--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553

สองมาตรฐานหรือไร้มาตรฐาน

โดย: สุรศักดิ์ อมรรัตนศักดิ์

คำว่า สองมาตรฐาน หรือ Double Standard ได้ถูกนำมาใช้ในราวต้ปี 2493 คำว่าสองมาตรฐานเริ่มเป็นที่ติดปากของคนไทยในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านและออกมาโจมตี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่ามีสองมาตรฐานแต่คำนี้กลับมาชัดเจนมากยิ่งขึ้นในสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
สองมาตรฐาน เป็นการเปรียบเทียบการใช้แนวทางหรือมาตรฐานในการจัดการกับกลุ่มเป้าหมายสองกลุ่มด้วยวิธีที่แตกต่างกัน และมักจะถูกนำมาใช้เปรียบเทียบกับการแก้ปัญหาที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งรู้สึกว่าไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม
ประเทศไทยทุกวันนี้ คนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจำนวนหลายล้านคน รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมรัฐบาลมีสองมาตรฐาน
หากคนส่วนใหญ่ในประเทศรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมหรือรัฐบาลมีสองมาตรฐานแล้วก็ยากที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบและสันติ
ดังนั้น จึงไม่มีประโยชน์เลยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเรียกหาความสามัคคี โดยไม่มีการกระทำใด ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ในประเทศรู้สึกว่าได้รับความยุติธรรม และรัฐบาลมีมาตรฐานเดียว
ทั้งนี้ เพราะตราบใดก็ตามที่ความเป็นธรรมไม่มี ความสามัคคีก็ไม่เกิด
แนวทางที่จะสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นกับคนในชาติ ก็ต้องเริ่มต้นที่ตัวนายอภิสิทธิ์ โดยนายอภิสิทธิ์จะต้องทำให้ทุกคนในประเทศนี้เห็นว่าประเทศไทยยังมีความยุติธรรมหลงเหลืออยู่และรัฐบาลมีมาตรฐานเดียว
ที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์ไม่เคยแสดงสิ่งดังกล่าวให้ปรากฎเลยว่ารัฐบาลใช้มาตรฐานเดียวกันกับคนทุกกลุ่ม
นายอภิสิทธิ์มีแต่ตอกย้ำให้คำว่าสองมาตรฐานเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ
หากไม่เชื่อลองมาพิจารณาทบทวนพฤติกรรมที่ผ่านมาในรอบ 1 ปี ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ซึ่งจะขอยกเฉพาะประเด็นที่เด่นชัดดังนี้
1 การติดตามตัวผู้หลบหนีคดีอาญา
กระทรวงการต่างประเทศในยุคที่มีรัฐมนตรีว่าการชื่อ นายกษิต ภิรมย์ ได้ดำเนินการทุกวิถีทางในการไล่ล่า พ.ต.ท.ทักษิณ ถึงกับประกาศว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นภัยคุกคามต่อประเทศที่จำเป็นต้องขจัดให้สิ้นซาก
ในขณะที่ผู้หลบหนีคดีอาญาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกำนันคนดังแห่งภาคตะวันออกหรือเจ้าพ่อปากน้ำกลับไม่ดำเนินการใด ๆ ไม่มีการติดตามตัวกลับมารับโทษแต่อย่างใด ไม่ทราบว่าตอนนี้ทั้งสองท่านยังสบายดีอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน หรืออาจแอบเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองไทยแล้วก็ได้
2 กรณีที่ดินเขายายเที่ยง
เขายายเที่ยงเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ชาวบ้านที่อาศัยทำมาหากินอยู่เชิงเขาถูกดำเนินคดีฐานบุกรุกป่าสงวน และศาลได้พิพากษาจำคุกชาวบ้านเหล่านั้นไปเรียบร้อยแล้ว
แต่ในกรณีคนที่มีคฤหาสน์อยู่บนยอดเขายายเที่ยงรัฐบาลกลับไม่ดำเนินการอะไรปล่อยให้มีอภิสิทธิ์ชนอาศัยอยู่บนยอดเขาได้โดยไม่มีการดำเนินคดีใดๆง
แล้วอย่างนี้จะให้คนรากหญ้ารู้สึกอย่างไร
3 การดำเนินคดีกับกลุ่มเสื้อเหลือง-เสื้อแดง
กรณีกลุ่มเสื้อแดงบุกโรงแรมรอยัลคลิฟ บีซ รีสอร์ท เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมารัฐบาลใช้เวลาเพียง 3 วันในการออกหมายจับกลุ่มเสื้อแดง
แต่กรณีกลุ่มเสื้อเหลืองบุกยึดทำเนียบรัฐบาลสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิสร้างความเสียหายหลายแสนล้านบาทกลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งๆ ที่เวลาล่วงเลยมากกว่าปีแล้ว
หลักฐานต่างๆ ก็แสนจะชัดเจน ไม่เชื่อลองไปขอดูหลักฐานจากทางสถานีโทรทัศน์ได้ทุกช่อง หรือหนังสือพิมพ์ได้ทุกฉบับ หลักฐานชัดเจนออกอย่างนี้รัฐบาลกลับไม่ยอมดำเนินการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกหมายจับหรือถอนประกัน
4 การออก พ.ร.บ.ความมั่นคง
พ.ร.บ.ความมั่นคงมีไว้เพื่อใช้ปรามไม่ให้กลุ่มเสื้อแดงออกมาชุมนุม แค่เพียงมีข่าวว่ากลุ่มเสื้อแดงจะออกมาชุมนุมรัฐก็รีบตาลีตาเหลือก ออก พ.ร.บ.ความมั่นคง
แต่พอกลุ่มเสื้อเหลืองออกมาชุมนุมบ้าง รัฐกลับนิ่งเฉย ไม่ยอมออก พ.ร.บ.ความมั่นคง จนเป็นเหตุให้กลุ่มเสื้อเหลืองต้องตกเป็นเหยื่อระเบิดในการชุมนุมครั้งล่าสุด
5 กรณีเงินบริจาค 258 ล้านบาท
บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด ได้บริจาคเงิน 258 ล้านบาท ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2548 โดยผ่านบริษัท แมสไซอะ บิสซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด และกรณีพรรคประชาธิปัตย์นำเงินสนับสนุนที่ได้รับจาก กกต.จำนวน 23 ล้านบาทไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
ทั้ง 2 กรณีดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษได้สรุปแล้วเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ส่วนเกี่ยวข้องชัดเจนโดยมีหลักฐานไม่ว่าจะเป็นสำเนาเช็คสั่งจ่ายจากธนาคาร หรือข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์
แต่ กกต.ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์กลับยื้อเวลาโดยมีการเลื่อนลงมติหลายครั้งนับถึงวันนี้ก็ใกล้ครบปีเข้าไปเต็มที่แล้วยังไม่มีมติจาก กกต.เลยว่าจะส่งเรื่องไปให้อัยการสูงสุดเพื่อให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่
กกต.หลายคนอาศัยเล่ห์เหลี่ยมตีกรรเชียงหนีโดยโยนเรื่องไปให้นายอภิชาติ สุขัคคานนท์ ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งแนวโน้มจากการให้สัมภาษณ์ของนายอภิชาติ คงจะมีการยกคำร้อง
ซึ่งผิดกับพรรคไทยรักไทย กกต.ได้มีมติยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ซึ่งต่อมาปรากฎว่าพยานซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญในกรณีนี้ 2 คนคือ นายชวกร โตสวัสดิ์ และนายสุขสันต์ ไชยเชษฐ์ ได้ออกมายอมรับต่อคณะกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนว่าได้รับการว่าจ้างจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้ใส่ร้ายพรรคไทยรักไทยด้วยจำนวนเงิน 15 ล้านบาท
หรือกรณีการยุบพรรคพลังประชาชนเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ที่ กกต.ทำด้วยความรวดเร็วทั้งๆ ที่หลักฐานยังไม่ชัดเจนเพียงพอ หลักฐานใช้ในการให้ใบแดงนายยงยุทธ ติยะไพรัช ที่นำไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชน เป็นเพียงคำบอกเล่าของกำนันคนหนึ่งในอำเภอแม่จัน โดยกำนันคนดังกล่าวได้กล่าวหาว่านนายยงยุทธแจกเงินให้หัวคะแนนกลุ่มกำนันในอำเภอแม่จันไปซื้อเสียงจากประชาชน
กรณีที่ยกมาทั้ง 5 กรณีนี้พอจะกล่าวได้หรือยังว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์เป็นรัฐบาลสองมาตรฐาน


.....มติชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น