธิปไตย แต่การกระทำของเราชัดเจนตั้งแต่ผลักดันเรื่องการปฏิรูปทางการเมืองซึ่งไม่เหมือนกับ บางพรรคที่บอกว่าเชื่อมั่นในระบอบ ทำเพื่อประชาธิปไตย แต่ถึงเวลาตัวเอง ถ้าตัวเองได้ประโยชน์ก็รี ๆ รอ ๆ ไม่กล้า...ผมไม่เอา
- การเคลื่อนไหวของพรรคชาติไทยฯรอบนี้จะทำให้คุณบรรหารได้กลับมาเป็นนายกฯอีกรอบหรือเปล่า
ผมบอกเลยว่า เราเจียมเนื้อเจียมตัว และเรารู้จักตัวเราดี ท่านบรรหาร ท่านเป็นคนที่รู้ว่าการเมืองปัจจุบันควรทำอะไร การเมืองทุกอย่างถ้ายืนอยู่บนขาตัวเองไม่ได้ ท้ายที่สุดเมื่อขึ้นไปบริหารประเทศไม่มีทางที่จะเป็นอิสระ ท่านบรรหารจึงยอมที่จะยืนอยู่อย่างนี้
เรายอมเป็นพรรคเล็ก สักวันหนึ่งถ้าเรามีโอกาสเป็นรัฐบาล ไม่ต้องไปกระทบหรือเกรงใจใคร จะออกกฎหมายโดยต้องเป็นห่วงว่าใครมีบุญคุณกับพรรค เราถึงบอกว่าเรายอมที่จะอดทน สร้างศรัทธา สร้างความจริงให้เห็นว่าเราเป็นนักการเมืองแบบนี้
- พรรคชาติไทยฯอยากให้เกิดการเลือกตั้งเร็ว ๆ หรือเปล่า
เร็วหรือช้าเราคิดว่าไม่มีผลสำหรับพรรค ถ้าเร็วเราก็พร้อม ช้าต่อไปเราก็รอคอยได้ ผมก็บอกเลยว่า ถ้าวันนี้กติกาไม่ได้รับการแก้ไข เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ยุบสภา ลงสู่สนามเลือกตั้งใหม่ ถามว่าความรู้สึกประชาชนเขาจะคิดยังไง บ้านเมืองไม่มีการแก้ไข แล้วอย่างนั้นจะไปเลือกตั้งทำไมในเมื่อทุกอย่างเลือกไปแล้วไปสู่สภาวะเดิม
- หากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ทุกพรรค ร่วมรัฐบาลจะได้ปลดพันธนาการจากเงื่อนไขพิเศษ และไม่มีผู้สนับสนุนอยู่ เบื้องหลัง
ผมตอบไม่ได้ว่า ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาแล้วจะเป็นยังไง ยกตัวอย่าง ถ้าแก้ได้ 2 ประเด็นหลังเลือกตั้งเสร็จกลับมา เราก็ยังไม่รู้อีกว่าพรรคไหนจะได้รับเสียงข้างมาก จะมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
สมมติเกิดจับพลัดจับผลูประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ก็หนีไม่พ้นอีกต่อคำครหาของผู้คนว่า วันนี้ยังต้องอาศัยกลุ่มผู้มีอำนาจนอกสภา แต่ถ้าเกิดสะวิงข้างไปเป็นเพื่อไทย เราก็ไม่รู้ว่าจะเป็นใคร ซึ่งคนก็จะมองอีกว่า การเมืองเมืองไทยวันนี้ บนสถานการณ์ ที่ไม่ปกติอย่างนี้ ถามว่าจะหนีกลุ่มทหารได้มั้ย
ทหารก็ยังต้องเข้ามาดูเรื่องความ สงบเรียบร้อย สร้างเสถียรภาพที่มั่นคงให้กับการเมือง
แต่เมื่อใดก็แล้วแต่ที่ทางกองทัพเริ่มมีความรู้สึกขัดแย้งกับรัฐบาล และไม่เห็นด้วยกับการทำงานของรัฐบาล แม้แต่กระทั่ง ปี 2549 ที่ใคร ๆ ก็คิดว่าต่อไปนี้ปฏิวัติไม่มีแล้วมันยังเกิดขึ้น
- การใช้ต้นทุนของพรรคชาติไทยฯและคุณบรรหาร จะเหนื่อยฟรีหรือไม่
พวกเราถูกสอนไม่ให้เป็นคนที่ยอมจำนน แม้แต่เป็นแสงจากปลายเข็มเราก็ต้องทำ อย่ายอมแพ้ อย่าคิดว่าทำไม่ได้โดยที่ไม่ได้เริ่มต้น สำเร็จหรือไม่สำเร็จสังคมรู้เอง
ผมอยากให้มาร่วมกันระดมความเห็นเหมือนปี 2540 ที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุด แต่มันมีคนไม่ดีแฝงอยู่ในระบอบประชาธิปไตย จนนำไปสู่การปฏิวัติ นักการเมืองที่ขาดจิตวิญญาณของความเป็นนักประชาธิปไตย สร้างผลประโยชน์ให้ตัวเองจนผู้คนเริ่มชิงชัง
พรรคชาติไทยฯเป็นพรรคที่ชอบปฏิบัติ ไม่ใช่พรรคที่ชอบประชาสัมพันธ์ เราไม่ชอบทวงบุญคุณ ทำเสร็จแล้วเหมือนปิดทองหลังพระ แต่มีความภาคภูมิใจลึก ๆ จะมีคนพูดถึงหรือไม่พูดถึง ไม่สำคัญ เราไม่ใช่นักประชาสัมพันธ์ เราไม่ใช่นักการตลาด
- เป็นเพราะบารมีของคุณบรรหาร การเป็นหัวขบวนจึงได้รับการยอมรับจากพรรคร่วม
ท่านบรรหารในฐานะผู้ใหญ่ทางการเมืองคนหนึ่ง ทุกคน...ไม่มีใครปฏิเสธหรอก แต่อย่างที่บอกเราไม่ชอบทวงบุญคุณกับคน ทุกอย่างเมื่อเราทำจบแล้ว อานิสงส์ที่ได้รับคือความภาคภูมิใจ ใครจะพูดถึงเราในทางที่ดีหรือไม่ดีอย่างไร เรามีหน้าที่อย่างเดียวคือน้อมรับคำวิจารณ์
ในทางการเมือง พรรคชาติไทยฯสร้างนักการเมืองดี ๆ แล้วท้ายที่สุด เขาก็ไปที่อื่น เมื่อเห็นว่าอยู่กับเราไม่โต เป็นพรรคเล็ก ๆ โอกาสเป็นแกนนำรัฐบาลเพื่อที่จะมาสร้างประโยชน์ให้ตัวเองมันน้อยเต็มทน เขาก็เลือกไปพรรคที่ใหญ่
- หากการแก้รัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ มีโอกาสที่พรรคชาติไทยฯจะพลิกขั้วอีกหรือไม่
ไม่มี...เราไม่คุยเรื่องพลิกขั้ว เรามีมารยาท การอยู่ร่วมรัฐบาลความมีมารยาทนั้น และที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นตัวชี้วัดอนาคตทางการเมืองของแต่ละพรรคก็คือ ความสุจริตใจที่มีต่อพรรคร่วม ท่านบรรหารเป็นตัวอย่าง คุยกันจบก็คือจบ ท่านไม่เคยทรยศใคร รับปากก็คือรับปาก ็ร่วมหัวจมท้ายกันถึงที่สุด ตายก็ตายด้วยกัน เรือล่มก็ต้อง กอดคอกันสู้ เราไม่เคยที่เรืออัปปางแล้ว เราถีบหัวเรือส่ง เราไม่เคยมีประวัติ
- มีข้อตกลงก่อนการร่วมรัฐบาลอย่างไร พรรคชาติไทยฯจึงได้รับฉันทานุมัติในการทวงสัญญาจากพรรคประชาธิปัตย์
พวกเรามีการคุยกันกับพรรคประชาธิปัตย์เองว่า ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มันก่อให้เกิดความยุ่งยากมาก ทั้งเรื่องความสมานฉันท์ เรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน ในเรื่องกระบวนการเลือกตั้งที่ทำให้คนในพรรคเดียวกันกลายเป็นคนละขั้ว
ครั้งหนึ่งไปคุยที่บ้าน ท่านนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ นัดหมายกันครบทุกพรรค ท่านอภิสิทธิ์ก็บอกว่าให้แต่ละพรรคการเมืองไปทำความต้องการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญของแต่ละพรรค แล้วสรุปโดยเร็ว ก็จะได้นำไปสู่กระบวนการยื่นขอแก้ไข
หลังจากนั้น เราก็ทำเสร็จสรรพแล้วเสนอส่งไปที่ท่านนายกฯ
ท่านอภิสิทธิ์ผมเข้าใจท่านนะ ว่าท่านต้องการให้ทุกอย่างผ่านกลไกของระบบรัฐสภา ซึ่งขณะนั้นมีประเด็นการเรียกร้องความสามัคคี ความสมานฉันท์ ท่านก็ให้เปิดรัฐสภา
เพราะทุกคนรู้ว่านี่คือคราบไคลที่เหลืออยู่จากการปฏิวัติ ก็เลยตั้งกรรมการสมานฉันท์ กระทั่งได้มา 6 ประเด็น ก็มีการพูดเรื่องการทำประชามติเสียก่อน ก็พูดกันไป เวลาก็ยื้อออกไปอีก แล้วก็ผ่านมาแบบไม่มีอะไรเลย
นั่งคุยกันอีกครั้งเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2552 มีคุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) อยู่ด้วย ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล ก็ถามท่านสุเทพว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเอาอย่างไร พวกผมเนี่ย...ปีกว่าแล้วนะ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเราจะแก้ 2 ประเด็น
พี่สุเทพก็รับ บอกว่าเอาละ ผมจะเอาเรื่องที่ทุกพรรคการเมืองมาบอกผม กลับไปบอกที่ประชุมพรรคในวันที่ 27 ธันวาคม 2552 แล้วก็จะส่งข่าวว่าจะเอายังไง แต่หลังจากนั้นก็เงียบหายไปอีก
จนกระทั่งพวกเรา 5 พรรคการเมืองก็บอกว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ขอให้ท่านบรรหาร ในฐานะผู้อาวุโส เป็นอดีตนายกฯช่วยประสานแต่ละพรรคว่าเราจะขับเคลื่อนกันยังไง
- ทำไมการเดินสายหาแนวร่วม ถึงไม่มีพรรคประชาธิปัตย์รวมอยู่ด้วย
ที่ไม่มี...เพราะผมเข้าใจเขาว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็น พรรคการเมืองเก่าแก่ที่มีระบบ ทำอะไรก็แล้วแต่ท่านสุเทพ ท่านอภิสิทธิ์ ตัดสินใจเองไม่ได้ ทุกอย่างต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของพรรค คุยกับนายกฯ กับท่านสุเทพ ทุกอย่างไม่คืบหน้าเพราะต้องกลับไปถามพรรคก่อน
ฉะนั้น เขาไปประชุมพรรคอย่างไร จะเอาหรือไม่เอา เขาก็มาบอก ตรงนี้ถึงบอกว่า การทำงานในการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการทำงานในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล เราต้องแยกประเด็นการทำงานในฐานะรัฐบาล เรายินดีที่จะร่วมจับมือทำงานร่วมกัน แต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญขอให้เป็นเรื่องรัฐสภา
- คิดว่าเป็นเพราะพรรคประชาธิปัตย์ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ถึงไม่ยอมแก้ไขง่าย ๆ
เราไม่อยากมองเขาในแง่ร้าย แต่เรามองในแง่ดีเพราะเขามีความเป็นระบบพรรค เขามีประธานที่ปรึกษาท่านอดีตนายกฯชวน (หลีกภัย) มีพี่บัญญัติ (บรรทัดฐาน) ทำให้เราชั่งใจและประเมินตัวเองว่า พรรคเราเวลามีอะไรแกนนำเรียกสมาชิกพรรคมาประชุมหารือ จะได้ข้อสรุปเร็วมาก เอาก็เอา ไม่เอาก็คือไม่เอา...จบ แต่ของประชาธิปัตย์มีความหลากหลายด้วยระบบพรรคและกลไกการทำงานของพรรค ไม่เหมือนกับพรรคพวกเรา ซึ่งเราเข้าใจ
- หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับพรรคร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะส่งผลกับการร่วมรัฐบาลหรือไม่
เราแยกขาดจากกัน เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องรัฐสภา ซึ่งท่านนายกฯอภิสิทธิ์ก็พูดย้ำชัดเจนว่าให้เป็นเรื่องของสภา ความจริงถ้ารัฐบาลจะทำเสนอในนามรัฐบาลก็ทำได้ ไม่ต้องมีเสียงรับรอง แต่ในเมื่อท่านปรารถนาจะให้เรื่องนี้เป็นเรื่องความหลากหลายในสภา ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ให้มาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ท่านก็มองในมุมนี้ เราก็เคารพในความเห็นท่าน
ฉะนั้น เราก็อาศัยกลไกของสภาในการดำเนินการ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะร่วมหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญ และเราไม่ได้ จับมาเป็นประเด็นในการที่จะ อยู่ร่วมกันในการทำงานของรัฐบาล
- กลายเป็นว่าหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องพึ่งบริการของพรรคชาติไทยพัฒนา
ต้องยอมรับว่าพรรคชาติไทยฯเริ่มต้นจากการปฏิรูปทางการเมืองเมื่อปี 2538 เรารู้ว่าบ้านเมืองจะไปได้ ประชาธิปไตยต้องมั่นคง ซึ่งประชาธิปไตยที่ดีที่สุดคือประชาธิปไตยที่มีกระบวนการส่วนร่วมของภาคพลเมือง เราบอกว่าเราเป็นประชาธิปไตย แต่กฎหมายแม่บทคือ รัฐธรรมนูญ ยังมีคราบไคลของความเป็นเผด็จการที่สร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้น แล้วเราจะยอมรับได้มั้ย
พรรคชาติไทยฯถึงประกาศเป็นนโยบายตั้งแต่ลงสนามเลือกตั้งครั้งที่แล้วว่า ถ้าเราเข้ามาเป็นรัฐบาล สิ่งแรกที่จะทำคือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ เราก็ต้องเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดสิ่งเหล่านี้ พรรคร่วมอื่น ๆ อย่างพรรคเพื่อแผ่นดิน ลึก ๆ แล้วแกนนำของเขาเรามีการพูดคุยและผลักดันเรื่องนี้ตลอด แล้วเขาก็เห็นด้วยกับเราทุกแนวทาง จึงร่วมแถลงแสดงจุดยืนกับเรา
- พรรคร่วมรัฐบาลมาเคลื่อนไหวกดดันประชาธิปัตย์ในช่วงที่นายกฯเรตติ้งสูง จะสำเร็จหรือไม่
ผมไม่ได้มามองว่าท่านนายกฯอภิสิทธิ์กำลังมีคะแนนดี พรรคไหนมีคะแนนดี แต่ผมคิดว่ามันเป็นภาระเป็นพันธะที่ฝ่ายการเมืองต้องทำ ในเมื่อรัฐธรรมนูญที่มันไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วเราก็มองเห็นถึงปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น ไม่ใช่อยู่ไปแบบ เช้าชาม เย็นชามอย่างนั้น ไม่ใช่พรรคชาติไทยฯแน่
ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น