--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ยุทธศาสตร์ การปฏิวัติประชาธิปไตยของไทย !!?

โดย : รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ (1)

การต่อสู้กันระหว่างฝ่ายเผด็จการกับฝ่ายประชาธิปไตยที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ต้นปี 2549 ผ่านรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการสังหารหมู่ประชาชนเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553 จนถึงการปะทะกันครั้งล่าสุดกรณีนิรโทษกรรมเหมาเข่ง เป็นเวลาร่วม 8 ปีแล้ว ฝ่ายประชาธิปไตยได้เติบใหญ่เข้มแข็งขึ้น และได้เรียนรู้ประสบการณ์มาพอสมควร จนสามารถสรุปเป็นบทเรียนเพื่อใช้กำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และจังหวะก้าวของการต่อสู้เฉพาะหน้านี้ได้

ความขัดแย้งนี้มิใช่การต่อสู้ขัดแย้งกันเองภายในหมู่ผู้ปกครองล้วนๆ หากแต่เป็นการต่อสู้ระหว่างประชาชนไทยที่ต้องการประชาธิปไตยกับผู้ปกครองจารีตนิยมที่ผูกขาดอำนาจและโภคทรัพย์ของสังคมไทยตลอดมา เป็น “การปฏิวัติประชาธิปไตย” ในขอบเขตและบริบทของประเทศไทย เช่นเดียวกับการปฏิวัติประชาธิปไตยที่ได้เกิดขึ้นไปก่อนแล้วในประเทศที่เป็นอารยะ

ลักษณะสำคัญของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของไทย ได้แก่

ลักษณะที่หนึ่ง ประเทศไทยมีการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้โครงครอบของทุนนิยมขุนนาง-อุปถัมภ์อันจำกัดและล้าหลัง บัดนี้ได้มาเผชิญกับกระแสโลกาภิวัตน์อันเชี่ยวกรากที่กดดันให้ระบบเศรษฐกิจไทยต้องปรับเปลี่ยนไปสู่ทุนนิยมที่เสรีมากขึ้นและเป็นโลกาภิวัตน์มากขึ้น จึงก่อให้เกิดการปะทะขัดแย้งกันระหว่างพลังสังคม 2 พลัง ฝ่ายหนึ่งได้แก่ กลุ่มทุนจารีตนิยม ทุนเก่า และชนชั้นกลางในเมือง ที่เสวยผลประโยชน์อยู่กับระบอบทุนนิยมขุนนาง-อุปถัมภ์ กับอีกฝ่ายหนึ่งคือ กลุ่มทุนใหม่และชนชั้นล่างในเมืองและชนบท ที่ต้องการสลัดพันธนาการดังกล่าวออกไป และผลักดันให้เศรษฐกิจสังคมไทยก้าวหน้าไปสู่ทุนนิยมเสรีและโลกาภิวัตน์

ลักษณะที่สอง ความขัดแย้งระหว่างพลังเศรษฐกิจที่ล้าหลังกับพลังเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าข้างต้นได้สะท้อนออกเป็นความขัดแย้งระหว่างพลังทางการเมือง 2 ฝ่ายคือ ระบอบเผด็จการอันคับแคบ เสื่อมโทรม ล้าหลังของกลุ่มทุนจารีตนิยม ทุนเก่า และชนชั้นกลางในเมืองด้านหนึ่ง กับระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมที่เปิดกว้าง ก้าวหน้า และเป็นกระแสที่ถาโถมมากับโลกาภิวัตน์ของกลุ่มทุนใหม่และประชาชนชั้นล่างในอีกด้านหนึ่ง

ลักษณะที่สาม ในความขัดแย้งของพลังทางเศรษฐกิจและการเมืองนี้ ผู้ปกครองจารีตนิยมมีความใหญ่โตเข้มแข็งอย่างยิ่ง เพียบพร้อมไปด้วยมือเท้าและกลไกอำนาจรัฐ ทั้งทหาร ตำรวจ ศาล คุกตะราง ไปจนถึงพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มมวลชนเสื้อเหลือง และที่สำคัญที่สุดคือ การครอบงำทางความคิดและอุดมการณ์ที่ฝังรากลึกในหมู่บุคลากรของรัฐและประชาชนมายาวนานหลายสิบปี ทั้งหมดนี้มีลักษณะรวมศูนย์ในแนวตั้ง และมีความเข้มแข็งอย่างยิ่งในกรุงเทพฯและเขตเมืองใหญ่

ลักษณะที่สี่ ฝ่ายประชาธิปไตยนับแต่ได้รวมตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการก่อตัวจากล่างสู่บน จากเล็กสู่ใหญ่ จากอ่อนสู่แข็ง เข้ามามีส่วนร่วมโดยมวลชนอย่างเข้มข้น เหนียวแน่น ทุ่มเทอย่างน่าประหลาดใจ ในด้านการจัดตั้งมีลักษณะเป็นเครือข่ายแผ่กว้างในแนวนอน ฝ่ายประชาธิปไตยยังได้พัฒนาเครื่องมือของตนขึ้นมา ได้แก่ นักรบไซเบอร์ในสื่อออนไลน์ เครือข่ายวิทยุชุมชน โทรทัศน์ดาวเทียม พรรคการเมืองในระดับชาติ และเครือข่ายนักการเมืองในท้องถิ่นทั่วประเทศ เครือข่ายนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย ตลอดจนเครือข่ายของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แต่ก็ยังมิอาจเทียบได้เลยกับเครือข่ายอำนาจรัฐในมือของพวกจารีตนิยม ยิ่งกว่านั้นคือ เครือข่ายและฐานกำลังของฝ่ายประชาธิปไตยมีลักษณะกระจายออกไปทั่วประเทศ และมีความเหนียวแน่นเข้มแข็งในเขตชนบทภาคเหนือ-อีสาน-กลาง

                ลักษณะสำคัญ 4 ประการนี้กำหนดหนทางของการปฏิวัติประชาธิปไตยของไทย ลักษณะที่หนึ่งและที่สองกำหนดว่ามีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะขยายตัวเติบใหญ่และเข้มแข็งจนสามารถเอาชนะเผด็จการได้ในที่สุด แต่ลักษณะที่สามและที่สี่กำหนดว่าการต่อสู้และชัยชนะดังกล่าวจะได้มาด้วยการต่อสู้ที่ยืดเยื้อ ซับซ้อน และยากลำบาก เพราะฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องใช้เวลาอันยาวนานในการเติบใหญ่เข้มแข็งขึ้น เข้ายึดกุมกลไกอำนาจรัฐมาจากพวกจารีตนิยมทีละน้อย และพัฒนาเครื่องมืออำนาจรัฐของตนเองขึ้นมาอย่างช้าๆ

ลักษณะที่สามและที่สี่ยังเป็นปัจจัยกำหนดยุทธศาสตร์และรูปแบบการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยอีกด้วย

ประการที่หนึ่ง การต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยเป็นการต่อสู้ทางการเมืองเป็นด้านหลัก และมีการต่อสู้ทางการทหารเป็นด้านรอง เพราะฝ่ายประชาธิปไตยที่อ่อนเล็กไม่สามารถเข้าปะทะทางกายภาพกับฝ่ายเผด็จการได้ในทันที จำต้องใช้ความชอบธรรมทางการเมืองเป็นอาวุธในการต่อสู้เพื่ออยู่รอด สะสมกำลัง ค่อยๆขยายตัวเข้มแข็งขึ้น ไปสร้างและพัฒนาพลังทางอำนาจรัฐและพลังทางทหารขึ้นมาอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อเอาชนะฝ่ายเผด็จการในที่สุด

ประการที่สอง ในการต่อสู้อันยืดเยื้อนี้ ฝ่ายเผด็จการมีรูปแบบการต่อสู้หลักเป็นการรุก โดยใช้กลไกอำนาจรัฐอันเพียบพร้อมเข้า “ล้อมตีเพื่อทำลาย” ฝ่ายประชาธิปไตย ส่วนฝ่ายประชาธิปไตยก็มีรูปแบบการต่อสู้หลักเป็นการรับ “ต่อต้านการล้อมตี” การล้อมตีและการต้านการล้อมตีแต่ละครั้งประกอบขึ้นเป็นการปะทะใหญ่ โดยที่ในการปะทะใหญ่แต่ละครั้ง ชัยชนะของพวกเผด็จการคือการแยกสลายหรือทำลายฝ่ายประชาธิปไตยให้หมดไป ส่วนชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยก็คือ การอยู่รอด รักษากำลัง และขยายตัวเข้มแข็งขึ้น

ประเทศไทยได้ผ่านการปะทะใหญ่มาแล้ว 2 ครั้งคือ ครั้งที่หนึ่ง รัฐประหาร 2549 ครั้งที่สอง รัฐบาลพรรคพลังประชาชน-พรรคประชาธิปัตย์ 2551-2553 และขณะนี้นับตั้งแต่ปลายปี 2554 เป็นการปะทะใหญ่ครั้งที่สาม

ประการที่สาม การที่ฝ่ายเผด็จการเป็นพลังที่ล้าหลัง ถอยหลังเข้าคลอง ทวนกระแสโลกาภิวัตน์และต้านกระแสประชาธิปไตยในสากล ตลอดจนมีกลไกอำนาจที่รวมศูนย์เข้มแข็งในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ ส่วนฝ่ายประชาธิปไตยมีลักษณะก้าวหน้า อยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์และกระแสประชาธิปไตยในสากล ขณะเดียวกันก็มีเครือข่ายและกลไกที่กระจายแต่เข้มแข็งในเขตชนบทภาคเหนือ-อีสาน-กลาง ทั้งหมดนี้ทำให้ฝ่ายเผด็จการมีฐานที่มั่นหลักในกรุงเทพฯและเขตเมืองใหญ่ ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยมีฐานอิทธิพลแผ่กระจายอยู่ในเขตชนบทภาคเหนือ-อีสาน-กลาง รวมทั้งการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากรัฐบาลเพื่อนมิตรในประชาคมนานาชาติ

นัยหนึ่งบนพื้นที่เฉพาะของการปะทะใหญ่ในแต่ละครั้ง ฝ่ายเผด็จการอยู่ “ด้านนอก” และเป็นฝ่ายรุกล้อมตี ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ “ด้านใน” และเป็นฝ่ายรับ ต่อต้านการล้อมตี แต่ในทางยุทธศาสตร์ส่วนทั้งหมดแล้วฝ่ายเผด็จการอยู่ “ด้านใน” คือยึดกุมเขตกรุงเทพฯ-เมืองใหญ่

ส่วนฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ “ด้านนอก” ยึดกุมต่างจังหวัด-ชนบท และประชาคมนานาชาติในอีกด้านหนึ่ง กลายเป็น “ชนบทล้อมเมือง โลกล้อมประเทศไทย ประชาธิปไตยล้อมเผด็จการ

ที่มา.นสพ.โลกวันนี้
----------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น