--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

อุกฤษ มงคลนาวิน แนะศาลรธน. หยุด ก่อนเลือดนองแผ่นดิน !!?

สัมภาษณ์พิเศษ:

โดย : เสถียร วิริยะพรรณพงศา

อุกฤษ มงคงนาวิน แนะศาลรัฐธรรมนูญหยุดทำหน้าที่ ก่อนเหตุเลือดนองแผ่นดิน

ยามนี้ ถือได้ว่าเป็นภาวะจนปัญญายิ่งนัก สำหรับการหาทางออกจากวิกฤตการเมือง เพราะนอกจากมีการวัดพลังด้วยกำลังพลแล้ว ยังมีการใช้กฎหมาย-บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ตีความไปในทิศทางเพื่อประโยชน์แห่งตน ทำให้กฎหมายบางข้อ-บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตราเดียวกัน เมื่อยืนคนละฝั่ง ก็แปลเนื้อความไม่ตรงกัน แม้นักกฎหมายชั้นครู จะออกมาให้ความเห็น หวังคลี่คลาย แต่ท้ายสุดกลับเป็นการดึง ให้ปมปัญหามัดแน่น จนยากแก้ไขได้..

ในวังวนของเขาวงกตทางกฎหมาย"อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ในฐานะอดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอดีตประมุขสภาสูง-สภาล่างหลายสมัย ได้ชี้ทางออก โดยตั้งโจทย์ใหญ่อยู่ที่ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ"ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่!! เพื่อหยุดเหตุที่นำไปสู่การเผชิญหน้าของ 2 กลุ่มการเมือง ที่อาจถึงขั้นเลือดนองแผ่นดิน

โดยจุดที่จะนำไปสู่ความรุนแรงที่ “ประธาน คอ.นธ.” มองคือ อารมณ์ของคนที่ไม่ยอมรับในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีการพิจารณาสถานภาพความเป็นรัฐมนตรี ของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ตามที่กลุ่มสมาชิกวุฒิสภายื่นเรื่องให้พิจารณา ว่าจะสิ้นสภาพเพราะได้ใช้อำนาจมิชอบในการโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนสี” หรือไม่ ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ เพราะสังคมรับรู้ในวงกว้างแล้วว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีธงนำในการตัดสินคดีอย่างไร และจะเป็นเส้นทางเดียวที่ทำให้มวลมหาประชาชนสมปรารถนา คือนำไปสู่“ภาวะสูญญากาศทางการเมือง”

แต่โดยทัศนะส่วนตัวต่อคดี “ดร.อุกฤษ” ให้ความเห็นไว้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรรับเรื่องไว้ตั้งแต่แรก เพราะกรณีของ “ถวิล เปลี่ยนสี” ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยจนจบไปแล้ว ส่วนสถานภาพขอนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีนั้น ได้จบไปแล้วเช่นกัน นับตั้งแต่ประกาศยุบสภา เมื่อเดือนธันวาคม 2556 แต่เหตุที่ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องอยู่ ก็เพื่อทำตามสิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ คือ ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามา

"ผมยังงง ว่าทำได้อย่างไร จะไล่เขาให้ออกไป ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 181 บอกให้ ครม.ที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ามี ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่มารับหน้าที่ ถ้าไล่เขาไม่ให้ทำหน้าที่ จะถือเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือเห็นว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไม่มีความหมายแล้ว นอกจากนั้นแล้วมีประเด็นที่อาจเป็นปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งหนัก คือ กรอบการใช้อำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้ไม่มี ส่วนข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย ในรัฐธรรมนูญก็กำหนดให้ใช้ได้ชั่วคราว เพียง 1 ปี นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 มีผลบังคับใช้ ดังนั้นถือว่าข้อกำหนดดังกล่าวหมดอายุลงไปแล้ว ดังนั้นอาจจะเป็นปัญหาที่ตัวศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย แล้วจะบอกให้คนอื่นปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างไร มันอาจจะขัดกับความรู้สึกของคน"

ต่อประเด็นการเกิดภาวะสูญญากาศทางการเมืองที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลต้องการนั้น “อดีตประธานสภานิติบัญญัติ” วิเคราะห์ผ่านประสบการณ์ที่เข้าไปมีบทบาทสำคัญในช่วงสำคัญทางการเมือง ว่า ตามช่องทางกฎหมายไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า “ยิ่งลักษณ์” ต้องพ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรี ในกฎหมายยังให้รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่แทนได้ แต่หากเกิดกรณีที่รองนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่แทนไม่ได้ ก็มีรัฐมนตรีในคณะ ขึ้นปฏิบัติหน้าที่แทน

แต่ภาวะสูญญากาศอาจเกิดขึ้นได้จริง ในหนทางเดียว คือ รัฐประหารแล้วฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทิ้ง งานนี้ "อดีตประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ"ออกโรงเตือนไว้ว่า "ใครก็ตามที่คิดจะปฏิวัติ ไม่ว่าจะด้วย กำลังทหาร หรือ ตุลาการ ในยุคนี้ ระวังจะเป็นการฆ่าตัวตายทั้งเป็น!!"

ส่วนกรณีที่ฝ่ายกปปส. มีความเชื่อว่าหลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่นายกรัฐมนตรี ต้องพ้นสภาพและส่งผลให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นไปด้วย จะเข้าสู่ภาวะสูญญากาศทันทีนั้น ไม่ทราบว่าใครไปให้คำปรึกษา รวมถึงการใช้ช่องทางของรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 เรื่องการขอนายกฯพระราชทานด้วย ประเด็นพวกนี้ควรจบได้แล้ว เพราะใครทำแบบนี้ เท่ากับเป็นการละเมิดพระราชอำนาจ แต่หากภาวะบ้านเมืองถึงทางตันจริงๆ มาตรา 7 อาจถูกหยิบยกมาใช้ได้ เพราะถือว่าเป็นบทบัญญัติเพื่อใช้อุดช่องว่างทางกฎหมาย แต่ต้องใช้อย่างมีเงื่อนไข คือ เป็นไปตามประเพณีปฏิบัติและดูบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหลายมาตราประกอบ เช่น มาตรา 171 นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นนายกรัฐมนตรีต้องเป็นส.ส. จะให้ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งมาเป็นนายกรัฐมนตรี ตามการเทียบเคียงไม่ได้

สำหรับแนวทางออกของคนการเมืองที่แบ่งภาค เดินสายไปเจรจากับภาคส่วนต่างๆ “ดร.อุกฤษ” มองว่า เป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่เชื่อว่าจะเป็นทางออก เพราะการเดินสายเจรจาปัจจุบันไม่ระบุเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการอะไร หากเขาบอกว่าต้องการให้บ้านเมืองปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ต้องยอมรับก่อนว่าบ้านเมืองที่เจริญแล้วต้องมีการเลือกตั้ง และเมื่อเลือกตั้งแล้วต้องยอมรับเสียงข้างมากและเคารพเสียงข้างน้อย ไม่เอาแล้วที่ใช้เสียงข้างมากลากไป หรือเอาเสียงข้างน้อยลากไป เมื่อไม่ถูกใจ ก็ออกมาข้างถนน ที่พูดกันมากคือ อยากให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เขาจะใช้ฐานกฎหมายใดมาปฏิบัติ ดังนั้นทางที่เป็นไปได้ คือ จัดการเลือกตั้งให้เสร็จโดยเร็ว จากนั้นตั้งคณะกรรมการหลายๆ ชุดเพื่อทำเรื่องปฏิรูป มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชน มีส่วมร่วม ให้เวลาทำงาน 1 ปีครึ่งจากนั้นเมื่อทำเรื่องเสร็จก็ไปทำประชามติ เรื่องก็จบ

การออกมาให้ความเห็นของ"อุกฤษ"ที่ช่วงหลังถูกหน่วยงานของฝ่ายรัฐบาลรักษาการหยิบไปใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนแนวคิด ทำให้สังคมฝ่ายต่างๆ ตั้งคำถามว่า ทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือ ทำตัวเป็นแนวร่วมของรัฐบาลไปแล้วใช่หรือไม่.... ประเด็นนี้ “ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน” เพิกเฉยกับคำครหา และชี้แจงว่าจดหมายเปิดผนึกของ คอ.นธ.ที่ออกไปแล้ว 2 ฉบับไม่เคยเอาไปหารือกับ ศอ.รส. หรือฝ่ายรัฐบาลก่อนบอกประชาชน ดังนั้นเป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายใดๆ จะนำไปวิพากษ์วิจารณ์ได้ ในประเด็นสำคัญที่เห็นบทบาทบ่อยครั้งช่วงนี้ไม่ใช่เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีสายสัมพันธ์กันมายาวนานร้องขอ ทั้งนี้ยอมรับว่าเคยทำงานร่วมกันในอดีต แต่การทำงานที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพื่อรัฐบาลขณะนั้น แต่เป็นเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง และที่สำคัญประวัติความสัมพันธ์ที่มีมาไม่ใช่ว่าจะทำให้ออกคำสั่งกับเขาได้

ในช่วงท้าย"ประธาน คอ.นธ."ได้ฝากคำแนะนำไปยังบรรดานักกฎหมายที่พยายามใช้กฎหมายมาเป็นอาวุธ จนสร้างความยุ่งเหยิงทางการเมืองว่า หลักการปกครองของบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยต้องยึดหลักนิติธรรม หลักกฎหมายและผู้ที่ใช้กฎหมายต้องมีความเป็นธรรม หากใช้อย่างไม่เป็นธรรม อย่างตุลาการจำนวนไม่น้อยนั้น ก็อาจถูกตำหนิติเตียนได้ ดังนั้นใครมีหน้าที่อย่างไร ก็ทำหน้าที่ไป อย่าละเว้นการทำหน้าที่ เพราะความโลค ในลาภ ยศ สรรเสริญ ยอมรับว่ากลุ่มนักกฎหมาย ที่เป็นลูกศิษย์ของเขามีจำนวนมาก แต่ลูกศิษย์ที่เติบโตในหน้าที่การงานปัจจุบัน มีอิสระในความคิด ดังนั้นเมื่อคิดเห็นอย่าไร เขาต้องรับผิดชอบตัวเขาเองด้วย ประเด็นสำคัญอย่าลืมว่าบ้านเมืองมีสิ่งที่กำกับไว้ หากใครทรยศต่อบ้านเมือง ต่อวิชาชีพ ไม่มีทางเจริญ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น