--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ดร.ธำรงศักดิ์ ระบุ ประธานวุฒิสภา เสนอชื่อ นายกฯ ไม่ได้.

ดร.ธำรงศักดิ์ ระบุประธานวุฒิสภาในช่วงที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร อ้างสิทธิทำตนเป็น"รัฐาธิปัตย์"เพื่อเสนอชื่อและลงนามรับรองนายกฯคนใหม่ไม่ได้

การเขียนคำว่า"รัฐาธิปัตย์"ที่ถูกต้อง คือ รัฐ+อธิปัตย์ หมายถึง การมีอำนาจหน้าที่สูงสุดแห่งรัฐในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งในช่วงเวลาปกติโดยทั่วไปคือบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในฐานะประมุขฝ่ายบริหาร หรือ Head of Government

ประมุขฝ่ายบริหาร หรือ Head of Government ในกรณีของสหรัฐคือ ประธานาธิบดี ของอังกฤษ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย คือ นายกรัฐมนตรี ส่วนประมุขแห่งรัฐ Head of State เป็นเพียงสัญลักษณ์ของประเทศและทำหน้าที่ในการลงนามกฎหมายแทนประชาชนทุกคนทั้งประเทศเท่านั้น (ยกเว้นรัฐแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์) เช่น สหรัฐ สิงคโปร์ คือ ประธานาธิบดี มาเลเซีย คือ ยังดี เปอร์ตวน อากง อังกฤษและไทย คือ Monarch

แต่ในช่วงที่ต้องมีการหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารคนใหม่ ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งในการใช้อำนาจนำเสนอและลงนามรับรองชื่อบุคคลที่จะมาเป็นประมุขฝ่ายบริหาร ในระบอบประชาธิปไตยคือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ส่วนคำเขียนที่ไม่ถูกต้องหรือไม่มีความหมาย คือ"รัฏฐาธิปัตย์"เพราะคำว่า "รัฏฐ" นั้น ไม่มีคำและความหมายใดๆ ทั้งสิ้น ดูได้จาก"พจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ.2530" (หน้า 447) และ"พจนานุกรมฉบับมติชน" (หน้า 734-735)

คำว่า "รัฐาธิปัตย์" ถูกนำเสนอเป็นข่าวเมื่อต้นเดือน (5-12) เมษายน 2557 สัมพันธ์กับกรณีศาลปกครองสูงสุดกับการตัดสินคดีนายถวิล เปลี่ยนศรี และศาลตลก. มีมติเอกฉันท์ รับวินิจฉัยสถานะ "นายกรัฐมนตรี"ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าจะสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง ( 7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้รัฐบาลคืนเก้าอี้ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้กับถวิล เปลี่ยนศรี ทั้งนี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำของฝ่ายการเมืองบนท้องถนน ประกาศว่า ตนจะทำหน้าที่เป็น "รัฏฐาธิปัตย์" ในนามมวลชนกปปส. โดยนายสุเทพจะทูลเกล้าฯชื่อ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ จะอาสารับเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการเอง1

ในแง่นี้ นายสุเทพคาดหวังว่าตนจะสามารถนำเสนอชื่อและลงนามรับรอง "นายกรัฐมนตรี" ได้ตามบทบาทหน้าที่ของตนใน 2 แนวทาง ที่ "ไม่อาจเป็นไปได้"คือ 1. แสดงบทบาทหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎรตามระบอบรัฐธรรมนูญ และ 2. แสดงบทบาทของหัวหน้าคณะยึดอำนาจ ซึ่งที่ผ่านโดยทั่วไปมาคือการยึดอำนาจเพื่อเป็นรัฐเผด็จการของคณะทหารไทย โดยฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมทิ้ง แล้วสร้างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นมาใช้ โดยที่ผู้นำคณะยึดอำนาจจะยังคงมีอำนาจทั้งในทางนิตินัย (de jure) และในทางพฤตินัย (de facto) เพื่อควบคุมครอบงำการใช้อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีหรือประมุขฝ่ายบริหารคนใหม่

ทำไมเป้าหมายจึงอยู่ที่การตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีหรือประมุขฝ่ายบริหารคนใหม่?

คำตอบคือ ระบอบการเมืองไทยสมัยใหม่นับแต่ปฏิวัติ 2475 มา ไม่ว่าจะอยู่ในระยะของระบบรัฐสภา หรือระบบเผด็จการทหาร นายกรัฐมนตรีหรือประมุขฝ่ายบริหาร คือผู้ที่มีอำนาจในฐานะ"รัฐาธิปัตย์"อย่างแท้จริงที่จะใช้อำนาจทางการเมืองในการบริหารประเทศ

นายสุเทพสามารถเป็นองค์"รัฐาธิปัตย์" ในช่วงที่ต้องมีการหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารคนใหม่ได้หรือไม่?

คำตอบคือ ไม่ได้ คำอธิบายอย่างสั้นกระชับคือ นายสุเทพไม่สามารถแสดงบทบาทหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎรตามระบอบรัฐธรรมนูญ หรือ แสดงบทบาทของหัวหน้าคณะยึดอำนาจได้แต่อย่างไร เพราะหากพิจารณาจากปรากฏการณ์ที่เป็นจริง ต่อให้ศาล ตลก. ตัดสินว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะรัฐมนตรีชุดนั้นมีความผิดและหมดสิ้นวาระอำนาจหน้าที่ เราก็พบว่า นายสุเทพ ก็ไม่อาจที่จะสามารถเสนอชื่อและลงนามรับรองบุคคลใดมาเป็นนายกฯคนใหม่แทนได้

สรุป ความไม่สามารถมีบทบาทหน้าที่ตามนิตินัยได้ของคุณสุเทพในเกือบครึ่งปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ ในวันนี้ (กลางพฤษภาคม) เราจึงเห็นความพยายามของสมาชิกวุฒิสภาที่จะผลักดันให้มีการแต่งตั้งประธานวุฒิสภาเพื่อที่จะนำไปสู่การอ้างอำนาจในการทำหน้าที่ "รัฐาธิปัตย์" ของตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ

คำถาม ประธานวุฒิสภาในช่วงที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร อ้างสิทธิทำตนเป็น “รัฐาธิปัตย์” แทนประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอชื่อและลงนามรับรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่เพื่อนำไปสู่การตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้หรือไม่?

คำตอบ คือ ไม่ได้

คำอธิบาย คือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยล้มเหลวทางความชอบธรรมทางการเมืองอย่างสูงสุดจากกรณีผ่าน พรบ.นิรโทษกรรม แบบสุดซอย จนต้องวิ่งหนีจนสุดโลก

ในลักษณะเดียวกัน ประธานวุฒิสภาในช่วงที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร หากอ้างสิทธิทำตนเป็น "รัฐาธิปัตย์" แทนประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอชื่อและลงนามรับรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่เพื่อนำไปสู่การตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ก็จะล้มเหลวทางความชอบธรรมทางการเมืองอย่างสูงสุด เช่นกัน

"รัฐาธิปัตย์" มีอำนาจทางนิตินัยและพฤตินัยได้ เพราะความชอบธรรมทางการเมืองที่เกิดจากการยอมรับของสังคมไทยโดยรวมและสังคมโลกโดยรวม แต่ไม่อาจดำรงอยูได้ ถ้าเป็นเพียงการยอมรับจากพวกฝ่ายของพวกตนเท่านั้น

นี้คือคำและความหมาย “รัฐาธิปัตย์” ในการเมืองไทยสมัยใหม่

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น