ที่มา:มติชนออนไลน์
พท.ย้ำจุดยืนไม่ร่วมสังฆกรรมแก้ รธน. เสี้ยม"บรรหาร"ดิ้นดันวันแมนวันโหวต เหตุ ปชป.รุกคืบชิงพื้นที่ภาคกลาง วิป รบ.เชื่อพรรคร่วมไม่หลงกล หันไปจับมือฝ่ายค้านลุยรื้อ 2 ปม คุยรู้ทันแผนยื่นซักฟอกพร้อมญัตติแก้ รธน. หวังทำพรรคร่วมแตกแยก
พท.ย้ำจุดยืนไม่ร่วมสังฆกรรมรื้อรธน.
เรื่องการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) อาจจับมือกับนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย(ภท.)ผลักดันแก้ไข มาตรา 190 ว่าด้วยการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศต้องได้รับความเห็นขอบจากรัฐสภา และมาตรา 94 เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งให้เป็นระบบเขตเดียวเบอร์เดียวนั้น
นายพีระพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวเมื่อวันที่ 1 มกราคม ว่า พท.ประกาศแล้วว่าจะไม่ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญกับรัฐบาลชุดนี้ไม่ว่าจะเป็นการเสนอโดยใคร เพราะการเข้าร่วมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เท่ากับเดินเข้าสู่เกมของพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการยื้อเวลาในการอยู่ในตำแหน่งให้ยาวนานออกไป ซึ่งถ้าฝ่ายค้านเข้าไปร่วมก็เท่ากับว่าไปประทับตราให้รัฐบาลอยู่ต่อ พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยแสดงความจริงใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่แรก เพราะถ้าย้อนเวลากลับไปพิจารณาดู เมื่อครั้งที่คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้นำเสนอ 6 ประเด็นสำหรับการแก้ไขรรัฐธรรมนูญมาพรรคประชาธิปัตย์ได้ส่งตัวแทนมาพูดคุยกับพท. แต่พอกลับไปที่พรรคประชาธิปัตย์แกนนำพรรคทั้งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดกันไปคนละทิศละทาง ซึ่งแสดงให้เห็นความไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
ยุ"เติ้ง"สลัดปชป.ร่วมมือกับเพื่อไท
"การที่นายบรรหารต้องการเร่งกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเพราะนายบรรหาร น่าจะเห็นแล้วว่าการลงสมัครรับเลือกตั้งตามกติกาของรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นไม่เป็นธรรมกับพรรคชาติไทยพัฒนา เพราะจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์เข้ารุกคืบทำพื้นที่ในภาคกลางหลายจังหวัดได้ง่าย เพราะเป็นพรรคการเมืองใหญ่ ในขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนาเป็นพรรคการเมืองขนาดกลางที่เสียเปรียบในเรื่องของทุน ที่หากเป็นเขตเลือกตั้งขนาดใหญ่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง จึงอยากให้กลับมาใช้แบบวันแมนวันโหวต เขตเดียวเบอร์เดียว และนับวันพรรคประชาธิปัตย์จะพยายามกินแดนของพรรคชาติไทยพัฒนาไปเรื่อยๆ จนขณะนี้แทบจะเหลือเพียงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีเท่านั้นที่ยังปลอดภัยอยู่" นายพีรพันธุ์กล่าว
นายพีระพันธุ์กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์รู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถเพิ่มพื้นที่ในภาคอีสาน จึงจำเป็นจะต้องเพิ่มที่นั่งในพื้นที่ ภาคกลาง เพื่อสู้กับพท. ในขณะที่ชทพ.ก็ควรรู้ว่าหากยังอยู่ตรงนั้นต่อไป ไม่ว่าจะไปร่วมมือกับพรรคภูมิใจไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆก็ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่แก้ให้ จึงอยากจะฝากไปบอกนายบรรหารว่า หากอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ให้ออกจากพรรคประชาธิปัตย์มาอยู่กับฝ่ายพท.
วิปรบ.เชื่อพรรคร่วมไม่หลงเกมพท.
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล กล่าวถึงกรณีที่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลอย่างนายเนวิน และนายบรรหาร ออกมากดดันให้รัฐบาลเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า รัฐบาลไม่ได้ถ่วงเวลา เพียงแต่อยากขอเวลาไปหารือกับทุกฝ่ายก่อนว่ายังจะเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯหรือไม่ จะต้องทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และจะร่วมลงชื่อด้วยกันระหว่างส.ส.กับส.ว.หรือไม่ ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพรรคร่วมรัฐบาลหันไปร่วมลงชื่อกับฝ่ายค้านจริงก็สามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องรอพรรคประชาธิปัตย์ใช่หรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า เชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลคงไม่ทำเช่นนั้น เพราะทราบดีว่าเรื่องนี้เป็นเกมของฝ่ายค้านที่หวังให้รัฐบาลเกิดความแตกแยกกัน เมื่อถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังยืนยันว่าต้องทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ เรื่องนี้ต้องขอความเห็นชอบของทุกฝ่ายก่อน
ชทพ.ขอจับมือทุกพรรคแก้เว้นปชป.
นายภราดร ปริศนานันทกุล วิปรัฐบาลจากชทพ.กล่าวว่า ชทพ. พร้อมสนับสนุนแนวคิดของนายบรรหาร ในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับภท. หาก ชทพ.จะร่วมมือกับพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นโดยยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์นั้นก็คงสามารถทำได้ เพราะสามารถเสนอญัตติขอแก้เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยใช้เสียงของสมาชิกรัฐสภาเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น เมื่อเปิดสภาก็ทำได้เลย อีกทั้งตอนนี้พรรคไม่แน่ใจกับท่าทีพรรคประชาธิปัตย์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่ผ่านมาบอกว่าทนเห็นสภาพของบ้านเมืองที่ขัดแย้งไม่ได้
"พรรคประชาธิปัตย์เคยบอกว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อคืนความสมานฉันท์ แต่ต่อมากลับบอกว่าไม่แก้ไขแล้ว จึงไม่ทราบว่าจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์จะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร ทำให้ตอนนี้จึงมีแนวคิดจะใช้ช่องทาง 1 ใน 5 ของสมาชิกรัฐสภา หากพรรคภูมิใจไทยเสนอแก้ไขมาตรา 190 และมาตราเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งเขตเดียวเบอร์เดียว เราก็อาจสนับสนุนด้วยไม่ใช่เฉพาะพรรคภูมิใจไทย แต่ถ้ามีการเสนอให้แก้มาตรา 237 (ยุบพรรค) ชทพ.จะไม่ร่วมแก้ด้วยแน่นอน" นายภราดรกล่าว
เมื่อถามว่า หากเปิดสภาแล้วพรรคชทพ.พร้อมจะเป็นผู้นำเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเองหรือไม่ นายภราดร กล่าวว่า พรรคชทพ.มีแค่ 25 เสียง หากทำแค่พรรคเดียวไม่สามารถทำได้ ก็ต้องดูก่อนว่าได้รับความร่วมมือจากพรรคไหนบ้าง แต่หากมีพรรคอื่นเสนอแนวคิดนี้ขึ้นมา พรรคชทพ.ก็พร้อมจะร่วมลงชื่อด้วย และหากพรรคชทพ.ไม่เห็นด้วยกับประเด็นใดก็ไม่ร่วมลงชื่อด้วย เมื่อถามย้ำว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ยังเมินแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ พรรคร่วมรัฐบาลก็พร้อมเดินหน้ายื่นญัตติใช่หรือไม่ นายภราดร กล่าวว่า ต้องดูก่อน เพราะพรรคประชาธิปัตย์ขณะนี้มี 2 ฝั่ง คือฝั่งที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่อีกฝั่งคัดค้าน แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของสภาไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ซึ่งต้องจับตาดูเมื่อเปิดสภาแล้วจะเป็นอย่างไร และชทพ. คงต้องรอดูท่าทีของพรรคเพื่อไทยด้วยว่าจะร่วมลงชื่อกับแนวคิดนี้หรือไม่ด้วย ซึ่งเหล่านี้อาจเป็นไปได้ทุกทาง
รู้ทันแผนสร้างรอยร้าวให้พรรค รบ.
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ กล่าวถึงการเตรียมการรับมือฝ่ายค้าน ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยประชุมสภาสามัญที่จะถึงนี้ว่าา วิปรัฐบาลประชุมเตรียมการรับศึกซักฟอกไปแล้ว 1 ครั้ง ก่อนเทศกาลปีใหม่ และได้มีมติตั้งคณะทำงานขึ้นมา 3 ชุด ประกอบด้วย 1.คณะทำงานจัดเตรียมข้อมูล มีน.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ ส.ส.ลพบุรี พรรคประชาธิปัตย์เป็นหัวหน้าทีม 2.คณะทำงานดูแลระเบียบข้อบังคับ มีนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์เป็นหน้าที่ทีม และ 3.คณะทำงานชี้แจงและประชาสัมพันธ์มีนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์เป็นหัวหน้าทีม โดยจะให้คณะทำงานทุกชุดไปรวบรวมข้อมูลที่คาดว่าฝ่ายค้านจะหยิบมาใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจ ก่อนนำมาสรุปอีกครั้งในการประชุมวันที่ 18 มกราคมนี้
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์กันภายในวิปรัฐบาล คาดว่าฝ่ายค้านจะยื่นญัตติของเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจพร้อมกับญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลาเดียวกัน ซึ่งคาดว่าประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์เพื่อให้เกิดความแตกแยกภายในพรรคร่วมรัฐบาล แต่จากการที่ตนประสานงานและติดตามความเคลื่อนไหวของพรรคร่วมรัฐบาล ยืนยันได้ว่าภายในพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีความแตกแยก ที่สำคัญวิปรัฐบาลไม่กลัวว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจดังกล่าวจะทำให้รัฐมนตรีคนใดหลุดจากตำแหน่ง เพราะในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา ไม่เคยมีรัฐมนตรีคนใดที่หลุดจากตำแหน่งเพราะเสียงไม่ไว้วางใจมากกว่าเสียงไว้วางใจ ที่ผ่านมารัฐมนตรีที่ต้องหลุดจากเก้าอี้มีเพียงคนที่ไม่สามารถทำความเข้าใจกับประชาชนได้เท่านั้น ดังนั้นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ วิปรัฐบาลจะเปิดโอกาสให้รัฐมนตรีแต่ละคนได้ชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่
หาก"มานิต"อยู่ต่อคงไม่"ถูกน็อค"
ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จากภท.ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปทั้งที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโครงการไทยเข้มแข็งของสธ. ระบุ นายมานิตมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต จะถือเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลถูกน็อคในการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า เชื่อว่าหากนายมานิตยังอยู่ในตำแหน่งจนถึงช่วงซักฟอกจะต้องมีข้อเท็จจริงที่สามารถชี้แจงได้ แต่ส่วนตัวเชื่อมั่นว่านายวิทยา แก้วภราดัย อดีตรัฐมนตรีว่าการสธ. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต แม้จะลาออกแสดงความรับผิดชอบไปแล้วก็ตาม เพราะนายวิทยายืนยันมาตลอดว่า สธ.ไม่เคยนำเงินจากงบโครงการไทยเข้มแข็งออกไปใช้แม้แต่บาทเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น