
ที่มา:หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
โดย สุรนันทน์ เวชชาชีวะ
ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ด้วยข่าวที่ไม่คาดคิด เมื่อนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศผ่านรายการโทรทัศน์ว่าไม่เห็นด้วยกับ “หวยออนไลน์” และได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาหาทางออกในเรื่องดังกล่าว ด้วยมีข้อผูกพันตามสัญญากับภาคเอกชน โดยได้มอบหมายให้ นายเกียรติ สิทธิอมร เป็นประธานฯและให้มีข้อสรุปภายใน 30 วัน
ความจริง นายอภิสิทธิ์ มีท่าที “อึกๆอักๆ” ในเรื่องนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร แม้ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังผู้รับผิดชอบกำกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ยังได้กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ ได้พูดไว้เหมือนกันว่า “ไม่เอา” หวยออนไลน์ แต่ยังไม่ชัดเจน
กลับไปเช็คข่าวช่วงเดือนมิถุนายน 2552 จะพบว่า นายอภิสิทธิ์ บ่ายเบี่ยงที่จะ “ฟันธง” แต่แนวโน้มไม่เห็นด้วยมีมาก และกล่าวโดยสรุปว่า “ถ้าถามใจผม ผมไม่อยากให้มีการพนัน และไม่อยากไปมีส่วนส่งเสริมการพนัน แต่ว่าต้องดูประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเขาต้องทำข้อมูลให้ผม ถึงเวลาต้องใช้ดุลยพินิจ และอธิบาย แต่ถึงแม้จะตัดสินใจยาก แต่ก็ต้องตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง”
ความไม่ชัดเจนนี้เองทำให้การเตรียมการดำเนินงานต่างๆเดินหน้าไปมาก จนมีข่าวว่าระบบหวยออนไลน์จะเริ่มเดินเครื่องและจำหน่ายได้ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ แต่เมื่อ นายอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกฯ พูดชัดถ้อยชัดคำถึงนโยบายที่จะยกเลิกโครงการ จึงสร้างความตกใจให้กับผู้ที่มีส่วนได้เสีย รวมไปถึงประชาชนกลุ่มต่างๆ เพราะเสมือนกลับหลังหันอีกครั้ง ทั้งๆที่เห็น “ฝั่ง” อยู่แค่เอื้อม
โครงการนี้เป็นโครงการที่ “คาราคาซัง” มานานนับปี ที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยต้องพิจารณา ในสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลช่วง นายชวน หลีกภัย เป็นนายกฯก็เคยสนับสนุนมาแล้ว ลองถาม นายพิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยฯตำแหน่งเดียวกับ นายประดิษฐ์ ดูได้ แต่ทุกยุคทุกสมัยจะ “ติดๆขัดๆ” ด้วยผลประโยชน์ที่ขัดแย้ง และระบบการให้สัมปทานของไทยที่มีปัญหาช่องโหว่มากมาย ไม่ผิดกับที่ทำให้การสื่อสารระบบ 3G ต้องล่าช้ามาทุกวันนี้
บางครั้งการ “ไม่ตัดสินใจ” จึงเหมือนเป็นการปล่อยให้ความไม่ชัดเจนและความคลุมเครือเป็นตัวกำหนดนโยบายแบบ “ตกบันไดพลอยโจน” จนทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้ทำให้ตัวเองตกอยู่ในสภาวะนี้หลายครั้งหลายหน เช่น ในกรณีการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และการจัดการตามมาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ล่าช้ามีปัญหาทั้งในมิติการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเศรษฐกิจที่มาบตาพุด
ดังนั้นไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ การที่ นายอภิสิทธิ์ มีท่าทีที่ “ชัดเจน” จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ “เครดิต” เพราะอย่างน้อยที่สุดก็กล้าที่จะ “ตัดสินใจ” ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง แม้การตัดสินใจนี้จะ “ล่าช้า” และ “จวนตัว” เพราะใกล้วันเวลาดีเดย์เต็มที ที่ว่าล่าช้าและจวนตัวก็เนื่องจากเรื่องนี้มีการหารือมาอย่างต่อเนื่องในวงของรัฐบาล ไม่ว่าจะตัวนายกฯ นายกรณ์ จาติกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายประดิษฐ์ และสำนักงานสลากฯ ทั้ง นายประดิษฐ์ เองก็ยอมรับในการให้สัมภาษณ์ว่าได้ “ชี้แจง” ไปแล้วหลายครั้ง
การจัดทำโครงการหวยออนไลน์ หรือจะเป็นหวยรูปแบบอื่นๆที่ดำเนินการโดยรัฐหรือภายใต้สัมปทานที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น หลักการมีทั้งเรื่องของการที่จะทำให้สิ่งที่อยู่ “ใต้ดิน” ขึ้นมาอยู่ “บนดิน” ถึงแม้จะไม่สามารถทดแทนได้ 100% แต่ก็น่าจะมากพอ หากผู้บริโภคเห็นว่าเป็นทางเลือกที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีบริการอย่างทั่วถึง เมื่อประกอบด้วยการปราบปรามที่เข้มแข็ง “หวยใต้ดิน” จะหมดไปในที่สุด เงินที่ไหลเวียนจะอยู่ในระบบ และไม่ไปใช้หมุนเวียนในวงการ “มิจฉาชีพ” ไม่ว่าจะยาเสพติด การพนันอื่นๆ หรือการค้าของเถื่อน
ที่จะมีข้อติดใจเห็นจะเป็นเรื่องที่รัฐควรหรือไม่ที่จะสนับสนุนให้ประชาชน “เล่นการพนัน” และเป็นการ “มอมเมา” อย่างที่ นายกฯอภิสิทธิ์ กล่าวอ้างหรือไม่ ตลอดจนระบบการให้สัมปทานและการบริหารจัดการที่อาจ “เอื้อประโยชน์” ให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทั้งยังเป็นการเปลี่ยน “โครงสร้างผลประโยชน์” เดิมของเจ้ามือหวยใต้ดิน และวงการล็อตเตอรี่
ในการบริหารราชการแผ่นดิน การเตรียมข้อมูลเพื่อตัดสินใจ จึงควรมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบที่มีความครบถ้วนในข้อเท็จจริงและทางเลือกนโยบาย ทั้งต้องรวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดหากยกเลิกโครงการที่ผูกพันไปแล้ว โดยที่ข้อมูลเหล่านี้ควรอยู่ในมือนายกฯ และมีการ “ตัดสินใจร่วม” กับผู้เกี่ยวข้องในคณะรัฐบาล ตลอดจนควรมีการหารือในวงกว้างกับภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ก่อนนายกฯจะแสดงท่าทีใดๆออกมา
ไม่ใช่ตัดสินใจแล้ว จึงให้มีการไป “ศึกษา” ถึง “ทางออก” และที่สำคัญที่สุด ไม่ควรเป็นการตัดสินใจของนายกฯเพียงคนเดียว!!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น