--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

กอ.รส. วางกรอบ10วัน จบไม่จบ !!?

กอ.รส.ก็คงจะดูเกมนี้ไว้แล้วตั้งแต่ต้น จึงได้เดินหมากใช้กฎอัยการศึกเพื่อรวบเอาอำนาจสั่งการมาไว้ในมือ..

ต้องจับตาว่า การประกาศวาทกรรม นับหนึ่งใหม่ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.) ในการหาทางออกของประเทศจะสามารถทำได้สำเร็จหรือไม่ และเมื่อไหร่

แม้จะมีสัญญาณตอบรับกฎอัยการศึกที่ดีในช่วงวันสองวันแรก แต่ถ้าทอดเวลานานออกไปคงไม่เป็นผลดีเท่าใดนัก

วันแรกของประกาศกฎอัยการศึกได้มีการเชิญหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจ และภาคประชาชนเข้ามาระดมสมองหาทางออกประเทศ วันต่อมา คือ วันที่ 21 พฤษภาคม ได้มีการเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องและคู่ขัดแย้ง ได้แก่ กลุ่มกปปส., นปช., พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, วุฒิสภา มาพูดคุยกันเพื่อเร่งผ่าทางตันโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ กอ.รส. ยังเป็นห่วงเรื่องปฏิกิริยาจากนานาชาติที่อาจมีความไม่เข้าใจต่อการทำหน้าที่ของกองทัพ ทางผอ.รส. จึงสั่งการให้มีการชี้แจงไปยังต่างประเทศใน 2 แนวทาง

1. ผอ.รส. ได้มีการสั่งการไปยัง "ผู้ช่วยทูตทหาร" ทั้ง 3 เหล่าทัพ ที่ประจำการอยู่ใน 100 กว่าประเทศทั่วโลกให้ไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางของกองทัพ และสถานการณ์ในประเทศ และ 2.เชิญ "เอกอัครราชทูต" ทุกประเทศที่ประจำการอยู่ในประเทศไทยมารับฟังการชี้แจงแนวทางการปฏิบัติของ กอ.รส. ในวันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคมนี้ ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดี

ส่วนแนวทางในการบริหารจัดการประเทศหลังจากนี้ กองทัพแสดงให้เห็นว่า ยังคงยึดกรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ในการเชิญคู่ขัดแย้งหลักของประเทศเข้ามาเจรจา เพื่อเร่งหาทางออกโดยเร็วที่สุด

หากการพูดคุยเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ และมีการปลุกระดมให้มีการต่อต้านการปฏิบัติหน้าที่ของ กอ.รส. ทางกองทัพก็อาจจำเป็นต้องแสวงหาทางเลือกใหม่ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ซึ่งอาจหมายถึงการ "รัฐประหาร"

ภาพของกองทัพภายใต้การประกาศใช้กฎอัยการศึกที่ปรากฏให้เห็นก็คือ

1.กองทัพทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชิญคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายมาพูดคุย เพื่อหาทางออกโดยสันติวิธี โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 10 วัน ซึ่งผลการหารือ ทางออกอาจจะไปลงที่ "รัฐบาลเฉพาะกาล" ก็เป็นไปได้ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาจนำมาจากตัวแทนของคู่ขัดแย้งทุกฝ่าย และหลังจากนั้นอาจมีการลงสัตยาบันร่วมกัน

2.หากเงื่อนไขนี้ไม่ได้รับการยอมรับ กองทัพอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการ "นอกกรอบรัฐธรรมนูญ" เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะนับตั้งแต่กองทัพเข้ามาประกาศกฎอัยการศึก และเข้ามาปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคงแทนศอ.รส. ก็เท่ากับว่า แรงกดดันทั้งหมดจะถูกผ่องถ่ายมายังกองทัพแทน และกองทัพคงไม่สามารถปฏิเสธแนวทางนี้ได้ แม้จะไม่ต้องการให้เกิดขึ้นก็ตาม

ทิศทางของประเทศจึงขึ้นอยู่กับการพูดคุยระหว่างตัวแทนฝ่ายต่างๆ อันประกอบด้วย ผู้บัญชาการเหล่าทัพ, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), วุฒิสภา, กปปส. และนปช. ว่าจะสามารถหาข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีร่วมกันโดยแท้

แต่ท่าทีของฝ่ายรัฐบาลซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะคลี่คลายปัญหา กลับดูจะไม่ค่อย "ปลื้ม" กับการเข้ามาบริหารจัดการของกองทัพเท่าใดนัก สังเกตได้จากการที่ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐฒนตรี ปฏิเสธที่จะเดินทางไปพบปะพูดคุยตามคำเชื้อเชิญของ กอ.รส.

เพราะถึงแม้จะแก้ปัญหาได้ทีละเปลาะๆ แต่ส่วนที่ใหญ่ที่สุด แน่นที่สุด กลับอยู่ตรงจุดที่ยังคงมีรัฐบาลรักษาการอย่างถูกกฎหมาย หากยังมีตรงนี้ การจะเดินไปสู่การสรรหานายกรัฐมนตรีคนกลาง หรือ เฉพาะกาล จึงเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อกฎหมาย

อธิบายในอีกมุมก็คือ นี่คือข้อต่อรองเดียวของฝ่ายรัฐบาล

ซึ่งก็ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายของทุกฝ่ายนัก รวมทั้ง กอ.รส.ก็คงจะดูเกมนี้ไว้แล้วตั้งแต่ต้น จึงได้เดินหมากใช้กฎอัยการศึกเพื่อรวบเอาอำนาจสั่งการมาไว้ในมือ แล้วจัดการเรียกทุกฝ่ายมาพูดคุย เนื่องจากว่าการใช้กฎหมายปกติ ไม่ได้ให้อำนาจมากขนาดนั้น

น่าสนใจว่า ด้วยอำนาจมากมายขนาดนี้ การเจรจาต่อรองระหว่างคู่ขัดแย้งท่ามกลางความเสียหายของประเทศจะจบลงอย่างไร

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น