--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2553

แก้หนี้ประเทศ4ล้านล.โจทย์หิน จักรกฤศฏิ์


ที่มา:นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
นับเป็นโจทย์ท้าทายไม่ใช่น้อย กับการเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ( สบน. ) ในสถานการณ์ที่หนี้สาธารณะของประเทศมีมากถึง 4 ล้านล้านบาทเป็นประวัติศาสตร์ แต่จะบริหารอย่างไร ภายใต้วงเงินก่อหนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และไม่เป็นภาระประชาชนที่จะต้องเสียในรูปภาษี

ฐานเศรษฐกิจ " มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการ ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ สบน.คนใหม่หมาด ๆ (ปัจจุบันรอการโปรดเกล้า ฯแต่งตั้ง )

3 พันธกิจกับโจทย์ท้าทาย
ต้องบอกว่าผมเข้ามาในช่วงที่จุดหนี้สาธารณะสูงสุด ท้าทายมากสุดในประเทศไทย ดังนั้นการบริหารหนี้สาธารณะจากนี้ไป จึงต้องเป็นแบบโปรแอกทีฟ เริ่มตั้งแต่ 1. เรื่องการก่อหนี้ประเทศ ซึ่งการก่อหนี้ต่อไปต้องคำนึงถึงประโยชน์ ความสามารถสร้างผลตอบแทนและพัฒนาเศรษฐกิจประเทศอย่างยั่งยืน หรือเป็นการกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อเน้นสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อการแข่งขัน ,สร้างโครงสร้างเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์, เสริมสร้างการแข่งขันของประเทศ และลดต้นทุนเพื่อประเทศในระยะยาว ซึ่งการจะมุ่งสู่เป้าหมายได้ เราต้องมีจุดยืนที่มั่นคง สบน.ต้องไปหาแนวร่วมจากหน่วยงานกลาง ทั้งจากสภาพัฒน์, สำนักงบประมาณ, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

2. เรื่องการบริหารจัดการหนี้ 4 ล้านล้านบาทต้องมีทิศทางที่ชัดเจน โดยนำพอร์ตโฟลิโอเบนช์มาร์ก( portfolio benchmark ) มาใช้ แต่การจะใช้พอร์ตโฟลิโอเบนช์มาร์กได้ เราต้องมีทีมที่มีความรู้สามารถรันโมเดลได้ว่าต่อไปพอร์ตของหนี้ของประเทศควรประกอบด้วยสกุลอะไรบ้าง , อัต ราดอกเบี้ยจะฟิตหรือลอยตัว หรือควรเป็นหนี้ระยะสั้น-ยาวแค่ไหน เพื่อจะมาแมตชิ่งกับการชำระคืนทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย สิ่งเหล่านี้ต้องเห็นภาพรวมของพอร์ตโฟลิโอทั้งหมด เพื่อให้รู้ทิศทางและกำหนดได้ว่าดอกเบี้ยแต่ละปีว่าจะมีช่วงอยู่ที่เท่าไร และเป็นภาระต่องบประมาณเท่าไร สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก

3.เรื่องการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ให้โต เพียงพอต่อการรองรับการระดมทุนของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน สิ่งที่เราต้องทำคือสร้างสภาพคล่องของพันธบัตรรัฐบาลให้ซื้อง่ายขายคล่อง เพื่อนักลงทุนที่เข้ามาก็จะได้เข้ามาลงทุนได้ดีกว่าเดิม ปัจจุบันพันธบัตรรัฐบาลจะขาดสภาพคล่อง เพราะส่วนใหญ่จะซื้อและถือกันไม่ขาย เวลาดอกเบี้ยขึ้นลง มันก็มีผลขาดทุน ประเด็นต่อมาคือสร้างความหลากหลาย จึงต้องพัฒนารูปแบบจากที่มีเพียงพันธบัตรรัฐบาล, พันธบัตรออมทรัพย์, พันธบัตรอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ในอนาคตก็จะมีเป็น Index link ซึ่งจะเชื่อมโยงกับอินเด็กซ์อื่น ๆ และเชื่อมโยงดัชนีเงินเฟ้อ หรือตัวอื่น ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจะทำพันธบัตรนี้ออกมาให้สามารถรองรับการระดมทุนทุกรูปแบบ และเป็นแหล่งพักเงินช่วงภาวะเศรษฐกิจผันผวนหรือตลาดหุ้นผันผวน คนก็สามารถออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯก็มาพักกับพันธบัตรรัฐบาลได้

ผมตั้งเป้าหมายว่าหลังมารับตำแหน่งภายใน 1 ปี 3 มาตรการหลัก ทั้งทิศทางการบริหารหนี้ ทิศทางระดมทุน และการพัฒนาตลาดตราสาร มาตรการเหล่านี้ต้องมีความชัดเจน"
สร้างคน-ทีมงานรองรับ

นอกจาก 3 ส่วนงานหลักควบคู่กันไป เขาได้ให้ความสำคัญในการ "สร้างคน" ปัจจุบันบุคลากรของสบน.สมองไหลประปราย จากที่มีจำกัดเพียง 140 อัตรา แต่ไหลออก 4-5% จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างคนโดยเฉพาะในส่วนของแคปปิตอลมาร์เก็ต ดังนั้นอันดับแรกที่ผมเข้ามาบริหาร จะเร่งจัดคนลงในตำแหน่งที่ว่างที่มีประมาณ 5-6 ตำแหน่ง และส่วนที่เป็นราชการอีกกว่า 10 ตำแหน่ง ,การจัดหาลูกจ้างในระดับล่างลง โดยตำแหน่งระดับล่างจะรีครูตลูกจ้างที่มีความรู้การเงิน การคลัง ตลาดตราสาร มาทำ มาเสริมในหน่วยที่ต้องใช้คน ที่มีความรู้เฉพาะทางเช่นฝ่ายบริหารความเสี่ยง แคปปิตอลมาร์เก็ต เรื่องการพัฒนาตลาดพันธบัตรและติดตามประเมินผลในงบโครงการไทยเข้มแข็งคน ซึ่งหากลูกจ้างเหล่านี้มีศักยภาพและถ้าตำแหน่งราชการว่างก็สามารถบรรจุได้ทันที ซึ่งเราได้งบส่วนลูกจ้างจากงบไทยเข้มแข็งปี 53 ประมาณ 10 ล้านบาท

โดยคาดหวังโครงสร้างภายในใหม่จะต้องประกอบด้วยทีมงานที่มีความพร้อมในหน่วยงานหลักอาทิ ทีมบริหารความเสี่ยง, ทีมแคปปิตอลมาร์เก็ต และทีมวิเคราะห์ความเสี่ยง
++ปรับโครงสร้างยืดหนี้

ส่วนการบริหารจัดการหนี้ 4 ล้านล้านบาท นายจักรกฤศฏิ์ กล่าวว่าสบน.จะยืดระยะเวลาหนี้ โดยจากพอร์ตโฟลิโอหนี้สาธารณะอายุหนี้ปัจจุบันจะเฉลี่ยที่ 4.5 ปี แต่จากเศรษฐกิจที่เริ่มสู่ขาขึ้น แนวโน้มดอกเบี้ยสูงขึ้น ประกอบกับการระดมเงินจากภาคเอกชนที่จะเข้ามาในตลาดมากขึ้น การบริหารหนี้ในหลักการจึงต้องขยายหนี้ให้มีระยะยาวขึ้น จากค่าเฉลี่ย 4.5 ปี จะเพิ่มเป็น 5 ปีหรือมากกว่า เพื่อ1. เป็นการล็อกอัตราดอกเบี้ย 2 .ลดการ roll over ของหนี้ เพราะการยืดอายุหนี้ออกไป ไม่เพียงจะทำให้หนี้ที่ครบกำหนดน้อยลง จากอายุหนี้ที่เป็นระยะยาวมากขึ้น ยังเป็นการลดความเสี่ยงและต้นทุนระยะยาวของประเทศ

ถามว่าจะทำอย่างไร พันธบัตรที่นำมาแมตชิ่งหนี้ที่จะออกใหม่จากนี้ไป จะมีระยะยาวมากขึ้น แทนที่จะเป็น 2-3 ปี ก็เป็น 5 ปี 10 ปี 20 ปี และปัจจุบันก็มีพันธบัตร 30 ปีแล้วแต่จะออกให้มากขึ้น พร้อมทั้งจะออกเป็นพันธบัตรอายุ 50 ปี ถ้าตลาดยอมรับก็จะมีพันธบัตร 50 ปีมากขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา อย่างไรก็ดีปกติก.คลังมีวงเงินสำหรับออกพันธบัตรประมาณ 400,000 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นระยะกลาง 3 ปี 5 ปี 10 ปี ที่เหลือเป็น 15-20-30 ปี แต่วงเงินหลังจะน้อย เราก็จะพยายามเพิ่มขนาดส่วนหลัง ( 15-20-30 ปี ) มากขึ้นเรื่อย ๆจากปัจจุบัน พันธบัตร 30 ปี มีประมาณ 10,000 ล้านบาท ,ก็อาจเพิ่มเป็น 20,000 ล้านบาทหรือ 30,000 ล้านบาทในอนาคต ส่วนพันธบัตรอายุ 50 ปี จะเริ่มออกวงเงินไม่มากนัก 3,000 ล้านบาท โดยจะทดสอบตลาดก่อนว่ามีใครสนใจไหมแล้วค่อยเพิ่มไปเรื่อย ๆ

"เราพยายามจะหาวิธีการที่จะทำให้หนี้เงินต้นไม่กระจุกตัว และมีภาระดอกเบี้ยที่เราจะสามารถรู้ล่วงหน้า ซึ่งจะอยู่ในช่วงไม่เกิน 15% หรือในช่วง 12-15% ของงบประมาณรายจ่าย (ตามกรอบวินัยการคลัง) โดยภาระดอกเบี้ยจากนี้ไปสูงขึ้นแน่นอน จากการที่กระทรวงการคลังก่อหนี้ไว้ 800,000 ล้านบาท (จากพ.ร.ก.และพ.ร.บ. ในโครงการไทยเข้มแข็ง) แต่จะทำอย่างไรไม่ให้เกิน 15% ซึ่งหากภาระดอกเบี้ยมากไปก็เป็นหน้าที่ของ สบน. ต้องหาทางลดดอกเบี้ย โดยการปรับโครงสร้างหนี้ อาทิ รีไฟแนนซ์ จากดอกเบี้ยลอยตัว มาเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่เพื่อจะลดต้นทุนให้อยู่ในกรอบงบประมาณรายจ่ายไม่เกิน 15%
++ลดเงินต้น-ตัดภาระค้ำฯรสก.

ส่วนการลดภาระหนี้เงินต้นทำได้ 2 ทางคือ 1. การลดหนี้สาธารณะ โดยการชำระคืนเงินต้นและ 2. โดยการลดภาระการค้ำประกัน สิ่งที่สบน.จะทำได้ในอนาคตก็คือการลดภาระการค้ำประกันลง และถ้ามีเงินเหลือ เศรษฐกิจดี ถึงจะไปชำระคืน โดยการลดหนี้ส่วนของก.คลัง เรากำลังให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลหนี้ของรัฐวิสาหกิจ , หนี้รัฐต่าง ๆที่เราไปค้ำแล้วเป็นหนี้เสีย อาทิหนี้(องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ) อ.ต.ก. หนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ,องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ที่รัฐค้ำประกันให้ไปแล้ว แต่ไม่มีโอกาสจะใช้คืน กำลังคิดกันอยู่ว่าจะแปลงหนี้มาเป็นหนี้รัฐบาลได้อย่างไร เพราะหากเป็นหนี้ที่รัฐบาลรับเข้ามา รัฐบาลสามารถลดภาระหนี้ลงได้ เพราะเป็นหนี้โดยตรง มีบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพกว่า ต้นทุนก็จะถูกลง

ส่วนแนวทางในการลดหนี้เงินต้น นายจักรกฤศฏิ์ กล่าวว่า แนวทาง 1. หากมองว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัว การจัดเก็บรายได้เกินเป้าก็ไม่มีปัญหา อย่างปัจจุบันการจัดเก็บรายได้ตกเดือนละ 20,000 ล้านบาท ถ้าคำนวณตลอดทั้งปี สบน.อาจไม่จำเป็นต้องกู้เงินแสนกว่าล้านบาท เพื่อมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 53 วงเงิน 350,000 ล้านบาทก็เป็นได้

แนวทางที่ 2 ก็คือการบริหารทรัพย์สิน ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งอาจมีทรัพย์สินที่มีค่า ซึ่งสามารถนำมาใช้หนี้คืนในอนาคตได้ ซึ่งส่วนนี้สบน.เล็งเป้าอยู่ว่าจะดึงส่วนไหนมาเป็นทรัพย์สินได้ ส่วนแนวทางที่ 3 การหาทางลดภาระหนี้ในส่วนของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งกระทรวงการคลังรับผิดชอบ (ส่วนภาระด้านดอกเบี้ย) ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(รับภาระส่วนเงินต้น) ซึ่งเป็นหนี้ระยะยาว 20-40 ปี ก็ต้องไปหาทางหาวิธีการจัดการ ทำอย่างไรให้มีการชำระคืน หรือรับภาระหนี้แทนกระทรวงการคลังต่อ อันนี้ก็เป็นแผนที่กำลังคิดว่าจะต้องทำอย่างไร

แนวทางที่ 4 เงินคงคลัง ปัจจุบันยังไม่สามารถที่จะหาผลตอบแทนได้ ในที่สุดแล้วต้องหาผลตอบแทน เพราะเป็นเงินที่เรากู้เป็น Treasury Bill (T-Bill) มาเพื่อใส่เงินคงคลัง ซึ่งมีการศึกษามาหลายยุคหลายสมัยแล้วว่าควรจะเอามาบริหารจัดการให้มีผลตอบแทน อันนี้เราก็จะต้องร่วมกับกรมบัญชีกลางผลักดันให้เป็นจริง และทางธปท.เองก็ต้องไม่ขัดข้อง เรื่องการจะให้กระทรวงการคลังเอาเงินคงคลังมาบริหาร ตัวนี้ถ้าเอามาบริหารจริงจังได้ ก็จะสร้างผลตอบแทนให้กระทรวงการคลังเป็นเงินก้อนโต
"คือตอนนี้เรามีเงินคงคลังฝากอยู่แบงก์ชาติเฉลี่ยต่อปีประมาณแสนกว่าล้าน ซึ่งเงินจำนวนนี้ถ้าเราได้ผลตอบแทนอย่างน้อยๆ สัก 0.75% มันก็ได้ประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท ตรงนี้ก็น่าจะนำมาหาประโยชน์ได้ ซึ่งต้องเป็นการทำงานที่ต้องร่วมกันกับกรมบัญชีกลาง โดยเราศึกษาหาทางออกให้แล้ว ส่วนจะทำอย่างไรก็ต้องไปแก้กฎหมายเงินคงคลัง นี่คือสิ่งที่คิดไว้" ผู้อำนวยการ สบน. ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า

การบริหารหนี้ก้อนโตของประเทศ 4 ล้านล้านบาท เป็นบูรณาการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม โดยไม่ปล่อยให้กระทรวงการคลังต้องแบกรับไว้คนเดียว เพราะกระทรวงการคลังเองก็มีงบประมาณจำกัด หากทุกฝ่ายร่วมและช่วยเหลือกันลดหนี้ หารายได้ผมว่าการแก้ไขหนี้จะประสบความสำเร็จ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น